‘ธปท. – ตลท.’ ชูเงินบาท และ SET Index เป็นหนึ่งในสกุลเงินและดัชนีตลาดหุ้นที่ทนทานฝ่าวิกฤตต่างๆ ได้ดีที่สุดในโลก เมื่อเทียบกับหลายประเทศที่เผชิญความผันผวนอย่างมาก
วันนี้ (15 กุมภาพันธ์) ภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กล่าวในงานสมาคมผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจก้าวสู่ปีที่ 45 ‘Thailand Future Economic Forum 2023’ โดยระบุว่า “ค่าเงินบาทเป็นค่าเงินที่ทนทาน (Resilient) ที่สุดในโลกในปีที่แล้ว ดัชนี SET ก็เป็นดัชนีที่มีความมั่นคง และตกลงน้อยกว่าดัชนีอื่นๆ ในโลกเช่นกัน เห็นได้จากผลตอบแทนที่ยังดี เมื่อเปรียบเทียบกับตลาดหุ้นอื่นๆ ที่มีความผันผวนอย่างมาก”
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- ไขข้อข้องใจ ทำไม หุ้น MASTER ถึงกล้าเคาะราคา IPO ต่อหน่วยสูงสุดเป็นประวัติการณ์
- หุ้นสตาร์มันนี่ เข้าเทรดใน SET วันแรก ‘บวกแรง’ เปิดตลาดวิ่ง 16.65% จากราคา IPO
- หุ้น MOSHI พุ่งแรง! เข้าเทรดใน SET วันแรกด้วยราคาเปิดที่ 35 บาท เพิ่มขึ้น 67% จากราคา IPO
ภากร ยังระบุอีกว่า ประเทศไทยเป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศ ซึ่งกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ประเมินว่า เศรษฐกิจในปีนี้จะขยายตัวมากกว่าปีที่แล้ว พร้อมทั้งชี้ให้เห็นว่า ช่วงปี 2019-2020 เงินไหลออกจากตลาดทุนไทย 8 พันล้านดอลลาร์ แต่ในปี 2022 เงินไหลกลับเข้ามาถึง 6 พันล้านดอลลาร์ และในปีนี้เพียงเดือนเดียวเงินไหลกลับเข้ามาตลาดทุนไทย 700 ล้านดอลลาร์แล้ว เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ
SET Index ฟื้นตัวในรูป K-Shaped
ภากรระบุอีกว่า ภาพรวมดัชนีตลาดหุ้นไทยฟื้นตัวได้ดีจากสถานการณ์โควิด แต่เมื่อแบ่งแยกเป็นรายอุตสาหกรรมพบว่า การฟื้นตัวเป็นรูปตัว K โดยกลุ่มเทคโนโลยีและอุตสาหกรรมฟื้นตัวได้ดีอย่างมาก ขณะที่กลุ่มบริการ อสังหาริมทรัพย์ ก่อสร้าง การเงิน ประกัน สินค้าอุปโภคและบริโภคยังฟื้นตัวได้ไม่เท่า
อย่างไรก็ตาม ภากรมองว่าในปีนี้อุตสาหกรรมอาหารใหม่ๆ เช่น อาหารที่มาจากพืช และอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการมากขึ้น, การท่องเที่ยวรูปแบบใหม่, ธุรกิจเพื่อความยั่งยืน เช่น พลังงานหมุนเวียน และเศรษฐกิจใหม่ เช่น New S-Curve SMEs สตาร์ทอัพ ถือเป็น ‘โอกาสใหม่’ และเป็น ‘จุดแข็ง’ ของประเทศ
เงินเฟ้อทั่วโลกปีนี้จ่อชะลอตัว แต่ยังอยู่ระดับสูง
ขณะที่ เมธี สุภาพงษ์ รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวถึงสถานการณ์เงินเฟ้อในปีนี้ โดยประเมินว่าราคาพลังงานและอาหารอาจไม่ได้สูงขึ้นเท่าปีก่อน ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อทั่วโลกในปีนี้น่าจะชะลอตัวลง แต่จะยังคงทรงตัวอยู่ในระดับสูงกว่าเป้าหมายของธนาคารกลาง ไปจนถึงปี 2023 ถึงกลับสู่เป้าหมาย หมายความว่านโยบายการเงินยังไม่น่าจะผ่อนคลาย ทำให้ดอกเบี้ยนโยบายและดอกเบี้ยอื่นๆ ยังทรงตัวอยู่ในระดับสูง
เมธีระบุอีกว่า เมื่อปีที่แล้วประเทศไทยประสบกับปัญหาต้นทุนเพิ่ม ไม่ว่าจะเป็น ค่าไฟ น้ำมัน และอาหารสด ขณะที่แรงกดดันด้านอุปสงค์ยังมีน้อยมาก ผู้ประกอบการจึงส่งผ่านต้นทุนไปยังผู้บริโภคเพียงบางส่วนเท่านั้น
ดังนั้นในปีนี้อุปสงค์ในประเทศและนักท่องเที่ยวที่น่าจะเพิ่มขึ้นเยอะ ทำให้ผู้ประกอบการอาจส่งผ่านราคาไปยังผู้บริโภคมากขึ้น ทำให้ต้องติดตามเรื่องเงินเฟ้ออย่างใกล้ชิด อย่างไรก็ตาม เมธีย้ำว่าแนวโน้มเงินเฟ้อน่าจะลดลง เนื่องจากราคาพลังงานและราคาอาหารสดไม่ได้สูงอย่างปีก่อนหน้า
ยันไทยไร้ความจำเป็นขึ้นดอกเบี้ย ‘เร็วและแรง’
รองผู้ว่าการ ธปท. กล่าวอีกว่า ไทยไม่มีความจำเป็นต้องขึ้นดอกเบี้ยเร็วและแรง หลังจากขึ้นไปเพียง 4 ครั้งเท่านั้นในรอบนี้ ครั้งละ 0.25% ถือว่าปรับขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป พร้อมย้ำว่าการขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางยังต้องคำนึงถึงหนี้ครัวเรือนด้วย
แม้ว่าหลายฝ่ายกังวลว่าการขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารแห่งประเทศไทยที่ช้าทำให้ส่วนต่างดอกเบี้ยของไทยกับสหรัฐฯ ห่างขึ้นจะทำให้เงินไหลออก แต่เมธีชี้ว่าไม่พบการไหลออกมากมายนัก เนื่องจากต่างชาติมองว่าประเทศไทยมีการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจที่มีความเป็นเหตุเป็นผลและมั่นคง รวมกับหนี้ต่างประเทศต่ำ ทำให้นักลงทุนมีความเชื่อมั่น และหนุนให้บาทเป็นสกุลเงินที่ทนทาน (Resilient) ต่อวิกฤตต่างๆ ที่เกิดขึ้นในโลกได้มากที่สุดสกุลเงินหนึ่ง ขณะที่ วงจร (Cycle) นโยบายการเงินของแต่ละประเทศแตกต่างกัน จึงส่งผลกระทบไปถึงอัตราแลกเปลี่ยนของแต่ละประเทศ ซึ่งเป็นประเด็นที่เราต้องติดตามอย่างใกล้ชิด
สำหรับมุมมองต่อเศรษฐกิจปีนี้ เมธีมองว่าการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวอย่างชัดเจน จะทำให้รายได้ของภาคบริการเพิ่มขึ้น และจะสร้างกำลังซื้อให้กับประเทศได้อย่างมาก เนื่องจากแรงงานที่อยู่ในภาคบริการและท่องเที่ยวคิดเป็นสัดส่วนถึงเกือบ 50%