×

ก.ล.ต. ตอบ 7 ปมสงสัยมากสุด กรณีกล่าวโทษกรรมการและผู้บริหาร EA กับพวก ฐานร่วมกันทุจริต ทำบริษัทเสียหายกว่า 3 พันล้านบาท

14.07.2024
  • LOADING...
สมโภชน์ อาหุนัย

เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคมที่ผ่านมา สำนักงาน ก.ล.ต. กล่าวโทษบุคคลรวม 3 ราย คือ สมโภชน์ อาหุนัย และ อมร ทรัพย์ทวีกุล ซึ่งเป็นกรรมการและผู้บริหาร บมจ.พลังงานบริสุทธิ์ (EA) รวมทั้ง พรเลิศ เตชะรัตโนภาส ต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) กรณีร่วมกระทำการทุจริตเพื่อแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้แก่ตนเอง และ/หรือผู้อื่น ทำให้ EA และบริษัทย่อยเสียหาย พร้อมกันนี้ได้ส่งเรื่องต่อไปยังสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.)

 

ล่าสุด สำนักงาน ก.ล.ต. เปิดเผยข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับ 7 คำถามที่พบบ่อย กรณีกล่าวโทษกรรมการและผู้บริหาร EA กับพวก ดังนี้

 

1. เหตุใดกรณีนี้จึงใช้เวลาในการดำเนินการ

 

คำตอบ: ก.ล.ต. ได้รับเรื่องร้องเรียนในช่วงปลายปี 2559 และตั้งประเด็นตรวจสอบหลายประเด็น เกี่ยวพันกันหลายมาตรา มีความซับซ้อนในการตรวจสอบ และมีข้อมูลที่ต้องพิจารณาจำนวนมากในแต่ละประเด็น

 

นอกจากนี้ ตามกระบวนการบังคับใช้กฎหมาย ก.ล.ต. ให้เวลาและโอกาสผู้ต้องสงสัยชี้แจงอย่างเต็มที่เพื่อความเป็นธรรม ทั้งกรณีการเรียกมาสอบถ้อยคำ และการให้ชี้แจงเป็นหนังสือ อย่างไรก็ดี ก.ล.ต. ประสานหน่วยงานกำกับในต่างประเทศหลายแห่ง และได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดี

 


 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

 


 

2. คดีนี้มีอายุความกี่ปี

 

คำตอบ: การกระทำความผิดเกิดในช่วงปี 2556 ถึงปี 2558 ต่อเนื่องกัน โดยกรณีนี้เป็นการกระทำความผิดตามมาตรา 311 ซึ่งมีอายุความ 15 ปี จึงจะหมดอายุความในปี 2573 (นับแต่ปี 2558) ส่วนกรณีความผิดตามมาตรา 281/2 วรรคสอง ประกอบมาตรา 89/7 และมาตรา 89/24 มีอายุความ 10 ปี จึงจะหมดอายุความในปี 2568 (นับแต่ปี 2558)

 

3. เหตุใดกรณีนี้จึงดำเนินคดีทางอาญา

 

คำตอบ: กรณีเป็นความผิดทุจริตมาตรา 311 ซึ่งเป็นความผิดทางอาญา จึงไม่สามารถใช้มาตรการลงโทษทางแพ่งได้ (มาตรา 311 และมาตรา 281/2 วรรคสอง ไม่ได้รวมอยู่ในมาตรา 317/1)

 

4. การกล่าวโทษในกรณีนี้ ส่งผลให้ผู้ถูกกล่าวโทษขาดคุณสมบัติในการเป็นกรรมการและผู้บริหารบริษัท
จดทะเบียน/บริษัทหลักทรัพย์ หรือไม่

 

คำตอบ: การถูกกล่าวโทษข้างต้นมีผลให้ผู้ถูกกล่าวโทษเข้าข่ายมีลักษณะขาดความน่าไว้วางใจในการเป็นกรรมการ และผู้บริหารของบริษัทที่ออกหลักทรัพย์และบริษัทจดทะเบียน จึงไม่สามารถเป็นกรรมการและผู้บริหารของบริษัทที่มีหลักทรัพย์จดทะเบียนนับตั้งแต่วันที่ถูกกล่าวโทษ ไปจนตลอดระยะเวลาที่ถูกกล่าวโทษดำเนินคดี ตามประกาศคณะกรรมการ ก.ล.ต. ที่ กจ. 3/2560 เรื่อง การกำหนดลักษณะขาดความน่าไว้วางใจของกรรมการและผู้บริหารของบริษัท https://publish.sec.or.th/nrs/7200s.pdf

 

5. โทษสูงสุดตามกฎหมายในกรณีนี้มีอะไรบ้าง ในความผิดแต่ละมาตรา

 

คำตอบ: กรณีผู้กระทำผิดเป็นกรรมการ/ผู้บริหารในบริษัทจดทะเบียนที่มีหลักทรัพย์จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ มีโทษตามมาตรา 313 คือ ระวางโทษจำคุก 5-10 ปี และปรับเงิน 2 เท่าของราคาทรัพย์สินหรือประโยชน์ที่บุคคลดังกล่าวได้กระทำการฝ่าฝืน

 

กรณีผู้กระทำผิดเป็นผู้สนับสนุนมีโทษตามมาตรา 311 ตามความในมาตรา 315 ไม่ต้องรับโทษตามมาตรา 313 เนื่องจากไม่ได้เป็นกรรมการ/ผู้บริหารในบริษัทจดทะเบียนตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ

 

6. ก.ล.ต. ได้รับเบาะแสการกระทำผิด หรือมีจุดเริ่มต้นของการดำเนินการจากที่ใด

 

คำตอบ: ก.ล.ต. ได้รับเรื่องร้องเรียนว่า EA อาจมีการทุจริตผ่านบริษัทย่อยในโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้า 2 แห่ง พร้อมส่งหลักฐานที่เกี่ยวข้องบางส่วน จึงได้ตรวจสอบหาความจริงและความถูกต้องว่าเป็นไปตามข้อร้องเรียนหรือไม่ ซึ่งได้ทำการตรวจสอบข้อมูลผ่านหน่วยงาน ก.ล.ต. หลายประเทศ พบว่า บุคคลทั้งสามกระทำผิดจริง จึงได้กล่าวโทษ

 

7. หลังจากที่ ก.ล.ต. กล่าวโทษแล้ว มีกระบวนการอย่างไรต่อไป

 

คำตอบ: หลังจาก ก.ล.ต. กล่าวโทษผู้กระทำผิดต่อพนักงานสอบสวน พนักงานสอบสวนจะสืบสวนสอบสวนรวบรวมข้อเท็จจริงและพยานหลักฐาน และเสนอความเห็นเกี่ยวกับคดีไปยังพนักงานอัยการ และพนักงานอัยการจะพิจารณาความสมบูรณ์ครบถ้วนของสำนวนการสอบสวนของพนักงานสอบสวน ก่อนมีความเห็นสั่งฟ้องหรือสั่งไม่ฟ้องผู้ต้องหาตามสำนวนการสอบสวนดังกล่าว และในคดีที่พนักงานอัยการได้ยื่นฟ้องผู้ต้องหาเป็นจำเลยแล้ว ศาลยุติธรรมจะเป็นผู้พิจารณาและพิพากษาต่อไป

 

ทั้งนี้ ก.ล.ต. จะติดตามความคืบหน้าในการดำเนินคดีและร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างเต็มที่ เพื่อสนับสนุนการบังคับใช้กฎหมายในกระบวนการภายหลัง ก.ล.ต. ได้กล่าวโทษแล้ว

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X