สิงคโปร์กำลังมองหาแหล่งอาหารใหม่ๆ เพื่อเพิ่มความมั่นคงทางอาหารให้กับประเทศที่มีพื้นที่เพาะปลูกจำกัด โดยล่าสุดสำนักงานอาหารสิงคโปร์ (SFA) ได้อนุมัติให้นำเข้าแมลง 16 ชนิด เช่น จิ้งหรีด ตั๊กแตน หนอนนก และผึ้ง มาเป็นอาหารได้
SFA ระบุว่า แมลงเหล่านี้สามารถนำเข้ามาในรูปแบบวัตถุดิบหรือผลิตภัณฑ์พร้อมรับประทาน เช่น ของทอดและโปรตีนบาร์ที่มีส่วนผสมของผงแมลง โดยต้องมีการรับรองว่าแมลงไม่ได้มาจากการจับในป่า และอาหารที่ใช้เลี้ยงแมลงไม่มีส่วนผสมของปุ๋ยคอก วัตถุอินทรีย์ที่เน่าเปื่อย หรือวัตถุที่มาจากสัตว์หรือปลาที่เป็นโรค นอกจากนี้ แมลงต้องผ่านกระบวนการฆ่าเชื้อด้วยความร้อนหรือวิธีอื่นๆ ที่เพียงพอต่อการกำจัดเชื้อโรค
“ขอเตือนผู้ค้าว่า แมลงและผลิตภัณฑ์จากแมลงที่นำเข้าต้องเป็นไปตามมาตรฐานตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง” SFA กล่าวเสริม โดยอ้างถึงมาตรฐานจุลชีววิทยาสำหรับอาหารพร้อมรับประทานและกฎอื่นๆ
สิงคโปร์ในฐานะประเทศเล็กๆ ที่มีพื้นที่เพาะปลูกจำกัด ได้พยายามเพิ่มความมั่นคงทางอาหาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ความกังวลเกี่ยวกับเรื่องนี้มีความโดดเด่นมากขึ้น เนื่องจากปัญหาต่างๆ ทั่วโลก เช่น ความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่ส่งผลกระทบต่อประเทศ
สิงคโปร์ตั้งเป้าที่จะผลิตอาหารให้ได้ 30% ของความต้องการภายในประเทศภายในปี 2030 ซึ่งมากกว่าระดับปัจจุบันถึง 3 เท่า ในส่วนของอาหารรูปแบบใหม่ รัฐบาลสิงคโปร์ได้ให้การสนับสนุนสตาร์ทอัพที่ผลิตอาหารที่เป็นนวัตกรรม โดยในปี 2020 สิงคโปร์เป็นประเทศแรกในโลกที่อนุมัติการขายเนื้อสัตว์ที่เพาะเลี้ยงในห้องปฏิบัติการ
หลังจากการหารือสาธารณะตั้งแต่ปี 2022 เพื่ออนุมัติการนำแมลงมาเป็นอาหาร สิงคโปร์ก็ดึงดูดธุรกิจใหม่ๆ เข้ามาในประเทศ เมื่อต้นปีที่ผ่านมา สตาร์ทอัพญี่ปุ่นที่ผลิตผลิตภัณฑ์จากหนอนไหมได้จัดตั้งบริษัทย่อยในสิงคโปร์ เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการเปลี่ยนแปลงกฎระเบียบที่คาดว่าจะเกิดขึ้น
แม้ว่าการกินแมลงจะเป็นเรื่องใหม่สำหรับสิงคโปร์ แต่ก็เป็นเรื่องปกติในบางประเทศ โดย SFA ตั้งข้อสังเกตว่าประเทศอื่นๆ ได้อนุญาตให้บริโภคแมลงแล้ว เช่น ออสเตรเลีย เกาหลีใต้ ไทย และสหภาพยุโรป
ด้านองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ได้ยกย่องแมลงว่าเป็นแหล่งโปรตีนที่ยั่งยืนกว่าสัตว์เลี้ยงในฟาร์มแบบดั้งเดิม เนื่องจากมีคุณค่าทางโภชนาการที่สำคัญและมีประโยชน์ต่อสุขภาพของมนุษย์
“แมลงกินได้มีโปรตีน วิตามิน และกรดอะมิโน คุณภาพสูงสำหรับมนุษย์” FAO กล่าวในรายงานเมื่อปี 2022 “แมลงยังต้องการอาหารน้อยกว่าแกะ หรือวัว ควาย เพื่อผลิตโปรตีนในปริมาณที่เท่ากัน”
ร้านอาหารและร้านค้าปลีกบางแห่งในสิงคโปร์ได้วางแผนที่จะเพิ่มแมลงเข้าไปในเมนูของพวกเขาแล้ว เช่น Gastrobar Fura ที่เน้นเรื่องความยั่งยืน และ House of Seafood ร้านอาหารทะเล โดย SFA ยอมรับว่าอุตสาหกรรมแมลงของประเทศยังอยู่ใน ‘ช่วงเริ่มต้น’ และแมลงเป็นอาหารใหม่ในประเทศ
FAO ได้ส่งเสริมให้แมลงเป็นแหล่งโปรตีนทางเลือก ซึ่งมีความยั่งยืนมากกว่า เนื่องจากการเพาะเลี้ยงปล่อยก๊าซเรือนกระจกน้อยกว่าปศุสัตว์แบบดั้งเดิม
ภาพ: Tanawat Chantradilokrat / Shutterstock
อ้างอิง: