×

สตูลเจ๋งอย่างไรจึงได้เป็นอุทยานธรณีโลกของยูเนสโก แต่รู้ไหมว่าสมญานามนี้มีวันหมดอายุได้

20.04.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

4 Mins. Read
  • อุทยานธรณีโลกคือพื้นที่ที่รวมแหล่งและสภาพภูมิประเทศที่มีความสำคัญทางธรณีวิทยาในระดับนานาชาติ โดยพื้นที่เหล่านั้นต้องได้รับการบริหารจัดการแบบองค์รวม ประกอบด้วย การอนุรักษ์ การให้การศึกษา และการพัฒนาอย่างยั่งยืน
  • พื้นแผ่นดินของสตูลมีมาอย่างยาวนานตั้งแต่ 500 ล้านปีก่อนยุคไดโนเสาร์ จากยุคที่แผ่นดินโลกไม่มีอะไร มีเพียงสัตว์เล็กๆ ในท้องน้ำ

หลังได้รับการยกฐานะให้กลายเป็นอุทยานธรณีโลก จังหวัดสตูลก็ดูเหมือนจะได้รับการจับตามองไม่น้อย หลายคนเริ่มเบนเข็มเปลี่ยนทิศทางไปเที่ยวยังสตูลเพื่อหมายชมความอลังการทางธรรมชาติให้เห็นด้วยตาว่าจะเจ๋งจริงสมคำกล่าวอ้างหรือไม่ แต่ก่อนจะตกลงปลงใจปักหมุดลงแผนที่ THE STANDARD ขอพาคุณไปรู้จักความเจ๋งของอุทยานธรณีสตูล และหลากประเด็นของสมญานามครั้งนี้

 

นิยามความหมายของอุทยานธรณีโลก (UNESCO Global Geoparks)

ก่อนอื่นต้องเข้าใจก่อนว่าแคมเปญของยูเนสโก (UNESCO) ไม่ได้มีแค่ ‘มรดกโลก’ หรือ Heritage Site เพียงอย่างเดียว แต่มีเครือข่ายอื่นแตกย่อยออกไปอีกหลายแขนง ยกตัวอย่างเช่น จังหวัดภูเก็ต ซึ่งเป็นหนึ่งในสมาชิกเครือข่ายสร้างสรรค์ด้านอาหาร (Creative City of Gastonomy by UNESCO) เมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา (อ่านเรื่องเที่ยวได้ที่นี่) ทำนองเดียวกัน สตูลก็ได้รับการยกฐานะให้เป็นอุทยานธรณีโลก หนึ่งในสมาชิกเครือข่ายแคมเปญหนึ่งของยูเนสโกร่วมกับที่อื่นอีก 140 แห่งใน 38 ประเทศทั่วโลก… แล้วคำจำกัดความของอุทยานธรณีโลกเป็นเช่นไร

 

ยูเนสโกให้คำกำจัดความของอุทยานธรณีโลกอย่างสั้นว่า ‘เป็นพื้นที่ที่รวมแหล่งและสภาพภูมิประเทศที่มีความสำคัญทางธรณีวิทยาในระดับนานาชาติ โดยพื้นที่เหล่านั้นได้รับการบริหารจัดการแบบองค์รวม ประกอบด้วย การอนุรักษ์ การให้การศึกษา และการพัฒนาอย่างยั่งยืน’ กล่าวคือต้องมีการเชื่อมโยงมรดกทางธรณีวิทยาเข้ากับด้านอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นด้านธรรมชาติวิทยา วัฒนธรรม วิถีชีวิต เป็นการพัฒนาและศึกษาจาก ‘บนสู่ล่าง’ ทั้งจากหน่วยงานรัฐ ส่วนภูมิภาค ส่วนท้องถิ่น ไปจนถึงระดับรากหญ้าอย่างชาวบ้าน การจะได้มาซึ่งสถานภาพสมาชิกนั้นจะต้องทำเรื่องเป็นเวลา 2 ปี และได้รับการตรวจสอบอย่างสม่ำเสมอจนทางยูเนสโกแน่ใจแล้วว่าอุทยานแห่งนั้นมีดีและครบทุกเงื่อนไขที่กำหนด

 

 

สตูล มรดกจากโลกดึกดำบรรพ์

อุทยานธรณีสตูลเจ๋งอย่างไร คำถามนี้อาจเล่าได้ยาวสิบหน้ากระดาษ เราขอให้คุณนึกภาพย้อนกลับไปสู่โลกดึกดำบรรพ์ในยุคแคมเบรียน (Cambrian Period) ที่ไม่มีแม้แต่สัตว์บนผิวดินแม้แต่ตัวเดียว มีแต่สัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังอาศัยอยู่ในท้องทะเลตื้นเขิน และพืชน้ำสีเขียวชอุ่ม มีแต่สิ่งมีชีวิตรูปร่างหน้าตาแปลกประหลาดที่เรียกว่า ไทรโลไบต์ (Trilobite) และบราคิโอพอด (Brachiopod) ซึ่งต่อมากลายเป็นต้นตระกูลของสัตว์ทะเลในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นแมงดา ปลาหมึก กุ้ง หอย ปู และปลาบางชนิด

 

 

พื้นแผ่นดินของสตูลมีชีวิตมาอย่างยาวนานตั้งแต่ 500 ล้านปีก่อนยุคไดโนเสาร์ จากยุคที่แผ่นดินโลกไม่มีอะไร มีสัตว์เล็กในท้องน้ำ พัฒนาเรื่อยมาจนกลายเป็นแหล่งผลิตออกซิเจนของโลก สัตว์ทะเลเริ่มปรับตัวกลายเป็นสัตว์เปลือกแข็ง บางส่วนพัฒนาขึ้นไปอาศัยอยู่บนบก มีสัตว์ปีก สัตว์เลื้อยคลาน และจบที่ยุคไดโนเสาร์ ก่อนเข้ายุคภัยพิบัติใหญ่ และนำเข้าสู่ยุคปัจจุบันที่เราอาศัยอยู่เมื่อ 65 ล้านปีที่ผ่านมา

 

ทว่าช่วงเวลาในการก้าวผ่าน เปลือกโลกของเรามิได้หยุดนิ่ง เกิดการแยก ชน สวน เกยกันตลอดเวลา แผ่นดินของอุทยานธรณีสตูลซึ่งแต่เดิมเคยเป็นพื้นทะเลก็ถูกดันยกต่อเป็นภูเขาสูง ถูกลมฝนกัดกร่อนต่อเนื่องนับล้านปี เราจึงเห็นซากฟอสซิลดึกดำบรรพ์จำนวนมากซ่อนตัวอยู่ในชั้นหินสตูล และพบหลักฐานการเชื่อมโยงระหว่างมนุษย์ยุคหินกับวิถีชีวิตบนแผ่นดินอยู่ตามถ้ำ

 

 

อุทยานธรณีสตูลมีเนื้อที่ประมาณ 2,597 ตารางกิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่ 4 อำเภอ ประกอบด้วย อำเภอมะนัง, อำเภอละงู, อำเภอทุ่งหว้า และบางส่วนของอำเภอเมือง มีแหล่งคุณค่าด้านธรณีวิทยามากกว่า 30 แหล่ง เช่น ถ้ำเลสเตโกดอน, ถ้ำภูผาเพชร, ถ้ำเจ็ดคต, น้ำตกธารปลิว, เขตข้ามกาลเวลาเขาโต๊ะหงาย, เกาะไข่ หาดหินงามแห่งหมู่เกาะตะรุเตา, ทะเลแหวกเกาะหว้าหิน-เกาะลิดีเล็ก ฯลฯ

 

 

ส่วนใหญ่เป็นจำพวกซากดึกดำบรรพ์สัตว์ทะเลในชั้นหินทั้ง 6 ยุคของมหายุคพาลีโอโซอิก โดยเฉพาะไทรโลไบต์สายพันธุ์ใหม่ที่พบครั้งแรกในประเทศไทยถึง 4 สายพันธุ์ และหินแบคทีเรียโบราณสโตรมาโตไลต์ ลำดับชั้นหินแบบฉบับโลก ภูมิประเทศหินปูนที่มีถ้ำและความสวยงาม หมู่เกาะเภตราและตะรุเตา นอกจากนี้ยังมีโบราณสถาน วัฒนธรรม วิถีชีวิตชาวเลดั้งเดิม ‘มานิ’ และ ‘อูรักลาโว้ย’ ชนพื้นเมืองที่มีวิถีชีวิตผูกพันกับพื้นที่มาแต่ตั้งแต่บรรพบุรุษ ดำรงชีพด้วยการล่าสัตว์ จับปลาตามชายฝั่ง เก็บของป่าตามพื้นที่หินปูน

 

 

ฐานะอุทยานธรณีโลกและวันหมดอายุ

หลายคนเกิดคำถาม รวมถึงตัวผู้เขียนเองด้วยว่าตำแหน่งที่ได้จากยูเนสโกมีวันหมดอายุหรือเปล่า เป็นแล้วเป็นตลอดเลย ถูกถอดถอนได้ไหม คำตอบคือ ‘ได้!’

 

กฎของยูเนสโกบอกว่าเมื่อได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นอุทยานธรณีโลกแล้ว ยูเนสโกจะทำการตรวจประเมินซ้ำทุกๆ 4 ปี ซึ่งการประเมินแต่ละครั้งจะเข้มขึ้นเรื่อยๆ ว่าคุณมีการดูแลอย่างไร รักษาอย่างไร นำไปต่อยอดแค่ไหน และชุมชนมีส่วนร่วมอย่างไร โดยผลการประเมินจะแสดงผลเป็นระดับ เขียว=ผ่าน, เหลือง= ปรับปรุง, แดง=ถูกถอดถอน ซึ่งกรณีหลังสุดเกิดขึ้นกับอุทยานธรณีมาแล้วหลายแห่ง เมื่อถูกถอดถอนแล้วจะหมดสถานภาพสมาชิกทันที ไม่สามารถอุทธรณ์ได้ และต้องเว้นระยะเวลาอีก 2 ปีจึงจะสามารถสมัครรับการพิจารณาใหม่ ซึ่งแน่นอนว่าการประเมินจะยิ่งเข้มขึ้น

 

ท้ายสุด THE STANDARD ขอแสดงความยินดีกับชาวสตูลอีกครา เราหวังว่าการเลื่อนฐานะในครั้งนี้จะเปิดโอกาสใหม่ๆ ให้แก่คนในท้องถิ่น และช่วยผลักดันให้วงการธรณีวิทยาในประเทศไทยก้าวหน้าไปอีกขั้น ที่สำคัญ เมื่อมีฉลาก มีชื่อเสียง ย่อมมีเรื่องธุรกิจตามมา ยิ่งยามนี้บางส่วนของพื้นที่อุทยานธรณีสตูลซ้อนทับกับโปรเจกต์ท่าเรือน้ำลึกปากบาราของรัฐบาล การลงทุนซึ่งสวนทางกับการอนุรักษ์ (ดูคลิปปากน้ำบาราได้ที่นี่) ไม่ว่าข้างหน้าจะเป็นเช่นไร เราก็ได้แต่หวังว่าชาวสตูลและคนไทยจะช่วยกันรักษาและดูแลสมบัติของชาติไม่ให้พังทลายด้วยน้ำมือเราเอง

 

Photos: Satun Unesco Global Geopark, Shutterstock

อ้างอิง:

  • www.satun-geopark.com
  • เอกสาร ‘อุทยานธรณีสตูล’ จากกรมทรัพยากรธรณี
  • วารสาร ‘UNESCO Global Geopark’ แปลโดย กองอนุรักษ์และจัดการทรัพยากรธรณี กรมทรัพยากรธรณี
  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising