เกิดอะไรขึ้น:
เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2566 บมจ.ปูนซิเมนต์ไทย (SCC) รายงานกำไรสุทธิ 4Q65 อยู่ที่ 157 ล้านบาท ลดลง 98%YoY และ 98%QoQ ต่ำกว่าคาดการณ์ไว้อย่างมาก โดยเกิดจากผลการดำเนินงานที่อ่อนแอของธุรกิจบรรจุภัณฑ์และธุรกิจเคมิคอลส์
หากตัดขาดทุนพิเศษจำนวน 403 ล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่เป็นรายการด้อยค่าและค่าใช้จ่ายภาษีออกไป พบว่ากำไรปกติ 4Q65 อยู่ที่ 560 ล้านบาท ลดลง 93%YoY และ 77%QoQ เนื่องจากผลการดำเนินงานที่อ่อนแอลงในธุรกิจหลักทุกกลุ่มไปหักล้างรายได้เงินปันผลที่ดีขึ้นในธุรกิจอื่น
ทั้งนี้ หลังจากจ่ายเงินปันผลงวด 1H65 ในอัตรา 6 บาทต่อหุ้น SCC ก็ประกาศจ่ายเงินปันผลงวด 2H65 ในอัตรา 2 บาทต่อหุ้น (XD 7 เมษายน) คิดเป็นอัตราการจ่ายเงินปันผล 45% จากผลประกอบการปี 2565
สำหรับรายการสำคัญใน 4Q65 ดังนี้
- ธุรกิจเคมิคอลส์มีขาดทุนปกติ 1 พันล้านบาท ปรับตัวแย่ลงจากกำไรปกติ 4 พันล้านบาท ใน 4Q64 และขาดทุนปกติ 339 ล้านบาท ใน 3Q65 เพราะได้รับผลกระทบจากส่วนต่างราคา PE/PP-แนฟทาที่ลดลง (ลดลง 28-46%YoY) ปริมาณการขาย PE/PP ที่ลดลง (ลดลง 33%YoY) จากการปิดโรงแครกเกอร์ ROC เพื่อซ่อมบำรุง และจากส่วนต่างราคาผลิตภัณฑ์ที่อ่อนแอ รวมถึงขาดทุนจากการปรับมูลค่าสินค้าคงเหลือจำนวน 510 ล้านบาท
- ธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง (CBM) มีขาดทุนปกติ 157 ล้านบาท หลังจากมีกำไรปกติ 1.5 พันล้านบาท ใน 4Q64 และ 864 ล้านบาท ใน 3Q65 เพราะได้รับผลกระทบจากต้นทุนพลังงานที่สูงขึ้น ซึ่งไปหักล้างยอดขายที่ดีขึ้น (ความต้องการและราคาปูนซีเมนต์ในประเทศเพิ่มขึ้น 3%YoY และ 13%YoY)
- ธุรกิจบรรจุภัณฑ์มีกำไรปกติ 539 ล้านบาท ลดลง 53%YoY และ 69%QoQ เพราะได้รับผลกระทบจากปริมาณการขายที่ลดลง และค่าซ่อมบำรุงระดับสูง
กระทบอย่างไร:
เมื่อวานนี้ (26 มกราคม) ราคาหุ้น SCC ปรับลดลง 3.19%DoD อยู่ที่ระดับ 334.00 บาท ขณะที่ SET Index ปรับลดลง 0.64%DoD อยู่ที่ระดับ 1,671.34 จุด
กลยุทธ์การลงทุนและแนวโน้มผลประกอบการปี 2566:
SCC วางแผนจัดลำดับความสำคัญของโครงการลงทุน โดยตั้งงบลงทุนปี 2566 ไว้ที่ 4.0-5.0 หมื่นล้านบาท ธุรกิจเคมิคอลส์ใน 1Q66TD ส่วนต่างราคา PE/PP-แนฟทา อยู่ที่ 408 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน (ลดลง 10%YoY แต่เพิ่มขึ้น 11%QoQ) และ 392 ดอลลาร์ต่อตัน (ลดลง 18%YoY แต่ เพิ่มขึ้น 30%QoQ)
โดยการปรับตัวเพิ่มขึ้น QoQ เกิดจากการเติมสินค้าคงคลังทั่วโลก และ Sentiment ตลาดที่ปรับตัวดีขึ้นเนื่องจากจีนกลับมาเปิดประเทศอีกครั้ง ขณะที่การหยุดซ่อมบำรุงโรงแครกเกอร์ตามฤดูกาลหักล้างกับการเริ่มเดินเครื่องผลิตของอุปทานใหม่
สัญญาณที่ดีขึ้นส่งผลทำให้ SCC วางแผนกลับมาดำเนินการโรงแครกเกอร์ ROC ในสัปดาห์แรกของเดือนกุมภาพันธ์ หลังจากปิดไปเป็นเวลา 5 เดือนตั้งแต่เดือนกันยายน 2565 สำหรับโครงการ LSP Complex ในเวียดนาม (คืบหน้า 98%) บริษัทตั้งเป้าเริ่มเดินเครื่องเต็มรูปแบบในช่วงกลางปี 2566
ด้านธุรกิจ CBM SCC คาดว่าความต้องการปูนซีเมนต์ในปี 2566 จะปรับตัวดีขึ้น YoY อันเป็นผลมาจากการลงทุนภาคเอกชนที่ฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป บริษัทประเมินว่าต้นทุนของกลุ่มในปี 2566 จะเพิ่มขึ้น 3.5 พันล้านบาท โดยเกิดจากต้นทุนไฟฟ้าที่สูงขึ้น (5-6 พันล้านบาท) ซึ่งจะถูกลดทอนลงได้บางส่วนโดยต้นทุนถ่านหินที่ลดลง (ล็อกราคาล่วงหน้าไว้ 6 เดือน)
ทั้งนี้ เพื่อชดเชยต้นทุนระดับสูง SCC จะปรับราคาเพิ่มขึ้น และเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานทดแทนสำหรับธุรกิจซีเมนต์ในประเทศจาก 34% ในปี 2565 สู่ 40-50% ในปี 2566
อย่างไรก็ดี InnovestX Research ปรับประมาณการกำไรปี 2566 ของ SCC ลดลง 10% ซึ่งคาดว่ากำไร 4Q65 จะเป็นจุดต่ำสุด และกำไร 1Q66 จะปรับตัวดีขึ้น QoQ โดยได้รับการสนับสนุนจากผลการดำเนินงานที่ฟื้นตัวดีขึ้นในธุรกิจหลักทุกกลุ่ม แม้ว่าจะยังคงลดลง YoY
ขณะที่ราคาหุ้นที่ปรับตัวลดลงเมื่อไม่นานนี้ และแนวโน้มระยะสั้นที่ดีขึ้นหนุนให้ปรับเรตติ้งระยะ 3 เดือนสำหรับ SCC ขึ้นสู่ Outperform ด้วยราคาเป้าหมายสิ้นปี 2566 อ้างอิงวิธี SOTP ที่ 385 บาทต่อหุ้น
ปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่ต้องติดตามคือ การเปลี่ยนแปลงในด้านกำลังซื้อและต้นทุนที่สูงขึ้นจากแรงกดดันเงินเฟ้อ อัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น และความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน
บทความที่เกี่ยวข้อง
- “นี่เป็นราคาที่เราพึงพอใจทั้ง 2 ฝ่าย” เจ้าของสุกี้ตี๋น้อยกล่าวหลัง Jaymart ควักเงิน 1.2 พันล้านบาทเข้าถือหุ้น 30%
- ADVANC ทุ่ม 32,420 ล้านบาท เข้าซื้อกิจการ 3BB จาก JAS
- กางแผน ‘โอ้กะจู๋’ หลังมี OR เป็นแบ็กอัป เดินหน้าขยายสาขาเพิ่มเป็น 60 แห่ง ขายผักสดและบุก CLMV ก่อน IPO ในปี 2567