เซบาสเตียน อัลแลร์ ศูนย์หน้าคนใหม่ของทีมโบรุสเซีย ดอร์ทมุนด์ ส่งสาส์นขอบคุณถึงแฟนๆ ที่ส่งกำลังใจมาให้หลังทราบข่าวร้ายว่าเป็นเนื้องอกที่อัณฑะ พร้อมยืนยันว่าจะเร่งรักษาตัวเพื่อจะกลับมาลงสนามให้ได้โดยเร็วที่สุด
ภายหลังจากที่มีการแถลงข่าวร้ายจากสโมสรดอร์ทมุนด์ว่ากองหน้าที่เพิ่งคว้าตัวมาจากอาแจ็กซ์ อัมสเตอร์ดัม เมื่อช่วงสิ้นสุดฤดูกาลที่ผ่านมา มีอาการป่วยหลังการซ้อมช่วงเช้าวันจันทร์ที่ผ่านมา ก่อนจะมีการตรวจอย่างละเอียด และแพทย์วินิจฉัยว่ามีเนื้องอกที่อัณฑะที่ต้องเข้ารับการรักษาตัวทันที และต้องพักการเล่นโดยไม่มีกำหนด
ทางด้านกองหน้าวัย 28 ปีได้ส่งข้อความถึงแฟนๆ ที่ทราบข่าวและส่งกำลังใจมาให้อย่างล้นหลามว่า “ขอขอบคุณข้อความที่ให้กำลังใจกันมาอย่างมากมายหลังมีการประกาศข่าวไปเมื่อวานนี้ ผมและครอบครัวขอขอบคุณทุกข้อความนั้น จากนี้ผมจะทุ่มเทให้กับการรักษาตัวเพื่อจะกลับมาแข็งแกร่งยิ่งกว่าเดิม”
อัลแลร์ย้ายมาจากอาแจ็กซ์ด้วยค่าตัวราว 30 ล้านยูโร เพื่อจะทดแทนตำแหน่งของ เออร์ลิง เบราต์ ฮาลันด์ ที่ย้ายไปแมนเชสเตอร์ ซิตี้ ซึ่งเป็นการกลับมาเล่นในบุนเดสลีกาอีกครั้ง หลังจากที่กองหน้าวัย 28 ปีเคยเล่นให้กับไอน์ทรัคท์ แฟรงก์เฟิร์ต ในช่วงปี 2017-2019 ซึ่งลงสนามไป 77 นัด ทำได้ 33 ประตู
สำหรับเนื้องอกที่อัณฑะนั้นเป็นโรคที่เคยเกิดขึ้นกับนักฟุตบอลจำนวนไม่น้อย โดยเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว มาร์โค ไรช์เตอร์ กองหน้าวัย 24 ปีของทีมแฮร์ธา เบอร์ลิน ได้รับการวินิจฉัยพบว่าเป็นโรคนี้เช่นกัน ขณะที่ ติโม บอมการ์เทิล ดาวเตะจากทีมอูนิโอน เบอร์ลิน เพิ่งเข้ารับการผ่าตัดไปเมื่อเดือนพฤษภาคม และรับการรักษาด้วยวิธีเคมีบำบัดโดยที่สภาพร่างกายยังดี แม้ว่าผมจะร่วงอันเป็นผลข้างเคียงของการรักษาก็ตาม
เนื้องอกที่อัณฑะคืออะไร อันตรายแค่ไหน?
สำหรับเนื้องอกที่อัณฑะ (Testicular tumors) เกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ไม่ว่าจะเป็นการบวมจากอุบัติเหตุ การอักเสบติดเชื้อ ไปจนถึงเส้นเลือดขอด โดยหากโชคร้ายเนื้องอกจะกลายเป็นมะเร็งอัณฑะต่อไป
ขณะที่มะเร็งอัณฑะ (Testicular Cancer) เป็นมะเร็งที่พบได้ยาก ส่วนใหญ่จะพบในเพศชายวัย 15-35 ปี โดยมีสาเหตุจากการเจริญเติบโตที่ผิดปกติของลูกอัณฑะที่ทำหน้าที่ผลิตฮอร์โมนเพศชายและสเปิร์มที่ใช้ในการสืบพันธุ์
การสังเกตอาการของมะเร็งอัณฑะจะมีอาการบ่งชี้คือ มีก้อนนูนที่รู้สึกเจ็บบริเวณลูกอัณฑะ ลูกอัณฑะบวม เจ็บปวดภายในถุงอัณฑะ หรือรู้สึกหนักภายในถุงอัณฑะ มะเร็งอาจจะเกิดกับลูกอัณฑะข้างเดียวหรือทั้ง 2 ข้างก็ได้ และมะเร็งสามารถลุกลามไปยังอวัยวะอื่นของร่างกายได้ด้วย โดยจะมีระยะของมะเร็ง 3 ระยะด้วยกัน
ระยะที่ 1: มะเร็งยังไม่ลุกลามออกไปนอกอัณฑะ
ระยะที่ 2: มะเร็งลุกลามไปยังต่อมน้ำเหลืองในช่องท้อง
ระยะที่ 3: มะเร็งลุกลามไปยังอวัยวะอื่นในร่างกาย เช่น ปอด หรือตับ
การรักษาจะแตกต่างตามอาการของผู้ป่วย ขึ้นอยู่กับประเภทของมะเร็ง ระยะของมะเร็ง และสุขภาพโดยรวมของผู้ป่วย รวมถึงความพึงพอใจของผู้ป่วยเป็นหลัก ซึ่งจะมีตั้งแต่การผ่าตัดอัณฑะ การผ่าตัดต่อมน้ำเหลือง ไปจนถึงการใช้รังสีรักษาและการใช้เคมีบำบัดรักษา
อ้างอิง: