×

ตลาดหลักทรัพย์เล็งทบทวนมาตรการกำกับการซื้อขายใหม่ หลังพบหุ้นซิ่งยังมีเพียบ แม้เข้าเกณฑ์กำกับดูแล

05.08.2021
  • LOADING...
SET

ในช่วงที่ผ่านมาจะเห็นว่ามีหุ้นที่ราคาเคลื่อนไหวขึ้นลงอย่างหวือหวา แม้จะเข้าเกณฑ์กำกับดูแลของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นการห้ามซื้อขายแบบหักกลบลบหนี้ (Net Settlement) และต้องซื้อด้วยบัญชีเงินสด (Cash Balance) เท่านั้น แต่ก็ยังไม่สามารถหยุดความร้อนแรงลงได้ ทำให้ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยอาจต้องทบทวนเกณฑ์ดังกล่าวใหม่

 

โดย ภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า ตลาดหลักทรัพย์อยู่ระหว่างพิจารณาเรื่องการทบทวนมาตรการกำกับการซื้อขายด้วย Cash Balance และ Net Settlement เพิ่มเติม แม้ว่าในช่วงที่ผ่านมาตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยจะสามารถควบคุมความผันผวนของราคาหุ้นที่เข้าข่ายมาตรการกำกับดูแลได้ถึง 90% แต่ยังมีอีกประมาณ 10% ที่แม้ใช้มาตรการในการควบคุมแล้วแต่ก็ยังมีความผันผวนค่อนข้างสูง ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยจึงพิจารณาว่าควรมีมาตรการอื่นที่จะมาช่วยควบคุมเพิ่มเติมหรือไม่

 

อย่างไรก็ตาม ในการปรับมาตรการและกฎเกณฑ์ต่างๆ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยจะคำนึงถึงภาพรวมให้มีความสมดุลกับการปล่อยให้เกิด Price Discovery และทำให้เกิดความเท่าเทียมกัน จึงต้องมีการหารือและปรึกษาผู้ที่เกี่ยวข้องให้ครบถ้วนก่อนออกมาตรการใดๆ

 

“หุ้นที่ไม่มีปัจจัยมาสนับสนุนให้ราคาสมควรจะมีการเปลี่ยนแปลง เกณฑ์ต่างๆ ที่มีสามารถควบคุมได้ค่อนข้างมีประสิทธิภาพ แต่ยังมีบางหลักทรัพย์ที่เข้าไปในเกณฑ์ 3-4 อย่างของเราแล้ว ยังไม่สามารถควบคุมราคาที่ผันผวนแรง หรือไม่สามารถควบคุม Turnover ได้ ตอนนี้เราก็อยู่ในการพิจารณาเพิ่มเติมว่าจะสามารถควบคุมตรงนี้ให้ดีขึ้นได้อย่างไร” ภากรกล่าว

 

ส่วนกรณี THG ที่ถูกทางสำนักงาน ก.ล.ต. ให้ชี้แจงข้อมูลเกี่ยวกับการให้ข่าวเรื่องการจัดหาวัคซีนนั้น โดยปกติแล้วตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยจะให้บริษัทชี้แจงข้อมูลมาก่อน ถ้าข้อมูลชัดเจนก็ใช้เป็นหลักให้นักลงทุนวิเคราะห์ข้อมูล แต่ถ้าพบว่าข้อมูลไม่เพียงพอ หรือมีแง่มุมใดๆ ที่ไม่เหมาะสม ก็จะติดตามข้อมูลเพิ่มและดูข้อมูลอีกครั้ง และส่งเรื่องราวให้กับผู้ที่มีหน้าที่พิจารณาความผิดดูแลต่อไป ซึ่งเป็นกระบวนการปกติอยู่แล้ว ไม่ใช่เคสใดเคสหนึ่ง 

 

ต่อคำถามว่าเม็ดเงินลงทุนจากต่างประเทศจะไหลกลับเข้ามาในประเทศไทยหรือไม่นั้น จะต้องติดตามสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิดในประเทศ การควบคุมการแพร่ระบาดและการกระจายวัคซีนจะสามารถทำได้ดีเพียงใด ซึ่งเป็นปัจจัยหลักที่เข้ามาช่วยหนุนภาพรวมการบริโภคในประเทศ รวมถึงติดตามการท่องเที่ยวที่จะเป็นส่วนที่ช่วยให้ภาพรวมเศรษฐกิจกลับมาฟื้นตัว 

 

ขณะที่ภาคการส่งออกแม้ว่าจะขยายตัวได้ดี แต่ก็ต้องติดตามการผลิตของโรงงานต่างๆ ว่าจะเป็นไปได้ดีอย่างต่อเนื่องหรือไม่ รวมทั้งเกิดปัญหาขาดแคลนแรงงานหรือไม่ 

 

ทั้งนี้ หากสถานการณ์ต่างๆ ที่กล่าวมาข้างต้นดีขึ้น ก็เชื่อว่าเงินทุนต่างชาติก็จะไหลกลับเข้ามา

 

ด้านศรพล ตุลยะเสถียร รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานวางแผนกลยุทธ์องค์กร ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า ณ สิ้นเดือนกรกฎาคม 2564 SET Index ปิดที่ 1,521.92 จุด ลดลง 4.1% จากสิ้นเดือนก่อนหน้า เมื่อพิจาณาช่วง 7 เดือนแรกปี 2564 SET Index ปรับเพิ่มขึ้น 5.0% ซึ่งถือเป็นการปรับเพิ่มขึ้นสูงกว่าค่าเฉลี่ยของดัชนีตลาดหลักทรัพย์อื่นๆ ในภูมิภาค โดยกลุ่มอุตสาหกรรมที่ปรับตัวดีกว่า SET Index เมื่อเทียบกับสิ้นปี 2563 ได้แก่ กลุ่มสินค้าอุตสาหกรรม กลุ่มเกษตรและอุตสาหกรรมอาหาร กลุ่มเทคโนโลยีกลุ่มอสังหาริมทรัพย์และก่อสร้าง และกลุ่มบริการ

 

ในเดือนกรกฎาคม 2564 มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันใน SET และ mai อยู่ที่ 84,941 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 32.7% จากเดือนเดียวกันของปีก่อน โดยใน 7 เดือนแรกปี 2564 มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 96,388 ล้านบาท

 

ผู้ลงทุนต่างชาติขายสุทธิต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 7 โดยในเดือนกรกฎาคม 2564 ผู้ลงทุนต่างชาติขายสุทธิ 17,741 ล้านบาท ทั้งนี้ในช่วง 7 เดือนแรกปี 2564 ผู้ลงทุนต่างชาติขายสุทธิรวม 95,558 ล้านบาท โดยผู้ลงทุนในประเทศมีสถานะเป็นผู้ซื้อสุทธิ 129,185 ล้านบาท นอกจากนี้ ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2563 ที่มีการแพร่ระบาดของโควิด ผู้ลงทุนในประเทศมีสัดส่วนมูลค่าการซื้อขายสูงที่สุดมาอย่างต่อเนื่อง

 

ในเดือนกรกฎาคม 2564 มีบริษัทเข้าจดทะเบียนซื้อขายใหม่ใน SET 3 บริษัท และ 1 ทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ ในส่วนของ mai 1 บริษัท โดยใน 7 เดือนแรกปี 2564 SET มีมูลค่าระดมทุน (IPO) สูงที่สุดเมื่อเทียบกับตลาดหลักทรัพย์อื่นๆ ในอาเซียน

 

Forward และ Historical P/E ของตลาดหลักทรัพย์ไทย ณ สิ้นเดือนกรกฎาคม 2564 อยู่ที่ระดับ 18.0 เท่า และ 27.0 เท่าตามลำดับ สูงกว่าค่าเฉลี่ยของตลาดหลักทรัพย์ในเอเชียซึ่งอยู่ที่ระดับ 14.3 เท่า และ 19.6 เท่าตามลำดับ

 

อัตราเงินปันผลตอบแทน ณ สิ้นเดือนกรกฎาคม 2564 อยู่ที่ระดับ 2.55% สูงกว่าค่าเฉลี่ยของตลาดหลักทรัพย์ในเอเชียซึ่งอยู่ที่ 2.35%

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising