ปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ วาระสำคัญที่ประชาคมโลกต้องเร่งแก้ไข
ไม่ว่าจะผ่านไปกี่ปี ปัญหาเรื่องการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศจะถูกหยิบยกขึ้นมาพูดเพื่อถกเถียงและหาวิธีแก้ปัญหาร่วมกันบนเวทีโลกหลายเวที ไม่ว่าจะเป็น World Economic Forum หรือแม้กระทั่ง เกรตา ธันเบิร์ก นักกิจกรรมชาวสวีเดนที่ขับเคลื่อนเรื่องภูมิอากาศ ก็เคยออกมาแสดงความเห็นอย่างเกรี้ยวกราดเกี่ยวกับประเด็นดังกล่าวในหลายครั้ง
โดยเฉพาะกับประเทศไทย ปัญหาภัยแล้งเป็นปัญหาเรื้อรังที่เกิดขึ้นทุกปี สำหรับในสังคมเมืองอาจเป็นเพียงปัญหาเรื่องอากาศร้อน จนทำให้เกิดความอ่อนเพลียในการใช้ชีวิตประจำวัน แต่สำหรับชุมชนที่มีวิถีชีวิตใกล้ชิดกับป่า นอกจากภัยแล้งจะทำให้น้ำแห้งเหือดแล้ว ยังส่งผลกระทบต่อชีวิตของผู้คนและระบบนิเวศโดยรอบอย่างหนัก เพราะแหล่งน้ำธรรมชาติเปรียบเสมือนเส้นเลือดแดงที่หล่อเลี้ยงป่าและผู้คนบริเวณใกล้เคียง
ปัญหาแหล่งน้ำของไทย: ฤดูร้อนน้ำแล้ง ฤดูฝนน้ำหลาก เกษตรกรเจ็บ ชุมชนจุก
โดยทรัพยากรน้ำตามสภาพธรรมชาติอย่างน้ำฝน น้ำผิวดิน และน้ำบาดาล เป็นผลผลิตจากธรรมชาติ ที่ไม่สามารถที่จะผลิตเพิ่มหรือลดปริมาณลงได้เองตามความต้องการ หากบางปีเกิดการแล้งฝนจะส่งผลให้น้ำในลำธารมีน้อย จนไม่เพียงพอต่อการใช้งานของคนในพื้นที่ หรือบางปีที่เกิดภัยพิบัติจนฝนตกชุกหนักก็จะเกิดอุทกภัยน้ำท่วม จนก่อให้เกิดปัญหาแก่คนโดยรอบ ในปัจจุบันประเทศไทยจึงต้องเจอกับปัญหาน้ำอยู่ทุกปีในทุกภาคส่วนพื้นที่
โดยสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือ TDRI เปิดเผยว่า สาเหตุของปัญหาน้ำภายในประเทศเกิดขึ้นจากปัจจัย 2 ประการ นั่นคือ
- เกิดขึ้นจากการกระทำของมนุษย์
- สภาพแวดล้อมของธรรมชาติในแต่ละท้องที่ ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติที่นอกเหนือการควบคุม
จากทั้งปัญหาและสาเหตุดังกล่าว สิ่งที่ชุมชนต้องพบเจอและเป็นปัญหาหลักคือ ผลกระทบเรื่องภัยแล้งที่แวะเวียนมาเยี่ยมในทุกๆ ปี นอกจากนี้ในบางพื้นที่ยังต้องประสบปัญหาพื้นที่ป่าเสื่อมโทรมจากการปลูกพืชเศรษฐกิจเชิงเดี่ยว ส่งผลให้ดินไร้ประสิทธิภาพในการดูดซึมน้ำ แม้จะเป็นฤดูฝน แต่ดินของพื้นที่ชุมชนก็ยังคงไม่สามารถที่จะกักเก็บน้ำไว้ได้ เมื่อครั้งที่ฤดูแล้งเวียนมา น้ำในดินก็จะไม่เพียงพอในการหล่อเลี้ยงลำธาร เกิดปัญหาขาดแคลนน้ำ เป็นอุปสรรคให้เกษตรกรในชุมชนไม่สามารถเพาะปลูกเพื่อทำมาหากินเลี้ยงชีพได้
ดังนั้นจึงต้องมีการบูรณาการองค์ความรู้เกี่ยวกับการจัดการน้ำที่ชุมชนสามารถนำไปใช้ได้จริง และสามารถจัดการทรัพยากรน้ำได้อย่างยั่งยืน ในวาระของเดือนมิถุนายนที่มีวันสำคัญคือวันสิ่งแวดล้อมโลก เอสซีจี เคมิคอลส์ หรือ SCGC จึงได้แบ่งปัน Case Study จากแคมเปญ ‘เก็บน้ำดี มีน้ำใช้’ ด้วยโมเดล ‘2 สร้าง 2 เก็บ’ จากการทำงานด้านจัดการน้ำในชุมชนรอบเขายายดามาเป็นเวลามากกว่า 10 ปี เพื่อแก้ไขปัญหาขาดแคลนน้ำที่เป็นภัยเรื้อรัง ทวงคืนน้ำให้กับชุมชนที่กำลังประสบปัญหาขาดแคลน
โมเดล 2 สร้าง 2 เก็บ องค์ความรู้เพื่อความยั่งยืนในการบริหารจัดการน้ำของเกษตรกร
Case Study จากโครงการ เก็บน้ำดี มีน้ำใช้ ที่ทาง SCGC ได้ลงพื้นที่เพื่อสำรวจต้นตอของปัญหาและหาวิธีแก้ไขปัญหาจัดการทรัพยากรน้ำในชุมชนบ้านมาบจันทร์ หนึ่งในชุมชนรอบเขายายดา มาเป็นเวลามากกว่า 10 ปี จนได้ออกมาเป็นโมเดล 2 สร้าง 2 เก็บ เพื่อแก้ไขปัญหาขาดแคลนน้ำที่เป็นภัยเรื้อรัง
หากย้อนกลับไปในช่วง พ.ศ. 2531 เขายายดาถูกภัยคุกคามจากไฟป่าอย่างต่อเนื่อง จากการปรับพื้นที่ป่าให้มีความเหมาะสมกับการทำการเกษตร เพื่อสร้างอาชีพให้กับเกษตรกร ทำให้ความสามารถในการดูดซับน้ำในดินนั้นลดลง ปัญหาที่ตามมาคือ เมื่อฝนตกหนักเฉียบพลันจะก่อให้เกิดน้ำป่าไหลหลาก และในภาวะฤดูแล้งก็ขาดน้ำในการหล่อเลี้ยงดิน ครั้นจะปลูกป่าขึ้นมาใหม่ เกษตรกรในพื้นที่ก็จะขาดรายได้ ส่งผลให้เกษตรกรต้องเดือดร้อนอย่างหนัก เพราะไม่ว่าจะหนทางใดก็ไม่สามารถสร้างผลผลิตทางการเกษตรได้เพียงพอ รายได้ครัวเรือนขาดหาย อีกทั้งยังทำให้ภาพรวมเศรษฐกิจของระยอง ที่มีภาคการเกษตรเป็นเศรษฐกิจหลักของจังหวัด เกิดการทรุดตัว
จากปัญหาที่กล่าวไปข้างต้น SCGC ได้ตกตะกอนจากบทเรียนมากกว่า 10 ปีที่ได้ลองผิดลองถูก จนได้มาเป็นองค์ความรู้ในการบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืนฉบับชุมชน โมเดล 2 สร้าง 2 เก็บ ที่ประกอบไปด้วยองค์ประกอบทั้ง 4 ปัจจัย ได้แก่
1. สร้างคน
สร้างแกนนำที่ทำประโยชน์เพื่อส่วนรวม เสียสละ กล้าตัดสินใจ และรับฟังความเห็นของชุมชนโดยรอบและผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง นำไปสู่การสร้างนักวิจัยท้องถิ่นในชุมชน
2. สร้างกติกา
ตั้งกติกาในการใช้น้ำของชุมชนบนพื้นฐานความเกื้อกูลและความเข้าใจซึ่งกันและกัน ไม่มีการผูกขาดน้ำไว้ที่หน่วยงานใดฝ่ายเดียว
3. เก็บน้ำ
แน่นอนว่าปัญหาภัยแล้งต้องแก้ไขด้วยการเก็บน้ำผ่านการฟื้นฟูป่าต้นน้ำและแหล่งเก็บน้ำของชุมชน เพื่อให้พอใช้งานในฤดูแล้ง อีกทั้งยังมีการบูรณาการนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ตามความเหมาะสม
4. การเก็บข้อมูล
ส่วนที่สำคัญที่สุดในการบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืนคือ การคอยตรวจตราข้อมูลต้นทุนน้ำ การจดบันทึกการใช้น้ำในแต่ละบ้าน การสำรวจหมู่บ้านเพื่อทำผังน้ำ การจดบันทึกข้อมูลน้ำฝน น้ำระเหย ความชื้น และการให้ความรู้ชุมชนให้ทราบถึงที่มาของแหล่งน้ำ นำมาวิเคราะห์และต่อยอดเพื่อพยากรณ์สถานการณ์น้ำในอนาคตได้อย่างแม่นยำ พร้อมหาแนวทางในการแก้ไขปัญหา แทนการคาดเดาทางความรู้สึก
ผลลัพธ์ที่ชุมชนและทุกคนสัมผัสได้
ผลลัพธ์ที่ได้จากการนำโมเดล 2 สร้าง 2 เก็บ ไปบูรณาการร่วมกับชุมชนบ้านมาบจันทร์พบว่า น้ำจากลำธารให้ผลผลิตมากถึง 14.83 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี ทำให้เกษตรกรมีน้ำหล่อเลี้ยงเพียงพอในการทำการเกษตรรอบเขายายดาในตำบลตะพง ตำบลแกลง และตำบลบ้านแลง กว่า 10,620 ไร่
สร้างผลผลิตรวมได้ถึง 79,382,695 กิโลกรัมต่อปี บ่อน้ำตื้นบริเวณพื้นที่ลาดเชิงเขาและพื้นที่ลูกเนินท้ายน้ำเขายายดามีนำ้คงอยู่ตลอดทั้งปี จากที่เคยแห้งแล้งอยู่เป็นประจำก่อนที่จะมีการนำโมเดลดังกล่าวมาใช้งาน อีกทั้งความอุดมสมบูรณ์ในพื้นที่ยังสามารถต่อยอดสู่การท่องเที่ยวเชิงนิเวศ อย่างเช่น สวนท่องเที่ยวทางการเกษตร หรือการทำบ้านพักโฮมสเตย์ เพื่อการสร้างรายได้ให้ชุมชนอย่างยั่งยืน
นอกเหนือไปจากปัญหาน้ำแล้ง-น้ำท่วมที่ได้รับการแก้ไข การฟื้นฟูป่าของเขายายดายังทำให้ดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ถึง 5.41 ตันต่อไร่ต่อปี ส่งผลให้ป่าไม้ที่เขายายดาจะช่วยลดอุณหภูมิอากาศเฉลี่ยของบริเวณชุมชนโดยรอบได้ถึง 1.6 องศาเซลเซียส
ปัญหาน้ำต้องแก้ด้วยการบูรณาการความรู้ที่ใช้ได้จริง ด้วยการใช้ข้อมูลจริงของชุมชนในพื้นที่
บทเรียนที่อยากส่งต่อจากกรณีศึกษาชุมชนบ้านมาบจันทร์คือ การนำองค์ความรู้และเทคโนโลยีที่เหมาะสมมาประยุกต์ใช้กับชุมชนในพื้นที่ รวมทั้งส่งเสริมงานวิจัยท้องถิ่น เพื่อให้องค์ความรู้ดังกล่าวผ่านการทดลองและพิสูจน์แล้วว่าสามารถนำไปปฏิบัติได้จริง และสิ่งสำคัญที่สุดคือ ความร่วมมือของทุกภาคส่วนที่มีส่วนเกี่ยวข้องที่ตั้งใจและมุ่งมั่นแก้ไขปัญหา เพื่อไปถึงเป้าหมายที่ตั้งไว้ร่วมกันคือ ‘ความยั่งยืนในการอยู่ร่วมกันระหว่างป่าและชุมชน’
อ้างอิง: