×

โบรกไร้กังวลบิ๊กคอร์ปผลประกอบการทรุดฉุดกำไร บจ. ไตรมาส 1/66 คาดทั้งปีนี้โตกว่า 10% ลุ้น Fund Flow ไหลกลับเข้าหุ้นไทย

28.04.2023
  • LOADING...
เอสซีจี กำไร

ผู้บริหารกลุ่มเอสซีจีเล็งหั่นเป้ารายได้ปี 2566 หลังกำไรจากการดำเนินงานไตรมาสแรกทรุดกว่า 40% ด้านโบรกยันไม่น่ากังวล พร้อมมองภาพรวมกำไร บจ. ปีนี้โตมากกว่า 10% จากหลายปัจจัยหนุน อีกทั้งยังมีลุ้นดึง Fund Flow กลับเข้าหุ้นไทย  

 

จากกรณีที่ บมจ.ปูนซิเมนต์ไทย (SCC) หรือ เอสซีจี รายงานผลการดำเนินงานในไตรมาส 1/66 มีรายได้จากการขาย 1.29 แสนล้านบาท ลดลง 16% จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน  

 


 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: 

 


 

ขณะที่แม้กำไรสุทธิไตรมาส 1/66 ที่ 1.65 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 87% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน สาเหตุหลักจากในไตรมาส 1/66 มีกำไรจากการปรับมูลค่ายุติธรรมของเงินลงทุนจากการรวมกิจการระหว่าง บริษัท เอสซีจี โลจิสติกส์ แมเนจเม้นท์ จำกัด และ บมจ.เอสซีจี เจดับเบิ้ลยูดี โลจิสติกส์ หรือ SJWD จำนวน 1.2 หมื่นล้านบาท

 

แต่กำไรที่ไม่รวมรายการพิเศษ (Profit Excluding Extra Items) หรือกำไรจากการดำเนินงานอยู่ที่ประมาณ 4.5 พันล้านบาท ลดลง 42% จากปีก่อน สาเหตุหลักมาจากปริมาณขายและส่วนแบ่งกำไรจากบริษัทร่วมที่ลดลงของธุรกิจเคมิคอลส์ รวมทั้งต้นทุนพลังงานที่เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน

 

รุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ปูนซิเมนต์ไทย (SCC) หรือ เอสซีจี กล่าวว่า ในช่วงกลางปีนี้บริษัทเตรียมทบทวนเป้าหมายตัวเลขการเติบโตของรายได้ในปี 2566 จากเดิมในช่วงต้นปีที่ตั้งเป้าหมายรายได้จะเติบโตขึ้นประมาณ 10% เนื่องจากมองว่าการฟื้นตัวตลาดอาเซียนยังไม่ได้มีความชัดเจน ขณะที่อัตราดอกเบี้ยและเงินเฟ้อยังอยู่ในระดับสูง ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการลงทุนอสังหาริมทรัพย์ให้ชะลอลง ด้านเศรษฐกิจโลกมองว่ายังคงเปราะบาง โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกากับยุโรปซึ่งมีปัญหาเงินเฟ้อในระดับสูง ส่งผลให้มีการเร่งดอกเบี้ยอย่างรวดเร็วเพื่อแก้ปัญหา ซึ่งจะเป็นความเสี่ยงที่นำไปสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย (Recession) และความผันผวนของราคาพลังงาน

 

“เป้าหมายรายได้ในปีนี้ที่เคยตั้งไว้ 10% ตอนนี้คิดว่ายาก เพราะดูจากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในไตรมาส 1/66 เพราะตลาดธุรกิจที่อยู่นอกประเทศดูแล้วค่อนข้างเหนื่อย แต่ยังต้องติดตามดู เพราะปัจจุบันธุรกิจของบริษัทมีรายได้ที่มาจากต่างประเทศสัดส่วนประมาณ 40%”

 

สำหรับธุรกิจปิโตรเคมีที่เป็นกลุ่มธุรกิจหลักของบริษัท ปัจจุบันอยู่ในวัฏจักรขาลง (Down Cycle) ซึ่งคาดว่าจุดต่ำสุดจะอยู่ในปีนี้ จากนั้นคาดว่าจะใช้ระยะเวลาอีกประมาณ 2-3 ปีในการฟื้นตัว อีกทั้งกลุ่มธุรกิจที่มีความเสี่ยงจะถูกผลกระทบปัจจัยเศรษฐกิจต่างประเทศคือกลุ่มธุรกิจปิโตรเคมี เนื่องจากตลาดขายสินค้าหลักจะอยู่ในต่างประเทศ รวมถึงราคาสินค้าจะกำหนดโดยตลาดต่างประเทศ ดังนั้นจึงต้องปรับการผลิตให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เน้นผลิตในกลุ่มสินค้าที่ตลาดมีความต้องการ และลดการผลิตในสินค้าที่มีดีมานด์ต่ำ

 

อย่างไรก็ดี ด้วยสถานการณ์ธุรกิจปิโตรเคมีที่เป็น Down Cycle บริษัทจึงตัดสินใจขอขยายระยะเวลาทำ IPO ของ บมจ.เอสซีจี เคมิคอลส์ หรือ SCGC และได้รับอนุญาตจากสำนักงาน ก.ล.ต. เมื่อวันที่ 12 เมษายน 2566 ให้ขยายระยะเวลา IPO ออกไปถึงวันที่ 4 ตุลาคม 2566 

          

สำหรับความคืบหน้าโครงการปิโตรเคมีครบวงจร LSP เวียดนาม ได้เริ่มทดลองเดินเครื่องในส่วนโพลีโอเลฟินส์ (PP, HDPE, LLDPE) เพื่อผลิตเม็ดพลาสติกป้อนตลาดเวียดนาม ซึ่งมีฐานลูกค้าอยู่แล้ว คาดจะดำเนินการเชิงพาณิชย์ได้ในกลางปีนี้ 

 

2 โบรกฟันธงกำไร บจ. ปี 2566 โตเกิน 10%

 

ภราดร เตียรณปราโมทย์ รองผู้อำนวยการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.เอเซีย พลัส กล่าวว่า ข้อมูลล่าสุดปัจจุบันมีบริษัทจดทะเบียน (บจ.) จำนวนประมาณ 20 บริษัทในตลาดหุ้นไทยประกาศผลการประกอบการไตรมาส 1/66 มีกำไรสุทธิรวมประมาณ 8.6 หมื่นล้านบาท เติบโตขึ้นราว 77% จากไตรมาสก่อน และเพิ่มขึ้นประมาณ 21% จากช่วงเดียวของปีก่อน อีกทั้งยังออกมาดีกว่าความเห็นของนักวิเคราะห์ (Consensus) ถึง 15%

 

ส่วนหนึ่งได้รับปัจจัยบวกจากกรณีที่บริษัทขนาดใหญ่อย่าง บมจ.ปูนซิเมนต์ไทย (SCC) ที่กำไรจากการปรับมูลค่ายุติธรรมของเงินลงทุนจากการรวมกิจการระหว่างบริษัท เอสซีจี โลจิสติกส์ แมเนจเม้นท์ จำกัด และ บมจ.เอสซีจี เจดับเบิ้ลยูดี โลจิสติกส์ (SJWD) เข้ามาจำนวน 1.2 หมื่นล้านบาท โดยหากตัดรายการพิเศษดังกล่าวออกมา จะมีกำไรจากการดำเนินงานในไตรมาส 1/65 ที่ประมาณ 4 พันล้านบาท ลดลงประมาณ 40% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งใกล้เคียงกับที่ บล.เอเซีย พลัส คาดไว้ แต่ถือว่าเป็นการฟื้นตัวที่ดีขึ้นจากไตรมาส 4/65 ที่กำไรจากดำเนินงานในระดับหลักไม่กี่ร้อยล้านบาท

 

อย่างไรก็ดี หากไม่นับรวมผลประกอบการของ SCC ภาพรวมกำไร บจ. ในช่วงไตรมาส 1/66 ที่ทยอยออกมาถือว่ามีแนวโน้มการเติบโตที่ดีต่อเนื่อง ดังนั้นมีมุมมองว่าราคาหุ้น SCC ที่ลดลงมาในระดับปัจจุบันใกล้ระดับ 300 บาท ถือว่าสะท้อนปัจจัยลบเข้าไปในราคาหุ้นแล้ว จึงมองเป็นโอกาส ‘ซื้อ’

 

สำหรับทั้งปี 2566 บล.เอเซีย พลัสประเมินกำไรของ บจ.ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ทำบทวิเคราะห์ครอบคลุมสัดส่วนประมาณ 40% ของมาร์เก็ตจะอยู่ที่ประมาณ 1.1 ล้านล้านบาท เติบโตขึ้น 12.6% โดยคิดเป็นกำไรต่อหุ้น (Earnings Per Share: EPS) ที่ 91.80 บาท 

 

โดยปัจจัยสนับสนุนให้กำไร บจ. ปีนี้จะเติบโตขึ้นค่อนข้างดี เพราะเปรียบเทียบจากฐานกำไรที่ต่ำในปี 2565 เพราะบริษัทมีการบันทึกค่าใช้จ่ายรายการพิเศษที่มีผลกระทบต่อกำไร ประกอบกับปัจจัยการเปิดประเทศที่สนับสนุนการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว และธุรกิจที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งอัตราการขยายตัวของ GDP ปีนี้ที่ยังอยู่ในระดับที่ดี 3.6% ซึ่งแม้ว่าจะเป็นตัวเลขที่กระทรวงการคลังปรับลดประมาณการลงมา อีกทั้งคาดว่าจากประเด็นดังกล่าวจะเห็นภาพการเติบโตที่ต่อเนื่องของกำไร บจ. ในไตรมาส 2/66 

 

“ปกติตลาดมักจะมองภาพการเติบโตกำไรของ บจ. เปรียบเทียบไตรมาสต่อไตรมาส ก็จะสนับสนุนให้ตลาดหุ้นมีโอกาสฟื้นขึ้นได้หลังตัวเลขกำไรไตรมาส 1/66 ประกาศออกมาครบในช่วงกลางเดือนพฤษภาคมนี้ ซึ่งจะเป็นปัจจัยให้ Fund Flow จะมีโอกาสกลับมาเข้ามา มีโอกาสเห็นการ Buy on Fact เพราะตอนนี้ดัชนีฯ ย่อมาที่ 1,530 ถือว่ามีมูลค่าที่น่าสนใจ โดยในปีนี้เอเซีย พลัสให้เป้าหมาย SET Index ตามปัจจัยพื้นฐานที่ 1,610 จุด แต่ Fund Flow ไหลกลับมาซื้อ หุ้นไทยก็มีโอกาสวิ่งไปถึงที่ระดับ 1,670 จุด”

 

ด้านฐกฤต ชาติเชิดศักดิ์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย บล.โนมูระ พัฒนสิน กล่าวว่า ภาพรวมของกำไร บจ. ไตรมาส 1/66 ที่ทยอยออกมาทั้งกลุ่มธนาคารพาณิชย์และการเงินถือว่าออกมาดีกว่า หรือบางส่วนใกล้เคียงกับ Consensus โดยมีเพียง บมจ.เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) หรือ DELTA ที่รายงานผลการดำเนินงานในไตรมาส 1/66 อยู่ที่ 3,614 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 30% แต่ต่ำกว่า Consensus

 

โดยภาพรวมของกำไรไตรมาส 1/66 บจ. ที่ทยอยประกาศออกมาเติบโตทั้งเมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสและช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่ข้อมูลจาก Bloomberg Consensus ประเมินว่า บจ. ที่เหลือยังไม่ได้ประกาศผลดำเนินงานอีกจำนวน 103 บริษัท คาดว่าจะมีกำไร 1.36 แสนล้านบาท เติบโตขึ้น 37% เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาส และเติบโตขึ้น 23% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนเช่นกัน ดังนั้นประเมินว่ากำไรของ บจ. รวมในไตรมาส 1/66 จะออกมาที่ราว 2.25 แสนล้านบาท เติบโตขึ้น 49.9% เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาส และเติบโตขึ้น 22.6% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน

 

ส่วนกำไรสุทธิไตรมาส 1/66 ของ SCC ออกมาดีกว่าที่คาด เพราะมีกำไรจากรายการพิเศษจำนวน 1.2 หมื่นล้านบาท แต่หากตัดกำไรส่วนดังกล่าวออกแล้ว กำไรจากการดำเนินงานของ SCC และภาพรวมของกำไร บจ. ที่ออกมาก็ยังเป็นไปตาม Consensus คาด 

 

อย่างไรก็ดี ประเมินว่าผลการดำเนินงานในช่วงไตรมาส 2/66 ของ SCC ในธุรกิจหลักกลุ่มปิโตรเคมีจะเริ่มเห็นการฟื้นตัวจากดีมานด์ของสินค้าที่มีโอกาสเติบโตขึ้นตามการฟื้นตัวต่อเนื่องของเศรษฐกิจจีน รวมถึงดีมานด์ในภูมิภาคที่มีโอกาสฟื้นตัวขึ้นในช่วงเทศกาลรอมฎอน ขณะที่ธุรกิจปูนซีเมนต์จะฟื้นตัวชัดเจนตามเศรษฐกิจในประเทศที่กำลังอยู่ในช่วงของการฟื้นตัว รวมถึงธุรกิจภาคอสังหาริมทรัพย์เอกชนจะมีการลงทุนมากขึ้นหลังการเลือกตั้ง จึงแนะนำ ‘ซื้อ’ 380 บาท

 

สำหรับ EPS ทั้งปี 2566 ประเมินไว้ที่ 101.5 บาท เติบโตขึ้นประมาณ 18% โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากกลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการบริโภคและการลงทุนในประเทศ รวมถึงการท่องเที่ยวที่มีกำไรฟื้นตัวดีขึ้น ขณะที่ปัจจัยเศรษฐกิจในต่างประเทศยังคาดว่าจะยังอยู่ในช่วงของการฟื้นตัว นำโดยประเทศจีน ขณะที่เศรษฐกิจของสหรัฐฯ ประเมินว่าจะเป็นลักษณะเศรษฐกิจ Soft Landing 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising