×

SCB Wealth คาด ไทยมีหวังขึ้นแท่น Regional Hub ผลิตรถ EV ชี้มี 2 จุดแข็ง ตลาดในประเทศโตเร็ว-ระบบโครงสร้างพื้นฐานพร้อม

24.04.2023
  • LOADING...
SCB Wealth

SCB EIC ประเมิน ไทยมีโอกาสสูงในการขึ้นเป็นศูนย์กลางภูมิภาคของการผลิตรถ EV ในอนาคต หลังบริษัทต่างชาติที่เกี่ยวข้องเดินหน้าลุยเข้ารับ BOI มากกว่า 17 บริษัท มองไทยมี 2 จุดแข็ง คือ ตลาดในไทยโตเร็ว แถมมีระบบโครงสร้างพื้นฐาน พร้อมเป็นเบอร์ 9 ของโลก

 

ฐิตา เภกานนท์ นักวิเคราะห์อาวุโส ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) กล่าวว่า ประเมินว่าประเทศไทยมีโอกาสสูงที่จะขึ้นเป็นศูนย์กลางภูมิภาค หรือ Regional Hub ของการผลิตรถ EV เนื่องจากที่ผ่านมามาตรการของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) สามารถจูงใจให้บริษัทต่างชาติที่เกี่ยวกับการผลิตรถ EV เข้ามาร่วมมาตรการส่งเสริมของ BOI ได้ต่อเนื่อง 

 

โดยปัจจุบันมีจำนวน 17 บริษัท และล่าสุดมีบริษัท ฉางอัน ออโตโมบิล โดยมีแผนจะตั้งโรงงานในไทย ซึ่งมีกำลังผลิตรถ EV จำนวน 1 แสนคันต่อปี

 


 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: 

 


 

สำหรับจุดแข็งของประเทศไทยมี 2 ปัจจัยหลัก คือ 

 

  1. ตลาดรถ EV ในประเทศที่เติบโตในอัตราที่สูงกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศคู่แข่งในภูมิภาค และไทยเป็นประเทศแรกๆ ของโลกที่รัฐบาลให้เงินอุดหนุนในการซื้อรถ EV ในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา โดยเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ BMW ตัดสินใจตั้งโรงงานประกอบรถยนต์ในไทย 

 

  1. จากการสำรวจในระดับโลกออกมาเป็นดัชนีความพร้อมของระบบโครงสร้างพื้นฐานในการเปลี่ยนผ่านไปสู่การใช้รถยนต์ไฟฟ้า ซึ่งจากการสำรวจ ประเทศไทยอยู่ในอันดับ 9 ของโลก สูงกว่าคู่แข่งอย่างเวียดนามและอินโดนีเซียที่มีอันดับอยู่ที่ 13-14 ของโลก สะท้อนว่า การปูทางด้านโครงสร้างพื้นฐานที่เกี่ยวข้องกับการผลิตรถยนต์ของไทยในช่วงที่ผ่านมาส่งผลให้ภาพรวมของไทยมีความพร้อมมากกว่า

 

“คาดว่าความฝันที่ไทยจะก้าวเป็น Regional Hub ของการผลิตรถ EV ใกล้เข้ามามากๆ แล้ว ดูจากจำนวนบริษัทต่างชาติที่สนใจเข้ามาลงทุนในประเทศไทยที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง”

 

นอกจากนี้ SCB EIC สำรวจพฤติกรรรมผู้บริโภค (Consumer Survey) ของคนไทยถึงแผนการซื้อรถยนต์ในระยะถัดไปจากกลุ่มตัวอย่างประมาณ 1,500 คน พบว่า คนไทยยังมีความนิยมรถยนต์สูงสุดใน 4 ประเภท ดังนี้

 

  • อันดับ 1 รถยนต์ระบบสันดาปหรือรถยนต์ที่ใช้น้ำมัน สัดส่วน 36.9%
  • อันดับ 2 รถยนต์ระบบ Hybrid สัดส่วน 33%
  • อันดับ 3 รถยนต์ระบบไฟฟ้า หรือรถ EV สัดส่วน 26.6%
  • อันดับ 4 รถยนต์ระบบแก๊ส (LPG, NGV) สัดส่วน 2%

 

อีกทั้งพบว่า กลุ่มตัวอย่างมีความต้องการรถยนต์ชนิดรถ SUV กับรถเก๋งขนาดกลางมากที่สุด รวมกันมีสัดส่วน 62.5% ของกลุ่มตัวอย่างที่สำรวจ 

 

ขณะที่หากแยกตามกลุ่มรายได้ของกลุ่มตัวอย่างที่สำรวจพบว่า มีส่วนทำให้ความสนใจต่อรถยนต์แต่ละประเภทแตกต่างกันไป โดยกลุ่มครัวเรือนที่มีรายได้สูง เฉลี่ยสูงกว่า 1 แสนบาทต่อเดือน จะให้ความสนใจในรถยนต์ EV เป็นหลัก 

 

ขณะที่กลุ่มครัวเรือนที่มีรายได้น้อยถึงปานกลางยังคงนิยมใช้รถยนต์สันดาปเป็นหลัก เพราะราคาเฉลี่ยของรถยนต์ยังสูงกว่ารถยนต์ EV 

 

ขณะเดียวกันคาดว่ากระแสความต้องการรถ EV จะยังดีต่อเนื่อง จากปัจจัยการเปิดตัวของผู้ผลิตรถยนต์ที่เริ่มทยอยเปิดตัวรถ EV ที่มีราคาขายที่เริ่มลดลง สนับสนุนให้รถ EV มีการเติบโตต่อเนื่องจากปี 2565 ที่จะมียอดการจดทะเบียนรถ EV อยู่ที่ประมาณ 9,300 คัน ขยายตัวมากกว่า 300% เติบโตแบบก้าวกระโดดเมื่อเปรียบเทียบกับปี 2564 ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากปัจจัยมาตรการสนับสนุนจากภาครัฐบาลที่มีการอุดหนุนการซื้อ รวมปัจจัยเร่งจากราคาน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้น และกระแสอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมเพิ่มขึ้นเข้ามามีผลต่อพฤติกรรมในการซื้อสินค้าและบริการที่เพิ่มขึ้น

 

นอกจากนี้ SCB EIC สำรวจโอกาสของธุรกิจที่จะมีการใช้งานควบคู่กับรถ EV โอกาสเติบโตควบคู่กับอุตสาหกรรมรถ EV ในอนาคต พบว่า ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการซ่อมบำรุงเฉพาะทาง ร้านขายอะไหล่และอุปกรณ์ตกแต่ง ถือเป็นโอกาสของผู้ประกอบการรายย่อยที่เติบโตตามกระแสรถ EV ไปด้วย

 

สำหรับภาพรวมตลาดรถยนต์ของไทยในปี 2566 มีโอกาสที่จะกลับมาคึกคักและฟื้นตัวขึ้นต่อเนื่อง หลังสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิดในประเทศไทยคลี่คลายลง อุปสงค์ภาพรวมในตลาดรถยนต์จึงสามารถฟื้นตัวต่อเนื่องได้ค่อนข้างดี 

 

โดยในช่วง 2 เดือนแรกของปี 2566 มียอดอัตราการจดทะเบียนรถยนต์ใหม่ที่ใช้ในครัวเรือนเติบโตขึ้นประมาณ 4% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน นอกจากนี้ยังมีข้อมูลการฟื้นตัวจากยอดขายรถยนต์รวมใน Motor Show 2023 ที่ทำได้ประมาณ 43,000 คัน ขยายตัวขึ้นประมาณ 35% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน 

 

SCB EIC คาดว่า ในระยะยาวมีโอกาสที่จะเห็นราคาเฉลี่ยรถ EV ในไทยลดลงได้ เนื่องจากเริ่มเห็นบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ EV ต่างประเทศหลายรายเริ่มประกาศแผนลงทุนในประเทศไทย เพื่อใช้เป็นฐานการผลิตรถ EV และแบตเตอรี่ในไทย ส่งผลให้มีอุปทานรถ EV ในประเทศจะมีเพิ่มขึ้น รวมถึงต้นทุนในการผลิตและขุดเจาะแบตเตอรี่ลิเธียมที่ต่ำลงจากเทคโนโลยีที่มีความทันสมัยเพิ่มขึ้น

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising