Bloomberg รายงานว่า สถานการณ์ในอุตสาหกรรมการผลิตเซมิคอนดักเตอร์หรือชิป ซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญในการผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และสมาร์ทโฟนทั้งหลาย ในช่วงเวลานี้ดูจะเป็น ‘หนังคนละม้วน’ กับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้าอย่างสิ้นเชิง
โดยนักวิเคราะห์ส่วนหนึ่งตั้งข้อสังเกตว่า อุตสาหกรรมผลิตชิปมูลค่า 160,000 ล้านดอลลาร์นี้กำลังประสบกับความท้าทายที่เลวร้ายมากที่สุดในประวัติศาสตร์ เนื่องจากปริมาณคำสั่งซื้อชิปและราคาที่ลดลง ขณะที่ชิปที่ผลิตเก็บไว้ในโกดังก็มีมากเกินความต้องการใช้
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- TSMC เล็งสร้างโรงงานผลิตชิปแห่งใหม่มูลค่าหลายหมื่นล้านดอลลาร์ในสหรัฐฯ
- TSMC ระงับการส่งซิลิคอนขั้นสูงให้ผู้ผลิตชิปในจีน เพื่อหลีกเลี่ยงการฝ่าฝืนข้อบังคับของสหรัฐฯ
- จีนอวดสายการผลิต ‘Photonic Chip’ เป็นครั้งแรก เตรียมเดินเครื่องผลิตภายในปี 2023
สวนทางกับความคาดหวังก่อนหน้าที่มองว่าอุตสาหกรรมผลิตชิปหน่วยความจำที่เริ่มมีการจัดการที่เป็นระบบระเบียบมากขึ้น และเป็นที่ต้องการในฐานะวัตถุดิบที่ขาดไม่ได้ในการผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ เพื่อตอบรับกับเทคโนโลยีและบริการคลาวด์ ซึ่งช่วยให้มั่นใจได้ว่าบริษัทผู้ผลิตต่างๆ จะสามารถสร้างรายได้ที่คาดการณ์ได้มากขึ้น
Avril Wu รองประธานฝ่ายวิจัยอาวุโสของ TrendForce ระบุว่า จากเดิมที่อุตสาหกรรมชิปคิดว่าซัพพลายเออร์ทั้งหลายจะสามารถจัดการบริหารควบคุมการผลิตของตนได้ดียิ่งขึ้น แต่ภาวะความต้องการชิปที่ลดลงนี้ได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าทุกฝ่ายคิดผิด
วิกฤตการณ์ที่เกิดขึ้นในอุตสาหกรรมชิปอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนนี้ไม่ได้กระทบต่อรายได้ของผู้ผลิตรายใหญ่อย่าง SK Hynix Inc. และ Micron Technology Inc. เท่านั้น แต่ยังทำให้ซัพพลายเออร์ของบริษัทเหล่านั้น ตลอดจนเศรษฐกิจเอเชียที่ต้องพึ่งพาการส่งออกเทคโนโลยีอยู่ในภาวะสั่นคลอน รวมถึงบีบบังคับให้ผู้ผลิตชิปขนาดเล็กที่เหลืออยู่เพียงไม่กี่รายต้องเร่งสร้างพันธมิตร หรือแม้แต่พิจารณาการควบรวมกิจการ เพื่อความอยู่รอด
ก่อนหน้านี้ในช่วงวิกฤตการระบาดของไวรัสโควิด ยอดขายอุปกรณ์เทคโนโลยีที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ไม่ว่าจะเป็นคอมพิวเตอร์ แท็บเล็ต หรือสมาร์ทโฟน ท่ามกลางการผลิตชิปที่ไม่สามารถดำเนินได้อย่างเต็มที่เพราะโควิด ทำให้ชิปกลายเป็นสินค้าขาดตลาด อย่างไรก็ตาม ชิปไม่ได้เป็นสินค้าที่ขาดตลาดอีกต่อไป ตรงกันข้ามกลับเป็นสินค้าที่มีล้นตลาดในช่วงเวลาที่ความต้องการบริโภคของผู้บริโภคและธุรกิจต่างๆ กำลังลดลง เพื่อควบคุมต้นทุนรายจ่ายจากปัญหาเงินเฟ้อและการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลาง ขณะที่ฟากของผู้ผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งเป็นผู้ซื้อรายหลักของชิป ก็มีชิปสต๊อกอยู่ในคลังอยู่จำนวนมาก กระทั่งไม่มีความจำเป็นต้องใช้ในอนาคตอันใกล้
จับตารายใหญ่ ‘ขาดทุน’
ทั้งนี้ มีรายงานว่า Samsung Electronics Co. และเหล่าคู่แข่ง กำลังสูญเงินไปกับชิปทุกตัวที่ผลิตออกมา และผลขาดทุนจากการดำเนินงานโดยรวมของบริษัทเหล่านี้คาดว่าจะสูงถึง 5,000 ล้านดอลลาร์ในปี 2023 โดยสินค้าคงคลังถือเป็นตัวบ่งชี้ที่สำคัญของความต้องการชิปหน่วยความจำ ซึ่งสินค้าคงคลังขณะนี้เพิ่มขึ้นมากกว่า 3 เท่า สูงสุดเป็นประวัติการณ์ เทียบเท่าระดับซัพพลายที่สามารถใช้ได้ 3-4 เดือน แสดงให้เห็นว่าความต้องการใช้ชิปกำลังลดลง
อย่างไรก็ตาม Samsung ดูจะเป็นผู้ผลิตชิปรายเดียวที่รอดพ้นจากผลกระทบรุนแรงที่เกิดขึ้น โดยได้อานิสงส์จากไลน์ธุรกิจที่แข็งแกร่งและหลากหลายของบริษัท กระนั้นยักษ์ใหญ่ผู้ผลิตเซมิคอนดักเตอร์สัญชาติเกาหลีใต้แห่งนี้ก็ยังหนีไม่พ้นภาวะขาดทุน ซึ่งคาดว่าบรรดานักลงทุนน่าจะรับรู้ถึงความเสียหายที่เกิดขึ้นกับ Samsung ในการรายงานผลประกอบการรายไตรมาสของบริษัทในช่วงสัปดาห์นี้
โดยหุ้นของ Samsung เปิดตลาดช่วงเช้าเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา (30 มกราคม) ปรับตัวลดลง 2.3% ถือเป็นการปรับลดในช่วงการซื้อ-ขายระหว่างวันที่มากที่สุดในรอบ 12 วัน เช่นเดียวกับผู้ผลิตชิปอย่าง SK Hynix ที่ลดลง 1.6%
Greg Roh หัวหน้าฝ่ายวิจัยเทคโนโลยีของ HMC Investment & Securities กล่าวว่า สถานการณ์ที่ยอดขายชิปของบริษัทผู้ผลิตลดลงประมาณ 30-50% ไม่ใช่สถานการณ์ปกติแน่นอน
นักวิเคราะห์อีกส่วนหนึ่งมองว่า อุตสาหกรรมผลิตชิปกำลังเผชิญกับความท้าทายหลายประการที่เกิดขึ้นพร้อมๆ กัน ไม่ว่าจะเป็นภาวะเศรษฐกิจที่ยังได้รับผลกระทบที่ตกค้างจากโควิด บวกกับสงครามในยูเครน เงินเฟ้อพุ่งสูงสุดเป็นประวัติการณ์ และภาวะชะงักงันในห่วงโซ่อุปทาน ซึ่งทั้งหมดส่งผลให้อุตสาหกรรมชิปเลวร้ายยิ่งกว่าวัฏจักรปกติ
หวังแผน ‘ลดงบลงทุนโรงงาน’ ประคองสถานการณ์
Micron ผู้ผลิตชิปหน่วยความจำรายสุดท้ายในสหรัฐฯ ก็กำลังเผชิญกับความต้องการชิปที่ลดลงอย่างมาก ซึ่งทางบริษัทเพิ่งจะประกาศลดงบประมาณสำหรับโรงงานและอุปกรณ์ใหม่เมื่อปลายเดือนที่แล้ว ขณะที่ Sanjay Mehrotra ซีอีโอของบริษัทกล่าวว่า บริษัทจะสามารถพลิกฟื้นกลับมาได้เร็วแค่ไหนขึ้นอยู่กับว่าคู่สัญญาของบริษัทสามารถเคลื่อนไหวต่อตลาดได้เร็วเพียงใด ก่อนย้ำว่า Micron จะต้องผ่านวงจรที่เกิดขึ้นนี้ไปให้ได้ และเชื่อมั่นว่าอุตสาหกรรมชิปจะยังคงเติบโตและยังมีความสามารถในการทำกำไรอยู่
ด้าน Hynix ผู้ผลิตชิปในเกาหลีใต้ ได้ประกาศลดการลงทุนและลดขนาดการผลิตลง สินค้าคงคลังที่มากเกินไปของบริษัท ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการเข้าซื้อธุรกิจหน่วยความจำแฟลชของ Intel Corp. ซึ่งเป็นข้อตกลงที่เกิดขึ้นก่อนที่อุตสาหกรรมจะตกต่ำ
ขณะที่ในส่วนของ Samsung ก็ได้รับการจับตามอง เพราะตอนนี้แทบไม่ได้พูดถึงโอกาสในอนาคตอันใกล้ของอุตสาหกรรมชิปเลยแม้แต่น้อย โดยหลายฝ่ายเริ่มตั้งคำถามเกี่ยวกับแผนการจัดการกำลังการผลิต
รายงานระบุว่า ยักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยีของเกาหลีใต้รายนี้มักจะใช้จ่ายอย่างต่อเนื่องในช่วงที่เศรษฐกิจตกต่ำ โดยหวังว่าจะออกจากวิกฤตด้วยการผลิตที่เหนือกว่าและความสามารถในการทำกำไรที่สูงขึ้นเมื่ออุปสงค์เพิ่มขึ้น ในเวลานี้ตลาดกำลังเดิมพันว่าบริษัทจะเข้มงวดการจัดหาชิป ทำให้ราคาหุ้นสูงขึ้นในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา
ฝั่งดีมานด์ลดลงต่อเนื่อง
ด้าน Lam Research Corp. ผู้ผลิตอุปกรณ์การผลิตชิป เผยเมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่า เห็นคำสั่งซื้อลดลงเป็นประวัติการณ์ เนื่องจากลูกค้าหน่วยความจำลดและเลื่อนการใช้จ่าย โดยผู้บริหารของ Lam Research ซึ่งถือว่า Samsung, SK Hynix และ Micron เป็นลูกค้าอันดับต้นๆ ปฏิเสธที่จะคาดการณ์ว่าเมื่อใดที่ตลาดหน่วยความจำจะฟื้นตัว โดยความต้องการชิปที่อยู่ในเวลานี้เป็นระดับที่ไม่เคยเห็นมาก่อนในรอบ 25 ปี
ทั้งนี้ สถานการณ์ที่ผ่านมาเป็นเรื่องยากเสมอสำหรับผู้ผลิตหน่วยความจำในการจัดการกับความต้องการที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว การนำโรงงานใหม่ๆ มาสู่ระบบออนไลน์ ซึ่งต้องใช้เวลาหลายปีและเงินหลายพันล้านดอลลาร์ โดยเงื่อนไขดังกล่าวทำให้บริษัทต่างๆ ในอุตสาหกรรมมีความระมัดระวังมากขึ้น และมุ่งเน้นไปที่การทำกำไรมากกว่าการพยายามเติบโตอย่างรวดเร็วและขยายส่วนแบ่งตลาด
นักวิเคราะห์อีกส่วนหนึ่งมองว่า สถานการณ์ตกต่ำครั้งนี้จะทำให้ผู้ผลิตหน่วยความจำทั้งหลายหันหน้าเข้าหากัน โดยมีรายงานว่า ผู้ผลิตชิป NAND อย่าง Western Digital Corp. และ Kioxia Holdings Corp. กำลังดำเนินการเจรจาข้อตกลงควบรวมกิจการ เพื่อเสริมศักยภาพการผลิตให้แข็งแกร่งและมีประสิทธิภาพมากขึ้นท่ามกลางการแข่งขันที่ดุเดือด
ท่ามกลางความพยายามหากลยุทธ์เพื่อการอยู่รอดของบรรดาบริษัทผู้ผลิตชิปทั้งหลาย คำถามสำคัญในเวลานี้คือเมื่อไรที่ความต้องการชิปของผู้บริโภคจะฟื้นตัว ซึ่งนักวิเคราะห์ส่วนหนึ่งมองว่าการเปิดประเทศของจีนอาจเป็นปัจจัยบวกที่กระตุ้นให้อุตสาหกรรมชิปฟื้นตัวขึ้นมาได้ ทั้งในแง่ของความต้องการใช้และกำลังการผลิตของโรงงานที่สามารถกลับสู่จังหวะปกติได้
อ้างอิง: