×

เสรีพิศุทธ์-ทนายอนันต์ชัย เข้าร้องทุกข์ ป.ป.ช. กรณี นายกฯ-ก.ตร. ปฏิบัติหรือละเว้นปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ กรณีแต่งตั้ง พล.ต.อ. ต่อศักดิ์ เป็น ผบ.ตร. คนใหม่

โดย THE STANDARD TEAM
05.10.2023
  • LOADING...

วันนี้ (5 ตุลาคม) ที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) สนามบินน้ำ พล.ต.อ. เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส อดีตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ พร้อมด้วย อนันต์ชัย ไชยเดช ทนายความ เข้าร้องทุกข์กล่าวโทษคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) 

 

ประกอบด้วย เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในฐานะประธาน ก.ตร., พล.ต.อ. ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ อดีตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.), พล.ต.อ. ชินภัทร สารสิน อดีต รอง ผบ.ตร., พล.ต.อ. มนู เมฆหมอก อดีตรอง ผบ.ตร., พล.ต.อ. วินัย ทองสอง อดีตรอง ผบ.ตร., พล.ต.อ. วิสนุ ปราสาททองโอสถ อดีตจเรตำรวจแห่งชาติ, ศุภชัย ยาวะประภาษ นายกสภาการศึกษาโรงเรียนนายร้อยตำรวจ, ฉัตรชัย พรหมเลิศ อดีตปลัดกระทรวงมหาดไทย, ปิยวัฒน์ ศิวรักษ์ เลขาธิการคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน, อ้อนฟ้า เวชชาชีวะ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบข้าราชการ รวม 10 คน 

 

ต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. ตรวจสอบวินิจฉัยและชี้มูลความผิด ฐานเป็นเจ้าพนักงาน ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ประกอบมาตรา 83 และมาตรา 91 และข้อหาอื่นใดที่เกี่ยวข้อง กรณีแต่งตั้ง พล.ต.อ. ต่อศักดิ์ สุขวิมล เป็น ผบ.ตร. คนใหม่  

 

พล.ต.อ. เสรีพิศุทธ์กล่าวว่า เมื่อวันที่ 27 กันยายน 2566 เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธาน ก.ตร. ได้เสนอชื่อ พล.ต.อ. ต่อศักดิ์ เพื่อให้คณะกรรมการ ก.ตร. พิจารณาให้ความเห็นชอบให้ดำรงตำแหน่ง ผบ.ตร. ซึ่งปรากฏว่า ผู้ถูกกล่าวหาทั้ง 9 คนข้างต้น มีมติเห็นชอบให้ พล.ต.อ. ต่อศักดิ์เป็น ผบ.ตร. ซึ่งเป็นการขัดต่อกฎหมายรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 มาตรา 258 ง. (4) ซึ่งมีหลักว่า การแต่งตั้งต้องคำนึงถึงอาวุโส และความรู้ความสามารถประกอบกัน เป็นการผิดต่อ พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2565 มาตรา 78 (1) ซึ่งบัญญัติว่า “มาตรา 78 การคัดเลือกแต่งตั้งข้าราชการตำรวจให้ดำรงตำแหน่งตามมาตรา 77 (1) (2) (3) (4) (5) และ (6) ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ ดังต่อไปนี้ 

 

1. การแต่งตั้งข้าราชการตำรวจให้ดำรงตำแหน่งตามมาตรา 77 (1) ให้นายกรัฐมนตรีคัดเลือกรายชื่อข้าราชการตำรวจผู้มีคุณสมบัติตามมาตรา 77 (1) โดยคำนึงถึงอาวุโสและความรู้ความสามารถประกอบกัน โดยเฉพาะประสบการณ์ในงานสืบสวนสอบสวนหรืองานป้องกันปราบปราม เสนอ ก.ตร. เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบก่อน แล้วให้นายกรัฐมนตรีนำความกราบบังคมทูลเพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง

 

และนอกจากนี้ ยังผิดต่อพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 กรณี พล.ต.อ. วินัย ทองสอง กับ ฉัตรชัย พรหมเลิศ ที่นายกรัฐมนตรีแต่งตั้งเป็นคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย กรณีการเข้าค้นบ้านพักของข้าราชการตำรวจชั้นผู้ใหญ่ และเคหสถานอื่นหลายแห่งทั่วประเทศ กรณี พล.ต.อ. สุรเชษฐ์ หักพาล รอง ผบ.ตร. อาจมีผลทำให้การพิจารณาทางปกครองไม่เป็นกลาง ตามความในมาตรา 16 เจตนารมณ์ของกฎหมายดังกล่าวจึงบัญญัติไม่ให้มาทำหน้าที่พิจารณาทางการปกครองในเรื่องการพิจารณาแต่งตั้ง ผบ.ตร. 

 

เพราะ พล.ต.อ. สุรเชษฐ์ หักพาล รอง ผบ.ตร. มีคุณสมบัติที่สามารถได้รับการพิจารณาแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง ผบ.ตร. ได้เช่นเดียวกันกับ รอง ผบ.ตร. อีก 3 คน จึงเป็นกรณีที่นายกรัฐมนตรีไม่ปฏิบัติให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 มาตรา 13 และ 16 เพราะถือว่า พล.ต.อ. วินัย ทองสอง กับ ฉัตรชัย พรหมเลิศ มีส่วนได้เสีย ซึ่งผลการประชุม กตร. วันที่ 27 กันยายน มีมติเสียงข้างมาก 9 ต่อ 1 งดออกเสียง 2 เห็นชอบตามที่นายกรัฐมนตรีเสนอให้ พล.ต.อ. ต่อศักดิ์ เป็น ผบ.ตร. คนต่อไปนั้น 

 

โดย พล.ต.อ. เอก อังสนานนท์ ซึ่งเป็น ก.ตร. ผู้ทรงคุณวุฒิจากการเลือกตั้ง คัดค้านไม่เห็นชอบ เศรษฐา ทวีสิน และ ประทิต สันติประภพ ก.ตร. งดออกเสียง 

 

พล.ต.อ. เสรีพิศุทธ์กล่าวต่อว่า ถ้าหากการคัดเลือก ผบ.ตร. ครั้งนี้ เป็นไปตาม พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2565 มาตรา 78 (1) ผู้ที่จะได้รับคัดเลือกคือ ลำดับที่ 1 พล.ต.อ. รอย อิงคไพโรจน์ ซึ่งมีอาวุโสและความรู้ความสามารถประกอบกัน โดยเฉพาะประสบการณ์ในงานสืบสวนสอบสวน หรืองานป้องกันและปราบปราม ซึ่งมีอายุราชการ 24 ปี 

 

ส่วนลำดับที่ 2 คือ พล.ต.อ. สุรเชษฐ์ หักพาล มีอายุราชการ 18 ปี ลำดับที่ 3 พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ มีอายุราชการ 22 ปี ส่วนลำดับที่ 4 พล.ต.อ. ต่อศักดิ์ สุขวิมล มีอายุราชการเพียง 10 ปีเท่านั้น ไม่ควรที่จะได้รับการแต่งตั้งเป็น ผบ.ตร. 

 

การกระทำดังกล่าวของนายกรัฐมนตรีกับพวก จึงเป็นความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงาน ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ประกอบมาตรา 83 และมาตรา 91 และผิดกฎหมายรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 258 (4)   

 

ด้านอนันต์ชัยกล่าวว่า หลังจากนี้อาจยื่นหนังสือต่อผู้ตรวจการแผ่นดินเพื่อส่งให้ศาลปกครอง ศาลรัฐธรรมนูญ และคณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรมข้าราชการตำรวจคณะหนึ่ง หรือ ก.พ.ค.ตร. วินิจฉัยว่าการปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวเป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ และขอให้หยุดการปฏิบัติหน้าที่ หรือดำเนินการตามกฎหมายต่อไป

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising