×

SCB CIO คาด Fed หยุดขึ้นดอกเบี้ยรอบประชุม 13-14 มิ.ย. นี้ เพื่อสู้ Financial Sector Stress พร้อมแนะลดน้ำหนักลงทุนหุ้นกลุ่ม Tech

09.06.2023
  • LOADING...
SCB CIO

SCB CIO ประเมิน Fed ประชุมวันที่ 13-14 มิถุนายนนี้ จะหยุดขึ้นดอกเบี้ยแล้วตรึงยาว เพื่อสู้ปัญหา Financial Sector Stress แนะลด Position ลงทุนหุ้นกลุ่ม Tech พร้อมคาดแบงก์ชาติคงดอกเบี้ย 2% ยาวถึงสิ้นปีนี้

 

ดร.กำพล อดิเรกสมบัติ ผู้อำนวยการอาวุโส และหัวหน้าทีม SCB Chief Investment Office (SCB CIO) ธนาคารไทยพาณิชย์ เปิดเผยผ่านรายการ Morning Wealth ว่า คาดว่าในการประชุมของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ในสัปดาห์หน้า ช่วงวันที่ 13-14 มิถุนายนนี้ จะมีมติออกมาไม่เป็นเอกฉันท์ให้คงดอกเบี้ยที่ 5-5.25% จากท่าทีของกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน (FOMC) ที่มีความเห็นที่แตกต่างกัน แต่คาดว่ามีโอกาสที่ Fed จะหยุดการขึ้นดอกเบี้ยในการประชุมรอบนี้ค่อนข้างสูง จากนั้นอาจพิจารณาปรับขึ้นดอกเบี้ยในการประชุมรอบต่อไปได้หากตัวเลขเงินเฟ้อยังลดลงช้า เนื่องจากประเมินว่าขึ้นอยู่กับว่า Fed จะให้น้ำหนักอย่างไรกับปัญหาความตึงเครียดในภาคการเงิน (Financial Sector Stress) 

 

โดยในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา Fed ปรับขึ้นดอกเบี้ยมาจำนวน 10 ครั้งติดต่อกัน ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อชะลอลง แต่ตัวเลขเงินเฟ้อยังสูงกว่าเป้าหมายที่ Fed ตั้งไว้ที่ระดับ 2% เนื่องจากเกิดปัญหาปิดสถาบันการเงินในสหรัฐฯ ยังส่งกระทบให้เกิดภาวะความตึงตัวทางการเงินในสหรัฐฯ ทำให้มีความเข้มงวดมากขึ้นอย่างรวดเร็วในการปล่อยสินเชื่อมากขึ้นในช่วง 1-2 ไตรมาสที่ผ่านมา

 

“Base Case เรามองว่า Fed จะหยุดขึ้นดอกเบี้ยในรอบนี้แล้วค้างไว้ยาว แต่สิ่งที่จะเกิดขึ้นตามมาคือ จากเดิมที่ตลาดมองว่าดอกเบี้ยจะเริ่มลงในครึ่งปีหลัง แต่ตอนนี้ตลาดจะเปลี่ยนมุมมองว่าโอกาสที่ลดดอกเบี้ยจะเริ่มลดลงแล้ว ทำให้ภาวะดอกเบี้ยสูงจะยังอยู่ แต่โอกาสจะขึ้นไปมากกว่านี้คงน้อย เพราะ Fed คงไม่ประมาทปัญหา Financial Stress”

 

ส่วนในกรณีที่หาก Fed หยุดขึ้นดอกเบี้ยในการประชุมรอบนี้ แต่ไปขึ้นดอกเบี้ยในการประชุมรอบถัดไปอีก 1 ครั้ง ประเมินว่าจะมีผลกระทบต่อตลาดหุ้นในกลุ่มประเทศระบบเศรษฐกิจของตลาดเกิดใหม่ (Emerging Market: EM) ในระยะสั้นๆ เพราะก่อนหน้านี้ Fund Flow มีการไหลออกจากทั้งตลาดหุ้นจีน ไทย และเวียดนาม ไปค่อนข้างมากแล้ว แต่อาจส่งผลกระทบในตลาดพันธบัตรที่มากกว่า 

 

สำหรับหุ้นเทคโนโลยีในสหรัฐฯ ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างร้อนแรงในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา หากเจาะลึกจะพบว่า เป็นการขึ้นแบบกระจุกตัวในหุ้นกลุ่ม Mega-Cap Tech ซึ่งตั้งแต่ต้นปีนี้จนถึงปัจจุบันราคาปรับตัวขึ้นมาประมาณ 57-58% ส่วนหุ้นที่ไม่ใช่กลุ่ม Mega-Cap Tech มีราคาที่ทรงตัว เนื่องจากหุ้นกลุ่ม Mega-Cap Tech ในดัชนี Nasdaq จะมี Earning ไม่ค่อยปรับลดลงในช่วงที่เกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย (Recession) แต่การที่ดัชนี Nasdaq ปรับเพิ่มขึ้นมากอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้ Valuation อยู่ในระดับที่ค่อนข้างแพง ดังนั้นจึงควรใช้โอกาสที่ดัชนี Nasdaq ปรับเพิ่มขึ้น ลด Position การลงทุนในหุ้นกลุ่ม Tech

 

สำหรับทิศทางดอกเบี้ยของไทยหลังจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยมาต่อเนื่องจนถึงปัจจุบันอยู่ที่ระดับ 2% คาดว่าจะคงดอกเบี้ยที่ระดับดังกล่าวไว้ถึงสิ้นปี 2566 และประเมินว่าในระยะถัดไปจะมีโอกาสในการปรับขึ้นดอกเบี้ยค่อนข้างน้อย เนื่องจากมีปัจจัยทั้งตัวเลขอัตราเงินเฟ้อของไทยปรับตัวลดลงอย่างรวดเร็วจากราคาน้ำมันกับราคาพลังงานที่ปรับลดลง ส่งผลให้แรงกดดันทางเงินเฟ้อเริ่มลดลง มีตัวเลขกลับมาสู่กรอบเป้าหมายของ ธปท. ที่ 1-3%

 

อีกทั้งแม้ว่าภาคการท่องเที่ยวและบริโภคภายในประเทศจะเริ่มฟื้นตัว แต่ก็ยังมีสัญญาณของเศรษฐกิจในบางภาคส่วนที่สำคัญเริ่มชะลอตัว โดยตัวเลขส่งออกของไทยจากต้นปีนี้ถึงปัจจุบันติดลบไปที่ 5% จากผลกระทบเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว ขณะที่ภาคการลงทุนของภาครัฐและเอกชนในโครงการขนาดใหญ่ยังมีความไม่แน่นอนทางการเมืองและนโยบายของภาครัฐ เพราะยังต้องรอการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ที่จะเข้ามาบริหารประเทศ ดังนั้นจึงคาดว่าด้วยปัจจัยของภาวะเศรษฐกิจที่เริ่มเห็นการชะลอตัว ส่งผลให้ ธปท. จึงไม่มีความจำเป็นในการเร่งขึ้นดอกเบี้ย

 

นอกจากนี้จากข้อมูลของ ธปท. ที่รายงานการระดมทุนของภาคธุรกิจเอกชนของไทย ทั้งในรูปแบบของสินเชื่อและออกตราสารหนี้เอกชนช่วงไตรมาส 1/66 ที่เติบโตได้ประมาณ 4% โดยมาจากการออกตราสารหนี้ภาคเอกชนที่เติบโตประมาณ 14% ขณะที่เริ่มเห็นการชะลอตัวของสินเชื่อภาคธุรกิจ โดยสินเชื่อขนาดวงเงินต่ำกว่า 500 ล้านบาท มีอัตราการเติบโตติดลบมา 2 ไตรมาสติดต่อกัน สะท้อนว่าการระดมเงินทุนของภาคธุรกิจขนาดกลางและเล็กเริ่มชะลอตัวลงแล้ว

 

ดร.กำพล กล่าวต่อว่า กรณี Base Case ที่พรรคก้าวไกลและพรรคเพื่อไทยได้ร่วมกันเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล ประเมินว่า นโยบายการคลังที่ประกาศออกมาส่วนใหญ่เป็นในเชิงของการกระจายเศรษฐกิจมากกว่ากระตุ้นเศรษฐกิจ ดังนั้นแรงขับเคลื่อนจากนโยบายทางการคลังจะไม่ได้เร่งให้เกิดเงินเฟ้อปรับเพิ่มขึ้นแบบมีนัยสำคัญ ส่วนการปรับนโยบายการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำอาจกระทบเงินเฟ้อบ้าง แต่เชื่อว่าภาคธุรกิจไม่สามารถส่งผ่านได้อย่างรวดเร็ว เพราะยังมีการแข่งขันที่สูง

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X