×
SCB Omnibus Fund 2024

SCB EIC เตือน ส่งออกยังเสี่ยง เหตุตลาดจีนแผ่ว-เศรษฐกิจโลกชะลอชัด หลังพบส่งออกไทยเดือน เม.ย. ทรุดหนักสุดในรอบ 4 เดือน

31.05.2023
  • LOADING...
SCB EIC

ส่งออกไทยเดือนเมษายนหดตัวต่อเนื่อง ทรุดหนักสุดในรอบ 4 เดือน SCB EIC ชี้ ในระยะต่อไปยังน่าห่วงจากแรงส่งเศรษฐกิจจีนที่แผ่วลงเร็ว ผนวกกับเศรษฐกิจโลกส่งสัญญาณชะลอตัว เสี่ยงฉุดต่อ

 

ดร.ปุณยวัจน์ ศรีสิงห์ นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ Economic Intelligence Center (EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ เปิดเผยว่า มูลค่าส่งออกสินค้าไทยเดือนเมษายนทรุดต่อเนื่อง หดตัวต่ำสุดในรอบ 4 เดือน มูลค่าการส่งออกสินค้าของไทยในเดือนเมษายน ปี 2566 อยู่ที่ 21,723.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัวลง 7.6%YoY หดตัวมากขึ้นจากที่หดตัว 4.2%YoY ในเดือนก่อน หากพิจารณามูลค่าการส่งออกหักทองคำ (ซึ่งเป็นสินค้าที่ไม่ได้สะท้อนการค้าระหว่างประเทศที่เกิดขึ้นจริง) หดตัวมากขึ้นที่ 9.3%YoY เทียบกับ 0.4%YoY ในเดือนมีนาคม 

 

นอกจากนี้หากเทียบเดือนก่อนหน้าแบบปรับฤดูกาล มูลค่าการส่งออกในเดือนเมษายนหดตัว 4.1%MoM ถือเป็นการหดตัวแบบ MoM ครั้งแรกในรอบ 3 เดือน สะท้อนทิศทางการส่งออกที่อ่อนแอลงชัดเจน

 

สินค้าส่งออกส่วนใหญ่หดตัวนำโดย

 

  1. สินค้าอุตสาหกรรมเกษตรหดตัวครั้งแรกในรอบ 3 เดือนที่ -12.0%YoY มีปัจจัยกดดันสำคัญจากการส่งออกไขมันและน้ำมันจากพืชและสัตว์ อาหารสัตว์เลี้ยง และอาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป ที่หดตัวต่อเนื่อง -34.3%, -33.6% และ -17.1% ตามลำดับ

 

  1. สินค้าอุตสาหกรรมหดตัว 11.2% หดตัวต่อเนื่องมากขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อนที่หดตัว 5.9% จากการส่งออกเคมีภัณฑ์และเม็ดพลาสติกที่หดตัว 30.4% และ 24.3% ตามลำดับ รวมถึงการส่งออกเหล็ก เหล็กกล้า และผลิตภัณฑ์ที่หดตัว 27.1% ขณะที่อุปกรณ์กึ่งตัวนำ ทรานซิสเตอร์ และไดโอด ขยายตัว 107.8% ต่อเนื่องเป็นเดือนที่สิบ รวมถึงรถยนต์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบขยายตัว 3.4%

 

  1. สินค้าแร่และเชื้อเพลิงหดตัวแรง 13.7% จากการส่งออกน้ำมันสำเร็จรูปที่หดตัว 17.2% หลังขยายตัวต่ำในเดือนมีนาคม

 

  1. สินค้าเกษตรยังขยายตัวได้ดีที่ 23.8% ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่สาม โดยเฉพาะสินค้าหลัก ได้แก่ ผลไม้สด, แช่เย็น, แช่แข็ง และแห้ง ขยายตัวสูง 142.8% ขยายตัวดีกว่าเดือนก่อนหน้าที่ 94.5% ตามการฟื้นตัวของอุปสงค์จากจีนซึ่งเป็นตลาดใหญ่ และอุปทานคอขวดตามด่านกระจายสินค้าที่คลี่คลาย ส่งผลให้การระบายสินค้าเป็นไปได้รวดเร็วขึ้น นอกจากนี้ไก่สดแช่เย็นและแช่แข็งขยายตัว 38.9% ชะลอลงเล็กน้อยจาก 47.9% ในเดือนก่อน และการส่งออกข้าวขยายตัว 3.5% อย่างไรก็ดี ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังหดตัว -44.1% ครั้งแรกในรอบ 3 เดือน

 

ตลาดส่งออกหลักของไทยเดือนเมษายนหดตัวแรงนำโดย 

 

  1. ตลาดสหรัฐฯ หดตัว 9.6%YoY หลังจากขยายตัว 1.7% ในเดือนก่อนหน้า 
  2. ตลาด ASEAN 5 และ CLMV หดตัวเพิ่มขึ้นเป็น 17.6% และ 17.0% ตามลำดับ 
  3. ตลาดตะวันออกกลางหดตัว -16.5% ซึ่งเป็นการหดตัวครั้งแรกในรอบ 15 เดือน 
  4. ตลาดญี่ปุ่นพลิกกลับมาหดตัวที่ -8.1% จากที่ขยายตัวได้ 10.2% ในเดือนก่อนหน้า
  5. ตลาดยุโรป (EU 28) ทรงตัวเมื่อเทียบกับเดือนก่อนที่หดตัว 5.3% 
  6. ตลาดจีนขยายตัวได้ดีที่ 23% เป็นการขยายตัวได้ครั้งแรกในรอบ 11 เดือน ส่วนหนึ่งมาจากปัจจัยฐานต่ำ ขณะที่การส่งออกไปฮ่องกงหดตัวแรง 29.8% เทียบกับการหดตัว 10% ในเดือนมีนาคม

 

ดุลการค้าพลิกกลับมาขาดดุลหลังส่งออกหดตัวแรง

 

มูลค่าการนำเข้าสินค้าในเดือนเมษายนอยู่ที่ 23,195.0 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัว 7.3%YoY ต่อเนื่องจากที่หดตัว 7.1% ในเดือนก่อน หากพิจารณามูลค่าการนำเข้าหักทองคำ (ซึ่งเป็นสินค้าที่ไม่ได้สะท้อนการค้าระหว่างประเทศที่เกิดขึ้นจริง) หดตัว 7.3% ลดลงเล็กน้อยจากเดือนก่อน โดยพบว่า มูลค่าการนำเข้าหดตัวมากที่สุดในสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป (-10.8%YoY) และสินค้าทุน (-9.5%YoY) 

 

ขณะที่มูลค่าการส่งออกหดตัวรุนแรงกว่ามูลค่าการนำเข้า ส่งผลให้ดุลการค้าในระบบศุลกากรในเดือนเมษยนกลับมาขาดดุลอีกครั้งที่ 1,471.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หลังจากเกินดุล 2,718.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐในเดือนก่อน

 

มองส่งออกสินค้าไทยยังเสี่ยงหลังตลาดจีนแผ่ว

 

มูลค่าการส่งออกสินค้าไทยในช่วงที่เหลือของปีนี้มีแนวโน้มเผชิญแรงกดดันมากกว่าที่เคยประเมินไว้จากปัจจัยดังนี้ 

 

  1. แรงหนุนสำคัญจากจีนมีแนวโน้มแผ่วลงเร็วกว่าคาด โดยการนำเข้าสินค้าของจีนจากไทยในเดือนเมษายน ที่แม้จะขยายตัวได้ครั้งแรกในรอบ 10 เดือนที่ 8.2%YoY ทำให้การส่งออกไปจีนในเดือนเมษายนพลิกกลับมาขยายตัวสูง และส่วนหนึ่งเป็นผลจากปัจจัยฐานต่ำ แต่ภาพรวมการนำเข้าของจีนกลับมาหดตัวอีกครั้ง อีกทั้งดัชนี Economic Surprise Index ของจีนที่แม้ยังขยายตัวได้ แต่ก็ปรับลดลงเร็วในไตรมาส 2/23 

 

นอกจากนี้ยังรวมถึงเครื่องชี้วัดการค้าระหว่างประเทศของจีน (QuantCube International Trade Index) ซึ่งเป็นข้อมูลเร็วถึงเดือนพฤษภาคม สะท้อนให้เห็นว่า การค้าระหว่างประเทศของจีนยังไม่สามารถฟื้นตัวผ่านจุดสูงสุดในปีนี้ได้ และล่าสุดเริ่มเห็นการปรับชะลอลง ล้วนบ่งชี้ว่าอุปสงค์จากจีนยังอ่อนแอ ซึ่งคาดว่าจะส่งผลกระทบด้านลบต่อการส่งออกของไทยในระยะต่อไป 

 

  1. กิจกรรมทางเศรษฐกิจของโลกมีแนวโน้มปรับชะลอลงชัดเจน โดยดัชนี Economic Surprise Index จัดทำโดย Citigroup บ่งชี้ว่า ตัวเลขเศรษฐกิจจริงของโลกในไตรมาส 2 เริ่มออกมาแย่กว่าตัวเลขคาดการณ์บ้างแล้ว สะท้อนโมเมนตัมเศรษฐกิจระยะต่อไปที่ไม่สดใสนัก

 

  1. ดัชนี Flash Manufacturing PMI ในเดือนพฤษภาคมของคู่ค้าสำคัญยังอยู่ในภาวะหดตัว จากอุปสงค์สินค้าที่ยังไม่สามารถกลับมาขยายตัวได้ นำโดย Flash US Manufacturing PMI ลดลงมาอยู่ที่ 48.5 จาก 50.2 ในเดือนเมษายน, Flash Eurozone Manufacturing PMI ลดลงมาอยู่ที่ 44.6 ต่ำสุดในรอบ 36 เดือน และ Flash UK Manufacturing PMI ลดลงมาอยู่ที่ 46.9 ต่ำสุดในรอบ 5 เดือน อย่างไรก็ดี Flash Japan Manufacturing PMI ขยายตัวครั้งแรกนับตั้งแต่เดือนตุลาคม ปี 2022 ที่ 50.8 และเป็นประเทศเดียวใน G8 ที่ภาคการผลิตขยายตัว 

 

  1. เครื่องชี้วัดการค้าระหว่างประเทศ (QuantCube International Trade Index) บ่งชี้ว่า การค้าโลกชะลอลงต่อเนื่อง นำโดยการค้าระหว่างประเทศของสหรัฐฯ สหราชอาณาจักร และอิตาลี ที่เข้าสู่ภาวะหดตัวแล้วในช่วงปลายไตรมาส 1/23 

 

  1. ข้อมูลเร็วของการส่งออก 20 วันแรกของเกาหลีใต้ในเดือนพฤษภาคมหดตัว 16%YoY หดตัวเพิ่มขึ้นจากที่หดตัว 12.5% ในเดือนก่อน ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากปัจจัยฐานสูง ที่มูลค่าการส่งออกในช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนสูงเป็นอันดับที่ 2 ซึ่งเป็นประวัติการณ์

 

ทั้งนี้ SCB EIC คาดการณ์มูลค่าการส่งออก (ระบบศุลกากร) ของไทยในปี 2023 อยู่ที่ 1.2%YoY (ณ เดือนมีนาคม) และอยู่ระหว่างการติดตามวิเคราะห์ผลกระทบทางเศรษฐกิจในด้านต่างๆ รวมถึงประเด็นการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ (El Niño) ที่อาจส่งผลกระทบต่อการส่งออกสินค้าเกษตรของไทย ก่อนจะเผยแพร่ประมาณการส่งออกใหม่ในช่วงเดือนมิถุนายนนี้

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising