×

จับตากระแส ‘เซมิคอนดักเตอร์’ คาดสหรัฐฯ จ่อชิงเค้กเพิ่ม หลังเพโลซีมุ่งพบประธาน TSMC ในการเยือนไต้หวัน

04.08.2022
  • LOADING...
เซมิคอนดักเตอร์

ทั่วโลกจับตาอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์อีกครั้ง หลัง แนนซี เพโลซี เยือนไต้หวัน และตรงดิ่งเข้าพบประธาน TSMC ซึ่งเป็นผู้ผลิตชิปรายใหญ่ของโลก ผู้เชี่ยวชาญมองสหรัฐอเมริกาจะช่วงชิงส่วนแบ่งทางการตลาดอีกครั้ง หลังจากตามหลังเอเชียมา 15 ปี ขณะเดียวกันก็เชื่อว่าจีนจะเร่งตีตรา TSMC เป็นบริษัทของจีนโดยอ้างนโยบายจีนเดียว

 

สำนักข่าว CNBC รายงานว่า แม้ว่าแนนซี เพโลซี ประธานสภาผู้แทนสหรัฐฯ เดินทางกลับจากไต้หวันแล้ว แต่การเยือนครั้งนี้ได้จุดความสนใจเกี่ยวกับบทบาทสำคัญของไต้หวันในด้านห่วงโซ่อุปทานชิปทั่วโลกขึ้นมาอีกครั้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้ผลิตชิปรายใหญ่ที่สุดของโลกอย่าง Taiwan Semiconductor Manufacturing Co. หรือ TSMC


ข่าวที่เกี่ยวข้อง


 

โดยการเยือนไต้หวันของเพโลซี และเข้าพบกับ Mark Liu ประธาน TSMC สะท้อนว่า ธุรกิจเซมิคอนดักเตอร์ของไต้หวันมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อความมั่นคงของชาติสหรัฐฯ และ TSMC มีบทบาทอย่างมากต่อภาคการผลิตชิปที่ทันสมัย 

 

ทั้งนี้ ธุรกิจเซมิคอนดักเตอร์ ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นต่อหลายสินค้า ตั้งแต่สมาร์ทโฟนไปจนถึงรถยนต์และตู้เย็น ได้กลายเป็นส่วนสำคัญของการแข่งขันด้านเทคโนโลยีระหว่างสหรัฐฯ และจีนในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา โดยเมื่อเร็วๆ นี้ ปัญหาการขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์ได้กระตุ้นให้สหรัฐฯ พยายามไล่ตามเอเชีย และรักษาความเป็นผู้นำเหนือจีนในอุตสาหกรรมนี้

 

Reema Bhattacharya หัวหน้าฝ่ายวิจัยในเอเชียที่ Verisk Maplecroft กล่าวกับ Street Signs Europe ของ CNBC ว่า สถานะทางการทูตที่ยังไม่ได้รับการแก้ไขของไต้หวัน จะยังคงเป็นที่มาของความไม่แน่นอนทางภูมิรัฐศาสตร์ที่รุนแรง แม้แต่การเดินทางของเพโลซี ก็ตอกย้ำถึงความสำคัญของไต้หวันสำหรับทั้งสหรัฐฯ และจีน

 

“เหตุผลหลักก็คือความสำคัญเชิงกลยุทธ์ในฐานะผู้ผลิตชิปที่ล้ำสมัย และการมีบทบาทในซัพพลายเชนเซมิคอนดักเตอร์ทั่วโลก” Bhattacharya กล่าว 

 

การไปเยือนไต้หวันของเพโลซี และการพบปะกับ TSMC แสดงให้เห็นว่า สหรัฐฯ ไม่สามารถรักษาความเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีได้โดยลำพัง และต้องการความร่วมมือจากบริษัทชาติเอเชียที่ครองชิปที่ล้ำสมัยที่สุด

 

ทั้งนี้ TSMC เป็นผู้ผลิตชิปตามการออกแบบของบริษัทอื่น โดยได้รับออร์เดอร์จากลูกค้าจำนวนมาก ตั้งแต่ Apple ถึง NVIDIA และบริษัทเทคโนโลยีขนาดใหญ่ชั้นนำทั่วโลก 

 

ในขณะที่สหรัฐฯ ล้าหลังในการผลิตชิปในช่วง 15 ปีที่ผ่านมา บริษัทต่างๆ เช่น TSMC และ Samsung Electronics ในเกาหลีใต้ ได้ผลักดันเทคนิคการผลิตชิปที่ล้ำสมัย โดยที่ยังคงพึ่งพาเครื่องมือและเทคโนโลยีจากสหรัฐฯ ยุโรป และประเทศอื่นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง TSMC ซึ่งสามารถยึดตำแหน่งผู้ผลิตชิปชั้นนำของโลกไว้ได้

 

ผลวิจัยของ Counterpoint Research ระบุว่า TSMC มีฐานการตลาดคิดเป็น 54% ของตลาดผลิตชิปทั่วโลก ขณะที่ทั้งไต้หวันมีฐานตลาดราว 2 ใน 3 ของตลาดผลิตชิปทั่วโลก และเมื่อพิจารณาฐานการตลาดของ TSMC ควบคู่ไปกับผู้เล่นรายอื่นๆ เช่น UMC และ Vanguard จึงสะท้อนความสำคัญของไต้หวันในตลาดเซมิคอนดักเตอร์ของโลกได้เป็นอย่างดี 

 

และหากรวม Samsung ซึ่งมีฐานการตลาดราว 15% ของตลาดผลิตชิปทั่วโลก ภูมิภาคเอเชียจึงครองตำแหน่งผู้นำด้านการผลิตชิปได้อย่างชัดเจน 

 

ตัวเลขดังกล่าวจึงเป็นเหตุผลสำคัญที่เพโลซีมีเป้าหมายพบกับประธานของ TSMC ในการเยือนไต้หวันครั้งนี้ 

 

ในมุมของภูมิรัฐศาสตร์ จีนมองว่าไต้หวันเป็นส่วนหนึ่งของจีน ที่มีความพยายามอย่างยาวนานในการแยกตัวออกไปปกครองตัวเอง จีนจึงส่งสัญญาณเตือนเพโลซีว่า อย่ามาไต้หวัน ดังนั้น จึงได้เห็นความตึงเครียดทางการเมืองมากขึ้น เช่น การซ้อมรบทางการทหารด้วยอาวุธจริง 

 

ขณะเดียวกันยังมีความกังวลว่า การกำราบไต้หวันโดยจีนไม่ว่าจะในรูปแบบใดก็ตาม อาจส่งผลกระทบอย่างมากต่อโครงสร้างตลาดชิปทั่วโลก และอาจทำให้จีนรวบอำนาจ และควบคุมเทคโนโลยีไว้ทั้งหมดอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ยิ่งไปกว่านั้น ยังมีความกังวลด้วยว่าการกำราบไต้หวันอาจเป็นการขัดขวางการเข้าสู่ซัพพลายเชนของชิป ซึ่งกำลังขาดแคลนอยู่ทั่วโลก 

 

Abishur Prakash ผู้ร่วมก่อตั้งบริษัทที่ปรึกษา Center for Innovating the Future บอกกับ CNBC ว่า เป็นไปได้มากว่าคนจีนจะให้สัญชาติจีนแก่ TSMC และเริ่มรวมบริษัท รวมถึงเทคโนโลยีของ TSMC เข้ากับอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ของจีน 

 

อย่างไรก็ตาม Mark Liu ประธาน TSMC บอกกับ CNN ว่า การรุกรานไต้หวันจะทำให้ผู้ผลิตชิปไม่สามารถทำงานได้

 

“ไม่มีใครสามารถควบคุม TSMC ได้ด้วยกำลัง” Liu กล่าวย้ำ

 

รายงานข่าวระบุว่า ปัจจุบันสหรัฐฯ ให้ความสำคัญกับการปรับฐานการผลิตใหม่

โดยล่าสุดบริษัท Intel ภายใต้การนำของ Pat Gelsinger ซึ่งเป็น CEO คนปัจจุบัน ก็กำลังมองหาการปรับปรุงธุรกิจผลิตชิป หลังจากตามหลัง TSMC มาหลายปี ในขณะเดียวกัน สหรัฐฯ ก็พยายามโน้มน้าวให้บริษัทอื่นๆ มาตั้งฐานการผลิตในสหรัฐฯ ด้วย

 

โดยปัจจุบัน TSMC กำลังสร้างโรงงานผลิตมูลค่า 1.2 หมื่นล้านดอลลาร์ในรัฐแอริโซนา เพื่อผลิตชิปขั้นสูง

 

และเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว สภาผู้แทนราษฎรแห่งสหรัฐฯ ผ่านร่างกฎหมายว่าด้วยชิปและวิทยาศาสตร์ ซึ่งสนับสนุนเงินทุนจำนวน 5.2 หมื่นล้านดอลลาร์ เพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ในสหรัฐฯ และปรับปรุงขีดความสามารถเพื่อแข่งขันกับจีน

 

นอกจากนี้ สหรัฐฯ ยังมองหาการจำกัดการเข้าถึงเทคโนโลยีของจีนอีกด้วย โดยในปี 2020 กรุงวอชิงตันได้ออกกฎที่กำหนดให้ผู้ผลิตต่างประเทศที่ใช้อุปกรณ์ทำชิปของสหรัฐฯ ต้องได้รับใบอนุญาตก่อน จึงจะสามารถขายเซมิคอนดักเตอร์ให้กับ Huawei ยักษ์ใหญ่ด้านอุปกรณ์โทรคมนาคมของจีนได้ 

 

ซึ่งในขณะนั้น TSMC ผลิตชิปโปรเซสเซอร์สมาร์ทโฟนของ Huawei แต่ภายหลังการเคลื่อนไหวของสหรัฐฯ TSMC ก็ไม่สามารถจัดหาชิปให้กับ Huawei ได้อีกต่อไป ส่งผลให้ธุรกิจสมาร์ทโฟนของ Huawei ได้รับผลกระทบ

 

ในปีเดียวกันนั้น บริษัท Semiconductor Manufacturing International Corporation หรือ SMIC ซึ่งเป็นผู้ผลิตชิปรายใหญ่ที่สุดของจีน ถูกสหรัฐฯ ขึ้นบัญชีดำ เนื่องจากละเมิดด้านการเข้าถึงเทคโนโลยีที่สำคัญ

 

อ้างอิง:

 


 

ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH


Twitter: twitter.com/standard_wealth
Instagram: instagram.com/thestandardwealth
Official Line: https://lin.ee/xfPbXUP

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X