×

2 ศูนย์วิจัยใหญ่พร้อมใจหั่น GDP ไทยลงต่ำกว่า 3% KResearch มองเหลือโต 2.8% ด้าน SCB EIC ปรับลงเหลือ 2.7%

14.03.2024
  • LOADING...

หลายมรสุมรุมเศรษฐกิจไทย 2 ศูนย์วิจัยใหญ่พาเหรดหั่นเป้า GDP ไทยปี 2567 โตต่ำหลุด 3% หลังหนี้ครัวเรือนสูงยังฉุด-ส่งออกสูญเสียความสามารถในการแข่งขัน 

 

บุรินทร์ อดุลวัฒนะ กรรมการผู้จัดการ และ Chief Economist บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด (KResearch) เปิดเผยว่า เศรษฐกิจโลกปี 2567 มีแนวโน้มขยายตัวในระดับเดียวกันกับปี 2566 การค้าโลกน่าจะกลับมาขยายตัวได้ดี แนวโน้มดอกเบี้ยทั่วโลกจะค่อยๆ ปรับลดลงจากเงินเฟ้อที่กำลังปรับลดสู่เป้าของธนาคารกลางทั่วโลก จีนยังคงเผชิญกับปัญหาด้านอสังหาริมทรัพย์ที่ยังไม่คลี่คลาย 

 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง: 


 

รวมถึงเศรษฐกิจที่ยังอ่อนแอ ส่งผลให้อุปสงค์ในประเทศปรับลด และผู้ประกอบการจีนยังคงลดราคาสินค้าต่อเนื่องเพื่อรักษาส่วนแบ่งตลาด ในขณะที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ประเมินว่าเศรษฐกิจยังขยายตัวได้ดีอยู่ และได้ส่งสัญญาณปรับลดดอกเบี้ยนโยบายในปีนี้ ตลาดการเงินมองว่า Fed จะเริ่มลดดอกเบี้ยในเดือนมิถุนายน 2567

 

ทั้งนี้ เศรษฐกิจไทยปี 2567 มีแนวโน้มโตต่ำกว่าคาด โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้ปรับลดประมาณการเติบโตของเศรษฐกิจไทยปี 2567 ลงมาอยู่ที่ 2.8% จาก 3.1% จากอุปสงค์ในประเทศที่โมเมนตัมยังแผ่วลง รวมถึงภาคการผลิตที่ยังหดตัวต่อเนื่อง และหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง สะท้อนได้จากยอดขายรถยนต์ในประเทศที่ยังหดตัวหลายเดือนติดต่อกัน

 

บุรินทร์ อดุลวัฒนะ กรรมการผู้จัดการ และ Chief Economist บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด 

 

ในปี 2567 เศรษฐกิจไทยจะได้รับแรงหนุนจากการกลับมาเบิกจ่ายงบประมาณของภาครัฐบาล และการส่งออกสินค้าที่คาดว่าขยายตัว 2% รวมถึงจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่มีโอกาสโตถึง 36 ล้านคนในปีนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า ธปท. ได้สิ้นสุดวัฏจักรดอกเบี้ยขาขึ้นไปแล้วที่ 2.5% และ ธปท. มีแนวโน้มจะลดดอกเบี้ยประมาณ 2 ครั้งในปี 2567 ส่วนประมาณการอัตราเงินเฟ้อของปีอยู่ที่ระดับ 0.8%

 

ในบริบทที่การค้าโลกยังมีนโยบายกีดกันการค้าเข้มข้นอยู่ แนวโน้มการจัดเก็บภาษีคาร์บอนจากทั่วโลก และเทคโนโลยีอย่าง AI ที่กำลังมีผลกระทบทั่วโลก ส่วนประเทศไทยที่กำลังเผชิญปัญหาเชิงโครงสร้างต่างๆ มากมาย จำเป็นต้องเร่งหาเครื่องจักรใหม่ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่าในการขับเคลื่อนทั้งเรื่องการเป็นศูนย์กลางการผลิต EV ศูนย์กลางด้าน Data Center หรือการดึงดูดเงินลงทุนจากต่างชาติในการลงทุนรูปแบบอื่นๆ มีกุญแจสำคัญคือ ประเทศไทยต้องมีพลังงานสะอาดเพียงพอในราคาที่เหมาะสม เพื่อดึงดูดกิจกรรมทางเศรษฐกิจในเชิง Green Economy เข้ามาเพื่อเป็นการปรับเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจไทย

 

SCB EIC หั่น GDP ไทยเหลือโตแค่ 2.7%

 

ด้านศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ SCB EIC ระบุว่า ได้ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจปี 2567 เหลือ 2.7% จากเดิมที่ 3% แม้ภาพรวมเศรษฐกิจไทยในปี 2567 จะยังมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่องได้จากแรงขับเคลื่อนของการท่องเที่ยวและภาคบริการ รวมถึงเศรษฐกิจด้านอุปสงค์อื่นที่กลับมาขยายตัวเร่งขึ้นในหลายองค์ประกอบ โดยเฉพาะการส่งออกและการลงทุนภาคเอกชนที่มีแนวโน้มดีขึ้น แต่แรงส่งภาครัฐจะยังหดตัวต่อเนื่องในไตรมาสแรกจากความล่าช้าของการประกาศใช้ พ.ร.บ.งบประมาณปี 2567 ประกอบกับปัญหาสินค้าคงคลังสะสมสูงจากปีก่อนจะยังไม่สามารถคลี่คลายได้เร็ว 

 

ส่วนหนึ่งจากปัญหาเชิงโครงสร้างในภาคการผลิตไทย โดยเฉพาะภาคการส่งออกไทยที่สูญเสียความสามารถในการแข่งขัน จะเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ภาคอุตสาหกรรมไทยจะยังฟื้นช้าต่อเนื่องมาในปีนี้ 

 

ในส่วนของเงินเฟ้อไทยที่ติดลบต่อเนื่องหลายเดือน SCB EIC ประเมินว่า ไทยยังไม่เผชิญภาวะเงินฝืด โดยเงินเฟ้อจะกลับมาเป็นบวกตั้งแต่เดือนพฤษภาคม เนื่องจากมาตรการช่วยเหลือด้านราคาพลังงานจะสิ้นสุดลง 

 

โดยเฉพาะราคาน้ำมันในประเทศที่จะเริ่มปรับสูงขึ้น นอกจากนี้ เงินเฟ้อยังมีความเสี่ยงด้านสูงท่ามกลางความเสี่ยงห่วงโซ่อุปทานโลกชะงักจากสถานการณ์ทะเลแดง สภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง รวมถึงนโยบายควบคุมการส่งออกของบางประเทศที่อาจทำให้ราคาสินค้าเกษตรบางชนิดเพิ่มขึ้น เช่น ข้าวและน้ำตาล เงินเฟ้อทั่วไปในช่วงครึ่งหลังของปีจึงจะเร่งกลับไปแตะกรอบเงินเฟ้อได้ โดย SCB EIC ประมาณการอัตราเงินเฟ้อทั่วไป และอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานในปี 2567 อยู่ที่ 0.8% และ 0.6% ตามลำดับ

 

ในระยะยาว ปัญหาเชิงโครงสร้างในภาคการผลิตไทยที่รุนแรงขึ้นยังกดดันให้ศักยภาพเศรษฐกิจไทยปรับลดลงจากประมาณการในอดีต SCB EIC ประมาณการศักยภาพเศรษฐกิจไทยในช่วงก่อนเกิดโควิด (ปี 2560-2562) อยู่ที่ระดับ 3.4% ขณะที่ศักยภาพเศรษฐกิจไทยในระยะยาวเติบโตต่ำลงเหลือ 2.7% (จากเดิม 3% ประเมิน ณ เดือนธันวาคม 2566) ซ้ำเติมเทรนด์การเติบโตของเศรษฐกิจไทยในระยะยาวที่มีทิศทางลดลงอยู่ก่อนแล้ว สาเหตุหลักมาจาก 

 

  1. ผลิตภาพการผลิต (Total Factor Productivity) ของไทยต่ำลงเรื่อยๆ ส่วนหนึ่งจากปัญหาผลิตภาพแรงงานไทยลดลง และกฎเกณฑ์ภาครัฐจำนวนมากที่เป็นอุปสรรคต่อการทำธุรกิจ 

 

  1. ปัจจัยทุน (Capital) ของไทยที่มีแนวโน้มลดลงจากสัดส่วนการลงทุนในประเทศที่ลดลงกว่าครึ่ง เหลือประมาณ 24% ของ GDP ในช่วง 2 ทศวรรษหลัง และความสามารถในการดึงดูดเม็ดเงินลงทุนต่างชาติ (FDI) ของไทยต่ำลงหากเทียบกับประเทศในภูมิภาคอาเซียน 

 

  1. ปัจจัยกำลังแรงงาน (Labor) ที่มีแนวโน้มลดลงจากการเข้าสู่สังคมสูงวัยเร็ว

 

SCB EIC ประเมินว่า คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะทยอยลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายจากระดับปัจจุบันที่ 2.5% มาอยู่ที่ 2% ภายในครึ่งแรกของปีนี้ เพื่อรักษาบทบาทนโยบายการเงินที่เป็นกลางต่อเศรษฐกิจไว้เช่นเดิม หลังการ Recalibrate กลไกการทำนโยบายการเงินจากปัจจัยเชิงโครงสร้างภาคการผลิตที่รุนแรงขึ้น และประเมินนัยต่อระดับอัตราดอกเบี้ยที่เหมาะสมกับการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในระยะยาว (Neutral Rate) ที่ต่ำลง 

 

SCB EIC คาดการณ์เศรษฐกิจไทยปี 2567 

 

โดย SCB EIC ประเมินว่า Neutral Rate ของไทยได้ลดต่ำลงมาอยู่ที่ราว 2.1% แล้ว (จากระดับเดิม 2.5%) ซึ่งการปรับลดดอกเบี้ยครั้งนี้ นอกจากจะเป็นการปรับ Stance ของนโยบายการเงินให้เหมาะสมกับโครงสร้างเศรษฐกิจไทยที่เปลี่ยนไปได้ทันสถานการณ์แล้ว จะยังมีผลช่วยบรรเทาภาระหนี้สูง โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจและครัวเรือนเปราะบางที่อาจได้รับผลกระทบจากดอกเบี้ยขาขึ้นมากกว่ากลุ่มอื่น รวมถึงช่วยเพิ่มปัจจัยบวกต่อความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจของไทยท่ามกลางแรงส่งภาครัฐที่ยังติดขัดในปีนี้ได้อีกทาง 

 

ค่าเงินบาทในระยะสั้นจะทรงตัวในกรอบ 35-36 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ เนื่องจากปัจจัยต่างประเทศมีผลทำให้เงินบาทแข็งค่าขึ้นมากแล้ว เงินบาท ณ สิ้นปีมีแนวโน้มแข็งค่าในกรอบ 33.50-34.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ จากเงินดอลลาร์สหรัฐที่จะอ่อนค่าลงตามการลดดอกเบี้ยของ Fed และเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวชัดเจนขึ้น

 

ทั้งนี้ มองไปข้างหน้า ประเทศไทยมีความท้าทายสำคัญจากปัญหาเชิงโครงสร้างในภาคการผลิตอุตสาหกรรม แม้การผลิตในปี 2567 จะมีแนวโน้มกลับมาขยายตัวได้จากแรงส่งของสินค้าอุปโภคบริโภคที่ฟื้นตัวตามอุปสงค์ทั้งในประเทศและต่างประเทศ แต่การผลิตสินค้าอุตสาหกรรมของไทยยังผูกโยงกับห่วงโซ่อุปทานเก่าอยู่มาก ประกอบกับการที่เศรษฐกิจไทยเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจจีนและห่วงโซ่การผลิตจีนมากท่ามกลางกระแสภูมิรัฐศาสตร์โลก 

 

รวมถึงความสามารถของภาคการผลิตไทยในการปรับตัวกับห่วงโซ่การผลิตโลกใหม่ และรูปแบบความต้องการสินค้าในตลาดโลกที่เปลี่ยนไปได้ช้า ทำให้การเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันของภาคส่งออกไทยยังทำได้ค่อนข้างจำกัด สะท้อนจากส่วนแบ่งยอดขายสินค้าส่งออกของไทยในตลาดโลกที่ยังใกล้เดิมมาตลอดทศวรรษ 

 

ดังนั้น การปรับตัวของภาคอุตสาหกรรมไทยให้สอดรับกับกระแสความยั่งยืน การยกระดับขีดความสามารถในการพัฒนาเทคโนโลยี และการบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทานให้ยืดหยุ่นมากขึ้น เพื่อให้สามารถเชื่อมโยงและเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่อุปทานโลกใหม่ จึงมีความจำเป็นอย่างเร่งด่วน

 

คาดเศรษฐกิจโลกปีนี้โต 2.6% 

 

SCB EIC ประเมินเศรษฐกิจโลกในปี 2567 มีแนวโน้มเติบโต 2.6% ใกล้เคียงปีก่อน มุมมองปรับดีขึ้นจากแรงส่งที่ดีในไตรมาสสุดท้ายของปี 2566 และกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ยังขยายตัวได้ดีในช่วงต้นปีนี้ โดยกิจกรรมในภาคบริการขยายตัวเร่งขึ้น ขณะที่กิจกรรมในภาคการผลิตเริ่มกลับมาขยายตัวจากที่หดตัวต่อเนื่อง นอกจากนี้ เศรษฐกิจโลกจะได้รับแรงสนับสนุนจากการค้าโลกที่มีแนวโน้มปรับดีขึ้น และอัตราเงินเฟ้อโลกที่ชะลอตัวลง แต่ยังมีแรงกดดันจากผลกระทบของภาวะดอกเบี้ยสูง ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ยืดเยื้อ และปัญหาห่วงโซ่อุปทานโลกจากปัญหาการขนส่งบริเวณทะเลแดงและคลองปานามาที่แห้งแล้ง

 

ธนาคารกลางกลุ่มประเทศเศรษฐกิจหลักจะเริ่มปรับทิศการใช้นโยบายการเงินไตรมาส 2 ปีนี้ ธนาคารกลางสหรัฐฯ จะปรับลดอัตราดอกเบี้ย 3 ครั้ง รวม 75 bps ขณะที่ธนาคารกลางยุโรปและธนาคารกลางอังกฤษจะปรับลดอัตราดอกเบี้ย 4 ครั้ง รวม 100 bps ตามทิศทางเงินเฟ้อที่ปรับชะลอลง ด้านธนาคารกลางญี่ปุ่นมีแนวโน้มจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 2 ครั้ง รวม 20 bps ซึ่งเป็นการยุตินโยบายอัตราดอกเบี้ยติดลบ ขณะที่ธนาคารกลางจีนจะยังใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลายพยุงเศรษฐกิจต่อเนื่อง

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising