×

ส.ว. ชี้ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ต้องทำประชามติก่อนตามคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ เชื่อมีผู้ยื่นให้ศาลฯ ตีความแน่

23.09.2020
  • LOADING...

วันนี้ (23 กันยายน) พล.อ.ต. เฉลิมชัย เครืองาม สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) อภิปรายว่า ศาลรัฐธรรมนูญ เคยมีคำวินิจฉัยที่ 18-22/2555 เกี่ยวกับการร่างรัฐธรรมนูญทั้งฉบับชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ซึ่งศาลได้วินิจฉัยว่าอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญเป็นของประชาชน แล้วเหตุใดองค์กรที่ถูกจัดตั้งโดยรัฐธรรมนูญสามารถย้อนศรขึ้นไปร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับได้ 

 

อีกทั้งศาลได้วินิจฉัยว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญควรให้ประชาชนลงประชามติเสียก่อนว่าสมควรจะมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ ซึ่งรัฐธรรมนูญ 2560 ก็ได้ผ่านประชามติและถือว่ามาจากประชาชน

 

อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้มีข้อเสียและควรแก้ไขได้ แต่กุญแจที่จะไขเข้าสู่การตั้ง สสร. นั้น คำถามคือใครจะเป็นคนสร้างกุญแจนี้ขึ้นมา ถามว่าใช่สมาชิกรัฐสภาทั้ง 750 คนหรือไม่ เพราะรัฐธรรมนูญฉบับนี้ผ่านประชามติจากประชาชน ดังนั้นกุญแจที่จะไขไปสู่การร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ควรถูกสร้างโดยประชาชน แต่หากรัฐสภาไม่ถามประชาชนแต่ไขเข้าไปเอง ตนมั่นใจว่าจะมีผู้ร้องศาลรัฐธรรมนูญแน่นอนว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญนี้ขัดต่อคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ

 

พล.อ.ต. เฉลิมชัย กล่าวต่อว่า เราเร่งรัดกันมากให้มีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดยสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) และอาจจะผ่านประชามติหรือไม่ผ่านประชามตินั้น แต่ประเด็นสำคัญที่ยังไม่มีใครกล่าวถึงเลย เพราะการทำประชามตินั้นไม่ใช่อยู่ๆ จะทำได้ แต่ต้องมีกฎหมายการทำประชามติ ถามว่าเรามีกฎหมายฉบับนี้แล้วหรือยัง เพราะขณะนี้กฎหมายประชามติเพิ่งผ่านคณะรัฐมนตรี ยืนยันว่ากฎหมายออกเสียงประชามติไม่ใช่ออกได้ง่ายๆ ที่ผ่านมามีการส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยกันมาแล้ว

 

“โดยสรุป อุปสรรคของการแก้ไขรัฐธรรมนูญเรายังต้องผ่านอีกหลายด่าน ด่านแรกคือมีคำถามว่าเราต้องทำประชามติก่อนการพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือไม่ รวมถึงร่างรัฐธรรมนูญยกเลิกมาตรา 272 ยกเลิกอำนาจ ส.ว. ร่วมเลือกนายกฯ นั้นต้องผ่านประชามติก่อนหรือไม่ เพราะมาตรานี้เป็นคำถามพ่วงในการทำประชามติ ซึ่งเชื่อว่าจะมีผู้ไปร้องศาลรัฐธรรมนูญเหมือนกัน” พล.อ.ต. เฉลิมชัย กล่าว 

 

พล.อ.ต. เฉลิมชัย กล่าวต่อไปอีกว่า ตนไม่ขัดข้องในการแก้รัฐธรรมนูญ ตนยินดีที่จะลาออกจากสมาชิกวุฒิสภาเพื่อยึดถือหลักการที่ถูกต้อง คืออำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชน เราจึงต้องกลับไปถามประชาชนก่อนว่า การร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ ท่านจะร่างขึ้นมาแล้วค่อยไปถามประชาชนหรือไม่ เพราะฉะนั้นการทำประชามติควรมี 2 ครั้ง ถ้าท่านจะยินดีเสียเงินเกือบหมื่นล้านบาทเพื่อทำประชามติ โดยครั้งที่ 1 คือการทำประชามติว่าสมควรจะมีรัฐธรรมนูญใหม่หรือไม่ และครั้งที่ 2 เมื่อตั้ง สสร. และมีเนื้อหาของรัฐธรรมนูญแล้ว ต้องไปถามประชาชนอีกว่าประชาชนพอใจหรือไม่ รวมความแล้วถ้าไม่มีอุปสรรคอะไรเลยจะมีการทำประชามติใหม่ 2 ครั้ง

 

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising