×

‘SCB Wealth’ มั่นใจ AUM ปีนี้ยังโต หลังบรรยากาศการลงทุนมีแนวโน้มดีขึ้น เล็งใช้ผลิตภัณฑ์หลากหลายตอบโจทย์ลูกค้า

18.01.2023
  • LOADING...

SCB Wealth มั่นใจ AUM ปีนี้ยังโต หลังบรรยากาศการลงทุนมีแนวโน้มดีขึ้น เล็งใช้ผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย ทั้ง KIKO, Structured Note, Property Backed Loan และ Lombard Loan ตอบโจทย์ลูกค้า

 

ยรรยง ไทยเจริญ รองผู้จัดการใหญ่อาวุโส ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจ Wealth ธนาคารไทยพาณิชย์ เปิดเผยว่า ในปี 2565 ที่ผ่านมา นับเป็นปีที่ตลาดการลงทุนโลกและไทยมีปัจจัยที่ท้าทายและมีความผันผวนสูง ทำให้ภาพรวมธุรกิจ Wealth ในไทยล้วนได้รับผลกระทบ โดยมูลค่าสินทรัพย์ภายใต้การจัดการของธุรกิจบริษัทจัดการกองทุนรวม (Investment AUM) โดยรวมลดลงกว่า 10%

 

อย่างไรก็ตาม SCB Wealth คาดการณ์ว่าบรรยากาศการลงทุนในปีนี้มีแนวโน้มจะปรับตัวดีขึ้นจากแนวโน้มเงินเฟ้อในกลุ่มประเทศเศรษฐกิจหลักที่ชะลอตัวลง และแนวโน้มการขึ้นดอกเบี้ยที่ช้าลงของธนาคารกลางในประเทศเหล่านั้น รวมถึงการเปิดประเทศที่เร็วกว่าคาดของจีน โดยในปีนี้ SCB Wealth ยังเชื่อมั่นว่าสินทรัพย์ภายใต้การบริหาร (AUM) จะเติบโตได้

 

“ปีที่ผ่านมา AUM ของ SCB Wealth ลดลงในอัตราที่น้อยกว่าค่าเฉลี่ยของตลาด ซึ่งเป็นผลมาจากการเฟ้นหาและพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าได้ เช่น ตราสารอนุพันธ์ที่อิงกับหุ้นสามัญ (KIKO) ที่โตเพิ่มถึง 54% หุ้นกู้อนุพันธ์แฝงอ้างอิงดอกเบี้ย (THOR) และ Private Asset ที่มียอดรวมเพิ่มขึ้น 153% จากปีที่ผ่านมา” ยรรยงกล่าว

 

ขณะเดียวกัน SCB Wealth ยังให้ความสำคัญกับการนำเสนอผลิตภัณฑ์การลงทุนและบริการในรูปแบบที่หลากหลาย เพื่อกระจายความเสี่ยงและเพิ่มโอกาสสร้างผลตอบแทนให้แก่ลูกค้า เช่น สินเชื่อเพื่อการลงทุน Lombard และ Property Backed Loan ซึ่งปัจจุบันมียอดคงค้างรวมกันอยู่กว่า 30,000 ล้านบาท

 

นอกจากนี้ยังมีผลิตภัณฑ์ประกันควบการลงทุน Regular Unit Linked ที่ SCB ยังคงครองอันดับ 1 ในตลาด Banca Business ด้วยส่วนแบ่งการตลาด 38% ทำให้มีกระแสรายได้ของธุรกิจจากหลากหลายช่องทาง ผลักดันให้ Wealth Business เป็น Growth Engine และยังคงเป็นธุรกิจหลักในการสร้างรายได้ค่าธรรมเนียมให้กับธนาคารต่อไป

 

สำหรับกลยุทธ์ในปี 2566 ภายใต้บรรยากาศการลงทุนที่มีแนวโน้มดีขึ้น และพฤติกรรมลูกค้าที่เปลี่ยนแปลงไป SCB Wealth จะมุ่งเน้นการดูแลลูกค้าและให้คำแนะนำในการบริหารพอร์ตอย่างสม่ำเสมอตามสภาวะและจังหวะการลงทุนที่เหมาะสมกับความต้องการของลูกค้า เพื่อสร้างพอร์ตให้มีคุณภาพและผลตอบแทนที่ยั่งยืน ด้วยความพร้อมของทีมทั้งด้านการวิเคราะห์ข้อมูล ติดตามดูแล และให้คำแนะนำอย่างเป็นระบบ

 

ยิ่งไปกว่านั้น ยังมุ่งมั่นที่จะสร้างความแตกต่างด้วยการยกระดับการให้บริการและคำปรึกษาผ่านช่องทาง Digital Wealth เพื่อให้บริการที่รู้จัก รู้ใจ ลูกค้ามากยิ่งขึ้น (Hyper Personalization) และยกระดับประสบการณ์ของลูกค้าในทุกช่องทางแบบไร้รอยต่อ (Omni-Channel) ในขณะเดียวกันก็ตั้งมั่นในการต่อยอดความมั่งคั่งให้แก่ลูกค้าของธนาคาร ด้วยการนำเสนอผลิตภัณฑ์แบบ Open Architecture ที่ตอบโจทย์ลูกค้าอย่างครบวงจร

 

ด้าน สาธิต ผ่องธัญญา ผู้อำนวยการอาวุโส Estate Planning & Family Office ธนาคารไทยพาณิชย์ เปิดเผยว่า ตั้งแต่ต้นปี 2566 ในด้านกฎหมายภาษีอากรที่มีผลต่อการตัดสินใจลงทุนในทรัพย์สินต่างๆ มีอยู่สองประเด็นหลัก และอีกหนึ่งสิทธิ์ลดหย่อนภาษี ประกอบด้วย

 

  1. ภาษีขายหุ้นที่เป็นการเก็บภาษีธุรกิจเฉพาะในกรณีที่ขายหุ้นหรือหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย คาดว่ากฎหมายจะมีผลให้เริ่มเสียภาษีตั้งแต่ต้นเดือนพฤษภาคม 2566 ในอัตรา 0.055% ของมูลค่าขายหลักทรัพย์ฯ แต่ต้นปี 2567 จะเก็บเต็มจำนวนที่ 0.11% ของมูลค่าขาย ภาษีขายหุ้นนี้มีแนวคิดมานานแต่มีการยกเว้นมาตั้งแต่ปี 2535 สรุปคือ ซื้อไม่มีภาษี แต่ขายมีภาษี ไม่ว่าจะขายกำไรหรือขายขาดทุน ทำให้นักลงทุนมองว่ามีต้นทุนค่าขายเพิ่มขึ้น เช่น หากซื้อหุ้นมีค่าธรรมเนียมซื้อประมาณ 0.157% (ค่าธรรมเนียม Cash Balance แบบ Online) แต่เวลาขายแทนที่จะเหมือนกับการซื้อคือ 0.157% พอมีภาระภาษีทำให้ต้นทุนตอนขายในปี 2566 จะจ่ายเพิ่มเป็น 0.212% (0.157% + 0.055%) ผลกระทบนี้จะมีผลต่อนักลงทุนต่างกัน แล้วแต่วัตถุประสงค์การลงทุนและระยะเวลาการถือครองหุ้น แต่สิ่งหนึ่งที่นักลงทุนไม่ต้องกังวลคือกฎหมายให้โบรกเกอร์เป็นผู้ชำระภาษีและจัดการแทนนักลงทุน ทำให้ลดภาระความยุ่งยากของนักลงทุนไปได้

 

  1. ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ปี 2566 กฎหมายมีเรื่องอัปเดต 2 เรื่อง คือการเลื่อนระยะเวลาการเสียภาษีของผู้เป็นเจ้าของที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง จากเดิมกำหนดไว้ในเดือนเมษายน 2566 เลื่อนเป็นเดือนมิถุนายน 2566 และรัฐบาลลดภาษีให้ในอัตรา 15% ของภาระภาษีที่คำนวณได้

 

  1. สิทธิ์ลดหย่อนภาษีจากการซื้อสินค้าและบริการ และได้ใบกำกับภาษีระหว่าง 1 มกราคม – 15 กุมภาพันธ์ 2566 สามารถนำมาหักเงินได้เสียภาษีได้ 40,000 บาท โดยแบ่งเป็นส่วนแรก 30,000 บาท เป็นใบกำกับภาษีแบบเต็มรูปแบบหรือใบรับ โดยใช้ได้ทั้งแบบกระดาษ / e-Tax Invoice / e-Receipt ส่วนที่ 2 อีกจำนวน 10,000 บาท ต้องมีใบกำกับภาษีหรือใบรับ โดยใช้ได้เฉพาะ e-Tax Invoice หรือ e-Receipt เท่านั้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อกระตุ้นให้ร้านค้าอยากเข้ามาร่วมในระบบจัดทำใบกำกับแบบอิเล็กทรอนิกส์มากขึ้น จึงมองว่ามาตรการนี้เป็นประโยชน์ต่อการรับรู้ในระบบภาษีของประชาชนอย่างมากทีเดียว

 

“การเข้ามาของภาษีขายหุ้นและภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ทำให้ลูกค้ากลุ่มมั่งคั่งเริ่มมีแนวคิดจัดตั้งบริษัทขึ้นมาเพื่อลงทุนในหุ้นระยะยาว รวมถึงซื้อที่ดินใหม่มากขึ้น” สาธิตกล่าว


ข่าวที่เกี่ยวข้อง


 

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X