×

สิงคโปร์สู้วิกฤตโควิด-19 ด้วยการพัฒนาศักยภาพประชาชน

28.09.2020
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

7 mins. read
  • รัฐบาลสิงคโปร์ออกมาตรการพัฒนาคนหลายอย่าง มุ่งเตรียมทักษะความรู้ให้ประชาชนพร้อมรับมือและอยู่รอดได้ในโลกหลังโควิด-19 ที่กำลังเปลี่ยนแปลงไป สิงคโปร์ถือเป็นหนึ่งในไม่กี่ชาติที่วางยุทธศาสตร์ระยะยาวสู้โควิด-19 แต่เนิ่นๆ และมองการพัฒนาคนเป็นหนทางฝ่าวิกฤต 
  • รัฐบาลสิงคโปร์ทุ่มงบสนับสนุนให้แรงงานเข้าคอร์สเรียนรู้ทักษะใหม่ๆ หรืออัปเดตทักษะเดิมของตัวเองให้สอดรับกับโลกการทำงานที่กำลังเปลี่ยนไปหลังโควิด-19 โดยเน้นให้เรียนรู้ทักษะหลากหลาย เท่าทันเทคโนโลยีสมัยใหม่ และแข่งขันในระดับโลกได้ รวมทั้งยังอำนวยความสะดวกให้แรงงานเปลี่ยนไปทำงานในสายงานที่กำลังมาแรงในโลกหลังโควิด-19 ได้ง่ายขึ้น
  • ภาคการศึกษาของสิงคโปร์เริ่มพัฒนาหลักสูตรใหม่ที่ส่งเสริมให้นักเรียนนักศึกษามีทักษะความรู้ตอบโจทย์ตลาดแรงงานในโลกหลังโควิด-19 ทั้งเพิ่มความเข้มข้นของเนื้อหาด้านเทคโนโลยีดิจิทัล เน้นให้ความรู้บูรณาการมากกว่า 1 สาขาวิชา แก้ไขเนื้อหาให้ทันสมัย ขยายโอกาสฝึกงาน อีกทั้งยังมุ่งแก้ปัญหาฐานรากอย่างความไม่เท่าเทียมในการเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพ  
  • รัฐบาลสิงคโปร์ไม่ทอดทิ้งคนสูงวัย โดยเปิดคอร์สให้เรียนรู้วิธีใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในชีวิตประจำวัน เพื่อไม่ให้เจอความยากลำบากในการใช้ชีวิตขณะที่โควิด-19 กำลังทำให้ชีวิตผู้คนต้องข้องเกี่ยวกับเทคโนโลยีดิจิทัลมากขึ้น

“ศักยภาพของประชาชนคือสินทรัพย์ที่มีค่ามากที่สุด” คือประโยคอมตะนิรันดร์กาลของ ลีกวนยู อดีตนายกรัฐมนตรีและบิดาแห่งชาติของสิงคโปร์ที่ได้เป็นที่ประจักษ์สู่สายตาชาวโลกแล้วว่าเป็นความจริง เพราะภารกิจพัฒนาคุณภาพประชาชนที่รัฐบาลสิงคโปร์ให้ความสำคัญมาโดยตลอดได้ทำให้คนสิงคโปร์มีศักยภาพสูงในระดับแนวหน้าของโลก และยังเป็นบันไดให้ชาติเล็กๆ ที่ขาดแคลนทรัพยากรแห่งนี้ไต่ขึ้นเป็นประเทศโลกที่หนึ่งในเวลาอันรวดเร็ว แต่ฉับพลันเมื่อเกิดการระบาดของโควิด-19 ขึ้น รัฐบาลสิงคโปร์ก็ตระหนักขึ้นมาว่าแนวทางการพัฒนาคนที่ทำอยู่นั้นไม่เพียงพออีกต่อไป

ก่อนอื่นรัฐบาลสิงคโปร์เลือกที่จะยอมรับความจริงว่าสถานการณ์ของประเทศกำลังย่ำแย่หนัก และสื่อสารกับประชาชนอย่างไม่ปิดบังว่าพวกเขากำลังจะต้องเผชิญกับความทุกข์ยากและการเปลี่ยนแปลงอะไรบ้างในโลกหลังโควิด-19 นายกรัฐมนตรีลีเซียนลุงกล่าวว่า “เราต้องเตรียมพร้อมรับมือกับอนาคตที่จะไม่เหมือนเดิม บริษัทห้างร้านทั้งขนาดเล็กและใหญ่กำลังเจ็บหนัก หลายอุตสาหกรรมกำลังจะเปลี่ยนโฉมไปตลอดกาลและต้องปรับตัวเพื่ออยู่รอดให้ได้ แรงงานก็กำลังสาหัสเช่นกัน การว่างงานกำลังพุ่งขึ้น บางอาชีพกำลังจะหายไปและไม่มีวันกลับมาอีก”

อย่างไรก็ตาม ลีเซียนลุงไม่ได้ตั้งใจจะพูดเพียงเพื่อสร้างความหวาดกลัวให้กับคนสิงคโปร์ ในหลายๆ ถ้อยแถลงต่อประชาชน เขาได้ชี้ให้เห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ หนึ่งในนั้นคือการย้ำเตือนว่าประชาชนจำเป็นต้องเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ต้องพัฒนาทักษะตัวเองจึงจะอยู่รอดได้และมีงานทำในโลกหลังโควิด-19

รัฐบาลสิงคโปร์ไม่ได้เพียงพร่ำบอกให้คนสิงคโปร์ไปหาหนทางพัฒนาตัวเองเพียงลำพัง แต่ยังเข็นมาตรการเป็นโหลออกมาช่วยส่งเสริมประชาชนอย่างทั่วถึงทุกกลุ่ม ตั้งแต่วัยเรียน วัยแรงงาน ไปจนถึงวัยเกษียณ เนื่องจากรัฐบาลเดินหน้านโยบายพัฒนาคนมายาวนานแล้ว การดำเนินมาตรการชุดล่าสุดท่ามกลางวิกฤตโควิด-19 จึงเป็นไปอย่างคล่องตัว โดยเน้นเอาโครงการที่มีอยู่แล้วมาพัฒนาต่อยอด

สิงคโปร์ถือเป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศในโลกที่วางยุทธศาสตร์ระยะยาวชัดเจนที่มองไกลไปถึงโลกหลังโควิด-19 นอกเหนือไปจากมาตรการเยียวยาช่วยเหลือและจัดการโรคระยะสั้นแล้วยังมองการพัฒนาทรัพยากรคนเป็นยุทธวิธีสำคัญ การดำเนินงานพัฒนาคนเริ่มต้นขึ้นอย่างรวดเร็วตั้งแต่ที่โควิด-19 เพิ่งระบาดใหม่ๆ ตามที่ ชานชุนซิง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์และอุตสาหกรรม พูดไว้ว่า “เราจะทำอย่างเต็มที่ที่จะเตรียมความพร้อมประชาชนของเรา เราจะไม่รอจนกว่าวิกฤตโควิด-19 จะคลี่คลาย เราต้องเริ่มทันที”

 

 


ติดปีกแรงงานด้วยทักษะที่หลากหลาย โกอินเตอร์และตอบโจทย์โลกยุคใหม่
รัฐบาลสิงคโปร์ทุ่มงบประมาณกว่า 2 พันล้านดอลลาร์สิงคโปร์ (ประมาณ 46,000 ล้านบาท) ออกมาตรการ SGUnited Jobs and Skills Package ที่นอกจากจะสร้างงานใหม่ๆ ให้กับแรงงานสิงคโปร์ทดแทนตำแหน่งงานที่กำลังขาดแคลน ยังขยายโอกาสให้ประชาชนได้พัฒนาทักษะตัวเองให้สอดรับกับรูปแบบความต้องการแรงงานในโลกหลังโควิด-19

ในปี 2559 รัฐบาลสิงคโปร์ริเริ่มโครงการ SkillsFuture ซึ่งได้ร่วมมือกับสถาบันการศึกษาและบริษัทต่างๆ สร้างหลักสูตรระยะสั้นในสาขาอาชีพต่างๆ กว่า 1 หมื่นหลักสูตร ส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตของชาวสิงคโปร์ โดยรัฐบาลให้เงินเครดิตตั้งต้นแก่ประชาชนที่มีอายุ 25 ปีขึ้นไปคนละ 500 ดอลลาร์สิงคโปร์ (ประมาณ 11,500 บาท) เป็นทุนไปสมัครเรียนหลักสูตรที่ตัวเองสนใจ และภาครัฐก็ยังคอยเติมเงินให้เป็นระยะด้วย เมื่อเกิดโควิด-19 ขึ้น รัฐบาลก็นำ SkillsFuture ที่มีอยู่แล้วนี้เองมาใช้ โดยเพิ่มเงินเครดิตให้คนสิงคโปร์อีกเป็นเท่าตัว แถมยังออกเงินอุดหนุนค่าเล่าเรียนให้อีกจำนวนมากเพื่อกระตุ้นให้คนสิงคโปร์ไปเรียนกันมากขึ้น นอกจากนี้รัฐบาลยังเปิดโครงการฝึกงานในหลายสาขาอาชีพให้กับประชาชนทั้งที่เพิ่งเรียนจบใหม่และมีงานทำอยู่แล้ว โดยให้เงินเบี้ยเลี้ยงคนละ 1,200 ดอลลาร์สิงคโปร์ (ประมาณ 27,600 บาท) ต่อเดือนตลอดโปรแกรมการฝึกงานด้วย รัฐบาลยังมีแผนที่จะกระชับความร่วมมือกับสถาบันการศึกษาและบริษัทต่างๆ รวมทั้งหาพันธมิตรเพิ่มขึ้นอีก เพื่อสร้างหลักสูตรการเรียนรู้และโปรแกรมฝึกงานรองรับจำนวนคนและสาขาอาชีพที่มากขึ้น 

เป้าหมายหลักของรัฐบาลสิงคโปร์ก็คือต้องการให้ประชาชนได้อัปเดตทักษะความรู้ของตัวเองให้ทันโลกสมัยใหม่ โดยเน้นให้ศึกษาเกี่ยวกับเทคโนโลยีดิจิทัลมากเป็นพิเศษ แม้รัฐบาลจะส่งเสริมเรื่องนี้มาพักใหญ่แล้ว แต่โควิด-19 ก็ทำให้การเปลี่ยนผ่านเทคโนโลยีเร่งไวขึ้นไปอีก รัฐบาลจึงเน้นส่งเสริมหลักสูตรที่เกี่ยวข้องกับเรื่องเทคโนโลยีโดยเฉพาะ เช่น หลักสูตรที่สอนเกี่ยวกับระบบหุ่นยนต์, AI, การเขียนโปรแกรม, ความปลอดภัยทางไซเบอร์, ระบบปฏิบัติการคอมพิวเตอร์ใหม่ๆ, ระบบคลาวด์คอมพิวติ้ง, บล็อกเชน, อินเทอร์เน็ตออฟธิงส์, การใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ต่างๆ รวมไปถึงหลักสูตรเฉพาะสาขาอาชีพ เช่น การใช้เทคโนโลยีเสมือนในธุรกิจการนำเที่ยว, การใช้ยานยนต์ไฟฟ้าในธุรกิจการรับส่งผู้โดยสาร, การใช้สื่อดิจิทัลสร้างงานศิลปะและการแสดง, การทำการค้าและการตลาดบนแพลตฟอร์มดิจิทัล, เทคโนโลยีการเกษตรสมัยใหม่ และอีกมากมาย รัฐบาลยังสร้างโอกาสฝึกงานสำหรับแรงงานที่เพิ่งเรียนจบใหม่ในภาคไอที วิศวกรรม ซอฟต์แวร์ และ AI มากเป็นพิเศษด้วย

นอกจากจะให้อัปเดตทักษะในสายงานของตัวเอง รัฐบาลสิงคโปร์ยังกระตุ้นให้ประชาชนฝึกทักษะที่หลากหลายข้ามสายงานด้วย แม้จะไม่เคยมีพื้นฐานในสายงานนั้นๆ มาก่อนเลยก็ตาม เพราะวิกฤตโควิด-19 ทำให้งานบางอย่างกำลังหมดความสำคัญหรืออาจสูญหายไป หากประชาชนมีทักษะในสาขาอาชีพอื่นด้วยก็จะช่วยให้หางานใหม่ง่ายขึ้นในสายงานที่อยู่รอดหรือกำลังจะเป็นที่ต้องการสูง รัฐบาลยังมีโครงการ Professional Conversion Program ช่วยให้บรรดาแรงงานทักษะสูงสามารถเปลี่ยนงานไปสู่สายงานที่กำลังมาแรงในโลกหลังโควิด-19 ได้อย่างง่ายดาย เช่น วิทยาศาสตร์ชีวการแพทย์, อิเล็กทรอนิกส์, เทคโนโลยีดิจิทัล, วิศวกรรมหุ่นยนต์, การศึกษา, การวิเคราะห์ข้อมูล, การค้า รวมถึงการดูแลเด็กเล็ก คนสูงวัย และผู้ป่วย โดยที่ไม่จำเป็นต้องเรียนจบหรือมีประสบการณ์ในสายงานนั้นๆ มาก่อน เพียงแค่ผ่านหลักสูตรหรือโปรแกรมฝึกงานที่รัฐบาลจัดให้เท่านั้น 

วิกฤตโควิด-19 ยังทำให้รัฐบาลสิงคโปร์มองเห็นว่าตลาดและโอกาสงานในประเทศกำลังเล็กลงไป ขณะที่แรงงานสิงคโปร์เองก็จะต้องแข่งขันกับแรงงานต่างชาติดุเดือดขึ้น ทำให้คนสิงคโปร์และธุรกิจต่างๆ จะต้องมองหาโอกาสใหม่ๆ ในตลาดต่างประเทศมากขึ้น รัฐบาลก็ได้มีวิสัยทัศน์เพิ่มขึ้นมาอีกอย่างหนึ่งคือการส่งเสริมให้ประชาชนและภาคธุรกิจมีศักยภาพที่จะแข่งขันบนเวทีต่างประเทศได้แบบเข้มแข็งขึ้นไปอีก โดยเลือกขยับขยายโครงการที่รัฐบาลทำไว้อยู่แล้วอย่าง Scale-up SG ที่ส่งเสริมทักษะให้ผู้ประกอบการพากิจการตัวเองก้าวไกลไประดับโลก และ Global Ready Talent Program ที่ให้โอกาสแรงงานสิงคโปร์รุ่นใหม่ได้ฝึกงานเก็บเกี่ยวทักษะในต่างประเทศ

 



เตรียมความพร้อมตั้งแต่วัยเรียน
การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์กับการศึกษาแยกจากกันไม่ขาด รัฐบาลสิงคโปร์เองก็ให้ความสำคัญกับการศึกษามาโดยตลอด และกำลังให้ความสำคัญมากขึ้นอีกหลังจากเกิดการระบาดของโควิด-19 ขึ้น

รัฐบาลสิงคโปร์เริ่มจากเรื่องพื้นฐานที่สุดอย่างความเท่าเทียมทางโอกาสในการเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพ รัฐบาลมองเห็นว่าวิกฤตโควิด-19 ทำให้ความเหลื่อมล้ำตรงนี้ถ่างกว้างขึ้น เพราะเด็กที่มาจากครอบครัวรายได้น้อยเจอความยากลำบากในการเรียนมากกว่ากลุ่มอื่นเมื่อไม่สามารถไปเรียนที่โรงเรียนได้เหมือนเดิม และครอบครัวของเด็กกลุ่มนี้ก็ยังส่งเสียค่าเทอมลำบากขึ้นเพราะรายได้ลดลงไปอีก รัฐบาลสิงคโปร์ตัดสินใจแก้ปัญหานี้ด้วยการหยิบโครงการที่มีอยู่อย่าง KidStart และ UPLIFT ซึ่งเป็นโครงการที่ช่วยเหลือเด็กที่ด้อยโอกาสกว่าเด็กกลุ่มอื่นในหลายรูปแบบให้มีโอกาสในการศึกษาและพัฒนาตัวเองเทียบเท่ากับเด็กที่มาจากพื้นฐานครอบครัวที่ดี รัฐบาลเอาโครงการพวกนี้มาขยับขยายจนครอบคลุมหลายพื้นที่ชุมชนบนเกาะสิงคโปร์มากขึ้นเพื่อเข้าถึงเด็กกลุ่มใหญ่ขึ้น และเพิ่มรูปแบบการช่วยเหลือให้มากขึ้นอีก กระทรวงศึกษาธิการของสิงคโปร์ยังทุ่มงบประมาณพัฒนาคุณภาพโรงเรียน พัฒนาครู จ้างบุคลากร และจัดหาทรัพยากรการศึกษาเพิ่มเติม โดยเฉพาะโรงเรียนระดับล่างที่มีนักเรียนมาจากพื้นฐานครอบครัวขาดโอกาส เพื่อให้มั่นใจว่าเด็กเหล่านี้จะได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพเท่าเทียมกับเด็กคนอื่นๆ

สิงคโปร์ก็เจอปัญหาเหมือนประเทศอื่นๆ คือเด็กนักเรียนบางกลุ่มเจอความลำบากในการเรียนออนไลน์ในช่วงล็อกดาวน์เพราะขาดแคลนอุปกรณ์ กระทรวงศึกษาธิการสิงคโปร์จึงเร่งแจกแท็บเล็ตหรือแล็ปท็อปให้กับนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาทุกคน อันที่จริงนโยบายนี้ได้มีมาระยะหนึ่งก่อนที่จะมีโควิด-19 แล้ว แต่พอเกิดวิกฤตขึ้น กระทรวงก็เร่งรัดแจกจ่ายเร็วขึ้นโดยตั้งเป้าว่าจะต้องถึงมือนักเรียนมัธยมทุกคนให้ได้ในปี 2564 เร็วกว่ากำหนดเดิมที่เคยตั้งเป้าไว้อยู่ถึง 7 ปี และยังให้เครดิตเพิ่มอีกคนละ 200 ดอลลาร์สิงคโปร์ (ประมาณ 4,600 บาท) สำหรับซื้ออุปกรณ์เสริม ส่วนนักเรียนที่มาจากครอบครัวรายได้ต่ำก็จะได้เงินอุดหนุนซื้ออุปกรณ์เพิ่มไปอีก

นโยบายเร่งแจกแท็บเล็ตหรือแล็ปท็อปให้นักเรียนเร็วขึ้นเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ National Digital Literacy Program ที่มุ่งให้ประชาชนในวัยเรียนมีทักษะความรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีดิจิทัลที่แข็งแรงขึ้น ตอบโจทย์โลกที่กำลังพึ่งพาเทคโนโลยีสมัยใหม่มากขึ้นทั้งในเรื่องการทำงานและชีวิตประจำวันในโลกหลังโควิด-19 แต่การแจกอุปกรณ์อย่างเดียวก็ยังไม่เพียงพอ กระทรวงศึกษาธิการยังปรับหลักสูตรการศึกษาพื้นฐานให้สอดรับด้วย โดยเพิ่มความเข้มข้นของเนื้อหาการเรียนเกี่ยวกับการคิดเชิงคำนวณ (Computational Thinking) การเขียนโปรแกรม (Coding) วิทยาการคอมพิวเตอร์ (Computing Sciences) รวมไปถึงทักษะการใช้เทคโนโลยีไซเบอร์อย่างมั่นคงปลอดภัย (Cyber Wellness Education) ตั้งแต่ระดับประถมศึกษา

กระทรวงศึกษาธิการยังมีแนวคิดที่จะเติมเต็มทักษะความรู้ทางด้านการเงินให้นักเรียนควบคู่ไปกับทักษะทางเทคโนโลยีด้วย เพราะเล็งเห็นว่าหลังโควิด-19 การทำธุรกรรมการเงินและกิจกรรมทางเศรษฐกิจบนช่องทางอิเล็กทรอนิกส์กำลังเป็นที่นิยมแทนที่เงินสด ทักษะด้านเทคโนโลยีกับด้านการเงินจึงแยกจากกันไม่ขาด นอกจากจะให้ความรู้เรื่องการเงินในหลักสูตรแล้ว กระทรวงยังจะส่งเสริมให้นักเรียนทุกคนมีสมุดบัญชีตั้งแต่อยู่ชั้นประถมเพื่อฝึกการใช้จ่ายเงินแบบไม่ใช้เงินสด และฝึกให้รู้จักบริหารเงินของตัวเองเป็นตั้งแต่เด็กด้วย

ในระดับอุดมศึกษา กระทรวงศึกษาธิการก็กำลังเร่งติดปีกทักษะทางเทคโนโลยีให้นักศึกษาเหมือนกัน สำหรับนักศึกษาที่เรียนในสาขาที่กำลังข้องเกี่ยวกับเทคโนโลยี AI มากขึ้น เช่น สาขาความมั่นคงไซเบอร์ การขนส่ง อุตสาหกรรมและการเงินการธนาคาร กระทรวงได้เพิ่มความเข้มข้นของเนื้อหาด้านเทคโนโลยีดิจิทัลและ AI เชิงลึกลงไปในหลักสูตร ขณะที่นักศึกษาในสาขาอื่นๆ ก็จะได้เรียนความรู้พื้นฐานทางด้านเทคโนโลยีดิจิทัล สถาบันการศึกษาหลายแห่งยังเริ่มนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาประยุกต์ใช้กับการเรียนการสอนในบางสาขามากขึ้น เช่น การใช้เทคโนโลยีความเป็นจริงเสมือน (Virtual Reality Technology) เทคโนโลยีการพิมพ์สามมิติ และ AI เพื่อเตรียมพร้อมทักษะนักศึกษาให้รองรับโลกการทำงานในหลายสาขาอาชีพที่กำลังจะข้องเกี่ยวกับเทคโนโลยีเหล่านี้มากขึ้น 

นอกเหนือจากในแง่เทคโนโลยี กระทรวงศึกษาธิการของสิงคโปร์ยังมองว่านับจากนี้ คนสิงคโปร์จำเป็นต้องมีทักษะความรู้หลากหลาย เพราะหลายภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมหลังโควิด-19 กำลังเปลี่ยนรูปแบบไปอย่างรวดเร็วและซับซ้อนขึ้น ทำให้แรงงานจะไม่สามารถมีความชำนาญเพียงด้านเดียวได้อีกต่อไป กระทรวงจึงมีแผนปรับรูปแบบหลักสูตรระดับอุดมศึกษาให้เป็นแบบสหวิทยาการ (Interdisciplinary Learning) ซึ่งเน้นให้นักศึกษาเรียนแบบบูรณาการหลายสาขาวิชาเข้าด้วยกัน แทนที่จะเรียนเพียงสาขาเดียว ตอนนี้หลายสถาบันอุดมศึกษาในสิงคโปร์ก็เริ่มรับลูกนโยบายแล้ว บางแห่งได้จัดทำหลักสูตรใหม่ที่ประยุกต์รวมมากกว่า 1 สาขาวิชา เช่น หลักสูตรเศรษฐศาสตร์และวิทยาศาสตร์ข้อมูล (Economics and Data Science) คอมพิวเตอร์และการบริหารโครงการ (Computing and Project Management) และธุรกิจวิศวกรรม (Business Engineering) บางแห่งก็เตรียมปรับให้นักศึกษาเรียนสาขาวิชาเอกได้ 2 สาขา จากที่ปกติเลือกได้สาขาเดียว บางแห่งใช้วิธีเปิดโอกาสให้นักศึกษาลงเรียนได้หลายวิชามากขึ้น และเรียนวิชาข้ามสาขาได้มากขึ้นด้วย โดยเฉพาะในชั้นปีแรกๆ ของการเรียนที่เป็นการช่วยให้นักศึกษาได้ทักษะความรู้ที่หลากหลาย และเป็นโอกาสที่จะค้นหาตัวเองได้ดีขึ้นก่อนที่จะตัดสินใจเลือกสาขาวิชาเอกที่ชอบจริงๆ

หลักสูตรระดับอาชีวศึกษาและอุดมศึกษาบางหลักสูตรยังมีการปรับปรุงเนื้อหาแบบเร่งด่วน โดยเฉพาะหลักสูตรในสาขาวิชาที่เกี่ยวข้องกับสายงานที่ได้รับผลกระทบหนักจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 เช่น สาขาการท่องเที่ยว การโรงแรม และคหกรรม เพื่อพัฒนาทักษะให้สอดรับกับการเปลี่ยนรูปแบบการให้บริการท่ามกลางวิกฤตโควิด-19 และช่วยให้นักศึกษาไม่ตกงาน เช่น สาขาคหกรรม มีการสอนปรับสูตรอาหารในกรณีที่ขาดแคลนวัตถุดิบ รวมไปถึงการสอนวิธีการปรับเปลี่ยนเมนูอาหารและราคาให้สอดรับกับต้นทุนที่เปลี่ยนไปและดึงดูดลูกค้ามากขึ้น ขณะที่นักศึกษาในสาขาการท่องเที่ยวและการโรงแรมก็ได้เรียนวิธีการทำความสะอาดที่พักด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ การจัดงานประชุมหรืออีเวนต์แบบทางไกลด้วยเทคโนโลยีสารสนเทศ (Virtual Meeting / Virtual Event) นอกจากนี้สถาบันการศึกษาบางแห่งยังให้นักศึกษาในสาขาวิชาเหล่านี้เรียนวิชาอื่นๆ เพิ่มเติมนอกเหนือจากวิชาหลักที่เรียนอยู่ โดยเฉพาะวิชาที่ต้องใช้ในสายงานที่กำลังเป็นที่ต้องการในตลาดแรงงาน เช่น การดูแลผู้ป่วย การดูแลสุขภาพ การเงินการธนาคาร และเทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อให้นักศึกษาสามารถไปทำงานในสายงานเหล่านี้ได้ระหว่างรอให้สายงานที่ตัวเองเรียนอยู่ฟื้นตัวจากพิษโควิด-19

นอกจากนี้รัฐบาลยังมีแผนส่งเสริมให้นักเรียนนักศึกษาฝึกงานเพื่อเติมเต็มทักษะความรู้ให้พร้อมเข้าสู่โลกการทำงานหลังโควิด-19 นอกเหนือไปจากการเรียนในห้องเรียนเพียงอย่างเดียว โดยหยิบโครงการที่มีอยู่แล้วอย่าง SkillsFuture Work-Study Program มาขยับขยาย เพิ่มโอกาสฝึกงานมากขึ้นให้กับนักเรียนนักศึกษา และเตรียมถูกยกให้เป็นองค์ประกอบสำคัญในหลักสูตรการศึกษาภายในปี 2568

 



คนสูงวัยไม่ถูกทอดทิ้ง
สิงคโปร์ก็เหมือนกับหลายๆ ประเทศที่เทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาครอบงำชีวิตประจำวันของผู้คนมากขึ้นเรื่อยๆ และเมื่อโควิด-19 ไปเยือนถึงแผ่นดินสิงคโปร์ ผู้คนก็จำเป็นต้องข้องเกี่ยวกับเทคโนโลยีเหล่านี้ในกิจวัตรประจำวันมากขึ้นอีกเป็นทวีคูณ ไม่ว่าจะเป็นการจับจ่ายใช้สอยหรือทำธุรกรรมการเงินต่างๆ ผ่านทางแอปลิเคชันสมาร์ทโฟนแทนการใช้เงินสด หรือจะเป็นการติดต่อสื่อสารผ่านทางออนไลน์แทนการพบปะ คนสิงคโปร์ที่ปกติเข้าถึงเทคโนโลยีดิจิทัลกันมากอยู่แล้วอาจดูไม่มีปัญหากับการปรับตัวนี้มากเท่าไรนัก แต่รัฐบาลสิงคโปร์มองเห็นว่ากลุ่มคนที่กำลังจะใช้ชีวิตลำบากมากขึ้น ขณะที่โลกกำลังเปลี่ยนผ่านจากออฟไลน์ไปสู่ออนไลน์เร็วขึ้นก็คือกลุ่มคนสูงอายุที่ไม่ได้คุ้นเคยกับเทคโนโลยีมากเหมือนคนหนุ่มสาว

รัฐบาลสิงคโปร์ไม่ได้นิ่งนอนใจต่อความยากลำบากที่คนรุ่นปู่ย่าตายายกำลังเจออยู่ โดยริเริ่มโครงการ Senior Go Digital ที่เปิดคอร์สฝึกทักษะการใช้เทคโนโลยีในชีวิตประจำวันให้กับคนสูงวัย มีทั้งการเรียนในรูปแบบออฟไลน์และออนไลน์ตามที่ผู้เรียนสะดวก เนื้อหาแบ่งออกเป็น 3 ส่วนหลักๆ คือการใช้เทคโนโลยีสำหรับการติดต่อสื่อสาร ซึ่งมีสอนตั้งแต่การใช้อีเมล การใช้ WhatsApp วิธีเชื่อมต่อไวไฟสาธารณะของรัฐบาล รวมถึงการใช้โปรแกรม Zoom กับ Microsoft Teams ส่วนต่อมาคือบทเรียนเกี่ยวกับการเข้าถึงบริการของภาครัฐทางออนไลน์ และสุดท้ายคือการสอนวิธีจ่ายเงิน ช้อปปิ้ง และทำธุรกรรมการเงินต่างๆ ผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ นอกจากนี้โครงการยังเปิดคลินิกดิจิทัลให้ผู้สูงวัยที่มีข้อสงสัยหรืออยากรู้อะไรเพิ่มเติมเข้าไปสอบถามและขอคำปรึกษาได้ด้วยนอกเหนือจากการเรียนตามหลักสูตร

โครงการ Senior Go Digital เพิ่งเริ่มขึ้นเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา โดยมีคนสูงวัยชาวสิงคโปร์เข้าไปเรียนแล้วเกือบ 2 หมื่นคน และรัฐบาลตั้งเป้าว่าจะต้องมีคนสูงอายุเข้าร่วมโครงการถึง 1 แสนคนให้ได้ภายในเดือนมีนาคม 2564

 

ในอนาคตอันใกล้ เรากำลังจะได้เห็นโครงการและนโยบายพัฒนาคนใหม่ๆ จากรัฐบาลสิงคโปร์ออกมาอีกเรื่อยๆ หลายทศวรรษที่แล้วลีกวนยูมองว่าการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์จะทำให้สิงคโปร์เอาชนะความขาดแคลนทางทรัพยากรขึ้นเป็นประเทศชั้นแนวหน้าได้ แล้วก็ทำได้สำเร็จจริงๆ จนถึงตอนนี้ที่สิงคโปร์กำลังเผชิญความท้าทายใหม่ที่ใหญ่หลวงกว่าทุกครั้งที่เคยเจอมา รัฐบาลก็ยังคงมองว่าการพัฒนาคนจะเป็นหนทางให้ประเทศอยู่รอดและฟันฝ่าวิกฤตครั้งนี้ไปได้ วิกฤตโควิด-19 จึงกำลังตอกย้ำว่าผู้นำสิงคโปร์ยังให้ความสำคัญกับการพัฒนาทรัพยากรคนอย่างไม่เคยเสื่อมคลาย 

 

 

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising