*บทความนี้เปิดเผยเนื้อหาสำคัญของซีรีส์ Sex Education ซีซัน 1-2*
Sex Education ออริจินัลซีรีส์จาก Netflix ที่ตีแผ่ชีวิตวัยรุ่น โดยมีคำว่า ‘เซ็กซ์’ เป็นใบปะหน้าเพื่อเย้ายวนให้ผู้ชมกดเข้ามาดู ซึ่งหารู้ไม่ว่าแท้จริงแล้ว เรากำลังถูกจับเข้ามาอยู่ในห้องเรียนที่บอกเล่าถึงปัญหาของเด็กๆ ที่ผู้ใหญ่หลายคนอาจกำลังมองข้าม ผ่านเรื่องราวของ โอทิส (Asa Butterfield) หนุ่มซิงผู้มีแม่เป็นนักบำบัดทางเพศ ที่ชะตาชีวิตนำพาให้เขามาพบกับ เมฟ (Emma Mackey) เด็กสาวหัวดี แต่ถูกแม่ผู้ให้กำเนิดทอดทิ้ง และตัดสินใจจับมือกันเปิดคลินิกบำบัดทางเพศในโรงเรียน
เพื่อต้อนรับการเปิดภาคเรียนอีกครั้งของ Sex Education ซีซัน 3 ที่กำลังจะเข้าฉายในวันที่ 17 กันยายนนี้ THE STANDARD POP ขอพาผู้ชมร่วมมาย้อนชมเรื่องราวของตัวละคร ‘ผู้ใหญ่’ ที่ ‘เติบโตมาก่อน’ แต่พวกเขากลับเป็นผู้ก่อปมปัญหาภายในใจให้กับพวกเด็กๆ โดยไม่รู้ตัวกันอีกครั้ง
เพราะนอกจากเรื่องราวการเติบโตสุดเผ็ดร้อนของเหล่าวัยรุ่น ตัวละครผู้ใหญ่ภายในเรื่องก็กำลังทำหน้าที่เป็นกระจกบานใหญ่ เพื่อให้ผู้ชมได้ย้อนทบทวนดูว่าตอนนี้เรากำลัง ‘เป็นห่วง’ หรือกำลัง ‘ทำร้าย’ จิตใจของเด็กๆ อยู่หรือเปล่า
รวมถึงผู้ชมวัยกลัดมันที่กำลังอยู่ในลู่วิ่งแข่งการเติบโต ก็จะได้รับชมเรื่องราวของผู้ใหญ่เหล่านี้เป็นแบบอย่าง เพื่อให้พวกเขาเลือกว่าอยากจะเติบโตไปเป็นผู้ใหญ่แบบไหน
กรอฟฟ์: เผด็จการในคราบพ่อ ผู้สร้าง ‘ปีศาจ’ ขึ้นมาในใจของอดัม
กรอฟฟ์ (Alistair Petrie) อาจารย์ใหญ่แห่งโรงเรียนมัวร์เดล ผู้ยึดมั่นในระเบียบวินัยและความสมบูรณ์แบบ ตั้งแต่การแต่งกายที่สมฐานะและความเคร่งครัดในกฎระเบียบ คุณสมบัติเหล่านี้สมเหตุผลแล้วที่เขาจะได้รับตำแหน่งครูใหญ่ที่ต้องดูแลโรงเรียนให้อยู่ในความเรียบร้อย และคอยผลักดันให้นักเรียน (บางคน) ได้สร้างสรรค์ผลงานเพื่อสร้างชื่อเสียงให้กับโรงเรียน
แต่หากต้องพูดถึงชายคนนี้ในฐานะ ‘พ่อ’ ของเด็กคนหนึ่ง ความสมบูรณ์แบบที่กรอฟฟ์ยึดมั่นกลับกำลังสร้าง ‘ปีศาจ’ ขึ้นมาภายในจิตใจของลูกชายอย่าง อดัม (Connor Swindells) โดยไม่รู้ตัว
เริ่มตั้งแต่เรื่องเล็กๆ อย่างความเข้มงวดในเวลากลับบ้านที่เลยเวลาเคอร์ฟิวแค่ 5 นาที อดัมก็ถูกทำโทษด้วยการริบโทรศัพท์ หรือการที่อดัมเป็นลูกชายของครูใหญ่ กรอฟฟ์จึงยิ่งกดดันให้อดัมต้องทำผลการเรียนให้ดีที่สุด ไปจนถึงการส่งตัวอดัมไปยังโรงเรียนทหารเพื่อหวังว่าลูกชายจะกลายเป็นคนที่มีระเบียบกว่าเดิม โดยไม่ถามแม้สักคำว่าอดัมอยากจะไปหรือไม่ ก่อนที่จะตอกย้ำจิตใจอีกครั้ง หลังจากที่อดัมถูกไล่ออกจากโรงเรียนทหารเพราะถูกยัดเยียดความผิดที่ตนไม่ได้ก่อ แต่กรอฟฟ์ก็ยังคงต่อว่าอดัมโดยไม่ถามถึงสาเหตุแม้แต่น้อย
แม้ว่ากรอฟฟ์จะมีจุดประสงค์ที่อยากให้อดัมเป็นคนที่สมบูรณ์แบบ แต่การที่เขาคอยกดดันลูกชายจนเกินเหตุและตัดสินอดัมแต่เพียงผลลัพธ์เท่านั้น โดยไม่เคยเชื่อใจและไม่สนว่าลูกจะรู้สึกอย่างไร จึงกลายเป็นชนวนสำคัญที่ทำให้อดัมเริ่มกลายเป็นเด็กเกเร ชอบบูลลี่ผู้อื่น เพื่อหวังว่าตนเองจะไม่ต้องเจ็บปวดอยู่เพียงลำพัง ซึ่งหากเราลองสังเกตสีหน้าในแต่ละฉากของอดัมดีๆ เราจะสามารถสัมผัสได้ว่าตัวเขาเองก็ไม่ได้อยากเป็นเช่นนี้
แม้ในท้ายที่สุด อดัมจะได้เจอกับ โอลา (Patricia Allison) ผู้ที่ยอมรับว่าเขาคือ ‘เพื่อน’ เป็นคนแรก และ เอริก (Ncuti Gatwa) ที่เคยถูกเขาทำร้ายทั้งร่างกายและจิตใจมาก่อน แต่เอริกก็กลับมายืนเคียงข้างและมอบ ‘ความรัก’ ให้กับอดัม ซึ่งถือว่าเป็นความโชคดีของอดัมที่ได้มาเจอกับเพื่อนที่พร้อมจะให้อภัยและอยู่เคียงข้างเขา ในขณะที่พ่อของเขาไม่อาจให้ได้
แต่มันก็คงจะดีกว่า หากกรอฟฟ์ผู้ที่อยู่ใกล้ชิดกับอดัมมากที่สุด ลองวางอีโก้ของตัวเองลงและเชื่อมั่นในตัวลูกชายมากกว่านี้ รับฟังความรู้สึกของอดัมให้มากกว่านี้ มอบความรักให้กับอดัมมากกว่านี้ อดัมก็อาจจะไม่ได้กลายเป็นเด็กที่ชอบรังแกคนอื่นก็เป็นได้
เพราะในขณะเดียวกัน ไม่ใช่ทุกคนจะโชคดีที่ได้เจอกับเพื่อนดีๆ เช่นเดียวกับอดัม
เอริน: แม่ผู้ทำลาย ‘ความเชื่อใจ’ ที่เมฟมอบให้
เอริน (Anne-Marie Duff) แม่ผู้ลุ่มหลงในยาเสพติด ทอดทิ้งเมฟและพี่ชายตั้งแต่ยังเด็ก
เล่าเพียงแค่นี้เราก็พอจะเดาได้แล้วว่า ในวัยเด็กของเมฟต้องถูกบังคับให้เผชิญกับความยากลำบากโดยที่ไม่มีสิทธิ์เลือก และแม้ว่าเธอจะพยายามผลักดันให้ตนเองมีชีวิตที่ดีขึ้น แต่ก็มักจะถูกตัดโอกาสไปมากมาย เพราะถูกสังคมตราหน้าว่าเป็นลูกของคนติดยา
กระทั่งวันหนึ่ง จู่ๆ เอรินก็กลับมาหาเมฟอีกครั้งพร้อมกับน้องสาวต่างพ่อ หลังจากที่เธอเข้ารับการบำบัดจนเริ่มดีขึ้น เพื่อหวังว่าจะสามารถกลับมาแก้ไขความสัมพันธ์ระหว่างตัวเองและเมฟได้อีกครั้ง
เอรินพยายามทุกวิถีทางเพื่อทำให้เมฟกลับมายอมรับในตัวเอง ทั้งตระเวนหางานทำ พาเมฟไปสมาคมเลิกยาเพื่อให้เห็นว่าตนเองพยายามอยู่จริงๆ รวมถึงยอมทิ้งการสัมภาษณ์งานเพื่อไปเชียร์เมฟในการแข่งขันตอบคำถาม และคอยบอกเธอเสมอว่าตนเองสำนึกผิดกับสิ่งที่ได้ทำลงไปจริงๆ จนในที่สุดเมฟก็เริ่มเปิดใจแล้วกลับมาเรียกเธอว่า ‘แม่’ อีกครั้ง
แต่ดูเหมือนว่าสิ่งที่เอรินพยายามทำมาทั้งหมดจะสูญเปล่า เมื่อเมฟได้ร่วมมือกับไอแซก (George Robinson) จนจับได้ว่าเอรินกำลังปกปิดเรื่องที่ตัวเองถูกไล่ออกจากงานและกลับไปใช้ยาเสพติดอีกครั้ง ไม่เพียงเท่านั้น เธอยังปล่อยให้เมฟต้องดูแลน้องสาวต่างพ่อแทนอีกด้วย เมฟที่เป็นห่วงว่าน้องสาวจะเป็นอันตราย เธอจึงตัดสินใจโทรแจ้งสังคมสงเคราะห์เพื่อขอให้พวกเขามารับตัวน้องสาวไป
การตัดสินใจของเมฟอาจจะดูโหดร้ายเกินไป เพราะตลอดซีซันที่ 2 เราต่างได้เห็นความพยายามของเอรินที่ต้องการพิสูจน์ตัวเองเพื่อให้ลูกของเธอยอมรับ แต่การที่เอรินโกหกเมฟถึงสองครั้ง มันคือการทำลาย ‘ความเชื่อใจ’ ที่ลูกสาวของเธอมอบให้ลงอย่างไม่อาจปฏิเสธได้
และหากเราลองทบทวนสิ่งที่เอรินเคยทำไว้กับเมฟในวัยเด็กแล้ว มันคงจะไม่แปลกนัก หากเมฟจะไม่อยากให้น้องสาวของเธอต้องเผชิญกับชะตากรรมที่ถูกแม่ทอดทิ้ง และต้องดิ้นรนเพื่อมีชีวิตรอดเช่นเดียวกับตนเอง
เรื่องราวของเอรินและเมฟที่ถูกบอกเล่าผ่าน Sex Education ซีซัน 2 ได้ย้ำเตือนให้ผู้ชม (โดยเฉพาะผู้ใหญ่ที่เคยทำร้ายจิตใจของเด็กหนุ่มและหญิงสาวมาก่อน) ได้ตระหนักถึงความสำคัญของคำว่า ‘ความเชื่อใจ’ เพราะหลายครั้งเราก็ต้องพยายามอย่างมากเพื่อให้ได้มันมา แต่ในขณะเดียวกันมันก็เปราะบางเสียจนสามารถแตกสลายได้จากความผิดพลาดเพียงไม่กี่ครั้ง
เรมี: พ่อผู้อยู่เคียงข้างโอทิส เพื่อหลีกหนีจาก ‘ความผิดพลาด’ ของตัวเอง
เรมี (James Purefoy) นักบำบัดทางเพศ ที่เปี่ยมไปด้วยความสามารถและใบปริญญา เขียนหนังสือจนโด่งดังและมีแฟนๆ ติดตามเป็นจำนวนมาก ซึ่งแม้ว่าเขาจะหย่าร้างกับ จีน (Gillian Anderson) เป็นที่เรียบร้อย แต่เขาก็ยังทำหน้าที่พ่อโดยการติดต่อกับโอทิสอยู่เสมอ
เรียกได้ว่าความสำเร็จเหล่านี้ทำให้เรมีกลายเป็นพ่อในอุดมคติของใครหลายคน แต่ในขณะเดียวกัน พ่อผู้สมบูรณ์แบบคนนี้กลับเป็นคนที่สร้างบาดแผลให้กับโอทิสถึงสองครั้ง
เริ่มต้นด้วยการแอบไปมีความสัมพันธ์กับลูกค้าที่เข้ารับการบำบัด แต่โอทิสในวัยเด็กกลับมาเห็นเข้า จึงเป็นต้นเหตุให้เรมีและจีนต้องแยกทางกัน และทำให้โอทิสต้องเติบโตขึ้นโดยไม่มีพ่ออยู่เคียงข้าง ซ้ำร้ายโอทิสยังทำให้เข้าใจผิดว่าจีนคือต้นเหตุที่ทำให้พ่อต้องออกจากบ้านอีกด้วย
รวมถึงการที่เรมีเดินทางกลับมาหาโอทิสอีกครั้งหลังจากที่เขาย้ายไปแต่งงานใหม่ เขาได้พาโอทิสและเอริกไปปืนเขาเพื่อสานสัมพันธ์พ่อลูกที่ไม่ได้เจอกันนาน โดยในคืนที่พวกเขาต้องเข้าพักที่โรงแรม ภรรยาใหม่ของเรมีก็โทรมาขอหย่าร้างจนทำให้เขาเก็บความเสียใจไว้ไม่อยู่ โอทิสจึงคอยอยู่เคียงข้างเขาในค่ำคืนอันเจ็บปวดนั้น
แต่แล้วในเช้าวันต่อมา โอทิสกลับเห็นเรมีมีความสัมพันธ์กับพนักงานโรงแรมเข้าโดยบังเอิญ นั่นจึงทำให้โอทิสเข้าใจอย่างชัดเจนว่าทำไมภรรยาใหม่ของเรมีจึงขอหย่า และการกลับมาอังกฤษในครั้งนี้ก็ไม่ได้มาเพื่อพบกับลูกชาย แต่เรมีเดินทางมาเพื่อหลบหนีความผิดพลาดที่ตนเองได้ก่อไว้เท่านั้นเอง
เรียกว่าเรมีคือตัวละครผู้ใหญ่ที่สะท้อนให้เห็นถึงผลลัพธ์ของ ‘การหลบหนีปัญหา’ ที่ตนได้ก่อไว้ จนปัญหาเหล่านั้นเริ่มส่งผลกระทบต่อผู้คนรอบตัว ทั้งภรรยาเก่าอย่างจีนที่ต้องเลี้ยงดูโอทิสเพียงลำพัง โอทิสที่ต้องเติบโตมาโดยไม่มีพ่อเป็นตัวอย่าง และยังเข้าใจผิดอีกว่าสาเหตุทั้งหมดเริ่มต้นมาจากแม่ของตัวเอง ไปจนถึงภรรยาใหม่และลูกๆ ของเขาที่ต้องเผชิญกับความผิดพลาดซ้ำสองของตัวเอง
ตัวละครเรมีจึงถือเป็นอีกหนึ่งตัวอย่างที่กำลังย้ำเตือนกับผู้ชม (และผู้ใหญ่อีกหลายคน) ได้ตระหนักถึงความสำคัญของ ‘การยอมรับในความผิดพลาด’ และ ‘กล้าที่จะเผชิญหน้ากับปัญหา’ เพื่อไม่ให้ปัญหาที่ตนเองก่อขึ้นส่งผลกระทบไปถึงผู้คนรอบตัว
ดังเช่นประโยคสุดท้ายที่เรมีได้กล่าวกับโอทิสที่กลั่นกลองมาจาก ‘ความทุเรศของตัวเอง’ เพื่อหวังว่าโอทิสจะไม่ทำผิดพลาดเหมือนเช่นที่เขาเป็น
“พยายามจริงใจ เพราะเมื่อลูกเริ่มโกหก มันยากมากที่เราจะหยุดมัน ตอนเรายังเล็ก เราคิดว่าทุกคนในโลกเข้าใจเราจริงๆ ทั้งที่จริงๆ แล้วมีแค่หยิบมือเดียวที่เข้าใจ คนที่ชอบเราแม้เราจะมีข้อบกพร่อง แล้วถ้าเราทิ้งพวกเขาไป พวกเขาจะไม่มีวันกลับมา ดังนั้น เมื่อลูกได้เจอกับคนเหล่านั้น ลูกควรกอดพวกเขาไว้ให้แน่นๆ และอย่าปล่อยพวกเขาไป”
เอฟฟิออง: พ่อผู้พิสูจน์ว่าผู้ใหญ่เองก็สามารถเรียนรู้และเติบโตไปพร้อมกับเด็กๆ ได้เสมอ
แม้ว่าตลอดทั้ง 2 ซีซัน เอฟฟิออง (DeObia Oparei) พ่อของเอริก จะไม่ได้มีบทบาทสำคัญให้เราได้เห็นมากนัก แต่เหตุที่ผู้เขียนขอหยิบยกตัวละครตัวนี้มาพูดถึง ก็เพราะเอฟฟิออง พ่อผู้แสนธรรมดาคนนี้ กำลังย้ำเตือนถึงสิ่งสำคัญที่ผู้ใหญ่หลายคนอาจมองข้ามไปว่า ผู้ใหญ่เองก็สามารถเรียนรู้และเติบโตไปพร้อมกับลูกๆ และเหล่าคนรุ่นใหม่ได้เสมอ
เอฟฟิออง ชายผิวดำผู้อพยพมาตั้งรกรากยังเกาะผู้ดีอังกฤษ ซึ่งในช่วงเวลาที่เขายังหนุ่ม เขาต้องเผชิญกับการถูกเหยียดสีผิวและเชื้อชาติอยู่ตลอด แต่เพื่อเป้าหมายที่อยากจะสร้างชีวิตใหม่ที่ดีกว่าเดิม เขาจึงพยายามอดทนกับการถูกบูลลี่และปรับตัวเพื่อให้เข้ากับสังคม จนสามารถสร้างครอบครัวที่อบอุ่นขึ้นมาได้ในที่สุด
ด้วยประสบการณ์ที่เคยพบเจอ จึงทำให้เอฟฟิอองเป็นห่วงเอริกที่ชอบแต่งตัวสีสันฉูดฉาดและโดดเด่นกว่าคนอื่นทั่วไปว่าอาจทำให้เขาถูกทำร้ายอย่างที่ตนเองเคยเผชิญ เขาจึงอยากให้เอริกใช้ชีวิตธรรมดาๆ เหมือนคนทั่วไป แต่เขาก็ทำได้เพียงแค่ตักเตือนและมองดูลูกชายอยู่ห่างๆ เท่านั้น
จนกระทั่งในฉากงานเต้นรำของโรงเรียน วันที่เอริกได้ข้ามผ่านปมปัญหาและเรียนรู้ที่จะรักในความเป็นตัวเองได้แล้ว เอริกจึงบอกพ่อผู้คอยเป็นห่วงเขาอยู่เสมอถึงสิ่งสำคัญที่เขาได้ค้นพบว่า
“อย่างไรผมก็เจ็บตัวอยู่ดี เจ็บแต่เป็นตัวเองไม่ดีกว่าเหรอ”
ประโยคสั้นๆ จากเอริกประโยคนี้ได้แสดงให้เอฟฟิอองเห็นว่า เอริกที่กำลังยืนอยู่ตรงหน้าไม่ใช่เอริกที่เขาเคยรู้จักอีกต่อไปแล้ว แต่เป็นเอริกในเวอร์ชันที่รักในความแตกต่างของตัวเอง และพร้อมที่จะเผชิญหน้ากับใครก็ตามที่มาดูถูกคุณค่าของเขา
บทสนทนาในครั้งนี้จึงนำมาสู่บทเรียนสำคัญให้เอฟฟิออง (และผู้ชม) ได้เรียนรู้ไปพร้อมกันว่า เราควรจะยิ้มรับและภาคภูมิใจใน ‘คุณค่าของตัวเอง’ เพราะหากเรามัวแต่ปิดบังตัวตนเพียงเพื่อหลบเลี่ยงความเจ็บปวด มันคงจะเจ็บปวดมากกว่าหากเราไม่รู้ด้วยซ้ำว่าตัวเราเป็นใครและอยู่เพื่ออะไร ก่อนที่เอฟฟิอองจะตอบลูกชายที่แต่งหน้าทาปากและสวมเสื้อสีฉุดฉาดตรงหน้าอย่างภูมิใจว่า
“บางที พ่ออาจกำลังเรียนรู้จากลูกชายผู้กล้าหาญ”
รับชมบทสัมภาษณ์พิเศษสองนักแสดงนำอย่าง Asa Butterfield และ Ncuti Gatwa เกี่ยวกับเรื่องราวของ Sex Education ซีซัน 3 ได้ที่นี่:
รับชมตัวอย่างได้ที่นี่:
ภาพ: Netflix, imdb