×

เปิดปม ‘Silicon Valley Bank’ ประสบเหตุ Bank Run และถูกสั่งปิดชั่วคราว พร้อมหาคำตอบว่าวิกฤตนี้จะลุกลามแค่ไหน?

11.03.2023
  • LOADING...
Silicon Valley Bank

เปิดสาเหตุว่าทำไม Silicon Valley Bank (SVB) ซึ่งเป็นธนาคารผู้ให้กู้ของบริษัทสตาร์ทอัพหลายแห่งในสหรัฐอเมริกาจึงประสบเหตุคนแห่ถอนเงิน (Bank Run) และทำไมหน่วยงานกำกับดูแลด้านการธนาคารของสหรัฐฯ ถึงสั่งปิด ขณะที่บริษัทจัดอันดับเครดิตต่างๆ ก็แห่ปรับลดอันดับเครดิตของธนาคารเช่นกัน

 

1. Fed ขึ้นอัตราดอกเบี้ย

ตั้งแต่ปีที่แล้วธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ได้ขึ้นอัตราดอกเบี้ยจากระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์เพื่อต่อสู้กับอัตราเงินเฟ้อ ทำให้นักลงทุนจำนวนมากเลือกที่จะเสี่ยงน้อยลง เนื่องจากต้นทุนทางการเงินแพงขึ้น ส่งผลกระทบต่อบริษัทเทคโนโลยีสตาร์ทอัพซึ่งเป็นลูกค้าหลักของ SVB โดยเฉพาะ เนื่องจากนักลงทุนต้องการหลีกเลี่ยงความเสี่ยง (Risk-averse) มากขึ้น

 

2. ลูกค้า SVB จำนวนมากถอนเงิน หลังประสบปัญหาการระดมทุน

จากอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นทำให้แผน IPO ของบริษัทสตาร์ทอัพหลายแห่งต้องหยุดชะงัก และทำให้การระดมทุนนอกตลาด (Private Fundraising) มีค่าใช้จ่ายสูงขึ้น ดังนั้นลูกค้า SVB บางรายจึงเริ่มถอนเงินออกมา เพื่อตอบสนองความต้องการด้านสภาพคล่อง

 

3. SVB แห่ขายบอนด์

เมื่อวันพุธที่ผ่านมา (8 มีนาคม) SVB ได้ออกมาเปิดเผยว่าธนาคารได้ขายพอร์ตพันธบัตรมูลค่า 2.1 หมื่นล้านดอลลาร์ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ โดยพอร์ตโฟลิโอดังกล่าวให้ผลตอบแทนเฉลี่ยอยู่ที่ 1.79% นับเป็นระดับที่ต่ำกว่าอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อายุ 10 ปีปัจจุบันที่ประมาณ 3.9% โดยสิ่งนี้ทำให้ SVB บันทึกการขาดทุนอยู่ที่ 1.8 พันล้านดอลลาร์

 

4. SVB ประกาศการขายหุ้น

ทำให้ SVB ต้องประกาศเมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา (9 มีนาคม) ว่าจะขายหุ้นสามัญ และหุ้นบุริมสุทธิแปลงสภาพ (Convertible Preferred Stock) มูลค่า 2.25 พันล้านดอลลาร์ เพื่อเติมเต็มช่องว่างในการระดมทุน ทำให้หุ้นของธนาคารลดลง 60% เนื่องจากนักลงทุนกังวลว่าการแห่ถอนเงินฝากอาจผลักดันให้ธนาคารต้องเพิ่มทุนมากขึ้น

 

5. แผนการขายหุ้นของ SVB ล่ม

ลูกค้าธนาคาร SVB บางรายแห่ถอนเงินจากธนาคารตามคำแนะนำของบริษัท VC เช่น Peter Thiel จาก Future Fund โดยสิ่งนี้ทำให้นักลงทุนตื่นตกใจ รวมถึง General Atlantic ที่เข้าแถวเพื่อขายหุ้นของธนาคาร และทำให้ความพยายามในการเพิ่มทุนของธนาคารพังทลายลงในวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา (9 มีนาคม)

 

6. SVB ถูกพิทักษ์ทรัพย์ (Receivership)

ในวันศุกร์ที่ผ่านมา (10 มีนาคม) ระหว่างที่ SVB พยายามเพื่อหาแหล่งเงินทุนด้วยวิธีการต่างๆ ซึ่งรวมถึงการขายบริษัทด้วย แต่ในวันนั้น Federal Deposit Insurance Corporation (FDIC) ก็ได้สั่งปิดสำนักงานใหญ่และ SVB และเข้าดูแลสินทรัพย์ของธนาคาร

 

โดยหลังจากเกิดเหตุขึ้น FDIC ก็ประกาศว่าจะพยายามขายสินทรัพย์ของ SVB และอาจจ่ายเงินปันผลในอนาคตให้กับผู้ฝากเงินที่ไม่มีประกันด้วย

 

7. วิกฤตนี้จะลุกลามมากแค่ไหน?

เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมาบริษัทจัดอันดับเครดิตหลายแห่ง ได้แก่ Moody’s และ S&P Global ได้ประกาศปรับลดอันดับเครดิตของ SVB Financial Group และธนาคารในเครืออย่าง SVB ลง

 

โดย Moody’s ได้ปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือของเงินฝากธนาคารสกุลเงินท้องถิ่นระยะยาวของ SVB เหลือ Caa2 จาก A1 และปรับอันดับเครดิตของธนาคารลงเหลือ C จาก Baa1

 

ขณะที่ S&P Global ได้ลดอันดับความน่าเชื่อถือของ SVB Financial Group และ SVB ลงสู่ระดับขยะ และคาดว่า SVB Financial Group จะเข้าสู่ ‘ภาวะล้มละลาย’

 

ด้านพิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ KKP Research ระบุผ่านโพสต์บน Facebook โดยมองว่าประเด็นนี้จะไม่กลายเป็นปัญหาเชิงระบบ และธนาคารใหญ่คงไม่เผชิญปัญหามากเท่า SVB แต่ปัญหานี้ก็มีโอกาสเกิดขึ้นได้กับธนาคารอื่นๆ ที่มีวิกฤตศรัทธา และยังคงต้องจับตาต่อไป

 

ขณะที่ Anthony Joseph Raza, Head of Multi-Asset Strategy ของ UOB Asset Management กล่าวในงาน THE STANDARD WEALTH CLUB 2023: RISING IN RECESSION ว่า สถานการณ์ที่เกิดขึ้นกับ SVB เป็นเรื่องที่ตลาดกำลังจับตาว่าจะเกิดเป็นปัญหาที่ลุกลามมากขึ้นหรือไม่ อย่างไรก็ดี ในมุมมองส่วนตัวยังเชื่อว่านักลงทุนยังไม่จำเป็นต้องกังวลกับเรื่องนี้มากเกินไป เนื่องจากระบบธนาคารของสหรัฐฯ ในภาพรวมยังมีฐานะที่แข็งแกร่ง มีทุนที่สูงกว่าในช่วงวิกฤตปี 2008 ราว 2-3 เท่าตัว

 

แม้กระทั่งตัวของ SVB เองก่อนที่จะเกิดปัญหาก็ยังมีฐานะที่ไม่แย่มากนัก แต่เมื่อผู้ฝากเงินตื่นตระหนกจึงทำให้เกิดภาวะ Bank Run นอกจากนี้ Fed ก็ได้รีบเข้ามาดูแลเพื่อสร้างความเชื่อมั่นว่าปัญหาจะไม่ลุกลามแล้ว


ข่าวที่เกี่ยวข้อง:


อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising