×
SCB Omnibus Fund 2024

ตลาดหลักทรัพย์ฯ เผย 4 ปัจจัยควรหยิบมาพิจารณา กรณีเก็บ ‘ภาษีขายหุ้น’

15.06.2022
  • LOADING...
ภาษีขายหุ้น

ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเปิด 4 ปัจจัยที่ควรพิจารณา กรณีเรียกเก็บภาษีขายหุ้น ระบุอัตราจัดเก็บไม่เหมาะสมต่อสภาพธุรกิจ ผลักต้นทุนภาคธุรกิจพุ่ง เกิดต้นทุนภาษีซ้ำซ้อน ย้ำการประกาศใช้ภาษีขายหุ้นควรแจ้งล่วงหน้าในช่วงเวลาและสถานการณ์ที่เหมาะสม เพื่อให้ผู้ลงทุนและผู้ประกอบการมีเวลาเตรียมความพร้อมและปรับตัว

 

ตลาดหลักทรัพย์ฯ ระบุว่า ตามที่มีข่าวว่ากระทรวงการคลังจะเรียกเก็บภาษีการขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ฯ โดยจะจัดเก็บภาษีธุรกิจเฉพาะ 0.1% ของมูลค่าขายตั้งแต่บาทแรกนั้น ตลาดหลักทรัพย์ฯ เห็นว่ายังมี 4 ปัจจัยที่ควรพิจารณาเพิ่มเติมตามที่ทางตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้เคยนำเสนอมาโดยตลอด ดังนี้

 

  1. อัตราภาษีธุรกิจเฉพาะ 0.1% (ภาษีขายหุ้น) ที่จะเรียกเก็บไม่เหมาะสมกับสภาพธุรกิจปัจจุบัน เนื่องจากเป็นอัตราที่ถูกกำหนดไว้ตั้งแต่ปี 2534 เมื่ออัตราค่าธรรมเนียมการซื้อขายหลักทรัพย์ (ค่าคอมมิชชัน) โดยเฉลี่ยอยู่ที่ระดับประมาณ 0.5% ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับอัตราภาษี 0.1% แล้วเป็นอัตราส่วน 5:1 เท่า ในขณะที่ปัจจุบันการแข่งขันของผู้ประกอบกิจการรุนแรงขึ้นทั้งในและต่างประเทศ ทำให้อัตราค่าคอมมิชชันโดยเฉลี่ยในอุตสาหกรรมลดลงเหลือเพียง 0.08% เท่านั้น 

 

ดังนั้นหากภาครัฐยังจัดเก็บภาษีขายหุ้นที่ระดับ 0.1% รวมกับภาษีท้องถิ่นอีก 0.01% คิดเป็น 0.11% จะทำให้อัตราส่วนระหว่างค่าคอมมิชชันและภาษีจะกลับเป็น 0.7:1 เท่า ซึ่งจะเห็นได้ว่ารายได้ในการให้บริการการซื้อขายของบริษัทหลักทรัพย์โดยเฉลี่ยจะต่ำกว่าภาษีธุรกิจเฉพาะเสียอีก ส่งผลต่อค่าใช้จ่ายของผู้ลงทุนที่สูงขึ้นเกินเท่าตัว และจะกระทบต่อสภาพคล่องและการตัดสินใจลงทุนของผู้ลงทุนทุกประเภทอย่างมีนัยสำคัญ ทั้งกลุ่มรายย่อยที่ลงทุนโดยตรงในตลาดหลักทรัพย์ฯ และลงทุนทางอ้อมผ่านกองทุนต่างๆ และผู้ลงทุนต่างประเทศ

 

  1. ต้นทุนการระดมทุน (Cost of Capital) ของภาคธุรกิจจะยิ่งสูงขึ้นเมื่อสภาพคล่องในตลาดหดตัวจากต้นทุนในการซื้อขายหลักทรัพย์ที่สูงขึ้น 1 เท่าตัว ทั้งที่ภาวะเศรษฐกิจของประเทศยังไม่สามารถกลับมาขับเคลื่อนได้เต็มที่เหมือนช่วงก่อนโควิด ซึ่งจะส่งผลกระทบให้บริษัทจดทะเบียนต้องชะลอหรือลดการลงทุนทางธุรกิจ กระทบต่อการจ้างงาน และ GDP ของประเทศ ในท้ายที่สุด

 

  1. เกิดต้นทุนภาษีซ้ำซ้อน (Double Taxation) สำหรับธุรกรรมการพัฒนาสินค้าตลาดทุนใหม่ๆ โดยเฉพาะ ETF, Derivative Warrant และ Single Stock Futures ซึ่งอ้างอิงหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ฯ จึงต้องจ่ายภาษีขายทั้งตัวสินค้าและผู้ให้บริการ ไม่ว่าจะเป็น บล. หรือ บลจ. ดูแล และเมื่อต้องขายหลักทรัพย์อ้างอิงในการสร้างสินค้าและดูแลสภาพคล่องของสินค้านั้นๆ การเก็บภาษีจะจำกัดการพัฒนานวัตกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อผู้ลงทุน โอกาสของผู้ให้บริการ และขีดความสามารถในการแข่งขันของตลาดทุนไทยในเวทีโลกได้

 

ทั้งนี้ หากมีการจัดเก็บภาษีควรยกเว้นให้แก่กลุ่มผู้ดูแลสภาพคล่อง (Market Maker) และกลุ่มกองทุนรวม / กองทุนบำนาญ / กองทุนสวัสดิการต่างๆ เพื่อประโยชน์ในการออมการลงทุนของประชาชนในวงกว้าง และต่อการพัฒนาเชิงนวัตกรรมของตลาดหลักทรัพย์ในประเทศ

 

  1. การประกาศใช้ภาษีขายหุ้นควรแจ้งล่วงหน้าในช่วงเวลาและสถานการณ์ที่เหมาะสม เพื่อให้ผู้ลงทุนและผู้ประกอบการมีเวลาเตรียมความพร้อมและปรับตัว ทั้งจากต้นทุนที่สูงขึ้นและจากภาวะตลาดทุนและดัชนีหุ้นทั่วโลกมีความผันผวนสูงมากในปีนี้ ซึ่งมีผลมาจากทั้งสถานการณ์อัตราเงินเฟ้อสูง การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอย่างต่อเนื่อง ปัญหาโควิดที่ยืดเยื้อ และภาวะสงครามระหว่างประเทศที่กดดันอุปทานของสินค้าสำคัญต่างๆ

 

สุดท้ายนี้ตลาดหลักทรัพย์ฯ พร้อมที่จะทำงานร่วมกับทุกภาคส่วนในการพิจารณาหาแนวทางที่เหมาะสมในเรื่องนี้ เพื่อการพัฒนาตลาดทุนและเศรษฐกิจของประเทศไทยอย่างยั่งยืน

 


 

ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising