×

‘เอสซีจี’ คงเป้ายอดขายปีนี้โต 10% กางแผนขยายอาณาจักรปั้นธุรกิจ New S-Curve รุกพลังงานทดแทน ดันธุรกิจโลจิสติกส์เป็นเบอร์ 1 อาเซียน ตั้งเป้ามูลค่าบริษัทเป็น 1 แสนล้านบาท

27.10.2022
  • LOADING...
เอสซีจี

รุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) หรือ SCC เปิดเผยว่า บริษัทยังคงเป้าหมายยอดขายรายได้งวดปี 2565 ว่าจะสามารถเติบโตได้ 10% จากงวดปี 2564 เพราะในช่วง 9 เดือนแรกของปี ยอดขายเติบโตไปแล้วกว่า 10% เนื่องจากภาพรวมราคาขายปรับตัวเพิ่มขึ้น ขณะที่ช่วงไตรมาส 4/2565 มองว่าธุรกิจอาจจะชะลอตัวลงบ้างแต่ยังสามารถพอเติบโตไปได้

 

ขณะเดียวกันบริษัทปรับลดวงเงินลงทุนรวมในงวดปี 2565 เป็น 55,000 ล้านบาท จากเดิมที่วางไว้ว่าจะใช้เงินลงทุนประมาณ 80,000 ล้านบาท เนื่องจากมีบางโครงการที่บริษัทมองว่ายังไม่มีความจำเป็นต้องชะลอการลงทุนออกไป เช่น โครงการเข้าซื้อกิจการ ซึ่งจะต้องเลื่อนแผนการลงทุนออกไปในปี 2566 ส่วนโครงการปิโตรเคมีครบวงจรที่ประเทศเวียดนามยังเดินหน้าต่อเนื่อง คาดว่าจะเปิดดำเนินการในรูปแบบเชิงพาณิชย์ในช่วงปี 2566


ข่าวที่เกี่ยวข้อง


ส่วนแผนการเติบโตในปี 2566 บริษัทยังไม่สามารถคาดการณ์ได้ว่ายอดขายจะเติบโตในสัดส่วนที่เท่าไร แต่คาดว่าจะต้องมีการเติบโตท่ามกลางความท้าทายที่เกิดขึ้นจากนโยบายของประเทศจีน รวมถึงเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ที่จะมีการประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ย และทิศทางของราคาพลังงานที่ไม่สามารถคาดเดาได้ว่าจะจบเมื่อไร ซึ่งส่งผลต่อเงินเฟ้อที่ยังคงเพิ่มขึ้น

 

ทั้งนี้ บริษัทมองว่าการขยายฐานการลงทุนใหม่ของบริษัทจะเป็น New S-Curve ให้กับบริษัทด้วยการกระจายการลงทุนต่อยอดไปยังอุตสาหกรรมใหม่ ผ่านทางบริษัทย่อยของบริษัทที่มีธุรกิจหลักเดิมอยู่แล้ว เช่น การลงทุนในธุรกิจพลังงานทดแทน ซึ่งบริษัทมองเห็นโอกาสการลงทุนต่อยอดเพิ่มเติมอย่างต่อเนื่อง เช่น โอกาสในการเข้าร่วมประมูลขายไฟฟ้าให้กับภาครัฐ

 

รวมถึงธุรกิจด้านโลจิสติกส์ การที่บริษัทได้เข้าไปร่วมกับเจดับเบิ้ลยูดี ซึ่งจะช่วยเพิ่มและขยายโอกาสตามดีมานด์ที่กำลังเพิ่มขึ้นอย่างมาก และเป็นการช่วยสร้างความสามารถในการแข่งขันในธุรกิจแพ็กเกจจิ้งที่ขยายฐานไปยังธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับไลฟ์สไตล์ สุขภาพ และการแพทย์

 

SCGC ยังอยู่ระหว่างเลือกกำหนดในการเข้าตลาดหุ้น

ด้าน ธนวงษ์ อารีรัชชกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เอสซีจี เคมิคอลส์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCGC เปิดเผยว่า ขณะนี้ยังอยู่ระหว่างขั้นตอนแผนการเข้าตลาดจดทะเบียนซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ หลังจากที่ก่อนหน้านี้ทางสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้อนุมัติแบบรายการแสดงข้อมูลของบริษัทเรียบร้อยแล้ว โดยจากนี้ไปจะต้องพิจารณาช่วงเวลาให้เหมาะสม โดยยอมรับว่า Sentiment ภาพรวมการลงทุนของตลาดถือว่ามีความสำคัญ เช่นเดียวกับการกังวลเรื่องภาวะเศรษฐกิจโลกที่กำลังชะลอตัว

 

เล็งเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าพลังงานทดแทนเป็น 500 เมกะวัตต์

ขณะที่ ธรรมศักดิ์ เศรษฐอุดม รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ SCC เปิดเผยว่า ขณะนี้บริษัท เอสซีจี คลีนเนอร์ยี่ จำกัด มีโอกาสขยายการลงทุนในธุรกิจพลังงานทดแทนเพิ่มเติม จากปัจจุบันที่บริษัทมีกำลังการผลิตอยู่แล้วประมาณ 220 เมกะวัตต์ ซึ่งเล็งเห็นโอกาสขยายการลงทุนจากการเข้าร่วมประมูลการรับซื้อไฟฟ้าจากภาครัฐ หรือการขายไฟฟ้าในรูปแบบ Private PPA ขณะเดียวกัน เอสซีจี คลีนเนอร์ยี่ มีเป้าหมายจะเพิ่มกำลังผลิตเป็น 500 เมกะวัตต์ ภายใน 5 ปี และยังไม่มีแผนจะ Spin-Off

 

ธุรกิจโลจิสติกส์วางเป้ามูลค่าบริษัท 1 แสนล้านบาท ในปี 2570

ชวนินทร์ บัณฑิตกฤษดา ประธานกรรมการบริหารและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เจดับเบิ้ลยูดี อินโฟโลจิสติกส์ จำกัด (มหาชน) หรือ JWD เปิดเผยภายหลังจากที่บริษัทเดินหน้าการรวมกิจการกับบริษัท เอสซีจี โลจิสติกส์ แมเนจเม้นท์ จำกัด หรือ SCGL ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของกลุ่มบริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) หรือ SCC แล้วนั้น

 

จะดำเนินการเปลี่ยนชื่อใหม่เป็น บริษัท เอสซีจี เจดับเบิ้ลยูดี โลจิสติกส์ จำกัด (มหาชน) โดยใช้ตัวย่อ ‘SJWD’ ในการซื้อขายหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และบริหารงานโดยมี Co-CEO (ประธานเจ้าหน้าที่บริหารร่วม) ร่วมกันบริหารงาน ได้แก่ บรรณ เกษมทรัพย์ ซึ่งเป็นตัวแทนจากกลุ่ม SCGL และ ชวนินทร์ บัณฑิตกฤษดา ซึ่งเป็นตัวแทนจาก JWD ทั้งนี้ ตั้งเป้าหมายจะมีมูลค่าบริษัทอยู่ที่ 1 แสนล้านบาท ภายในปี 2570

 

ด้วยโอกาสทางธุรกิจที่เราวางแผนร่วมกันมีทั้งหมด 5 ส่วน

  1. การเพิ่มรายได้จากการ Cross-Sale และ Up-Sale จากฐานลูกค้าเดิมของ SCGL และ JWD เพื่อเพิ่มรายได้และการประหยัดต้นทุน
  2. การสร้างมูลค่าเพิ่มในบริการเดิมที่แต่ละฝ่ายมีความชำนาญ เช่น คลังห้องเย็น ลานจอดรถยนต์ คลังสินค้าอันตราย การขนส่งแบบต่อเนื่องหลายรูปแบบ เป็นต้น
  3. การเชื่อมต่อฐานการให้บริการในภูมิภาคอาเซียนแบบไร้รอยต่อ โดยนำ Business Model ที่ประสบความสำเร็จในไทย ไปสร้างการเติบโตในต่างประเทศ
  4. ให้บริการแบบ D2C (Direct to Consumer) ตามความต้องการของลูกค้าที่เปลี่ยนแปลงไป ผ่านบริการห้องเก็บของส่วนตัวให้เช่า, โลจิสติกส์สำหรับธุรกิจอีคอมเมิร์ซ, การขนส่งแบบด่วน
  5. พัฒนาขอบเขตการให้บริการอย่างต่อเนื่องในธุรกิจใหม่ๆ เช่น อสังหาริมทรัพย์เพื่อการอุตสาหกรรม, บริการพัฒนาซอฟต์แวร์สำหรับจัดการโลจิสติกส์ เป็นต้น

 

สำหรับเป้าหมายรายได้ในปี 2566 บริษัทวางเป้าหมายจะมีรายได้หลังจากที่รวมเป็นบริษัท เอสซีจี เจดับเบิ้ลยูดี โลจิสติกส์ จำกัด (มหาชน) เติบโตประมาณ 10-12% หรือทำได้ประมาณ 28,000 ล้านบาท หลังจากที่คาดการณ์ว่าจะดำเนินการควบรวมแล้วเสร็จตั้งแต่ภายในงวดไตรมาส 1/2566 เป็นต้นไป ทั้งนี้ SCGJWD จะดำเนินการปรับโครงสร้างภายในเพิ่มเติมภายหลังการรวมกิจการ โดย SCGJWD จะรับโอนกิจการทั้งหมด Entire Business Transfer (EBT) ของ SCGL ซึ่งกระบวนการดังกล่าวคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในไตรมาสที่ 4 ของปี 2566

 

ด้าน บรรณ เกษมทรัพย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอสซีจี โลจิสติกส์ แมเนจเม้นท์ จำกัด เปิดเผยว่า “เมื่อรวมกันแล้วจะกลายเป็นผู้นำด้านโลจิสติกส์และซัพพลายเชน ที่มีจุดเด่นด้านการให้บริการโลจิสติกส์และซัพพลายเชนแบบครบวงจร ที่ครอบคลุมมากที่สุดในภูมิภาคอาเซียน มีนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่ทันสมัยในการดำเนินธุรกิจ ตลอดจนมีแบรนด์ที่แข็งแกร่งทั้งในด้านความเป็นมืออาชีพของ SCGL และประสบการณ์ความเชี่ยวชาญด้านการให้บริการโลจิสติกส์เฉพาะด้าน (Specialized) ของ JWD กลายเป็นผู้นำธุรกิจในภูมิภาคนี้”

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising