×

ส่องปัจจัยเสี่ยงเศรษฐกิจครึ่งปีหลังและกลุ่มหุ้นที่น่าสนใจลงทุน

23.06.2021
  • LOADING...
เศรษฐกิจครึ่งปีหลัง

HIGHLIGHTS

  • การระบาดของ Covid-19 ระลอก 3 กดดันตลาดหุ้นไทย สร้างผลกระทบเชิงลบต่อเศรษฐกิจอย่างมาก ขณะที่แนวโน้มการลงทุนในตลาดหุ้นไทยช่วงครึ่งปีหลังมีหลายปัจจัยต้องติดตาม
  • ผลดำเนินงานของบริษัทจดทะเบียนไทยช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ฟื้นตัวได้ดีและสูงกว่าที่นักวิเคราะห์ประเมินไว้ โดยเฉพาะกลุ่มที่เกี่ยวเนื่องกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก เช่น กลุ่มพลังงาน ปิโตรเคมี อิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์ และสินค้าโภคภัณฑ์
  • ปัจจัยในประเทศที่สำคัญสุดในช่วงครึ่งหลังของปีนี้คือ การเร่งฉีดวัคซีนเพื่อเปิดประเทศให้ได้ตามแผนที่วางไว้ ส่วนตลาดหุ้นไทยจะค่อยๆ ฟื้นตัว โดยนักลงทุนให้ความสำคัญที่ปัจจัยพื้นฐานและความสามารถการแข่งขันระยะยาว
  • ความเสี่ยงช่วงครึ่งปีหลังที่ควรจับตา ได้แก่ 
  1. ประสิทธิภาพของวัคซีน Covid-19 และการกลายพันธุ์ของเชื้อ
  2. เงินเฟ้อที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ส่งผลต่อการขึ้นดอกเบี้ย
  3. นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจขนาดใหญ่ของสหรัฐฯ ที่มีผลต่อประเทศอื่นๆ
  4. การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกช้ากว่าคาด จากการทำสงครามการค้า

การระบาดของ Covid-19 ในระลอก 3 ที่เริ่มกระจายตัวเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา ซึ่งการระบาดครั้งนี้เป็นสายพันธุ์อังกฤษที่มีการกระจายตัวได้เร็วกว่าสายพันธุ์เดิม ทำให้มีจำนวนผู้ติดเชื้อจำนวนมากในเวลาอันสั้น ส่งผลกดดันต่อตลาดหุ้นไทยและสร้างผลกระทบเชิงลบต่อเศรษฐกิจไทยเป็นอย่างมาก ประกอบกับความกังวลในเรื่องอัตราเงินเฟ้อของสหรัฐฯ ที่เพิ่มสูงขึ้น ฉุดให้ตลาดพันธบัตรปั่นป่วนทั่วโลก กระทบต่อตลาดหุ้นและสินทรัพย์ทางการเงินต่างๆ

 

สำหรับแนวโน้มการลงทุนในตลาดหุ้นไทยช่วงครึ่งหลังของปีนี้มีปัจจัยที่ต้องติดตามอยู่หลายปัจจัย โดยเฉพาะการควบคุมการแพร่ระบาดของ Covid-19 และแผนการฉีดวัคซีนเพื่อที่จะสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ (Herd Immunity) และการปรับลดการอัดฉีดเม็ดเงินเข้าระบบเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (Quantitative Easing Tapering) ของธนาคารกลางต่างๆ ถึงแม้ว่าตั้งแต่ต้นปีตลาดหุ้นไทยได้ฟื้นตัวกลับมาที่ระดับเหนือ 1,500 จุด โดยมีปัจจัยหนุนจากพัฒนาการเชิงบวกของเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวดีขึ้นหนุนภาพการส่งออกไทยขยายตัวตามประเทศคู่ค้าสำคัญ รวมถึงการควบคุมการแพร่ระบาดและการกระจายฉีดวัคซีน Covid-19 ได้ดีในกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว ทำให้ประเทศเหล่านั้นกลับมามีกิจกรรมทางเศรษฐกิจอีกครั้ง

 

นอกจากนี้ผลการดำเนินงานของบริษัทจดทะเบียนไทยโดยรวมในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ที่รายงานกำไรมีการฟื้นตัวได้ดีสูงกว่าที่นักวิเคราะห์ประเมินไว้เมื่อตอนต้นปี โดยเฉพาะกลุ่มที่เกี่ยวเนื่องกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกอย่างกลุ่มพลังงาน ปิโตรเคมี อิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์ และสินค้าโภคภัณฑ์

 

แม้ว่าทิศทางเศรษฐกิจและการค้าโลกโดยเฉพาะภาคการผลิต ซึ่งเป็นปัจจัยสนับสนุนต่อการส่งออกของโลกรวมถึงประเทศไทยจะมีแนวโน้มฟื้นตัวได้ต่อเนื่อง สอดคล้องกับคาดการณ์ของสภาพัฒน์ที่ประเมินว่าปีนี้มูลค่าการส่งออกไทยในรูปของดอลลาร์สหรัฐ จะเติบโต 10.3% เมื่อเทียบกับปีก่อน แต่การฟื้นตัวของเศรษฐกิจแต่ละประเทศจะมีการฟื้นตัวที่ต่างกัน โดยในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วมีแนวโน้มการฟื้นตัวได้เร็วกว่าจากความคืบหน้าในการฉีดวัคซีนและเม็ดเงินจากมาตรการภาครัฐที่ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม ในขณะที่สัญญาณการเปิดประเทศในเอเชียยังขาดความชัดเจนเนื่องจากหลายประเทศยังเผชิญการแพร่ระบาดอยู่ ไม่ว่าจะเป็น อินเดีย ญี่ปุ่น สิงคโปร์ มาเลเซีย ไต้หวัน และไทย ที่มีการกระจายวัคซีนค่อนข้างช้าทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัวได้ช้ากว่า ส่งผลให้การเปิดประเทศล่าช้าออกไปซึ่งกระทบต่อประเทศที่ต้องพึ่งพาการท่องเที่ยวสูงโดยเฉพาะไทย

 

ดังนั้นปัจจัยภายในประเทศที่สำคัญที่สุดในช่วงครึ่งหลังของปีนี้คือ การเร่งฉีดวัคซีนเพื่อหนุนให้อัตราการติด Covid-19 ในประเทศปรับตัวลดลงและเพิ่มโอกาสในการเปิดประเทศได้ตามแผนที่วางไว้ อีกทั้งยังเป็นการกระตุ้นความเชื่อมั่นในการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติมากขึ้นอีกด้วย นอกจากนี้มีการคาดการณ์ว่าตลาดหุ้นไทยจะค่อยๆ ฟื้นตัว โดยนักลงทุนให้ความสำคัญที่ปัจจัยพื้นฐานและความสามารถในการแข่งขันระยะยาว การปรับโครงสร้างธุรกิจเพื่อภาพความสามารถในการแข่งขันหลัง Covid-19 และได้รับประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมผู้บริโภค ส่วนผลตอบแทนของตลาดจะขึ้นอยู่กับระยะเวลาที่ใช้ในการกลับคืนสู่ภาวะปกติ ความเร็วในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ และความสำเร็จในการเปิดเมืองซึ่งคาดว่าจะเกิดขึ้นในช่วงต้นปีหน้า ดังนั้นการปรับขึ้นของหุ้นในแต่ละกลุ่มจึงจะมีช่วงเวลาที่ต่างกันตามสภาวะปัจจัยพื้นฐานที่หนุนให้กลับเข้าไปซื้อหุ้นในจังหวะต่างๆ

 

โดยภาพรวมหุ้นกลุ่มวัฏจักร Global Plays และสินค้าโภคภัณฑ์ ยังคงมีความน่าสนใจจากอุปสงค์โลกที่ฟื้นตัวได้เร็วกว่าเศรษฐกิจในประเทศ รวมทั้งหุ้นกลุ่มโรงพยาบาลที่มีแนวโน้มกำไรฟื้นตัวจากการตรวจ Covid-19 ประกอบการปรับธุรกิจมาทำหอผู้ป่วยเฉพาะกิจในช่วงที่ผ่านมาและการนำเข้าวัคซีนทางเลือกในอนาคต

 

ส่วนหุ้นในกลุ่มภาคธุรกิจที่จะฟื้นตัวหลังผ่อนคลายมาตรการควบคุม (Re-opening Theme) เช่น กลุ่มห้างสรรพสินค้า ค้าปลีก ขนส่งทางราง นิคมอุตสาหกรรม และการท่องเที่ยว จะมีการฟื้นตัวเด่นชัดหลังจากสภาวการณ์ติดเชื้อภายในประเทศมีทิศทางไปในทางที่ดีขึ้น รวมทั้งอัตราส่วนการฉีดวัคซีนต่อจำนวนประชากรเป็นไปตามแผนที่คาดการณ์ไว้ ตามมาด้วยหุ้นกลุ่ม Laggard หรือหุ้นที่ราคายังปรับตัวขึ้นช้า โดยก่อนหน้านี้จะมีโอกาสที่ราคาจะกลับไปใกล้ช่วงก่อน Covid-19 ได้ เช่น หุ้นในกลุ่มธนาคารที่ PE ยังต่ำ (<10เท่า) ก็มีโอกาสที่จะฟื้นตัวตามภาวะเศรษฐกิจที่จะกลับมาดีขึ้น ความเสี่ยงหนี้เสีย (NPL) ที่จะลดลงทำให้ภาระการตั้งสำรองลดลงตามไปด้วย

 

สำหรับปัจจัยภายนอกที่มีผลกับการลงทุนคือ ท่าทีการปรับลดการใช้มาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (Quantitative Easing: QE) ของธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) ซึ่งปัจจุบันตลาดคาดการณ์ว่าจะเกิดการลด QE ในช่วงไตรมาสแรกของปีหน้า โดยในอดีต FED มักจะส่งสัญญาณก่อนการเกิดขึ้นจริงประมาณ 3-6 เดือน ดังนั้นโอกาสที่ FED จะเริ่มส่งสัญญาณเกี่ยวกับประเด็น Tapering ในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ ซึ่งจะส่งผลให้ตลาดสินทรัพย์เสี่ยงทั่วโลกมีโอกาสปรับฐานแรง ทำให้มี Fund Outflow จากตลาดเกิดใหม่ได้ ถึงแม้มีการคาดการณ์ว่า FED จะให้ขึ้นดอกเบี้ยไว้ที่ขอบล่างของอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ยังรักษาประสิทธิภาพของนโยบายการเงิน (Effective Lower Bound) จนถึงไตรมาสที่ 2 ของปี 2566 เป็นอย่างน้อยก็ตาม โดยเงินเฟ้อจะเป็นตัวตัดสินเรื่องการขึ้นดอกเบี้ย ซึ่งในปีนี้เงินเฟ้อมีการปรับตัวขึ้นมากกว่าคาด ทั้งจากฐานต่ำในปีก่อนหน้าและราคาสินค้าวัตถุดิบหลายอย่างปรับตัวขึ้น รวมถึงการขาดแคลนวัตถุดิบบางอย่าง

 

นอกจากนั้นธนาคารกลางแคนาดาที่เป็นธนาคารกลางแรกที่ส่งสัญญาณ Tapering โดยจะปรับลดวงเงินเข้าซื้อพันธบัตรรายสัปดาห์ลง 25% สู่ระดับ 3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และการปรับขึ้นดอกเบี้ย ซึ่งอาจจะเกิดขึ้นในช่วงไตรมาสที่ 2 ของปี 2566 ตามมาด้วยธนาคารกลางอังกฤษที่ส่งสัญญาณ Tapering เช่นกัน โดยการปรับลดวงเงินซื้อพันธบัตรรายสัปดาห์ลงสู่ 3.4 พันล้านปอนด์ต่อสัปดาห์ จากปัจจุบันที่ 4.4 พันล้านปอนด์ต่อสัปดาห์ในเดือนพฤษภาคม-สิงหาคมปีนี้ ซึ่งถือเป็นการ Tapering เร็วกว่าที่ตลาดได้คาดการณ์ไว้ จากแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศพัฒนาที่โดดเด่นทำให้มีโอกาสเห็นธนาคารกลางอื่นๆ มีแผนปฏิบัติไปในทิศทางเดียวกัน

 

อย่างไรก็ตาม ความเสี่ยงในช่วงครึ่งปีหลังที่ควรจับตา ได้แก่

  1. ประสิทธิภาพของวัคซีน Covid-19 และการกลายพันธุ์ของเชื้อ
  2. เงินเฟ้อที่ปรับตัวเพิ่มส่งผลต่อการตัดสินใจต่อดอกเบี้ยนโยบายและการลด QE รวมทั้งแนวโน้มดอกเบี้ยพันธบัตรที่อาจปรับขึ้นแรง
  3. นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจขนาดใหญ่ของ โจ ไบเดน ที่อาจส่งผลต่อประเทศอื่นๆ อาทิ การขึ้นภาษีนิติบุคคล
  4. การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกช้ากว่าคาด จากการทำสงครามการค้าและการกีดกันทางเทคโนโลยีระหว่างสหรัฐฯ และจีน จากท่าทีของ โจ ไบเดน ที่ยังไม่ผ่อนแรงกดดันต่อจีนลง

 

พิสูจน์อักษร: นัฐฐา สอนกลิ่น

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising