×

ตลาดหลักทรัพย์ฯ ถกสำนักงาน ก.ล.ต. ทบทวนเกณฑ์รับหุ้น IPO หวังปิดจุดอ่อน เดินหน้าใช้เกณฑ์ไฟลิ่งใหม่ที่ของบการเงิน 3 ปีย้อนหลังในปี 67

29.11.2022
  • LOADING...
ตลาดหลักทรัพย์ฯ ถกสำนักงาน ก.ล.ต.

ตลาดหลักทรัพย์ฯ หารือสำนักงาน ก.ล.ต. พิจารณาทบทวนหลักเกณฑ์การรับหลักทรัพย์เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ โดยเน้นในทั้ง 2 เรื่องหลัก คือ 1. ในเชิงปริมาณ เช่น ฐานะการเงิน ผลประกอบการ และ 2. ในเชิงคุณภาพ เช่น ในด้านมาตรฐานบัญชี ระบบควบคุมตรวจสอบภายใน ว่ามีประเด็นที่ยังเป็นจุดอ่อนอยู่หรือไม่

 

แมนพงศ์ เสนาณรงค์ รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานผู้ออกหลักทรัพย์ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เปิดเผยกับ THE STANDARD WEALTH ว่า กรณีที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ต้องการให้ความสำคัญในประเด็นคุณภาพของหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ฯ รวมถึงการคัดเลือกรับหุ้นเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ นั้น 

 

ตลาดหลักทรัพย์ฯ กับ ก.ล.ต. ได้เริ่มทยอยหารือร่วมกัน เพื่อพิจารณาทบทวนดูหลักเกณฑ์ในการรับหุ้นเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ โดยจะเน้นในทั้ง 2 เรื่องหลัก คือ 1. ในเชิงปริมาณ เช่น ฐานะการเงิน ผลประกอบการ และ 2. ในเชิงคุณภาพ เช่น ในด้านมาตรฐานบัญชี ระบบควบคุมตรวจสอบภายใน เพื่อดูว่ามีประเด็นใดที่ยังเป็นจุดอ่อนอยู่หรือไม่ อย่างไรก็ตาม ยังไม่สามารถกำหนดกรอบเวลาที่ชัดเจนได้ว่าจะได้ข้อสรุปในช่วงเวลาใด โดยขณะนี้ยังอยู่ในช่วงเริ่มต้นของการพูดคุย

 

อย่างไรก็ดี ก่อนหน้านี้ ก.ล.ต. ได้ประกาศปรับเปลี่ยนเกณฑ์ในการรับหลักทรัพย์ใหม่หรือบริษัทที่จะเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนให้กับประชาชนทั่วไป (IPO) โดยจากเดิมกำหนดให้บริษัทต้องยื่นทำงบการเงินย้อนหลังในรูปแบบกิจการที่มีส่วนได้เสียสาธารณะ (Publicly Accountable Entities: PAEs) เพียง 1 ปี เฉพาะปีล่าสุด ปรับเป็นให้เพิ่มงบการเงินเป็น 3 ปีย้อนหลังล่าสุด ที่ต้องทำงบแบบ PAEs ตามมาตรฐานสากลรายงานทางการเงิน (IFRS) 

 

ทั้งนี้ เนื่องจากต้องการยกระดับมาตรฐานบริษัทจดทะเบียน (บจ.) โดยเฉพาะในด้านมาตรฐานบัญชีให้เข้ามาตรฐานสากล ซึ่งจะเริ่มบังคับตั้งแต่ปี 2567 โดย ก.ล.ต. ได้ร่วมกับชมรมวาณิชธนกิจ (IB Club) และตลาดหลักทรัพย์ฯ ร่วมกันทำงานมาเป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่า 2 ปีก่อนที่จะประกาศออกมา

 

สำหรับด้านคุณภาพ บจ. ปัจจุบัน หากพิจารณาในด้านความสามารถในการดำเนินธุรกิจจะเห็นว่าสามารถปรับตัวได้ค่อนข้างมีประสิทธิภาพ ส่งผลให้ธุรกิจสามารถเดินหน้าต่อไปได้ค่อนข้างดีในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา แม้ต้องเผชิญผลกระทบจากสถานการณ์โควิด รวมทั้งปัญหาเงินเฟ้อที่สูง

 

โดยสะท้อนได้จากตัวเลขผลการดำเนินงานช่วง 9 เดือนแรกปีนี้ที่มีกำไรสุทธิรวม 8.25 แสนล้านบาท ส่วนยอดขายรวมอยู่ที่ 13.17 ล้านล้านบาท ออกมาดีกว่าช่วง 9 เดือนแรกของปี 2561-2562 ซึ่งเป็นช่วงปีก่อนที่มีโควิดระบาด

 

ด้าน สมศักดิ์ ศิริชัยนฤมิตร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แอสเซท โปร แมเนจเม้นท์ จำกัด ผู้ดำเนินธุรกิจที่ปรึกษาทางด้านการเงิน เปิดเผยกับ THE STANDARD WEALTH ว่า การที่ ก.ล.ต. ปรับเปลี่ยนเกณฑ์กำหนดบริษัทจะยื่นไฟลิ่ง จะต้องทำงบการเงินย้อนหลัง 3 ปีล่าสุดเป็นแบบ PAEs นั้น เป็นการยกระดับมาตรฐานบริษัทที่จะเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ให้ดียิ่งขึ้น รวมถึงมีมาตรฐานของงบการเงินที่มีความน่าเชื่อถือมาก่อนหน้าที่จะยื่นไฟลิ่ง อีกทั้งเป็นการยกระดับมาตรฐานตลาดทุนของไทยใหม่ให้มีระดับใกล้เคียงกับตลาดหุ้นสิงคโปร์และฮ่องกงที่ปัจจุบันใช้หลักเกณฑ์เดียวกันนี้แล้ว

 

“ตอนนี้ผู้ประกอบการเอกชนของไทยถือว่ามีความพร้อมที่จะเน้นในเรื่องคุณภาพมากกว่าปริมาณ เพราะการบังคับให้ทำ PAEs 3 ปีจะทำให้เรื่องโครงสร้างระบบงาน การบันทึกข้อมูลการรับรู้รายได้ของการดำเนินธุรกิจจะต้องมีความพร้อม และอยู่ในมาตรฐานมากยิ่งขึ้น ซึ่งจริงๆ ปกติแล้วเวลายื่นไฟลิ่งบริษัทต้องยื่นงบการเงิน 3 ปีย้อนหลังอยู่แล้ว แต่ที่ผ่านมาจะเป็นในรูปแบบที่งบการเงิน 2 ปีแรกจะเป็นแบบ NPAEs และปีที่ 3 ล่าสุดถึงเป็นแบบ PAEs แต่เกณฑ์ใหม่กำหนดให้ทำแบบ PAEs เป็นการยกระดับมาตรฐานบริษัทที่จะมา IPO”

 

ทั้งนี้ ปัจจุบันประเทศไทยใช้มาตรฐานสากลรายงานทางการเงิน (IFRS) โดยมีการแบ่งการทำงบการเงินเป็น 2 ระดับ คือ 

  1. กิจการที่มีส่วนได้เสียสาธารณะ (Publicly Accountable Entities: PAEs) คือต้องปฏิบัติตามข้อกําหนดของมาตรฐานการรายงานทางการเงิน ที่จัดขึ้นตามมาตรฐานการรายงานทางการเงินระหว่างประเทศอย่างเต็มรูปแบบ หรือที่เรียกกันสั้นๆ ว่า ‘มาตรฐานชุดใหญ่’

 

  1. กิจการที่ไม่มีส่วนได้เสียสาธารณะ (Non-Publicly Accountable Entities: NPAEs) ซึ่งต้องปฏิบัติตามมาตรฐานการรายงานทางการเงินสําหรับกิจการที่ไม่มีส่วนได้เสียสาธารณะ (TFRS for NPAEs) หรือที่เรียกสั้นๆ ว่า ‘มาตรฐานชุดเล็ก’ ซึ่งข้อกําหนดในมาตรฐานชุดนี้จะง่ายกว่ามาตรฐานชุดใหญ่ ช่วยลดความยุ่งยากซับซ้อนหลายประเด็น 

 

ดังนั้น จากประเด็นดังกล่าวคาดว่าในปี 2566-2567 ก่อนที่เกณฑ์ใหม่นี้จะมีผลบังคับใช้ จะเป็นปัจจัยสนับสนุนให้บริษัทจำนวนมากเร่งกระบวนการในการระดมทุนและเสนอขายหุ้น IPO เนื่องจากเกณฑ์ใหม่จะทำให้ผู้ระดมทุนมีต้นทุนในการรายงานข้อมูลงบการเงินที่เพิ่มสูงขึ้นจากเดิม ทั้งนี้ เฉพาะงานที่ปรึกษาด้านการ IPO ของบริษัทในปี 2566 พบว่ามีลูกค้ายื่นไฟลิ่งไม่น้อยกว่า 10 บริษัท เพิ่มจากภาวะปกติที่มีเพียง 4-5 บริษัทต่อปี

 


บทความที่เกี่ยวข้อง


 

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising