×

ตลาดหลักทรัพย์ฯ เผยต่างชาติยังเชื่อมั่น ‘หุ้นไทย’ แม้การเมืองสะดุด เหตุเสน่ห์อยู่ที่กำไร บจ. และความต่อเนื่องเชิงนโยบาย

24.08.2022
  • LOADING...

ตลาดหลักทรัพย์ฯ เผยต่างชาติยังเชื่อมั่นตลาดทุนไทยแม้การเมืองเปลี่ยนแปลง เหตุมั่นใจความสามารถในการทำกำไรของ บจ.ไทย พร้อมโชว์ตัวเลขซื้อสุทธิของต่างชาติที่แตะ 1.66 แสนล้านบาท ด้านนักเศรษฐศาสตร์และนักวิเคราะห์เห็นพ้อง การเมืองไทยยังไม่เกิดภาวะสุญญากาศ 

 

ภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ประเด็นความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองนั้นไม่กระทบต่อตลาดหุ้นไทย โดยหากพิจารณาภาคเรียลเซ็กเตอร์และภาคการเมืองของไทย จะพบว่าไม่ค่อยมีความเกี่ยวข้องกันมากนัก 

 

โดยตลาดหุ้นไทยจะขึ้นอยู่กับความสามารถในการทำกำไรของภาคเอกชนมากกว่า และเมื่อพิจารณาผลประกอบการที่ออกมาก็จะพบว่า ไม่ค่อยเกี่ยวกับการเติบโตของเศรษฐกิจในประเทศ ทั้งนี้ เป็นเพราะบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ขยายธุรกิจไปสู่ต่างประเทศค่อนข้างมาก โดยปัจจุบันมีจำนวน บจ. ที่ขยายธุรกิจไปต่างประเทศราว 30% ของจำนวน บจ. และแต่ละ บจ. ที่ขยายธุรกิจไปต่างประเทศนั้น ส่วนใหญ่ก็มีรายได้จากต่างประเทศราว 50% ของรายได้รวม 

 

ภากรกล่าวว่า นักลงทุนต่างชาติที่เข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นไทยนั้น สนใจเรื่องนโยบายการคลังและการเงินมากกว่า รวมถึงสนใจว่าประเทศไทยจะสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างไร มีอุตสาหกรรมอะไรที่จะเป็นตัวผลักดันรายได้เข้าสู่ประเทศ และภาครัฐจะสนับสนุนอย่างไรบ้าง 

 

“ไม่ว่าจะเป็นการเมืองพรรคไหน สิ่งที่เราเห็นคือ ประเทศไทยมีการสานต่อนโยบายการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานอย่างต่อเนื่อง ตอนนี้การเมืองก็ไม่ได้ชัดขึ้น แต่ตลาดทุนไทยก็ฟื้นตัวขึ้นได้ เงินทุนต่างชาติก็ยังไหลเข้ามาเรื่อยๆ” ภากรกล่าว 

 

โดยปีนี้เป็นปีแรกในรอบ 3 ปี ที่ฟันด์โฟลวต่างชาติไหลเข้าตลาดหุ้นไทยต่อเนื่อง จนปัจจุบันมียอดซื้อสะสมอยู่ที่ราว 1.6 แสนล้านบาท และเฉพาะรอบ 1 เดือนที่ผ่านมา เงินต่างชาติซื้อสุทธิ 3 หมื่นล้านบาท ซึ่งสะท้อนว่าการเมืองไม่ได้มีผลกระทบต่อการพิจารณาลงทุนของนักลงทุนต่างประเทศ 

 

ภากรกล่าวเพิ่มว่า ดัชนี SET Index ตั้งแต่ต้นปีเราปรับขึ้นไม่มาก แต่เมื่อเทียบกับตลาดหุ้นประเทศเพื่อนบ้านถือว่าทำได้ดีกว่า ขณะเดียวกัน สภาพคล่องในตลาดหุ้นไทยก็ไม่ได้หายไป และที่น่าสนใจคือแม้ดัชนีตั้งแต่ต้นปีจะไม่ได้ปรับขึ้นมาก แต่มูลค่าการระดมทุนของหุ้น IPO ในปีนี้ยังสูงถึง 1.4 พันล้านดอลาร์ ส่วนในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา มีการระดมทุนผ่านการ IPO เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยมียอดระดมทุนราว 5-6 พันดอลลาร์ 

 

นักวิเคราะห์ระบุการเมืองไทย ‘ไม่สุญญากาศ’ 

ณัฐพล คำถาเครือ ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.หยวนต้า (ประเทศไทย) กล่าวว่า ตลาดหุ้นไทยตอบรับปัจจัยทางการเมืองรอบนี้ไม่มากนัก เนื่องจากเป็นปัจจัยที่ตลาดรับรู้อยู่ก่อนแล้ว โดยตั้งแต่มีกระแสข่าวการยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ทางด้านโฆษกรัฐบาลก็ได้ออกมาให้ข้อมูลว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป โดยได้มีการแต่งตั้งผู้ที่มารับตำแหน่งรักษาการนายกฯ ไว้แล้ว ขณะเดียวกัน คณะรัฐมนตรีก็สามารถทำงานต่อได้ตามปกติ 

 

“พอมีข้อมูลออกมาเป็นระยะ มีการวางตัวผู้ที่จะมาเป็นรักษาการเอาไว้แล้ว เท่ากับการเมืองไทยไม่ได้ภาวะสุญญากาศ จึงไม่กระทบต่อตลาดหุ้นและการลงทุนมาก ขณะเดียวกัน นักลงทุนต่างชาติก็มีความเชื่อมั่นค่อนข้างมากในผลประกอบการของ บจ.ไทย ซึ่งออกมาดีมากๆ โดยเฉพาะงบไตรมาส 2 ปีนี้” ณัฐพลกล่าว 

 

นักเศรษฐศาสตร์แนะจับตาการ ‘ยกระดับชุมนุม’

 

อมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สำนักวิจัย ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย ประเมินว่า การสั่งให้นายกรัฐมนตรีหยุดปฏิบัติหน้าที่เป็นการชั่วคราวของศาลรัฐธรรมนูญจะไม่ส่งผลกระทบที่รุนแรงต่อเศรษฐกิจไทย เนื่องจากคณะรัฐมนตรียังคงสามารถทำงานได้อยู่ ขณะที่บุคคลที่มีบทบาทสำคัญในคณะรัฐมนตรีก็ยังทำหน้าที่ได้ตามเดิม ทำให้นโยบายต่างๆ ของรัฐบาลยังเดินหน้าต่อไปได้ เปรียบเสมือนเป็นการเปลี่ยนหัวโดยที่ตัวยังเหมือนเดิม 

 

อย่างไรก็ดี สิ่งที่จะต้องจับตาในช่วงต่อจากนี้คือ จะมีการนัดชุมนุมประท้วงเกิดขึ้นหรือไม่ เพราะหากเกิดการประท้วงก็จะทำให้เกิดผลกระทบต่อเศรษฐกิจตามมา

 

ทั้งนี้ อมรเทพได้ประเมินฉากทัศน์ในกรณีที่เกิดการประท้วงทางการเมืองเอาไว้ 3 รูปแบบ ได้แก่ 

 

  1. เกิดการประท้วงแบบไม่รุนแรง คือ ผู้ชุมนุมมารวมตัวแล้วสลายตัวไม่ได้ปักหลักอยู่ยาว ในกรณีนี้คาดว่าจะเกิดผลกระทบต่อการจับจ่ายใช้สอยของประชาชนบ้างแต่ไม่มาก

 

  1. เกิดการประท้วงแบบรุนแรงปานกลาง คือ มีความยืดเยื้อขึ้น ในกรณีนี้อาจนำไปสู่ความไม่มั่นใจต่อสถานการณ์ทางการเมืองของประชาชน ทำให้การใช้จ่ายในหมวดสินค้าคงทนและสินค้าขนาดใหญ่ เช่น รถยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า จะได้รับผลกระทบ

 

  1. เกิดการประท้วงที่รุนแรง ในกรณีนี้อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อภาคการท่องเที่ยว ผลกระทบต่อเศรษฐกิจจะรุนแรงขึ้น แต่ก็คาดว่าจะไม่รุนแรงมาก โดยหากมีการชุมนุมในกรุงเทพฯ นักท่องเที่ยวก็อาจเลี่ยงเดินทางไปต่างจังหวัดแทน

 

“ตลาดค่อนข้างรับรู้อยู่แล้วว่าภายใน 6 เดือนประเทศไทยจะมีการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง แต่สิ่งสำคัญในช่วงที่จะมีการเปลี่ยนผ่านคือรัฐบาลต้องสร้างความเชื่อมั่นให้กับทุกฝ่าย ทั้งคนในประเทศ นักท่องเที่ยว และนักลงทุน” อมรเทพกล่าว

 

ทิม ลีฬหะพันธุ์ นักเศรษฐศาสตร์ ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) กล่าวว่า จากการพูดคุยกับลูกค้านักลงทุนต่างชาติของธนาคารพบว่า ส่วนใหญ่ตกใจกับข่าวที่เกิดขึ้น เพราะในมุมมองของต่างชาติ การที่นายกรัฐมนตรีต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่อาจเป็นเรื่องใหญ่ ทำให้ในระยะสั้นการรีแอ็กของตลาดอาจออกมาในแนวตกใจ อย่างไรก็ดี เชื่อว่าเมื่อตลาดตั้งหลักได้ และทำความเข้าใจว่ารัฐบาลยังเดินหน้าต่อไปได้ ยังคงมีนายกฯ ขึ้นมารักษาการแทน บรรยากาศก็จะปรับตัวดีขึ้น

 

“เรื่องนี้ไม่ได้ทำให้ไทยเกิดภาวะสุญญากาศ เพราะรัฐบาลยังเดินหน้าต่อได้ แต่อาจทำให้เกิดความไม่มั่นใจบ้าง ดังนั้นรัฐบาลต้องออกมาสร้างความเชื่อมั่น โดยสิ่งที่ตลาดรอฟังในตอนนี้คือ ศาลจะให้ความชัดเจนได้เมื่อไร” ทิมกล่าว

 

ทิมกล่าวว่า ความกังวลต่อท่าทีของ Fed ในการประชุม Jackson Hole ได้ส่งผลให้สกุลเงินในเอเชียอ่อนค่าลงมาตั้งแต่สัปดาห์ที่ผ่านมา โดยค่าเงินบาทมีการอ่อนค่าเป็นอันดับต้นๆ ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากปัจจัยทางการเมืองภายในประเทศ จึงต้องจับตาดูต่อว่า เมื่อการเมืองไทยมีความคืบหน้าออกมาในรูปแบบนี้ ค่าเงินบาทจะเคลื่อนไหวอย่างไรในระยะต่อไป

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising