×

เสกสรรค์ ประเสริฐกุล มองไทยในความคิดและค้นหาความคิดในประเทศไทย

09.03.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

10 Mins. Read
  • แนวคิดของสังคมไทยในมุมมองของ ดร.เสกสรรค์ เห็นว่าฝ่ายอนุรักษ์ได้เปรียบฝ่ายก้าวหน้ามากกว่า เพราะอาศัยอำนาจรัฐคอยค้ำจุนผ่านเครื่องมือระบบการศึกษา โดยสร้างจินตนาการ ‘ความเป็นคนดี’ และใช้วาทกรรม ‘ความเป็นไทย’ ในการสร้างความเชื่อทางความคิด
  • ขณะที่ฝ่ายก้าวหน้าที่ชูธงเรื่องประชาธิปไตยก็ไม่สามารถรักษาประชาธิปไตยที่ตัวเองสมาทานได้ นักการเมืองเป็นผู้เล่นหลักที่ไม่สนใจองค์ประกอบอื่นมากกว่าแค่เลือกตั้งและปฏิบัติกับกลุ่มมวลชนที่เห็นต่าง ทำให้เป็นการผลักให้คนกลุ่มนั้นไปเชิดชูระบอบอำนาจนิยม

นับตั้งแต่ปี 2530 เป็นต้นมา คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้จัดงานปาฐกถาพิเศษ ‘ป๋วย อึ๊งภากรณ์’ ซึ่งตรงกับวันที่ 9 มีนาคม อันเป็นวันคล้ายวันเกิดของท่าน โดยมีวัตถุประสงค์สำคัญเพื่อให้เป็นกิจกรรมร่วมของนักวิชาการสังคมศาสตร์ทุกสาขา

 

ขณะที่กระบวนการเลือกสรรและเชิญองค์ปาฐกในแต่ละปีของคณะเศรษฐศาสตร์เป็นไปอย่างเข้มข้นเพื่อต้องการเฟ้นหาองค์ปาฐกที่สามารถอธิบายความเชื่อมโยงไปถึงบทบาท แนวคิด และจิตวิญญาณของป๋วย อึ๊งภากรณ์

 

และปีนี้ในการจัดงานครั้งที่ 16 องค์ปาฐกของปาฐกถาพิเศษคือ เสกสรรค์ ประเสริฐกุล ซึ่งมีหัวข้อปาฐกถาชื่อ ‘ประเทศไทยในความคิด ความคิดในประเทศไทย’

 

THE STANDARD สรุปและเรียบเรียงส่วนหนึ่งของปาฐกถาที่น่าสนใจ ซึ่งเสกสรรค์ ได้พูดที่หอประชุมศรีบูรพา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ในวันนี้มาให้ได้อ่านกัน

ไม่ว่าคนเราจะมองเห็นโลกต่างกันแค่ไหน ส่วนใหญ่ก็มีแนวโน้มจะเชื่อว่าโลกที่ตัวเองเห็นเป็นโลกแห่งความจริง จากนั้นก็ผลิตความเห็นออกมายืนยันสายตาของตน รวมทั้งพร้อมจะโต้แย้ง กระทั่งทะเลาะกับคนอื่นเพราะความเห็นไม่ตรงกัน

 

โลกที่เราเห็นคือโลกที่เราคิด มนุษย์เห็นโลกจำกัดและแตกต่างกัน

ดร.เสกสรรค์ เริ่มต้นการปาฐกถาด้วยการทักทายบุคคลที่มาในวันนี้ท่ามกลางสายฝนด้านนอกห้องประชุมที่ตกลงมาโดยตลอด เขาบอกว่าสิ่งที่จะพูดในวันนี้มาจากมุมมองง่ายๆ ที่ไม่ค่อยได้ใช้วิเคราะห์สภาพสังคมหรือใช้พิจารณาสถานการณ์บ้านเมืองเท่าใด แต่จะใช้ค่อนข้างมากในชีวิตส่วนตัว

 

กล่าวคือ โลกที่เราเห็นคือโลกที่เราคิด และเรามักจะมองไม่เห็นสิ่งที่ไม่ได้คิดเอาไว้แล้วล่วงหน้า คือคนเราจะเห็นโลกเป็นแบบไหนมักขึ้นอยู่กับความรู้สึกนึกคิดที่มีอยู่ และสัมผัสของเขามักจะเก็บข้อมูลเฉพาะส่วนที่ความคิดของเขารู้จักเท่านั้น

 

ขณะที่มนุษย์เราโดยทั่วไปมักจะเห็นโลกได้จำกัดและเห็นโลกแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับฐานความคิดที่มีอยู่ในตัวเขา

 

แต่อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าคนเราจะมองเห็นโลกต่างกันแค่ไหน ส่วนใหญ่ก็มีแนวโน้มจะเชื่อว่าโลกที่ตัวเองเห็นเป็นโลกแห่งความจริง จากนั้นก็ผลิตความเห็นออกมายืนยันสายตาของตน รวมทั้งพร้อมจะโต้แย้ง กระทั่งทะเลาะกับคนอื่นเพราะความเห็นไม่ตรงกัน

 

เพราะมนุษย์แต่ละคนไม่มีวันที่จะเห็นภาพหรือวิวอะไรได้ครบถ้วน เนื่องจากจุดที่ยืนอยู่และความจำกัดของสายตามีแต่ต้องใช้หลายมุมมอง หรือไม่ก็ถามคนที่มองจากมุมอื่นจึงจะได้ภาพที่สมบูรณ์ขึ้น

 

ในความเป็นจริงของสังคมไทย เราไม่ได้มีพฤติกรรมที่ rational ขนาดนั้น ตลอด 10 กว่าปีมานี้ บ้านเมืองของเราตกอยู่ในความขัดแย้งในระดับที่ไม่มีใครฟังใคร และความขัดแย้งทางความคิดก็นับเป็นสาเหตุสำคัญอย่างหนึ่งที่ทำให้เราปรองดองกันได้ยาก

 

และในสภาพปกติ มนุษย์เราก็มองโลกแตกต่างกันในแทบทุกเรื่องอยู่แล้ว แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าจะต้องนำไปสู่การทะเลาะเบาะแว้ง เว้นไว้แต่ว่าจะมีการใช้อำนาจทางกายภาพมาสำทับขับเคลื่อนความคิดเห็นของตน และนี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นในระดับสังคม… คือสิ่งที่เกิดขึ้นในประเทศไทย

ประเทศไทยเรามีทั้งฝ่ายที่อยากรักษาสถานภาพเดิม (Status Quo) ซึ่งเห็นว่าโลกใหม่คือสังคมที่ปนเปื้อน ดังนั้นจึงควรกลับไปสู่โลกเก่าที่ถูกต้องดีงามกว่า

 

สังคมไทยขัดแย้งทางความคิดเหมือนขัดแย้งทางศาสนา

ดร.เสกสรรค์ ยังกล่าวอีกว่า ในเฉพาะหน้าเราอาจจะแบ่งชุดความคิดที่ขัดแย้งกันได้เป็นสองกลุ่มใหญ่ๆ คือ แนวคิดของฝ่ายอนุรักษนิยมกลุ่มหนึ่ง กับแนวคิดของฝ่ายก้าวหน้าอีกกลุ่มหนึ่ง ขณะที่ประเทศไทยเรามีทั้งฝ่ายที่อยากรักษาสถานภาพเดิม (Status Quo) ซึ่งเห็นว่าโลกใหม่คือสังคมที่ปนเปื้อน ดังนั้นจึงควรกลับไปสู่โลกเก่าที่ถูกต้องดีงามกว่า กับฝ่ายที่ต้องการเปลี่ยนแปลงโลกเพราะเห็นว่าความถูกต้องดีงามรออยู่ในอนาคต ในครรภ์แห่งปัจจุบันสมัยมีสังคมในฝันรอวันถือกำเนิด

 

คำถามคือแล้วทำไมในกรณีของประเทศไทย ความแตกต่างทางความคิดจึงนำไปสู่ความขัดแย้งขั้นแตกหักรุนแรงจนถึงกับต้องเปลี่ยนระบอบการปกครองสลับไปมา

 

“ผมเพียงขออนุญาตตั้งข้อสังเกตว่าเรื่องการเมืองในบ้านเราไม่ใช่เรื่องความคิดเพียงอย่างเดียว หากเป็นความคิดที่ผูกโยงกับกลุ่มผลประโยชน์ ความสัมพันธ์ทางอำนาจ และประเด็นเชิงโครงสร้างอื่นๆ อีกหลายประการ”

 

ประเทศไทยนั้นมีทฤษฎีทางสังคมการเมืองที่คิดขึ้นใหม่น้อยมาก ส่วนใหญ่เป็นการผลิตซ้ำและส่งทอดมาจากสองแหล่ง คือมาจากยุคสมัยที่ผ่านพ้นไปแล้วชุดหนึ่งกับมาจากโลกภายนอกอีกชุดหนึ่ง ซึ่งทั้งสองอย่างนี้ล้วนมีสัดส่วนที่ไม่ได้กลมกลืนกับสภาพที่เป็นอยู่

 

ดังนั้นความขัดแย้งทางความคิดที่เราเห็นในประเทศไทยจึงมีลักษณะคล้ายความขัดแย้งทางศาสนา ซึ่งออกไปในทางศรัทธาความเชื่อ

 

 

ฝ่ายอนุรักษนิยมในไทยได้เปรียบกว่า เพราะมีเครื่องมือการศึกษา-อำนาจรัฐคำ้จุน

ปัจจุบันสังคมไทยกลายเป็นพื้นที่ช่วงชิง (Contested Area) ระหว่างความคิดสองกระแส โดยฝ่ายอนุรักษนิยมมีปัญหาเรื่องกาละ ส่วนฝ่ายก้าวหน้ามีปัญหาเรื่องเทศะ และทั้งสองฝ่ายต่างพยายามที่จะปรับเปลี่ยนโลกของผู้อื่นให้ตรงกับความคิดของฝ่ายตน

 

กล่าวอีกแบบหนึ่งก็คือทั้งฝ่ายอนุรักษนิยมและฝ่ายก้าวหน้าต่างก็ต้องเหนื่อยกับการปลูกฝังความคิดของตนในสังคมไทยปัจจุบัน

 

ฝ่ายหนึ่งต้องการนำความคิด ความเชื่อ และคุณค่าจากสมัยเก่ากลับมาอยู่ในกาลเวลาที่เปลี่ยนไป ขณะที่อีกฝ่ายหนึ่งก็พบว่าการนำแนวคิดจากโลกภายนอกมาไว้ในพื้นที่อันไม่ใช่เนื้อดินถิ่นกำเนิดนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย

 

การที่ทั้งสองฝ่ายแข่งกันบรรจุชุดความคิดฝ่ายตนลงไปใน space and time ของประเทศไทยปัจจุบันนับเป็นเรื่องที่กดดันผู้คนในสังคมอยู่ไม่น้อย ทั้งนี้เนื่องจากปัจจุบันสมัยของไทยก็มีทั้งภูมิลักษณ์และดินฟ้าอากาศของตัวเอง ซึ่งมิใช่กาลเทศะที่จะเกี่ยวร้อยความคิดทั้งสองชุดได้โดยอัตโนมัติ หรืออย่างน้อยไม่ใช่ทุกเรื่องทุกประเด็นพร้อมๆ กัน

 

แน่นอน ในการแข่งขันช่วงชิง space and time ระหว่างความคิดหลักสองชุด ฝ่ายอนุรักษนิยมค่อนข้างจะได้เปรียบ เพราะมีโครงสร้างอำนาจรัฐคอยค้ำจุนโดยผ่านระบบการศึกษาและเครื่องมือบังคับควบคุม สามารถผลิตซ้ำชุดความคิดอนุรักษ์ในรูปของอุดมการณ์แห่งรัฐและสิ่งที่เรียกว่าอัตลักษณ์ของชาติได้อย่างสม่ำเสมอ

 

ขณะที่ในอีกด้านหนึ่ง ชนชั้นที่ใกล้ชิดอำนาจรัฐตลอดจนประชากรที่ชอบเป็นหนึ่งเดียวกับรัฐต่างก็คอยขานรับและขยายต่อในรูปแบบที่ไม่เป็นทางการ

 

ด้วยเหตุดังนี้ ทั้งสองภาคส่วนจึงกลายเป็นเรเฟอเรนซ์ให้กันและกัน รัฐอ้างสังคมในการสร้างความชอบธรรมของอำนาจ สังคมก็อิงกรอบอุดมการณ์ของรัฐในการรักษาผลประโยชน์และปรุงแต่งสถานภาพ กระทั่งใช้มันมาเสริมขยายอัตตาของตน

‘ความเป็นคนดี’ ในประเทศไทยมีลักษณะใกล้เคียงกับชนชั้นปกครองของเพลโตหรือไม่ คำตอบคือแค่เรื่องทรัพย์สินส่วนตัวก็สอบไม่ผ่านแล้ว

 

‘ความเป็นคนดี’ จินตนาการที่ทรงพลังที่สุดของฝ่ายอนุรักษนิยม

ดร.เสกสรรค์ บอกว่าจินตนาการที่มีพลังที่สุดอย่างหนึ่งของฝ่ายอนุรักษนิยมในสังคมไทยคือแนวคิดเรื่อง ‘ความเป็นคนดี’ ภายใต้บริบท “คนไทยควรต้องเป็นคนดี สังคมไทยต้องเป็นสังคมของคนดี และที่สำคัญที่สุดคือผู้ปกครองประเทศไทยจะต้องเป็นคนดี”

 

ถามว่าทำไมความคิดดังกล่าวจึงมีพลังอยู่ในสังคมไทยปัจจุบัน ทั้งๆ ที่องค์ความรู้ต่างๆ ได้เติบใหญ่ขยายตัวไปมากแล้ว ไม่ว่าจะเป็นวิทยาศาสตร์ สังคมศาสตร์ หรือมนุษยศาสตร์ คำอธิบายพฤติกรรมมนุษย์ที่เกี่ยวโยงกับเหตุปัจจัยต่างๆ ได้รับการค้นคว้าออกมามากมาย ทำไมไม่ดึงมาใช้พิจารณาสังคมบ้าง

 

คำตอบง่ายๆ เบื้องต้นคือความดีเป็นคอนเซปต์ที่อยู่เหนือยุคสมัย นอกจากนี้ยังเป็นจินตภาพเชิงบวกที่กินความกว้างและคลุมเครือมาก จนกระทั่งแทบทุกคนสามารถพยักหน้าเห็นด้วย

 

แต่ขณะเดียวกันความดีก็เป็นแนวคิดแบบทวิภาวะ (หรือที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า Dualism) ที่ไหนมีความดี ที่นั่นย่อมมีความไม่ดี ซึ่งทำให้ผู้คนสามารถสมาทานความดีมาเสริมอัตตาได้โดยง่าย แค่คิดว่าตัวเองเป็นคนดีก็รู้สึกมีฐานะเหนือกว่าคนไม่ดีแล้ว

 

ดร.เสกสรรค์ บอกว่าคอนเซปต์ความเป็นคนดีแบบนี้ถูกนำมาใช้อย่างเข้มข้นที่สุดในช่วงต่อต้านรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งและสนับสนุนรัฐประหารเมื่อต้นปี 2557 พยายามอธิบายว่าอำนาจทางการเมืองควรอยู่ในมือของคนดีเท่านั้น และคนไม่ดีไม่ควรมีสิทธิ์ในเรื่องการเมืองปกครอง

 

“ในสมัยโบราณเพลโต นักปราชญ์ชาวกรีกได้เคยเสนอไว้แล้วว่าอำนาจการเมืองไม่ควรอยู่ในมือคนทั่วไปที่สนใจแต่เรื่องทำมาหากิน หากควรอยู่ในมือชนส่วนน้อยที่มีคุณสมบัติเหมาะสม คนกลุ่มนี้จะต้องมีทั้งความปรีชาสามารถและคุณธรรมสูงส่ง ไม่มีทรัพย์สินส่วนตัว ใช้ชีวิตรวมหมู่ ไม่มีกระทั่งครอบครัว และต้องทำทุกอย่างเพื่อประโยชน์สุขของผู้อยู่ใต้การปกครอง

 

ถามว่าแล้ว ‘ความเป็นคนดี’ ในประเทศไทยมีลักษณะใกล้เคียงกับชนชั้นปกครองของเพลโตหรือไม่ คำตอบคือแค่เรื่องทรัพย์สินส่วนตัวก็สอบไม่ผ่านแล้ว เรื่องภูมิปัญญาก็ไม่แน่นัก อย่าว่าแต่เรื่องครองตัวเป็นโสด ปราศจากครอบครัว”

‘ความเป็นไทย’ เป็นวาทกรรมอีกอย่างหนึ่งที่ถูกนำมาใช้มากในความขัดแย้งทางการเมือง เป็นสิ่งที่รัฐไทยสร้างขึ้นล้วนๆ และในช่วงประวัติศาสตร์ที่ไม่นานนัก ใครที่คิดเห็นต่างจากรัฐก็มักถูกตั้งคำถามเกี่ยวกับความเป็นคนไทย กระทั่งถูกขับไล่ไสส่งให้ไปอยู่ประเทศอื่น

 

‘ความเป็นไทย’ วาทกรรมเครื่องมือฝ่ายอนุรักษนิยม

‘ความเป็นไทย’ เป็นวาทกรรมอีกอย่างหนึ่งที่ถูกนำมาใช้มากในความขัดแย้งทางการเมือง เป็นสิ่งที่รัฐไทยสร้างขึ้นล้วนๆ และในช่วงประวัติศาสตร์ที่ไม่นานนัก ใครที่คิดเห็นต่างจากรัฐก็มักถูกตั้งคำถามเกี่ยวกับความเป็นคนไทย กระทั่งถูกขับไล่ไสส่งให้ไปอยู่ประเทศอื่น

 

เริ่มก่อรูปขึ้นตั้งแต่ปลายสมัยรัชกาลที่ 5 และเข้มข้นขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 6 ต่อเนื่องมาจนถึงหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 และมีมาจนถึงปัจจุบัน

 

ขณะที่ความเป็นไทยก็ไม่ได้รวมถึงการมีสิทธิเสรีภาพและระบอบประชาธิปไตยเอาไว้เป็นเนื้อใน หากยังคงเน้นเรื่องการเชื่อฟังรัฐและความภูมิใจในชาติแบบลอยๆ

 

ด้วยเหตุดังนี้ แนวคิดเรื่องความเป็นคนไทยจึงถูกนำไปเสริมฐานะให้กับระบอบอำนาจนิยมอย่างเลี่ยงไม่พ้น ยิ่งในช่วงหลังรัฐประหาร พ.ศ. 2557

 

ส่วนแถวหน้าของผู้หวงแหนความเป็นไทยมักจะเป็นคนกลุ่มเดียวกันกับที่ถือตนเป็นคนดี ขณะที่ในทางปฏิบัติ กลุ่ม Elites และ Upper- Middle Class เหล่านี้มักใกล้ชิดกับโลกตะวันตก และมีวิถีชีวิตแบบฝรั่งมากกว่าคนไทยทั่วไป

 

ขณะที่การปกป้องระบอบอำนาจนิยมโดยเชิดชูความเป็นไทย คือการระบุว่าประชาธิปไตยเป็นแนวคิดของโลกตะวันตก ซึ่งอาจจะไม่เหมาะหรือใช้การไม่ได้กับประเทศไทย ซึ่งนับว่าอันตรายต่อความปรองดองในสังคมไทย เนื่องจากแนวคิดสิทธิเสรีภาพและประชาธิปไตยนั้นได้กลายเป็นคุณค่าสากลมานานแล้ว

 

ดร.เสกสรรค์ ระบุว่า ในแง่หนึ่ง ความเป็นไทยในความหมายเชิงบวกก็มีอยู่และอาจจะไม่ใช่เรื่องเสียหาย ทุกชาติทุกภาษาย่อมมีสิทธิ์ภูมิใจในอัตลักษณ์ของตัวเอง แต่ความภูมิใจที่ถลำลึกไปสู่ลัทธิชาตินิยมคับแคบ หรือลัทธิเหยียดเชื้อชาติ ไม่เพียงหาพื้นที่ได้ยากในยุคปัจจุบัน หากยังมีลักษณะขัดแย้งกับคุณค่าของความเป็นคนและต่อต้านการเติบโตทางปัญญา

 

ประชาธิปไตยไม่ได้ขัดแย้งกับความเป็นไทย แต่เป็นคุณค่าสากลที่ช่วยเสริมฐานะ

สาเหตุหนึ่งที่ทำให้มีคนไทยบางกลุ่มรังเกียจประชาธิปไตยก็เพราะปัญหาทุจริตคอร์รัปชันของนักการเมืองบางคน กับปัญหาความแตกแยกระหว่างมวลชนที่สนับสนุนพรรคการเมืองคนละพรรค

 

ขณะที่ระบอบประชาธิปไตยในโลกล้วนมีปัญหาไม่มากก็น้อยทั้งนั้น เราคงไม่แก้ปัญหาด้วยวิธีเลิกใช้รถยนต์แล้วกลับไปนั่งเกวียน พร้อมกับภูมิใจว่าเกวียนเป็นมรดกทางวัฒนธรรมของไทยมิใช่หรือ

 

ในโลกที่เป็นอยู่ การยอมรับคุณค่าสากล เช่น สิทธิเสรีภาพ และประชาธิปไตย ไม่ได้ขัดแย้งกับตัวตนความเป็นคนไทยโดยรวม คุณค่าเหล่านี้ก็ไม่ได้ทำให้เราเป็นคนไทยน้อยลง อันที่จริงมันจะยิ่งส่งเสริมให้ประเทศเรามีฐานะและศักดิ์ศรีน่าภูมิใจมากขึ้นเสียด้วยซ้ำ

 

ขณะที่ทุกวันนี้ประเทศไทยไม่ได้เป็นเพียงถิ่นที่อยู่ของคนไทยที่คิดอ่านแตกต่างหลากหลายและมีวิถีชีวิตผิดแผกกันไปเท่านั้น หากยังเต็มไปด้วยเพื่อนมนุษย์จากที่อื่นเข้ามาอยู่ร่วมในระยะยาว

 

การมาเยือนมาอยู่ของชาวต่างชาติดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่ายุคโลกาภิวัตน์ได้กัดกร่อนฐานรากของความเป็นรัฐชาติแบบเดิมๆ ไปไกลพอสมควร

ประเทศไทยจำเป็นต้องมีเสรีภาพทั้งในทางการเมืองและในทางสังคม เพราะเสรีภาพที่แท้จริงจะช่วยปลดเปลื้องประชาชนจากโซ่ตรวนแห่งการเอารัดเอาเปรียบ จากการกดขี่ครอบงำ และจากความตื้นเขินทางปัญญา

 

‘นักการเมือง’ เป็นผู้เล่นหลักที่รักษาประชาธิปไตยไว้ไม่ได้

ดร.เสกสรรค์ ชี้ว่าปัญหาใหญ่ของประชาธิปไตยมิได้อยู่ที่การถูกยึดพื้นที่หรือถูกล้มกระดานอยู่เป็นระยะๆ โดยฝ่ายตรงข้ามเท่านั้น หากอยู่ที่ความไม่สามารถป้องกันตัวของระบอบและผู้คนที่สมาทานแนวคิดชุดนี้ด้วย ยิ่งไปกว่านั้น บางครั้งบางคราวฝ่ายที่ล้มระบอบยังอ้างอีกด้วยว่าทำไปเพื่อพิทักษ์ประชาธิปไตยหรือสร้างประชาธิปไตยที่ดีกว่า

 

อุปสรรคใหญ่คือชนชั้นนำภาครัฐ (State Elites) พยายามทวงอำนาจคืนครั้งแล้วครั้งเล่า พวกเขาสืบทอดอำนาจมาจากกลไกรัฐซึ่งถูกสร้างขึ้นก่อนระบอบประชาธิปไตย ดังนั้นจึงค่อนข้างยากที่จะปรับตัวให้มีทั้ง respect และ loyalty ต่อระบอบที่ประชาชนเป็นผู้ใช้อำนาจ

 

เราคงต้องยอมรับว่าฝ่ายประชาธิปไตยเองก็มีจุดอ่อนข้อผิดพลาดด้วย ปัญหาอันดับแรกคือในแต่ละช่วงที่มีการปกครองในระบอบประชาธิปไตย นักการเมืองมักเป็นผู้เล่นหลักมากเกินไป อาศัยแต่การเลือกตั้งเป็นหนทางก้าวสู่อำนาจ และหมกมุ่นอยู่กับบทบาทในรัฐสภาจนลืมความสำคัญขององค์ประกอบอื่นๆ

 

นักการเมืองและพรรคการเมืองจึงไม่ได้พยายามผลักดันให้มีการขยายพื้นที่ประชาธิปไตยออกไปในระดับโครงสร้าง เพื่อเป็นหลักประกันความมั่นคงของตัวระบอบซึ่งใหญ่กว่าและสำคัญกว่ารัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง

 

กล่าวโดยรูปธรรมแล้ว เรื่องที่พวกเขาควรทำแต่ไม่ได้ทำมีอยู่ 3 ประการคือ หนึ่ง กระจายอำนาจลงสู่ท้องถิ่นอย่างแท้จริง สอง ปฏิรูประบบราชการให้ยึดโยงกับประชาชนมากขึ้น ตรวจสอบได้ง่ายขึ้น และสาม ขยายงานรัฐสภาด้วยการเกี่ยวร้อยภาคประชาชนเข้ามาไว้ในกระบวนการนิติบัญญัติอย่างสม่ำเสมอ

 

ขณะที่ระบบพรรคการเมืองกลายเป็นอวตารใหม่ของระบบอุปถัมภ์ รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งยังมักมีท่าทีเป็นปฏิปักษ์ต่อความเคลื่อนไหวทางการเมืองของภาคประชาชนที่เป็นอิสระ โดยเห็นว่าไม่ใช่มวลชนของตน ทำให้กลุ่มเคลื่อนไหวของภาคประชาชนจำนวนหนึ่งเกิดความคับแค้นจนขาดสติ หันไปสนับสนุนรัฐประหารและระบอบอำนาจนิยม

 

บทบาทของนักการเมืองและพรรคการเมืองนั้น ถึงอย่างไรก็มีความสำคัญในระบอบประชาธิปไตยที่ต้องอาศัยผู้แทน เพียงแต่ว่าต่อไปจะทำแบบเดิมๆ คงไม่ได้ ตัวนักการเมืองเองจะต้องขยายแนวคิดให้กว้างไกลกว่าที่ผ่านมา ต้องมีสำนึกของผู้สร้างระบอบ ซึ่งยังคงต้องแย่งชิงพื้นที่กับระบอบคู่แข่งอย่างเข้มข้น

 

นักการเมืองถูกคุม แต่ภาคประชาชนยังเอาการเอางาน โซเชียลมีเดียคือพลังสำคัญ

ในระยะเกือบ 4 ปีมานี้ บทบาทของนักการเมืองได้ถูกจำกัดลงจนแทบไม่มีเหลือ การเคลื่อนไหวใดๆ ล้วนถูกควบคุมปิดกั้น ด้วยเหตุดังนี้ ปฏิสัมพันธ์ระหว่างนักการเมืองกับสังคมจึงสะดุดลงอย่างสิ้นเชิง

 

มิได้หมายความว่าแนวคิดเรื่องสิทธิเสรีภาพและประชาธิปไตยจะพลอยเงียบสงัดเสียทั้งหมด ทั้งนี้เนื่องเพราะในสังคมไทยยังมีความเคลื่อนไหวขององค์กรภาคประชาชน ชุมชนท้องถิ่น ตลอดจนปัญญาชนทั้งนอกและในมหาวิทยาลัย

 

องค์กรและเครือข่ายภาคประชาชนมักจะเอาการเอางานในการทักท้วงระบอบเผด็จการโดยยกประเด็นเรื่องสิทธิมนุษยชนในด้านต่างๆ ส่วนชุมชนท้องถิ่นก็มีปัญหารูปธรรมจากการถูกรุกล้ำฐานทรัพยากรโดยโครงการรัฐและทุนอุตสาหกรรม สำหรับฝ่ายปัญญาชน ประเด็นสำคัญคือรู้สึกรับไม่ได้ที่ถูกระบอบอำนาจนิยมปิดกั้นการแสดงความคิดเห็นและการแสดงออกทางการเมือง

 

ขณะที่ภายใต้การปกครองแบบอำนาจนิยม สื่อหลักทั้งหลายย่อมถูกควบคุมกำกับโดยฝ่ายรัฐ ทำให้พื้นที่แสดงความเห็นที่ต่างจากผู้กุมอำนาจเหลือไม่มากนัก

 

โชคดีที่โลกยุคนี้ได้พัฒนาเทคโนโลยีการสื่อสารไปไกล การมีอยู่ของเครือข่ายโซเชียลมีเดีย ไม่ว่าเฟซบุ๊ก, ไลน์, ทวิตเตอร์ หรือแพลตฟอร์มอื่นๆ ล้วนทำให้การแสดงความคิดเห็นต่อสาธารณชนสามารถทำได้โดยไม่จำเป็นต้องก้าวเท้าออกนอกบ้าน ถึงฝ่ายรัฐจะพยายามควบคุมความเคลื่อนไหวในโลกส่วนนี้อย่างเข้มข้น แต่ก็ยังไม่ได้ผลมากนัก

 

 

วิธีจัดการความขัดแย้งจากความคิดแตกต่าง ไม่ใช่ทำให้คนคิดเหมือนกัน

ในระยะเกือบ 4 ปีมานี้ สังคมไทยก็ไม่ได้มีเสรีภาพเหลือเท่าใด ดังนั้นจึงเป็นเรื่องน่าเสียดายมากหากฝ่ายก้าวหน้าบางกลุ่มบางคนไม่ได้ใช้มันอย่างคุ้มค่า ไม่ใช้มันขยายทั้งแนวคิดและแนวร่วมของฝ่ายตนซึ่งจำเป็นต้องอาศัยการสื่อสารที่ประณีตบรรจงเพื่อเข้าถึงคนหมู่มาก

 

ประเทศไทยจำเป็นต้องมีเสรีภาพทั้งในทางการเมืองและในทางสังคม เพราะเสรีภาพที่แท้จริงจะช่วยปลดเปลื้องประชาชนจากโซ่ตรวนแห่งการเอารัดเอาเปรียบ จากการกดขี่ครอบงำ และจากความตื้นเขินทางปัญญา

 

การต่อสู้ทางความคิดในประเทศไทยนั้น ถึงอย่างไรก็ยังต้องดำเนินต่อไปอีกนาน กระทั่งตลอดไป ตราบเท่าที่โลกที่เราเห็นคือโลกที่เราคิด ดังนั้นประเด็นจึงไม่ได้อยู่ที่ทำอย่างไรเราจึงจะคิดเห็นและมองโลกเหมือนกันทั้งประเทศ สภาพเช่นนั้นทั้งเป็นไปไม่ได้และอาจจะไม่ใช่ความจำเป็น

 

ประเด็นที่สมจริงกว่าคือเราจะนำความขัดแย้งทางความคิดมาไว้ในปริมณฑลที่จัดการได้ด้วยวิธีใด ซึ่งเจ้าของความคิดที่แตกต่างกันจะต้องปรับตัวบ้างไม่มากก็น้อย

 

ความขัดแย้งในสังคมนั้นมีทั้งที่จำเป็นและไม่จำเป็น สังคมได้ประโยชน์จากความขัดแย้งที่จำเป็น แต่เสียประโยชน์จากความขัดแย้งที่ไม่จำเป็น ซึ่งหมายถึงความขัดแย้งที่ถูกขยายมากไปจนไร้เหตุผล และนำไปสู่ความรุนแรง

 

สังคมไทยก็เช่นเดียวกับสังคมอื่น เราจำเป็นต้องมีทั้งการเปลี่ยนแปลงและความต่อเนื่องไปพร้อมๆ กัน เราต้องมีทั้ง changes และ continuity เพื่อให้เกิดความเจริญงอกงามอย่างมีราก

 

ถอยคนละก้าว และอย่าไว้ใจเหตุผลตัวเองมากเกินไป

สุดท้ายการอยู่ท่ามกลางความแตกต่างหลากหลายจะเกิดขึ้นไม่ได้เลย ถ้าพวกเราแต่ละคนไม่ถอยห่างจากตัวเองสักหนึ่งก้าวเพื่อเปิดพื้นที่ปลูกศรัทธาในเพื่อนมนุษย์ที่ไม่ได้เหมือนเราเสียทีเดียว เราต้องเชื่อมั่นว่าภายใต้ผิวพรรณหลากสีภายในเรื่องราวหลากหลายคือจิตวิญญาณมนุษย์อันเป็นสากล และนั่นคือสิ่งที่เรามีร่วมกัน

 

การเชื่อมร้อยระหว่างมนุษย์นั้นไม่ได้มาจากความคิดเพียงอย่างเดียว บ่อยครั้งเราอาจพบคนที่คิดอ่านไม่ตรงกัน แต่จิตใจกลับละม้ายคล้ายคลึง

 

ดังนั้นในบางห้วงบางขณะเราจึงไม่ควรไว้ใจเหตุผลของตัวเองมากเกินไป

 

สามารถรับฟังปาฐกถาฉบับเต็มของ ดร.เสกสรรค์ ประเสริฐกุล ในงานครั้งนี้ได้ที่นี่

 

โดยปาฐกถาหัวข้อ ‘ประเทศไทยในความคิด ความคิดในประเทศไทย’ ได้จัดพิมพ์รวมเล่มเป็นหนังสือแจกให้กับผู้เข้าร่วมงานในวันนี้ด้วย มีเนื้อหาประมาณ 40 หน้า

 

และอ่านได้จาก Way Magazine ซึ่งเป็นผู้ร่วมจัดงานกับคณะเศรษฐศาสตร์ในครั้งนี้ได้ที่ waymagazine.org/puey_talk16

 

 

Photo: ธนกร วงษ์ปัญญา

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising