×

ย้อนรอยมหากาพย์ SCBX-Bitkub ก่อนดีลล่ม ปิดฉากยูนิคอร์นตัวใหม่ของไทย

25.08.2022
  • LOADING...
SCBX-Bitkub

HIGHLIGHTS

  • การส่ง SCBS เข้าซื้อหุ้นสามัญในสัดส่วน 51% ของบริษัท บิทคับ แคปปิตอล กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ ด้วยมูลค่า 17,850 ล้านบาท ในช่วงปลายปีก่อนของกลุ่ม SCBX สร้างความคาดหวังว่าจะสร้างยูนิคอร์นตัวใหม่ของไทย
  • การสอบทานธุรกิจที่ล่าช้ากว่ากำหนด และปัญหาที่ยังค้างคาระหว่าง Bitkub กับหน่วยงานกำกับ นำไปสู่การตัดสินใจแยกทางกันเดินในที่สุด
  • ผู้เชี่ยวชาญในแวดวงคริปโตมองว่าเรื่องนี้จะไม่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจของ Bitkub โอกาสที่จะเกิดดีลใหม่ๆ ยังคงเปิดกว้างเสมอ

การประกาศล้มดีลยกเลิกแผนเข้าลงทุนใน Bitkub ของกลุ่ม SCBX หรือยานแม่ ถือเป็นข่าวใหญ่ที่สั่นสะเทือนแวดวงคริปโตเคอร์เรนซีของไทยต่อเนื่องจากกรณีปัญหา Zipmex

 

หากย้อนกลับไปในเดือนพฤศจิกายน ปี 2564 การประกาศส่งยานลูกอย่าง SCBS เข้าซื้อหุ้นสามัญในสัดส่วน 51% ของจำนวนหุ้นทั้งหมดจากบริษัท บิทคับ แคปปิตอล กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด ด้วยมูลค่ารวมประมาณ 17,850 ล้านบาท สร้างความฮือฮาให้กับแวดวงคริปโตไทยเป็นอย่างมาก เนื่องจากหากดีลนี้ประสบความสำเร็จ ก็จะส่งให้ Bitkub ก้าวขึ้นมาเป็นยูนิคอร์นตัวใหม่ของไทยในทันที โดยกระแสข่าวเชิงบวกที่เกิดขึ้นนี้ได้ส่งผลให้ราคาเหรียญ KUB พุ่งขึ้นไปแตะระดับสูงสุดที่ 580 บาท

 

อย่างไรก็ดี ในแถลงการณ์ของกลุ่ม SCBX ได้ให้รายละเอียดกำกับไว้ครั้งนั้นว่า การเข้าทำธุรกรรมการซื้อขายหุ้นจะอยู่ภายใต้การปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ของหน่วยงานกำกับดูแลที่เกี่ยวข้อง เช่น ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.)

 

นอกจากนี้ยังกำหนดเงื่อนไขว่า ผลการสอบทานธุรกิจ (Due Diligence) ของ Bitkub ในส่วนที่เป็นสาระสำคัญต้องเป็นที่น่าพอใจ และคู่สัญญาได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่ระบุในสัญญาซื้อขายหุ้นครบถ้วน โดยคาดว่าการสอบทานจะแล้วเสร็จภายในไตรมาสแรกของปีนี้

 

ย้อนกลับไปในตอนนั้น อาทิตย์ นันทวิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และประธานกรรมการบริหาร บริษัท เอสซีบี เอกซ์ จำกัด (มหาชน) ได้ให้เหตุผลของการเข้าลงทุนใน Bitkub เอาไว้ว่า

 

“ในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา ธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลเป็นหนึ่งในธุรกิจการเงินแห่งโลกอนาคตที่มีการเติบโตอย่างรวดเร็วและมีโอกาสเติบโตในระยะยาว การที่ ‘กลุ่ม SCBX’ เข้าไปลงทุนใน ‘Bitkub’ ซึ่งให้บริการแพลตฟอร์มด้านการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลชั้นนำของประเทศไทยที่มีความน่าเชื่อถือ มีการเติบโตอย่างต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมา จะช่วยให้ ‘กลุ่ม SCBX’ สามารถสร้างคุณค่าใหม่ที่สามารถเติบโตในระยะยาวไปกับโลกใหม่ได้ สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ยานแม่ SCBX ในการยกระดับสู่กลุ่มบริษัทเทคโนโลยีการเงิน สามารถตอบสนองความต้องการใหม่ของผู้บริโภค และสามารถเข้าสู่สนามการแข่งขันแบบใหม่ที่กำลังจะเกิดขึ้นโดยเร็วในอีก 3-5 ปีข้างหน้า”

 

ขณะที่ จิรายุส ทรัพย์ศรีโสภา Group CEO ผู้ร่วมก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บิทคับ แคปปิตอล กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด ได้กล่าวว่า

 

“Bitkub ได้เดินมาถึงจุดที่เราได้กลายเป็นโครงสร้างสำคัญของเศรษฐกิจในอนาคตของประเทศไทย หรือที่เรียกว่า Digital Economy ต่อจากนี้ Bitkub ไม่ได้เป็นเพียงสตาร์ทอัพอีกต่อไป แต่กำลังจะก้าวมาเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นต่อวงการการเงิน 3.0 ของประเทศไทย ในตอนนี้เราได้พา Bitkub มาถึงจุดเปลี่ยนที่สำคัญมาก และเพื่อที่จะนำ Bitkub ให้ก้าวไปสู่ระดับโลก พวกเราต้องการพาร์ตเนอร์ที่แข็งแกร่งมาเป็นกำลังเสริมให้ไปถึงได้เร็วขึ้นอย่างยั่งยืน นั่นเป็นเหตุผลที่เราจับมือร่วมกับ SCBS”

 

โดยท๊อปยังระบุด้วยว่า การเข้ามาลงทุนใน Bitkub ของกลุ่ม SCBX ถือเป็นการประทับตรา ‘ยูนิคอร์น’ อีก 1 ตัวให้คนไทยทุกๆ คนได้ภาคภูมิใจ

 

อย่างไรก็ดี เมื่อเข้าสู่ไตรมาสแรกของปีนี้ตามกำหนดการ ปรากฏว่าธุรกรรมการซื้อขายกลับยังไม่มีวี่แววว่าจะแล้วเสร็จ โดยทั้ง SCB และ Bitkub ให้เหตุผลว่า การสอบทานธุรกิจยังไม่แล้วเสร็จ จนมีการขยายกรอบเวลาธุรกรรมออกมาเรื่อยๆ สอดคล้องกับราคาเหรียญ KUB ที่ทยอยปรับลดลง

 

จนเมื่อวันที่ 8 กรกฎาคมที่ผ่านมา SCBX ได้ทำหนังสือแจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) โดยระบุว่า ตามที่บริษัทได้แจ้งว่า จากการคาดการณ์ว่าธุรกรรมการซื้อขายหุ้นกับ Bitkub จะสามารถดำเนินการได้เสร็จสิ้นภายในไตรมาสแรกของปี 2565 นั้น ธุรกรรมดังกล่าวอยู่ระหว่างกระบวนการสอบทานทางธุรกิจและระหว่างการหารือกับหน่วยงานกำกับดูแลที่เกี่ยวข้อง ทำให้ต้องขยายเวลาการเข้าทำธุรกรรมออกไปอย่างไม่มีกำหนด

 

ต่อมาภายในเดือนเดียวกัน มาณพ เสงี่ยมบุตร Chief Finance & Strategy Officer บริษัท เอสซีบี เอกซ์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCB และรองผู้จัดการใหญ่อาวุโส ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มงานการเงิน ธนาคารไทยพาณิชย์ ได้เปิดเผยในงานแถลงข่าวว่า การเข้าลงทุนใน Bitkub ยังคงไม่มีพัฒนาการใหม่ๆ โดยดีลดังกล่าวได้มีการเลื่อนออกไปอย่างไม่มีกำหนด แต่ปัจจุบันอยู่ระหว่างการทำ Due Diligence และการเจรจาพูดคุย ตลอดจนปรึกษากับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องและหน่วยงานที่กำกับดูแล

 

“ดีลยังมีอยู่ แต่ใช้เวลาในการศึกษาความเป็นไปได้ ความเหมาะสม และผลตอบแทน รวมไปถึงการมองหาโอกาสใหม่ๆ ในการลงทุนในรูปแบบอื่นๆ เข้ามาเพิ่มเติม” มาณพกล่าว

 

การที่ดีลถูกเลื่อนออกไปอย่างไม่มีกำหนด ประกอบกับกรณีที่ก่อนหน้านี้คณะกรรมการ ก.ล.ต. ได้มีมติเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2565 โดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 35 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชกำหนดการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ. 2561 (พ.ร.ก.สินทรัพย์ดิจิทัลฯ) สั่งการให้ Bitkub แก้ไขการคัดเลือกและอนุมัติเหรียญ KUB ในการเข้ามาซื้อขายในศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล (ศูนย์ซื้อขายฯ) ของ Bitkub ภายใน 30 วัน ทำให้เริ่มมีข่าวลือเรื่อง ‘ดีลล่ม’ เกิดขึ้นอย่างหนาหู

 

ในท้ายที่สุดข่าวลือก็กลายมาเป็นข่าวจริงในวันนี้ (25 สิงหาคม)​ เมื่อกลุ่ม SCBX ทำหนังสือแจ้งตลาดหลักทรัพย์ถึงการยกเลิกการเข้าลงทุนใน Bitkub โดยระบุว่า ตามที่ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทหลักทรัพย์ ไทยพาณิชย์ จำกัด (‘SCBS’ หรือ ‘ผู้ซื้อ’) ในการประชุมครั้งที่ 13/2564 เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2564 ได้มีมติอนุมัติให้ SCBS ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของบริษัท เอสซีบี เอกซ์ จำกัด (มหาชน) (‘บริษัทฯ’) เข้าทำสัญญาซื้อหุ้นในบริษัท บิทคับ ออนไลน์ จำกัด (‘Bitkub’) จากบริษัท บิทคับ แคปปิตอล กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (‘ผู้ขาย’) ในสัดส่วนร้อยละ 51 ของจำนวนหุ้นทั้งหมดของ Bitkub คิดเป็นมูลค่ารวมประมาณ 17,850 ล้านบาท รวมเรียกว่า ‘ธุรกรรมการซื้อขายหุ้น’ นั้น

 

ตลอดระยะเวลาหลายเดือนที่ผ่านมา บริษัทฯ และ SCBS ได้ร่วมกันดำเนินการสอบทานธุรกิจ (Due Diligence) ด้วยความรอบคอบระมัดระวัง และได้รับความร่วมมืออย่างดีจากผู้ขายและ Bitkub โดยในระหว่างกระบวนการสอบทานธุรกิจ บริษัทฯ และ SCBS ได้เห็นศักยภาพและความสามารถในหลากหลายด้านของกลุ่ม Bitkub และเห็นโอกาสในการร่วมมือพัฒนาและปรับปรุงการดำเนินธุรกิจของ Bitkub ในอีกหลายด้าน

 

อย่างไรก็ดี ถึงแม้การสอบทานธุรกิจจะไม่มีข้อบ่งชี้ถึงความผิดปกติอันเป็นนัยสำคัญซึ่งไม่สามารถแก้ไขได้ แต่เนื่องจาก Bitkub ยังมีประเด็นคงค้างที่ต้องดำเนินการหาข้อสรุปตามคำแนะนำและสั่งการของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งยังมีความไม่แน่นอนในเรื่องระยะเวลาในการหาข้อสรุปดังกล่าว ผู้ซื้อและผู้ขายจึงได้ตกลงร่วมกันที่จะยกเลิกธุรกรรมการซื้อขายหุ้นในครั้งนี้

 

ขณะที่ ท๊อป จิรายุส ได้โพสต์เฟซบุ๊กยืนยันว่าการตัดสินใจยุติธุรกรรมซื้อขายหุ้นในครั้งนี้เป็นการตกลงร่วมกันของผู้บริหารทั้งสองฝ่าย ที่ได้พิจารณาอย่างถี่ถ้วนอย่างรอบด้าน และเห็นตรงกันว่าเป็นทางออกที่ดีที่สุด ณ เวลานี้

 

“ผมและทีมงานตลอดจนผู้บริหารต้องขอขอบพระคุณทาง SCBS ที่ได้ให้ความสนใจในสตาร์ทอัพและแวดวงสินทรัพย์ดิจิทัล ตลอดจนเล็งเห็นถึงศักยภาพของ Bitkub Exchange และมีอุดมการณ์ที่จะสนับสนุนให้บริษัทของคนไทยได้เติบโตและขยายตัวไปยังประเทศอื่นๆ ได้ แต่ด้วยความล่าช้าของธุรกรรม จึงทำให้มีการยุติดีลในครั้งนี้เพื่อเปิดโอกาสให้กับทั้งสองฝ่ายได้เดินหน้าต่อไป Bitkub เป็นองค์กรที่มีอนาคตมาก ในฐานะผู้บริหารและผู้นำองค์กร ผมและทีมงานทุกคนยังคงเชื่อมั่นในวิสัยทัศน์ที่จะสร้างประวัติศาสตร์ร่วมกันในการเป็น National Champion ใหม่ให้กับประเทศไทย เพื่อให้เศรษฐกิจไทยก้าวไปสู่โลกอนาคต และเป็นศูนย์กลางทางการเงินและเทคโนโลยีในระดับภูมิภาค พวกเรายังคงมุ่งมั่นเดินหน้าร่วมมือกันพัฒนาเทคโนโลยี เพื่อสร้างนวัตกรรมที่จะสร้างโอกาสให้กับทุกคนตามแนวทางที่เราเชื่อมั่นต่อไปครับ”

 

กานต์นิธิ ทองธนากุล ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการลงทุน Merkle Capital และผู้ก่อตั้งเพจ Kim DeFi Daddy และ Bitcoin Addict Thailand ประเมินว่า ดีลการเข้าลงทุนใน Bitkub ของกลุ่ม SCBX ที่ล่มลง อาจทำให้นักลงทุนบางส่วนสูญเสียความเชื่อมั่นไปบ้างเนื่องจากการมีข่าวว่าผู้เล่นรายใหญ่อย่างไทยพาณิชย์สนใจเข้ามาลงทุนใน Bitkub ช่วงก่อนหน้านี้ ทำให้หลายคนมองว่าแวดวงคริปโตเคอร์เรนซีในไทยเริ่มเป็นที่ยอมรับในวงกว้างมากขึ้น

 

อย่างไรก็ตาม การที่แถลงการณ์ระบุถึงสาเหตุของดีลล่มว่าเกิดจากการติดปัญหากับหน่วยงานกำกับดูแล ไม่ใช่เกิดจากการสอบทานธุรกิจ (Due Diligence) ก็ช่วยให้ภาพลักษณ์ไม่ได้ออกมาแย่ ขณะเดียวกัน เมื่อไม่นานมานี้ Bitkub ก็เพิ่งประกาศผลกำไรของธุรกิจ Exchange ที่กว่า 2 พันล้านบาท จึงมองว่าในแง่การดำเนินธุรกิจเรื่องนี้จะไม่ส่งผลกระทบมากนัก

 

กานต์นิธิระบุอีกว่า ในมุมมองส่วนตัวยังมองว่าอนาคตของ Bitkub ไม่ได้น่ากังวล เพราะกำไรกว่า 2 พันล้านบาท น่าจะทำให้ดำเนินธุรกิจต่อไปได้อีกหลายปี ขณะเดียวกัน ลักษณะการทำธุรกิจของ Bitkub คือเป็นคนกลางที่เก็บค่าธรรมเนียม ดังนั้นไม่ว่าราคาคริปโตจะขึ้นหรือลง บริษัทก็ยังมีรายได้จากค่าธรรมเนียม นอกจากนี้หากมองในแง่ดี การที่ดีลนี้ล้มไปอาจเปิดโอกาสให้เกิดดีลใหม่ๆ ขึ้นก็ได้

 

“ผลกระทบที่อาจจะเห็นได้ในตอนนี้คือการปรับลดลงของราคาเหรียญ KUB ซึ่งเป็นผลมาจากข่าว อาจมีนักลงทุนบางส่วนที่ต้องได้รับผลกระทบ แต่ผมมองว่า Bitkub ยังมีอนาคต ยังมีช่องทางให้ไปต่อได้อยู่” กานต์นิธิกล่าว

 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising