×

เปิดใจ ‘ศรายุทธิ์ ใจหลัก’ เพื่อนรัก ‘ธนาธร’ จากนักกิจกรรมสู่เลขาฯ พรรคประชาชน

18.09.2024
  • LOADING...

ก่อนหน้านี้เป็นที่รับรู้ในวงกว้างว่า ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ เป็นผู้ร่วมก่อตั้งสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน กับเพื่อนๆ ในสายที่ชอบงานวิชาการ ล่าสุดเมื่อเปิดตัวพรรคประชาชน ปรากฏชื่อ ‘ศรายุทธิ์’ เพื่อนของธนาธรอีกคนที่ร่วมเคลื่อนไหวทางการเมืองมาตั้งแต่วัยเรียน และยังร่วมกันทำสวนยางที่ฝั่ง สปป.ลาว ในวัยทำงานโดยมีธนาธรเป็นผู้สนับสนุน

 

THE STANDARD สัมภาษณ์ ติ่ง-ศรายุทธิ์ ใจหลัก เลขาธิการพรรคประชาชน พรรคที่ 3 นับตั้งแต่มีการก่อตั้งพรรคอนาคตใหม่ พรรคการเมืองที่ลงสนามเลือกตั้งครั้งแรกในการเลือกตั้งทั่วไป (สส.) ปี 2562 ต่อมาคือพรรคก้าวไกล ในการเลือกตั้งปี 2566 โดยศาลรัฐธรรมนูญยุบพรรคไปแล้ว 2 พรรคแรก แต่ทั้ง 3 พรรคยังใช้สีสัญลักษณ์เดิมคือสีส้ม จึงถูกเรียกด้วยอีกชื่อว่า ‘พรรคส้ม’ และกลุ่มผู้บริหารพรรคยังเป็นกลุ่มที่มีความสัมพันธ์และจุดร่วมกันทางความคิด คือกลุ่ม ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ผู้ก่อตั้งพรรคอนาคตใหม่ และเพื่อนๆ ที่มีความหลากหลาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเพื่อนเก่าสมัยเป็นนักกิจกรรมตั้งแต่เรียนมหาวิทยาลัย

 

 

เมื่อ ‘พรรคส้ม’ เดินทางมาถึงการก่อตั้งพรรคเป็นพรรคที่ 3 คือ ‘พรรคประชาชน’ ก็มีศรายุทธิ์ เพื่อนต่างมหาวิทยาลัย นั่งตำแหน่งสำคัญคือตำแหน่งเลขาธิการพรรคด้วย ศรายุทธิ์มองว่ารัฐบาลปัจจุบันที่รวมกันหลายขั้วเป็นการสกัดพรรคประชาชน เพราะทุกฝ่ายทราบแล้วว่าคู่แข่งสำคัญคือพรรคประชาชน ทั้งนี้ เลขาธิการพรรคประชาชนไม่ปฏิเสธว่าภายในพรรคประชาชนก็มีความหลากหลาย แต่ความหลากหลายนี้มีเป้าหมายและมีภาพประเทศไทยในแบบที่อยากให้เป็น

 

ศรายุทธิ์เรียนมหาวิทยาลัยในยุครัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์และรัฐบาลพรรคไทยรักไทย เมื่อเขาร่วมก่อตั้งพรรคการเมืองใหม่อย่างพรรค ‘อนาคตใหม่-ก้าวไกล-ประชาชน’ เขามองว่าพรรคตัวเองแตกต่างจากพรรคอื่นๆ แน่นอน ทั้งอุดมการณ์ รวมถึงการให้ความสำคัญกับปัญหาสิทธิมนุษยชน และการมองความเป็นสถาบันพรรคการเมืองที่แตกต่างจากพรรคการเมืองที่มีมาก่อน

 

 

ตอนตั้งชื่อพรรคประชาชนหลังพรรคก้าวไกลถูกยุบ ตอนนั้นไม่เกรงจะสับสนกับพรรคพลังประชาชน อดีตพรรคเพื่อไทยหรือ

 

ศรายุทธิ์: ไม่เคยคิดเรื่องนี้ ไม่เคยคิดถึงพรรคพลังประชาชนเลย ณ วันเวลาที่คิดชื่อพรรค อาจเป็นเพราะพรรคพลังประชาชนอยู่ในระยะเวลาสั้นมากก่อนที่จะเป็นพรรคเพื่อไทย ความทรงจำของคนต่อพรรคพลังประชาชนมีน้อยมาก

 

จริงๆ แล้วมีชื่ออื่นที่เสนอกันมาเยอะ ตอนได้ยินชื่อนี้ในที่ประชุมวงเล็กครั้งแรกก็รู้สึกเฉยๆ ชื่อธรรมดามาก ได้ยินครั้งแรกในที่ประชุมตอนเปลี่ยนผ่านซึ่งมีไม่กี่คนประชุมกัน แต่ยังไม่มีการเคาะชื่อ ฟังแล้วก็กลับไปคิดดู

 

สุดท้ายตัดสินใจถกเถียงเรื่องชื่อพรรค ซึ่งมีการเสนอกันขึ้นมา จากเดิมฟังครั้งแรกเฉยๆ ก็เริ่มรู้สึกว่าชื่อนี้มีความหมายดี เราต้องการสร้างพรรคมวลชน พรรคของประชาชน ก็เลยเริ่มสนับสนุนและในการประชุมต่อมาก็เคาะเอาชื่อนี้

 

การเมืองไทยในอดีต ชื่อพรรค ‘ประชาชน’ เคยถูกใช้มาก่อน 2 ครั้งตามกฎหมาย แต่เขายุติไปนานเกิน 20 ปีแล้ว จึงไม่มีปัญหากับการนำชื่อนี้มาใช้ในปัจจุบัน

 

 

ทำกิจกรรมนักศึกษาในสมัยพรรคไทยรักไทยขึ้นเป็นรัฐบาลต่อจากรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ยุค ชวน หลีกภัย

 

ศรายุทธิ์: ไทยรักไทยขึ้นมาเป็นรัฐบาลยุคที่เราทำกิจกรรมพอดี คือปี 2544 พรรคไทยรักไทยชนะการเลือกตั้ง ผมเป็นเลขาธิการสหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนนท.) ดังนั้นติดตามพรรคไทยรักไทยมากกว่าพรรคประชาธิปัตย์ เพราะเราอยู่ในวัยเรียนมหาวิทยาลัยแล้ว เริ่มสนใจการเมืองแล้ว

 

เราเคลื่อนไหวอยู่กับคนจนเป็นหลัก อย่างกลุ่มสมัชชาคนจน, กลุ่มกรรมกรแรงงาน และแรงงานรัฐวิสาหกิจ ซึ่งเขามองว่าพรรคไทยรักไทยไม่แก้ปัญหาโครงสร้างหลักๆ เราจึงมีมุมที่อยู่ฝั่งตรงข้ามกับพรรคไทยรักไทย แต่แน่นอนเราก็ชื่นชมบางนโยบาย เช่น นโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรค ที่ส่งผลดีต่อประชาชนหรือกองทุนหมู่บ้าน ซึ่งมีข้อวิพากษ์วิจารณ์ แต่เมื่อรับฟังชาวบ้านก็รู้ว่าเขามีความหวังกับเรื่องนี้ และเห็นว่ามีประโยชน์ในหลายพื้นที่

 

ส่วนนโยบายที่เราไม่ชื่นชมและมีปัญหามาก เช่น นโยบาย 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่รัฐบาลพรรคไทยรักไทยมีปัญหามาก ไม่ว่าจะทำให้ชาวมุสลิมล้มตายซึ่งเป็นประเด็นที่เราวิพากษ์วิจารณ์ แม้มีเรื่องชื่นชมพรรคไทยรักไทย แต่บางเรื่องเราก็ต่อต้านเขาเยอะ โดยเฉพาะเรื่องสิทธิมนุษยชนที่เขาให้คุณค่าความเป็นมนุษย์ของคนในระดับน้อย เขาให้แบบสังคมสงเคราะห์ ไม่ได้มองคนจนอย่างเท่าเทียม

 

พรรคไทยรักไทยมีนโยบายส่งผลดีต่อรากหญ้า ทำให้ลืมตาอ้าปากได้พอสมควร แต่เขามีมุมมองที่ไม่ได้มองทุกคนเท่าเทียมกัน ไม่ได้มองว่ามีสิทธิและศักดิ์ศรีเท่าเทียมกัน จึงเกิดบางนโยบายที่ทำให้ชีวิตคนไม่มีความหมาย เช่น สงครามยาเสพติด การตายของคนไม่มีความหมาย ขอแค่จัดการปัญหาได้ และเรื่อง 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ คนจะตายเท่าไรก็ดูไม่ค่อยมีความหมายในมุมของเขา ขอแค่แก้ปัญหาตรงนั้นได้

 

สะท้อนวิธีคิดที่ว่า การให้คุณค่าทุกคนไม่เหมือนพรรคเรา (พรรคประชาชน) พรรคไทยรักไทยจึงมีมุมที่แตกต่างพอสมควรกับพรรคอนาคตใหม่ พรรคก้าวไกล และพรรคประชาชน ในเรื่องความคิด

 

 

เหตุการณ์ที่ไปร่วมเคลื่อนไหวทางการเมืองกับ เอก-ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ และ ต๋อม- ชัยธวัช ตุลาธน สมัยเรียนมหาวิทยาลัย

 

ศรายุทธิ์: ตอนเป็นนิสิตนักศึกษาเคลื่อนไหวตั้งแต่สมัยรัฐบาล ชวน หลีกภัย ธนาธรแถลงในฐานะองค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (อมธ.) ผมกับชัยธวัชก็นั่งอยู่ ผมกับเขาอยู่ด้วยกันหลายที่

 

ตอนธนาธรถูกตีที่หน้าทำเนียบรัฐบาลในที่ชุมนุม ‘16 กรณีปัญหาสมัชชาคนจน’ สมัยรัฐบาล ชวน หลีกภัย ตอนนั้นผมเป็นเลขาธิการ สนนท. ผมอยู่ในเหตุการณ์ แต่คนอาจจะจำผมไม่ค่อยได้ รูปที่เผยแพร่กันที่จริงมีรูปผมเยอะแต่คนจำผมไม่ได้ รวมถึงตอนเดินต่อต้านรัฐประหารวันที่ 19 กันยายน 2549 ก็เช่นกัน เดินครั้งแรกจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ไปอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ผมก็เดินอยู่กับเขา

 

ส่วนความประทับใจ ผม ต๋อม และเอก ในช่วงเป็นนักศึกษาไม่ได้ทำกิจกรรมพร้อมกันทุกเรื่อง เพราะเอกเข้ามหาวิทยาลัยมารุ่นหลัง ผมจะสนิทกับต๋อมก่อน

 

เมื่อต๋อมไม่ได้เป็นเลขาธิการ สนนท. แล้ว ผมจึงสนิทกับเอก ดังนั้นจะไม่ถึงขนาดอยู่พร้อมกันทั้ง 3 คนในทุกเหตุการณ์

 

พอรุ่นต๋อมจบจากการเป็นเลขาธิการ สนนท. ต่อมาก็ อุเชนทร์ เชียงเสน เป็นเลขาธิการต่อ ส่วนผมกับเอกเป็นรองเลขาฯ เราก็สนิทกัน พอจบรุ่นอุเชนทร์ ผมเป็นเลขาธิการต่อ เอกไปต่างประเทศแต่เรายังติดต่อสื่อสารกัน

 

ผมสนิทกับเอกมากเพราะสไตล์ลุยด้วยกัน เคยไปจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ มีการไล่ที่ชาวกะเหรี่ยงที่ป่าละอู ผมไปแบกข้าวสารกับเอกเพื่อนำไปให้ชาวบ้าน จึงทำให้สนิทกันเพราะลุยมาด้วยกันและอยู่ด้วยกันตลอด

 

ส่วนภาพที่เผยแพร่กัน มีผม, เอก, ต๋อม และอุเชนทร์ เป็นภาพช่วงหลังๆ ไม่ใช่ภาพช่วงเรียนมหาวิทยาลัยปีต้นๆ เพราะตอนที่เราเริ่มสนิทกันมากขึ้นเป็นช่วงที่เอกไปต่างประเทศแล้วกลับมาที่ ‘บ้านร้อยฝัน’

 

บ้านร้อยฝันแยกย้ายกันไปประมาณปี 2545 คือหลังเรียนจบ คุณเอกตอนเรียนจบแล้วกลับมาไทยครั้งแรกก็มาช่วยทำงานกับผม ทำงานกับกลุ่มเพื่อนประชาชน แล้วช่วงหนึ่งไปเก็บข้อมูลแรงงานด้วยกัน ขับรถไปต่างจังหวัดก็เลยคลุกคลีกัน

 

สมัยเป็นนิสิตนักศึกษาจะมีเหตุการณ์ชุมนุมเรื่องท่อส่งก๊าซจะนะ, เรื่องเขื่อนปากมูล ซึ่งเป็น 1 ใน ‘16 กรณีปัญหาสมัชชาคนจน’ และเรื่องสหภาพแรงงานไทยเกรียง

 

ก่อนเหตุการณ์รัฐประหารวันที่ 19 กันยายน 2549 ตอนปี 2548 เวลาผมกลับจาก สปป.ลาว มาไทยทุกครั้งจะนัดเจอกัน ถ้าเจอกันวงเล็กๆ ก็มีเอกและต๋อม แต่ถ้าวงใหญ่ก็จะมีคนอื่นที่เป็นนักกิจกรรมร่วมสมัย 10-15 คน จะนัดเจอกันบ่อยๆ มาคุยอัปเดตสถานการณ์บ้านเมือง อัปเดตชีวิต อย่าง รอมฎอน ปันจอร์ เรียนมหาวิทยาลัยในสมัยนั้น ตอนนี้เป็น สส. พรรคประชาชน

 

 

ที่มาของชื่อ ‘บ้านร้อยฝัน’ บ้านเช่า ‘ติ่ง-ต๋อม’ นักกิจกรรม ส่วน ‘เอก ธนาธร’ มาพักบ้างในฐานะแขก

 

ศรายุทธิ์: ชื่อบ้านร้อยฝัน มาจากเพลง มาลัยดาว ของนักกิจกรรมในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ‘ร้อยสีในดอกไม้บาน ร้อยสานเป็นเกลียวใส’ คือการร้อยมาลัย ร้อยความฝันของแต่ละคนให้มาด้วยกัน เพราะความคิดแต่ละคนไม่เหมือนกันเสียทีเดียว ต่างคนต่างมีความฝัน แต่เราร้อยให้มาอยู่ด้วยกันได้ เป็นความหมายนั้น

 

บ้านร้อยฝันอยู่ที่ถนนเพชรบุรี ซอย 5 ผู้เช่ามีผม, ต๋อม, อุเชนทร์ และพี่ๆ น้องๆ คนอื่นๆ บางคนก็ยังทำกิจกรรมทางการเมืองจนถึงปัจจุบัน บางคนก็ห่างหายกันไป

 

ส่วนธนาธรถือเป็นแขกที่มาบ่อย มาประชุม มานอน มาสังสรรค์ กินข้าว และดื่มบ้าง

 

ตอนเรียนจบคณะวิศวกรรมศาสตร์ปี 2545 ผมทำงาน NGO กับ Thai Labour Campaign ประเด็นกรรมกร แล้วผมก็ไปตั้งโรงงานเย็บผ้าอยู่ช่วงหนึ่ง หลังจากนั้นก็เป็นวิศวกรดูไซต์งานติดตั้งระบบน้ำในอาคาร และทำงานให้บริษัทรับเหมาเดินท่อในอาคารประมาณ 1-2 ปี ผมก็ไปอยู่ สปป.ลาว

 

 

ตอนตัดสินใจไปเป็นเกษตรกรใน สปป.ลาว

 

ศรายุทธิ์: จริงๆ พูดไปคนอื่นก็อาจจะมองว่าอุดมคติมาก ด้านหนึ่งเป็นการเตรียมความพร้อมที่วันหนึ่งเราต้องมาทำงานการเมือง โลกความเป็นจริงเราก็รู้ว่าคนเราต้องอยู่ได้ทางเศรษฐกิจ ต้องเอาตัวรอด ถ้าปากกัดตีนถีบก็ทำงานการเมืองลำบาก ถ้าไม่มีเงินกินข้าว ไม่มีเงินเดินทาง จะทำงานการเมืองได้อย่างไร

 

ธนาธรร่วมลงทุนด้วยที่ สปป.ลาว

 

ศรายุทธิ์: เอกก็มีส่วน ถ้าเราสร้างสวนยางสำเร็จ เราก็เก็บเกี่ยวและเราจะมีรายได้ก้อนหนึ่ง

 

ธนาธรเป็นหุ้นส่วนคล้ายๆ สำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน

 

ศรายุทธิ์: คล้ายๆ (ฟ้าเดียวกัน) ซึ่งก็ไม่ใช่ความลับ เรื่องผมก็เคยมีสื่อสำนักที่ไม่ได้เห็นด้วยกับเราหาว่าผมเป็นลูกน้องของธนาธรไปลงทุนใน สปป.ลาว แต่ที่จริงไม่เกี่ยวกับบริษัทไทยซัมมิทเลย

 

ความจริงคือผมนี่แหละไปทำสวนยาง (หัวเราะ) แล้วเอกไปสนับสนุนด้วย เขาอยากให้ทำให้สำเร็จ

 

การทำสวนก็ไม่ได้ทำให้ถึงกับรวย เพียงแต่ทำให้ชีวิตไม่ต้องปากกัดตีนถีบ เป็นการสร้างฐานเศรษฐกิจที่ทำให้เราพออยู่ได้

 

 

เพื่อนร่วมอุดมการณ์และเพื่อนร่วมลงทุนในธุรกิจ

 

ศรายุทธิ์: ผมคิดว่าสิ่งที่ผูกพันจริงๆ คือความคิดคล้ายๆ กันที่ทำให้ยืนยาว ส่วนธุรกิจก็เป็นสิ่งที่ทำให้เรามีอะไรร่วมกันเพิ่มขึ้นอีกอย่างหนึ่งเท่านั้นเอง

 

ผมไม่ค่อยเล่าเพราะคนอื่นอาจจะมองว่าอุดมคติมาก เราคิดถึงการเปลี่ยนแปลงตั้งแต่สมัยเป็นนักศึกษา การตั้งพรรคการเมืองก็เป็นความใฝ่ฝันของเราในยุคนั้น จะใช้คำว่าเพ้อฝันก็ได้ เพราะเราแทบจินตนาการไม่ออกจากประสบการณ์ชีวิตของเราที่ยังน้อย

 

หลังจากนั้นกลุ่มเราก็คุยกันสม่ำเสมอ คุยกันส่วนหนึ่งว่าจะสร้างพรรคอย่างไร จะเปลี่ยนแปลงอย่างไร เป็นแนวความคิดตอนนั้น ชีวิตจริงทุกคนก็ต้องมีงานทำ 

 

ต๋อมก็ทำสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน เขาคิดถึงร้านหนังสือ พอดีผมมีงานที่ สปป.ลาว เข้ามา ตอนแรกจะไป 2-3 ปี แล้วจะกลับมาคิดการเปลี่ยนแปลง การทำงานด้วยกันตอนนั้นไม่ได้ตั้งใจไปอยู่นาน แต่พออยู่จริง 14 ปี (ปี 2547-2561) ซึ่งเจอปัญหาอุปสรรคเยอะ ตอนเริ่มต้นมีค่าใช้จ่ายเยอะ แต่ก็มีรายได้นิดหน่อย ซึ่งถือว่าพอมีรายได้ ไม่ต้องปากกัดตีนถีบมาก

 

กระทั่งปี 2561 ผมมาทำงานกับพรรคอนาคตใหม่ เป็นรุ่นบุกเบิกของอนาคตใหม่ ไอเดียการสร้างพรรคคือการรวบรวมคนที่มีความฝันเดียวกัน และอยากเปลี่ยนประเทศด้วยกัน

 

 

ครอบครัวไม่ได้ใช้บริการนโยบายพรรคไทยรักไทย แต่คุณพ่อชื่นชม ทักษิณ ชินวัตร

 

ศรายุทธิ์: คุณพ่อเป็นเกษตรกรทำสวนยางและสวนปาล์ม เป็นคนมีรายได้พอสมควร ไม่ได้ยากจน ถ้าป่วยก็พร้อมเข้าโรงพยาบาลเอกชนได้ ไม่ได้ใช้โครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค

 

คุณพ่อไม่ได้ใช้สิทธิ์อะไรจากนโยบายพรรคไทยรักไทย แต่คุณพ่อบอกว่าทักษิณทำให้มีความหวังและประเทศดูเจริญก้าวหน้า

 

ถ้าในชนบท ครอบครัวผมถือว่าเกินกว่าระดับกลาง ด้วยความที่เป็นเกษตรกรมาพอสมควร เป็นเจ้าของที่ดิน มีสวนยาง สวนปาล์ม และสวนผลไม้ ก็อยู่ได้ จะมีช่วงลำบากนิดหน่อยคือช่วงลูกเรียนหนังสือพร้อมกัน

 

เป็นเรื่องยากสำหรับคนต่างจังหวัดแบบผมที่จะได้เรียนในกรุงเทพฯ ต้องมาเช่าห้องอยู่ มีรายจ่ายทุกเดือน ผมมีพี่น้องรวมตัวผมเอง 5 คน แต่ได้เรียนหนังสือทุกคน ในแง่นี้คุณพ่อผมไม่ใช่คนยากจน พ่อส่งเรียนทุกคนแม้บางคนเรียนไม่จบ ก็เป็นเรื่องแล้วแต่ความสามารถของลูกแต่ละคน

 

 

ชาวพังงาเห็น จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ตั้งแต่สมัยเป็นนักการเมืองรุ่นใหม่

 

ศรายุทธิ์: ผมเป็นคนจังหวัดพังงา ที่จริงตอนผมเด็กๆ ครอบครัวผมเลือก สส. อีกคนที่ไม่ใช่พรรคประชาธิปัตย์ คือ ‘บรม ตันเถียร’ ตอนนั้นเขายังแข่งกับจุรินทร์ ซึ่งจุรินทร์เป็นคนรุ่นใหม่ที่มาทีหลัง เขาจึงเป็นคู่แข่งต่างพรรคกัน

 

ส่วนตัวผมแม้ครอบครัวจะเชียร์บรม แต่ผมก็รู้สึกว่าจุรินทร์สู้มาตลอดจนชนะ ตอนนั้นผมก็ชื่นชมในใจ ตอนเด็กๆ ไม่ได้ติดตามการเมืองมาก

 

ตอนเรียนมัธยมปลายที่โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา ตามประสาคนใต้เราก็ยังเชียร์พรรคคนใต้ แต่พอมารู้จักจริงๆ จากการติดตาม ความคิดเราก็เปลี่ยน

 

ผมมาติดตามการเมืองจริงๆ ก่อนวิกฤตเศรษฐกิจไทยปี 2540 เริ่มฟังอภิปรายมากขึ้น สมัยพรรคประชาธิปัตย์อภิปราย ก่อน พล.อ. ชวลิต ยงใจยุทธ ลาออก

 

พอหลังวิกฤตเศรษฐกิจไทยปี 2540 เมื่อ พล.อ. ชวลิต ลาออก ก็เป็นรัฐบาล ชวน หลีกภัย เราเป็นคนใต้ พรรคประชาธิปัตย์เป็นพรรคที่เราชื่นชมสมัยเด็กเพราะเป็นพรรคแรกที่เราติดตาม

 

ต่อมาช่วงเราทำงานกิจกรรมนักศึกษาก็มีเรื่องวิพากษ์วิจารณ์พรรคประชาธิปัตย์เยอะ

 

ปี 2548 พรรคเพื่อไทยชนะเลือกตั้งรอบที่ 2 เห็นเขาได้รับความนิยม แม้แต่พ่อผมก็ชื่นชอบพรรคไทยรักไทย ซึ่งเดิมครอบครัวเราก็ไม่ชอบพรรคประชาธิปัตย์อยู่แล้ว เว้นแต่ส่วนตัวผมที่ตอนยังเด็กผมชื่นชมจุรินทร์ พรรคประชาธิปัตย์

 

 

ตอนเรียนเตรียมอุดมศึกษาเป็นเพื่อนต๋อม (ชัยธวัช) ส่วนเอก (ธนาธร) ยังไม่คลุกคลี

 

ศรายุทธิ์: เรียนโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาตอนมัธยมปลาย ก็คงเคยเจอเอกแต่จำไม่ได้ ที่จำได้คือเจอต๋อมตั้งแต่เข้า ม.4 ด้วยความที่เราเป็นเด็กต่างจังหวัดเหมือนกันก็มักจะเจอกันที่โรงอาหารคณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาฯ เป็นที่กินอาหารที่ราคาไม่แพง มื้อเย็นเรามักจะไปกินที่นั่นเหมือนกินข้าวในโรงเรียน ต๋อมก็ไปเหมือนกัน เราเป็น ‘กลุ่มเด็กทันตะ’ ไม่เกี่ยวอะไรกับคณะทันตแพทยศาสตร์ เพียงแต่ไปเจอและกินข้าวกันที่โรงอาหาร

 

นั่งอ่านหนังสือกัน สอบถามกัน ต๋อมอยู่ ม.4 ผมอยู่ ม. 5 แล้วผมก็มีรุ่นพี่ ม.6 มีทั้ง 3 รุ่นเลย ผมรู้จักต๋อมตอนนั้นก็เริ่มคิดจะหาห้องเช่าใกล้โรงเรียนก็เลยสนิทกัน กระทั่งตอนเรียนมหาวิทยาลัยเราเริ่มไปเช่าบ้าน ไปเจอบ้านที่มี 4 ห้องนอนพอดี จากอยู่หอพัก เราก็คืนห้องเดิมแล้วมารวมอยู่บ้านเดียวกันช่วงปี 2538-2539 เดิมคนที่เช่าด้วยกันจะเป็นเพื่อนตั้งแต่มัธยมกับเพื่อนนักกิจกรรมนิสิตในจุฬาฯ บ้าง อย่างต๋อมก็อยู่ชมรม ‘จุฬาทักษิณ’

 

หลังๆ บ้านเช่าก็กลายเป็นบ้านนักกิจกรรม เพราะคนอยู่เดิมย้ายออกไปมีเพื่อนคนใหม่เข้ามาเป็นนักกิจกรรม นั่นคือ ‘บ้านร้อยฝัน’

 

 

เรียนคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เพราะอยากลุยหน้างาน

 

ศรายุทธิ์: เลือกสอบเอ็นทรานซ์เข้าคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เรียนปีแรกปี 2538 แล้วออกมาสอบเอ็นทรานซ์เข้าใหม่ปี 2539 เข้าคณะเดิม จึงนับว่ารุ่นปีที่เข้าเรียนคือปี 2539 ซึ่งเป็นปีเดียวกับต๋อมที่เข้าเรียนคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ

 

ตอนตัดสินใจเรียนวิศวกรรมศาสตร์ก็ไม่ได้คิดอะไรเยอะไปกว่าการมีงานทำ เรามาเรียนก็คิดถึงการมีงานทำ สมัยผมเรียนโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาก็มีการพูดถึงกันไม่กี่คณะในสมัยนั้นคือ แพทยศาสตร์, วิศวกรรมศาสตร์, เศรษฐศาสตร์ และสถาปัตยกรรมศาสตร์ ประมาณนี้ สมัยนั้นยังไม่มีโซเชียลมีเดีย ไม่มีโลกออนไลน์ เลือกเรียนวิศวกรรมศาสตร์เพราะจะได้ทำงานลุยๆ ทำงานหน้างานที่น่าจะเหมาะกับเรา เรียนจบแล้วน่าจะมีงานทำ ก็เลยตัดสินใจ ส่วนการเลือก ม.เกษตรฯ ดูเหมาะกับเราดี เราเป็นคนบ้านนอกด้วย

 

 

พรรคประชาธิปัตย์ช่วงก่อนรัฐประหารปี 2549

 

ศรายุทธิ์: พรรคประชาธิปัตย์แพ้พรรคไทยรักไทยยุคนั้น ระยะยาวดูเขาไม่มีทางเอาชนะได้ สุดท้ายไปจับมือกับฝั่งอนุรักษนิยม ใช้กลไกอย่างไม่ปกติในระบอบประชาธิปไตย จึงเกิดการรัฐประหารปี 2549 ขึ้น

 

หลังจากนั้น พรรคประชาธิปัตย์ก็สูญเสียความเป็นพรรคฝ่ายประชาธิปไตย จนนำมาสู่การพ่ายแพ้การเลือกตั้งปี 2562 คือได้ สส. น้อยกว่าการประเมินไว้เยอะ ยิ่งเขาไปจับขั้วกับพรรคพลังประชารัฐในปีเดียวกัน สถานการณ์ยิ่งหนัก นำมาสู่ความนิยมจากประชาชนที่ยิ่งน้อยลง

 

ผมคิดว่าตั้งแต่ยุค อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ จนมาถึงจุรินทร์ และปัจจุบัน เรามองไม่เห็นว่าพรรคประชาธิปัตย์มีอุดมการณ์อะไร ซึ่งก่อนหน้านั้นเรายังพอมองเห็นว่าแนวคิดประชาธิปัตย์เป็นอย่างไรในยุค ชวน หลีกภัย มาถึงยุคอภิสิทธิ์ก็ยังพอมองเห็น แต่ตอนนี้มองไม่เห็นแล้ว และไม่รู้ว่าแตกต่างจากพรรคอื่นอย่างไร

 

เริ่มตั้งแต่หลังเลือกตั้งปี 2562 ความขัดแย้งภายในพรรคประชาธิปัตย์ทำให้พรรคเปลี่ยนไปเยอะ จนปัจจุบันพรรคประชาธิปัตย์พลิกขั้วมาเป็นแบบนี้ ซึ่งไม่ควรจะเป็นถ้ามองพรรคประชาธิปัตย์ก่อนหน้านี้ เราก็ไม่คิดว่าจะมีภาพดังกล่าวคือ ไปร่วมคณะรัฐมนตรีของ อุ๊งอิ๊ง-แพทองธาร ชินวัตร เพียงขอให้ได้เป็นรัฐบาลโดยไม่ได้มีความคิดหรือจุดยืนที่ชัดเจน

 

พรรคประชาธิปัตย์มีความเป็นสถาบันพรรคการเมืองระดับหนึ่ง แต่ความคิดภายในพรรคคงเปลี่ยนไปแล้วจึงเกิดภาพแบบนี้ นับแต่ช่วงปี 2562 ที่มีการปะทะกันระหว่างกลุ่มภายในพรรค ซึ่งเริ่มในยุคจุรินทร์ ตอนนี้ ชวน หลีกภัย ก็แทบไม่มีที่ยืนในพรรคแล้ว คนคุมพรรคคือหัวหน้าและเลขาธิการคนปัจจุบัน ซึ่งความคิดแตกต่างจากช่วง 20 ปีที่แล้ว

 

ทุกวันนี้กลุ่มความคิดหลักที่กุมสภาพรรคเปลี่ยนจากยุค ชวน หลีกภัย, อภิสิทธิ์ และบัญญัติ บรรทัดฐาน ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมามีภาพคนเหล่านี้คุมเป็นหลักในพรรคประชาธิปัตย์

 

วันนี้พรรคประชาธิปัตย์จึงไม่มีความแตกต่างจากพรรคอื่นๆ เช่น พรรคเพื่อไทย และพรรคภูมิใจไทย ซึ่งไม่มีแก่นที่มีนัยสำคัญที่ทำให้เราเห็นความแตกต่าง กลายเป็นพรรคการเมืองปกติของกลุ่มผลประโยชน์ที่เข้ามาอยู่ในพรรคการเมือง เพื่อเข้าไปมีอำนาจทางการเมืองโดยไม่มีอุดมการณ์หรือแนวคิดข้างหลังที่ชัดเจน

 

 

พรรคประชาธิปัตย์เหมือนเดิมคือ เลือก ‘ฝ่ายชนะ’ ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายอนุรักษนิยมหรือพรรคการเมืองของตระกูลชินวัตร เป็นเช่นนั้นหรือเปล่า

 

ศรายุทธิ์: ฝ่ายอนุรักษนิยมเมื่อก่อนกับวันนี้ก็แตกต่าง คือความชัดเจนของอุดมการณ์ทางการเมือง ปัจจุบันเราไม่เห็นอุดมการณ์หรือตัวละครที่เขาสร้าง เช่น นักการเมืองหรือผู้มีบทบาททางการเมือง เราก็มองไม่เห็นว่าเขาสร้างระบบระเบียบการเมืองแบบไหน มองไม่ค่อยออก แตกต่างจากสมัยรัชกาลที่ 9 มากๆ

 

ปัจจุบันดูตัวละครทางการเมือง เรามองไม่เห็นเบื้องหลังความคิดเขาว่า เขาอยากสร้างระบบการเมืองแบบไหน เช่น แก้ไขรัฐธรรมนูญอย่างไร ออกแบบรัฐธรรมนูญใหม่แบบไหน ผมไม่รู้เขาจะตอบอย่างไร เพราะเรามองไม่ออก

 

รัฐธรรมนูญ 2560 ยังไม่สามารถบอกอะไรได้ทั้งหมด

 

ศรายุทธิ์: ตอนร่างรัฐธรรมนูญ 2560 มาจากคนอยู่เบื้องหลังซึ่งก็คือชนชั้นนำ เขารู้อยู่แล้วว่าเขาต้องการอะไร แต่คนที่อยู่เบื้องหน้าในปัจจุบันจะเข้าใจคอนเซปต์หรือไม่ อาจจะไม่เข้าใจว่าสร้างมาเพื่ออะไร เขาตอบไม่ได้และเขาไม่ได้มีแนวคิดว่าต้องการทำให้ประเทศไทยเป็นแบบไหน

 

คนเบื้องหน้าไม่ว่าจะนักการเมืองหรือ สว. ที่อยู่เบื้องหน้า ล้วนเป็น ‘ผู้เล่น’ ที่ยังมีบทบาทในการแก้ไขรัฐธรรมนูญจริงๆ คือต้องโหวตในสภาและต้องอภิปราย เรายังมองไม่เห็นว่าเขาคิดอะไร

 

 

พรรคประชาชนกำลังจะมีพรรคร่วมฝ่ายค้านเป็นพรรคพลังประชารัฐ กับกลุ่ม ชวน หลีกภัย แล้วพรรคประชาชนจะรักษาความเป็นตัวเองอย่างไรไม่ให้เหมือนพรรคอื่นในฝ่ายค้าน

 

ศรายุทธิ์: พรรคอื่นอาจจะไม่ได้คิดแบบเรา ผมคิดว่าพรรคเราไม่ได้คิดขัดแข้งขัดขารัฐบาลตลอดเวลา แต่เป้าหมายใหญ่ของเราคือ ทำให้นโยบายที่เราคิดเกิดขึ้นจริงในประเทศนี้ สิ่งนี้เป็นเป้าหมาย ดังนั้นการกระทำของเราคือวิพากษ์ให้เห็นจุดอ่อนเพื่อเสนอสิ่งใหม่ เราจะให้น้ำหนักกับการวิพากษ์จุดอ่อนในนโยบายของเขา เพื่อให้เห็นว่าสิ่งที่ควรจะเป็นหรือสิ่งที่ดีกว่าแบบเรา ดีกว่าอย่างไร เราจะมีทางเลือกเสมอว่าประชาชนมีทางเลือกที่ดีกว่า แล้วสิ่งนั้นคืออะไร สิ่งที่รัฐบาลเสนอมีปัญหาอย่างไร แล้วเรามีข้อเสนอที่ดีกว่าให้ประชาชนเสมอสำหรับเรื่องนโยบาย

 

ส่วนการตรวจสอบ เช่น งบประมาณรายจ่ายประจำปี เรามองไปถึงขั้นการจัดการงบประมาณเลยว่า ระบบและวิธีการจัดการงบประมาณจนไปถึงการใช้จ่ายงบประมาณเป็นรายนโยบาย เรามองภาพใหญ่แล้วค่อยๆ เจาะไปทีละจุด นั่นคือวิธีคิดของเรา

 

เพื่อให้ประชาชนเห็นว่า ถ้าเป็นเราเราทำแบบนี้นะ ถ้าเป็นเราเราจะสร้าง พ.ร.บ.งบประมาณหน้าตาแบบนี้ เพราะเราจะมองจากภาพใหญ่แล้วมามองวิธีการทำงานให้เขาเห็นว่าเราทำงานอย่างไร ซึ่งผมคิดว่าพรรคอื่นอาจจะไม่ได้คิดแบบเรา

 

ดังนั้น ถ้าประชาชนได้ฟังก็จะเห็นความแตกต่างได้ชัดเจนจากเบื้องหลังความคิด ซึ่งไม่ได้พูดถึงแค่ปัญหา แต่บอกทางออกด้วยว่าควรจะเป็นอย่างไร

 

สำหรับการตรวจสอบ หลังรัฐบาลผ่าน พ.ร.บ.งบประมาณแล้ว เราก็คงต้องดูว่างบประมาณต่างๆ นำไปใช้อย่างถูกต้องหรือไม่ มีปัญหาไหม รวมถึงโครงการใหญ่ๆ ที่รัฐบาลพยายามผลักดัน ไม่ว่าจะ ‘ดิจิทัลวอลเล็ต’ รวมถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่พรรคเพื่อไทยเองก็ประกาศด้วย คงต้องติดตามว่าสุดท้ายจะนำไปสู่อะไร

 

 

พรรคที่พูดเรื่องสถาบันพรรคการเมืองอีกพรรคคือพรรคประชาธิปัตย์ แล้วพรรคประชาชนจะไปซ้ำรอยพรรคประชาธิปัตย์หรือไม่

 

ศรายุทธิ์: พรรคประชาชนมีความแตกต่างแน่นอน เราอยากสร้างพรรคให้เป็นสถาบันพรรคการเมือง แต่ความแตกต่างระหว่างเรากับพรรคประชาธิปัตย์คือ แนวคิดและอุดมการณ์ ซึ่งพรรคประชาธิปัตย์เคยมีความเป็นสถาบันพรรคการเมืองที่มีอุดมการณ์และมีความคิด เราอยากให้มีพรรคแบบนี้เยอะๆ ไม่อยากให้เขาเปลี่ยนไปเป็นแบบปัจจุบัน

 

พรรคอนาคตใหม่ พรรคก้าวไกล และพรรคประชาชน ก็พยายามทำให้เป็นสถาบันพรรคการเมืองไม่ขึ้นอยู่กับตัวบุคคล เรามีความแตกต่างจากพรรคประชาธิปัตย์ที่อุดมการณ์และความคิด เราอยากเห็นพรรคแบบนี้หลายๆ พรรคที่จะสู้กันเรื่องความคิด

 

ดังนั้น หากถามว่าพรรคเราจะเป็นอย่างพรรคประชาธิปัตย์ไหม เราไม่เป็นอย่างพรรคประชาธิปัตย์อยู่แล้ว เพราะอุดมการณ์ต่างกัน

 

เวลาเราบอกว่าพรรคเป็นสถาบันพรรคการเมือง ผมมักจะพูดว่าพรรคมวลชน เราพยายามสร้างพรรคมวลชน ความเป็นพรรคมวลชนและความเป็นสถาบันพรรคการเมืองต้องมี 2 องค์ประกอบหลักๆ คือ

 

  1. แนวคิดและอุดมการณ์ ต้องมีชุดความคิด สมาชิกพรรคเดียวกันต้องมีชุดความคิดเหมือนกัน

 

  1. โครงสร้างภายในต้องยึดโยงกับสมาชิก สมาชิกพรรคมีอำนาจเลือกตัวแทนเป็นชั้นๆ เพื่อให้อำนาจในพรรคยึดโยงกับสมาชิกทั้งหมด

 

ผมคิดว่าสาระสำคัญคือตรงนี้ ซึ่งพรรคประชาธิปัตย์มีลักษณะข้อที่ 2 คล้ายกับพรรคผม มีสมาชิกเลือกแต่ก็ยังมีความแตกต่างตรงที่เขาให้สิทธิ์ไม่เท่ากัน คนที่ลงคะแนนเสียงไม่ใช่ 1 เสียงเท่ากัน แต่พรรคผมมี 1 เสียงเท่ากันไม่ว่าจะตำแหน่งไหนในการเลือกตัวแทน

 

 

ไม่เลือกพรรคไทยรักไทย แต่เลือกพรรคพลังประชาชนเพื่อต้านรัฐประหารปี 2549

 

ศรายุทธิ์: ผมคิดว่าหลังพรรคไทยรักไทยถูกยุบพรรคแล้วตั้งพรรคพลังประชาชน เขาก็ปรับตัวเยอะ จากที่ผมไม่เคยเลือกพรรคไทยรักไทยปี 2544 และ 2548 และไม่ได้เลือกพรรคประชาธิปัตย์ พอเราเข้าใจการเมืองแล้วมองประชาธิปัตย์ เราก็ไม่โอเคอยู่แล้ว แต่พรรคไทยรักไทยเราก็เลือกไม่ลงด้วยความที่เราทราบข่าวและข้อมูล ผมจึงเลือกพรรคเล็กและอยากสนับสนุนพรรคเล็ก

 

พอหลังรัฐประหารปี 2549 นำมาสู่การเลือกตั้งปลายปี 2550 ผมเดินทางจาก สปป.ลาว ซึ่งผมอยู่ตั้งแต่ปี 2548 ผมเดินทางจาก สปป.ลาว ไปเลือก สมัคร สุนทรเวช พรรคพลังประชาชน ทั้งที่ก่อนหน้านั้นไม่เคยเลือกพรรคไทยรักไทย ผมกาให้พรรคพลังประชาชนแม้ทราบบทบาทสมัครในเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 เพราะเราก็เป็นนักกิจกรรม เราก็เลยพอรู้

 

แต่ความรู้สึกเรา เราต้องการต่อต้านและไม่เอารัฐประหาร จึงเลือกฝั่งตรงข้ามรัฐประหาร เมื่อเราเลือกแล้วก็ทำให้เราเริ่มติดตามแบบจริงจังมากขึ้น เราอยากเห็นว่ารัฐบาลพรรคพลังประชาชนจะทำอย่างไร จะพาประเทศกลับสู่ประชาธิปไตยได้อย่างไร จะแก้ไขรัฐธรรมนูญไหม สุดท้ายสมัครโดนศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี แล้วพรรคพลังประชาชนก็ทำอะไรไม่ค่อยได้

 

ตรงที่พรรคพลังประชาชนไม่ยอมทำอะไรนี้สำคัญ เราจึงมองประเด็นนี้ว่า เมื่อคุณมีอำนาจรัฐต้องพยายามทำอะไรบางอย่างเพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหา แต่ตอนนั้นก็เป็นเรื่องที่พูดยากเพราะเวลาของเขาก็สั้นมาก ตอนนั้นยังไม่รู้สึกอะไรมาก แค่รู้สึกว่าเขาไม่ได้ทำอย่างที่เราอยากได้ เช่น การแก้ไขรัฐธรรมนูญควรทำเลย แต่สมัครกลับรีรอ ไม่แก้อย่างรวดเร็ว

 

 

แนวคิด ‘สองไม่เอา’ หลังรัฐประหารปี 2549

 

ศรายุทธิ์: ก่อนรัฐประหารปี 2549 เราเป็นฝ่ายปะทะกับพรรคไทยรักไทยยุคนั้น ไม่ว่าจะเป็นกรณีนโยบาย 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือสงครามยาเสพติด นักกิจกรรมและนักเคลื่อนไหวตอนนั้นส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่ม ‘สองไม่เอา’ คือไม่โอเคกับทักษิณและไม่เอารัฐประหาร

 

ส่วนผมไม่ใช่สองไม่เอา ผมกัดฟันเลือกฝั่งทักษิณเพราะคิดว่าอย่างไรเขาก็มาจากการเลือกตั้ง แม้ว่าเขาจะผิดอะไรเยอะแยะ แต่ประชาธิปไตยก็ต้องไปกับการเลือกตั้ง ถือว่าผมเป็นคนส่วนน้อยของนักกิจกรรมในยุคนั้น เพราะนักกิจกรรมยุคนั้นส่วนใหญ่ ไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหาร และถ้าจะให้ทักษิณกลับมาอยู่เหมือนก่อนรัฐประหารวันที่ 19 กันยายน 2549 เขาก็ไม่เอา นี่คือ ‘สองไม่เอา’ ซึ่งอยู่ก้ำกึ่ง

 

ร่วมชุมนุมกับคนเสื้อแดง ประท้วงรัฐบาลอภิสิทธิ์

 

ศรายุทธิ์: ภาพที่มีการแชร์ ในภาพมีผม, ธนาธร, ชัยธวัช และอุเชนทร์ เป็นการชุมนุมวันที่ 10 เมษายน 2553 แต่ผมไปร่วมชุมนุมตั้งแต่ก่อนหน้านั้น คือปี 2552 ผมก็ไปชุมนุมก่อนสงกรานต์ พอถึงปี 2553 ชุมนุมอีกรอบและเป็นปีที่เกิดเหตุการณ์ความรุนแรง

 

ตอนรัฐบาลอภิสิทธิ์ขึ้นมา เราก็กลายเป็นคนเสื้อแดง เป็นผู้เข้าร่วมชุมนุมคนหนึ่ง ขณะพรรคที่เราเลือกกลายไปเป็นฝ่ายค้าน เป็นครั้งแรกที่เราเข้าใจประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง เราเลือกพรรคพลังประชาชนโดยเราต้องลงทุนลงแรง ผมขับรถมาจาก สปป.ลาว การเดินทางใช้เงินหลายพันบาทในการใช้สิทธิเลือกตั้ง แต่พอเลือกแล้วฝ่ายที่เราเลือกถูกออกจากรัฐบาลอย่างไม่เป็นธรรม แล้วเอาอภิสิทธิ์ขึ้นมาเป็นนายกฯ ทั้งๆ ที่เราไม่ต้องการ

 

ผมในฐานะประชาชนคนหนึ่งรู้สึกว่าโดนตบหน้า เรารู้สึกมากตอนอภิสิทธิ์ขึ้นมา ทำให้เราอินกับเสื้อแดงด้วย ประเด็นหลักคือความไม่เป็นธรรม สองมาตรฐาน กระบวนการยุติธรรมไม่เป็นธรรม ชัดเจนเรื่องสองมาตรฐาน เห็นใจคนที่เลือกพรรคทักษิณ คนที่เขาตั้งใจเลือกเหมือนวันที่เราตัดสินใจเลือกสมัคร แม้เรารู้ว่าสมัครมีปัญหาเรื่องวิธีคิดของเขา แต่เราตัดสินใจเลือกแบบนี้ สุดท้ายสิ่งที่เราเลือกถูกทำลายและไม่ถูกให้ค่า

 

ทำให้เรารู้สึกเห็นใจคนเสื้อแดงที่เคยเลือกพรรคทักษิณ มองรู้เลยว่าชนชั้นนำต้องการเอาพรรคนี้ออก แล้วจัดตั้งรัฐบาลอีกขั้วหนึ่งขึ้นมา เห็นชัดเจนว่ามีกระบวนการต่างๆ โดยมีศาลรัฐธรรมนูญด้วย เรามองว่าไม่ใช่เรื่องปกติแต่เป็นความต้องการของชนชั้นนำที่อยากให้เกิดสิ่งนี้ขึ้น ทำให้เราต้องออกมาร่วมยืนยันสิทธิของเรา ไปร่วมชุมนุมในฐานะประชาชน ไม่ได้เป็นแกนนำ แต่ไปในฐานะประชาชนคนหนึ่งร่วมกับเขา

 

 

รับรู้ความรู้สึกผู้ชุมนุมเสื้อแดง

 

ศรายุทธิ์: ปี 2552 มวลชนมาชุมนุมยังไม่ได้มากับความโกรธเกรี้ยวเยอะ สิ่งที่ผมรับรู้หลักๆ คือมวลชนไม่ได้พร้อมสู้เป็นระยะเวลานานๆ ดังนั้น เมื่อถูกกดดันเขาก็กลับบ้าน แต่ความรู้สึกหลังจากนั้นคือ การชุมนุมปี 2553 มวลชนตั้งใจมาสู้ ต้องการชนะ ต้องการให้ยุบสภาและเลือกตั้งใหม่ เป็นความรู้สึกของมวลชนที่ผมสัมผัสได้ ผมไม่ได้รู้จักแกนนำคนเสื้อแดง ผมไม่เคยคุยกับแกนนำคนเสื้อแดง

 

มวลชนคนเสื้อแดงปี 2553 เขาตั้งใจมาก เขารวบรวมอะไรต่างๆ มีการทอดผ้าป่ารวบรวมข้าวสารในหมู่บ้าน เหมารถกันมา ชาวบ้านลงแรงตามที่เขาลงได้ การเตรียมข้าวและอาหาร เป็นการเตรียมเพื่อมาสู้ในระยะยาวจริงๆ เราเห็นเขาเตรียมอาหารแห้งและปลาร้า เขาไม่มีเงินเยอะแต่เขาก็ทำเท่าที่ทำได้

 

ผมขับรถมาจาก สปป.ลาว ตอนนั้น ก็เห็นชัดเจนว่า ประชาชนป่าวประกาศและโบกรถเพื่อเดินทางกัน ผมเห็นบรรยากาศของประชาชนที่รู้สึกว่าต้องเข้ากรุงเทพฯ ไปสู้กับระบอบนี้ ต้องการให้มีการเลือกตั้งใหม่

 

 

เลือกตั้งปี 2554 เลือกพรรคเพื่อไทย แต่พบกับความผิดหวัง

 

ศรายุทธิ์: หลังปี 2553 ประชาชนรู้สึกโกรธแค้น เราก็เป็นส่วนหนึ่งที่รู้สึกโกรธแค้น พอปี 2554 มีการเลือกตั้ง ผมก็ลงทุนเดินทางมาจากลาวอีกเหมือนกัน มาเพื่อเลือกคุณยิ่งลักษณ์ ชินวัตร แล้วเราก็คาดหวังว่า จะเกิดความเปลี่ยนแปลง ดังนั้น พอคะแนนออกมา คุณยิ่งลักษณ์ เพื่อไทยชนะมา 265 เสียง สิ่งที่เราคาดหวังคือ การแก้ไขรัฐธรรมนูญ การทำอะไรที่ต้องจัดการปัญหาเชิงโครงสร้างกติกา เพราะคุณก็โดนมาตลอด 

 

แต่สิ่งที่ผิดหวังคือเราไม่ได้เห็นสิ่งนั้น แล้วเราก็เห็นภาพนายกฯ พยายามเข้าหาทหาร ซึ่งเป็นการมองจากภายนอก เราไม่รู้หรอกข้างในเป็นอย่างไร 

 

โอเคมีการเยียวยาคนเสื้อแดงโดยการให้เงิน แต่สิ่งที่เราอยากเห็นคือการคืนความยุติธรรมด้วยซึ่งเป็นเรื่องใหญ่ ต้องดำเนินคดีผู้รับผิดชอบอย่างรวดเร็ว ตรวจสอบข้อเท็จจริงทำให้สังคมได้เห็นว่าความจริงคืออะไร ซึ่งเราก็ไม่ค่อยได้เห็นการคืนความยุติธรรมในความหมายนี้ที่ต้องมีกระบวนการอย่างเป็นเรื่องเป็นราว 

 

ทุกวันนี้เหตุการณ์ปี 2553 ยังไม่ถูกเคลียร์ ยังมีอะไรที่ไม่ยุติ วันนั้นคุณเป็นรัฐบาล สามารถใช้กลไกรัฐเพื่อทำให้ความจริงมีข้อยุติได้ในมุมผม ส่วนหนังสือ ความจริงเพื่อความยุติธรรม ที่ชัยธวัชมีส่วนร่วม เล่มนั้นไม่เกี่ยวกับรัฐ เราต้องการเห็นรัฐทำ เพราะเขามีกลไกรัฐในมือ

 

รวมถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญ พรรคเพื่อไทยจากการเลือกตั้งปี 2554 เขามีความพยายามจะแก้ไข มีการลงชื่อ แต่พอศาลรัฐธรรมนูญบอกว่าทำไม่ได้ เราคาดหวังว่าสภาผู้แทนราษฎรจะกล้ายืนยันอำนาจในฐานะตัวแทนประชาชนในรัฐสภา ต้องกล้ายืนยันแก้รัฐธรรมนูญ คือชนกับความเห็นของศาลรัฐธรรมนูญ

 

สุดท้ายพรรคเพื่อไทยก็ถอย เรารู้สึกว่า สส. พรรคเพื่อไทย ไม่ซีเรียสกับเรื่องสำคัญในหลักการใหญ่ๆ เขาพยายามหาทางรอด ในขณะที่หลักการบางอย่างเราจำเป็นต้องสู้ในฐานะตัวแทนประชาชน เพื่อยืนยันหลักการ แม้จะถูกลงโทษตัดสิทธิอะไรก็ตาม

 

วันนั้นผมอยากเห็นภาพ สส. ในสภาโหวตรับการแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยไม่สนใจฝั่งศาลรัฐธรรมนูญ เพราะมองจากข้างนอกก็รู้อยู่แล้วว่าศาลรัฐธรรมนูญเป็นตัวแทนของฝั่งอนุรักษนิยม ซึ่งเป็นอีกฝั่ง เราเลือกพรรคเพื่อไทยโดยตั้งใจให้เกิดสิ่งนี้ วันที่เขาทำได้ แต่เขาไม่ทำ 

 

วันนั้นผมผิดหวังมาก เป็นครั้งแรกที่ผมคิดว่าหลังการเลือกตั้งปี 2554 ผมจะเลือกพรรคเล็ก ผมจะไม่เลือกพรรคนี้อีกต่อไป ก่อนหน้านั้นในการเลือกตั้งปี 2550 ผมเลือกพรรคพลังประชาชน ในการเลือกตั้งปี 2554 ผมเลือกพรรคเพื่อไทย

 

ตอนนั้นในใจจะเลือกพรรคเล็กของนักกิจกรรม พอมาถึงปี 2557 ก่อนรัฐประหาร มีการเลือกตั้ง ซึ่งต่อมาศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะ ผมก็เลือกพรรคเล็ก สะท้อนว่าเราผิดหวังพรรคเพื่อไทยมาก เราเลือกพรรคอื่น ตอนนั้นเลือกพรรค หนิง-จิตรา คชเดช

 

 

มองรัฐประหาร 2557 ต่อให้ไม่มี ‘นิรโทษกรรมสุดซอย’ ก็อ้างเหตุเรื่องอื่น

 

ศรายุทธิ์: ตอนนิรโทษกรรมสุดซอยผมอยู่ สปป.ลาว ไม่ค่อยได้ติดตามเยอะ เราหมดหวังกับพรรคเพื่อไทยไปแล้ว ผมจำโมเมนต์นั้นได้ตั้งแต่เรื่องแก้รัฐธรรมนูญแล้ว เราไม่เอาพรรคนี้อีกต่อไป แล้วก็แทบไม่ค่อยสนใจแล้ว แม้จะได้ฟังฝ่ายเราวิพากษ์วิจารณ์นิรโทษกรรมสุดซอย และตอนรัฐบาลยิ่งลักษณ์ถูกรัฐประหาร 2557 หลายคนก็ไปโทษเรื่องนิรโทษกรรมสุดซอยกันเยอะ 

 

แต่ในมุมผม ถึงเขาไม่โดนรัฐประหารเพราะเรื่องสุดซอยก็โดนเรื่องอื่น (หัวเราะ) ผมไม่ได้ซีเรียสกับเรื่องนั้น เพราะเรื่องสุดซอยมีประเด็นเพียงแค่สะท้อนว่าพรรคเพื่อไทยขึ้นอยู่กับตัวบุคคลคือ ทักษิณ ชินวัตร พรรคจึงไม่ได้มีความเป็นสถาบันพรรคการเมือง ถูกชี้นำจากตัวบุคคลได้ ดังนั้นเหตุการณ์นิรโทษกรรมสุดซอยเป็นภาพสะท้อนสิ่งนี้มากกว่า

 

ผิดหวังพรรคเพื่อไทย มาตั้งพรรคอนาคตใหม่ต้องไม่ซ้ำรอย

 

ศรายุทธิ์: ผมคิดว่าพรรคเพื่อไทยในยุคนั้น (รัฐบาล ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร) ทำให้ตัวผมเองผิดหวังมาก แล้วในวันที่เราตั้งพรรคอนาคตใหม่ เราก็ไม่ต้องการให้เป็นแบบพรรคเพื่อไทย ต้องไม่ขึ้นอยู่กับตัวบุคคลและต้องมีจุดยืนที่มั่นคง ต้องหนักแน่น กล้าที่จะสู้ กล้าที่จะยืนยันความถูกต้อง ไม่ใช่กลัว

 

เพราะฉะนั้นสไตล์ของพรรคอนาคตใหม่ พรรคก้าวไกล และพรรคประชาชน คือกล้าชนกับปัญหา กล้าชนกับต้นตอ นี่คือสิ่งที่เราอยากให้เป็น ซึ่งแตกต่างจากพรรคเพื่อไทย

 

 

เพดานทางการเมืองของพรรคประชาชนต่อประเด็นมาตรา 112 หลังพรรคอนาคตใหม่และพรรคก้าวไกลถูกยุบ

 

ศรายุทธิ์: เราตั้งพรรคการเมือง เราอยากสร้างความเปลี่ยนแปลง ทำให้ประเทศเป็นประชาธิปไตย ทำให้เศรษฐกิจเติบโต ก้าวหน้า และเป็นธรรม ทำให้ประชาชนมีเสรีภาพ มีความเท่าเทียม และมีคุณภาพชีวิตที่ดี เป็นเป้าหมาย ดังนั้นสิ่งที่เราต้องทำเพื่อให้นำไปสู่สังคมแบบนี้ได้มันต้องแก้ไขอะไรเยอะมาก มาตรา 112 ก็เป็นส่วนหนึ่ง เพราะขัดกับเสรีภาพ เราฝันเห็นประเทศไทยที่ประชาชนมีเสรีภาพ ขณะที่มาตรา 112 ไม่เอื้อต่อเสรีภาพ อย่างไรก็ต้องถูกแก้ไข เพื่อทำให้สังคมไทยเป็นสังคมที่ประชาชนมีเสรีภาพและมีความเท่าเทียม 

 

ดังนั้นมาตรา 112 จำเป็นต้องถูกแก้ไขแน่นอน และพรรคเองจำเป็นต้องผลักดันการแก้ไข เพราะขัดแย้งกับเป้าหมายปลายทางที่เราต้องการสร้างสังคมแบบนี้ เราต้องแก้ทุกอย่าง เพื่อนำประเทศไทยไปสู่สังคมประชาธิปไตย แต่ปัญหาก็คือ คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญมาตีกรอบว่าพรรคเราทำอะไรได้หรือไม่ได้บ้าง 

 

เราเองในฐานะพรรคการเมืองที่ต้องสู้ในระบบ มีกติกา มีกฎหมายที่เราต้องทำ เราก็ต้องปรับแน่นอน แต่ปรับอย่างไรที่เราสามารถผลักดันได้ ไม่ขัดแย้งกับกฎหมายที่จะทำให้เป็นความผิด นี่เป็นสิ่งที่เราต้องลงรายละเอียดว่าถ้าแก้ไขโดยเอาออกจากหมวดความมั่นคงไม่ได้ต้องทำอย่างไรบ้าง จุดไหนบ้างที่เป็นปัญหา อย่างเช่น การกำหนดโทษแบบนี้ อย่างไรก็ต้องแก้ไขให้ลดโทษ รวมถึงการที่ผู้ใดฟ้องก็ได้ มีหลายประเด็นที่เราต้องผลักดันให้เกิดการแก้ไข 

 

ถ้าถามว่าเป็นการลดเพดานไหม ผมคิดว่าเราจำเป็นต้องปรับตัวให้สอดคล้องหลังมีคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญยุบพรรคก้าวไกล ถ้าไม่ปรับก็ทื่อเกินไป ดังนั้นต้องปรับอยู่แล้ว 

 

ความคิดเรายังเหมือนเดิม ยังมองว่าเรื่องนี้เป็นปัญหาสำคัญอันหนึ่งที่ขัดขวาง ทำให้ประชาชนในประเทศนี้ไม่มีเสรีภาพ ซึ่งเป็นเรื่องพื้นฐานในการพัฒนาขั้นอื่นๆ ผมคิดว่าเรายังมองปัญหาตรงนี้สำคัญอยู่

 

เราต่างจากพรรคอื่นตรงนี้ เรามีชุดความคิด มีภาพความฝัน ภาพสังคมที่เราอยากให้เป็น ประเทศไทยที่เราอยากเห็น

 

 

พรรคประชาชนจะเป็น ‘พรรคล้มเจ้า’ อย่างที่ถูกกล่าวหาไหม

 

ศรายุทธิ์: ภาพสังคมที่เราอยากให้เป็นไม่ใช่ภาพที่ไม่มีสถาบันกษัตริย์ สังคมที่เราอยากให้เป็นคือประชาชนมีเสรีภาพ มีประชาธิปไตยที่แท้จริง อำนาจยึดโยงกับประชาชน

 

ผมคิดว่าสถาบันกษัตริย์ต้องไม่ถูกนำไปอ้างถึงเพื่อเป็นเครื่องมือทางการเมือง เราอยากเห็นภาพนั้น เพื่อทำให้ความต้องการของประชาชนได้รับการสะท้อน

 

ปัจจุบันมีฝ่ายที่พยายามอ้างถึงสถาบันกษัตริย์เพื่อปิดกั้นสิ่งที่ประชาชนเลือก แต่เราต้องการให้ประชาชนได้เลือก เพราะอำนาจสูงสุดเป็นของประชาชน ดังนั้นสถาบันกษัตริย์ต้องไม่ถูกฝ่ายใดนำมาอ้างเพื่อกดทับความต้องการของประชาชน เรามีภาพสังคมแบบนั้น 

 

ตั้งแต่อนาคตใหม่ ก้าวไกล มาจนถึงประชาชน เราไปในทิศทางที่สำเร็จ ไปครึ่งทางที่เราอยากได้และเป็นอย่างที่เราต้องการ ไม่ว่าจะเป็นการผลักดันในเชิงนโยบายต่างๆ เราเชื่อว่าหลายคนเอาด้วยกับเราเยอะ ดูจากผลการเลือกตั้ง แสดงว่าประชาชนให้การยอมรับความคิดเรา เห็นด้วยกับการสร้างการเปลี่ยนแปลงของเรา 

 

การสร้างพรรคก็เช่นกัน เราต้องการสร้างพรรคให้กลายเป็นสถาบันทางการเมืองที่มีแนวคิดและอุดมการณ์ มาวันนี้ก็ชัดเจนว่าเรากำลังเข้าใกล้ความจริงมากขึ้น โดยเฉพาะหลังยุบพรรคก้าวไกล การที่เราตั้งพรรคใหม่ขึ้นมาได้อย่างรวดเร็วและมีสมาชิกเข้ามาจำนวนมาก นี่คือสะท้อนให้เห็นว่าความรู้สึกร่วมของประชาชนในการเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของพรรคนี้มีมาก รวมถึงเงินบริจาคต่างๆ ด้วย 

 

ดังนั้นหลังจากนี้ไปการสร้างพรรคที่ทำให้พรรคยึดโยงกับสมาชิกจะเป็นภารกิจหลัก เพื่อทำให้พรรคเป็นสถาบันทางการเมือง เป็นพรรคมวลชน พรรคประชาชนจริงๆ แล้วตรงนี้ถ้าเราทำสำเร็จ เราก็จะมั่นใจว่าเราจะมีพรรคแนวนี้ในการขับเคลื่อนและสร้างความเปลี่ยนแปลง 

 

เรารู้ว่าเป็นการขับเคลื่อนระยะยาว ไม่ใช่สั้นๆ ก็อยากให้ประชาชนติดตามเรื่องนี้ อาจจะมองไม่ค่อยเห็นจากภายนอกมากนัก แต่สาระสำคัญคือพรรคเป็นสถาบันการเมืองที่ขับเคลื่อนและสร้างการเปลี่ยนแปลงในระยะยาว จึงจะทำให้ความฝันสำเร็จ 

 

 

มองมวลชนคนเสื้อแดงกับพรรคเพื่อไทยและพรรคประชาชนอย่างไร มีความเป็นมวลชนของพรรคใดหรือไม่

 

ศรายุทธิ์: ผมไม่เคยมองว่าใครเป็นของใครอยู่แล้ว ใครบอกว่าคนกลุ่มไหนเป็นของพรรคนั้นพรรคนี้ผมก็ไม่ค่อยเชื่อสักเท่าไร แม้แต่การเลือกตั้ง มีการคิดคำนวณว่าพรรคนั้นรวมกับพรรคนี้ ได้ประชาชนกลุ่มนี้ แต่ผมไม่ได้มองว่าพรรคไหนจะเป็นเจ้าของประชาชน แม้แต่คนเสื้อแดงเองที่เราได้สัมผัสในยุคนั้น 

 

แน่นอน ในกลุ่มคนเสื้อแดงมีคนที่ชื่นชอบทักษิณมาก เพราะเขาได้รับประโยชน์จากนโยบายดีๆ ของพรรคเพื่อไทย รวมถึงคนที่ยึดมั่นในหลักการประชาธิปไตยก็อยู่ในกลุ่มคนเสื้อแดง ดังนั้นแต่ละคนจึงมีความชอบและความชื่นชมแตกต่างกันไป 

 

อีกประเด็นหนึ่งคือ ผมคิดว่าระยะเวลา 10 กว่าปี 20 ปีที่ผ่านมา ความคิดของคนเปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลา แม้แต่จากประสบการณ์ชีวิตผมเอง ปี 2550 ก็เลือกพรรคพลังประชาชน ปี 2554 ก็เลือกพรรคเพื่อไทย 

 

ผมคิดว่าประชาชนก็เช่นเดียวกัน ดังนั้นไม่มีพรรคใดเป็นเจ้าของใคร มีเพียงแต่ว่า ณ เวลานี้พรรคไหนมีทางเลือกอะไร มีข้อเสนออะไรที่ประชาชนเห็นด้วยหรือไม่ ผมคิดว่าประเด็นอยู่ตรงนั้น ถ้าเราสามารถเสนอชุดนโยบายข้อเสนอที่จะแก้ไขอะไรที่มวลชนคนเสื้อแดงเห็นด้วย เขาก็อาจจะเลือกเรา

 

เช่นเดียวกัน ถ้าพรรคเพื่อไทยสามารถทำให้ความต้องการของคนได้รับประโยชน์ ได้รับผล พรรคเพื่อไทยก็จะได้รับความนิยม เขาก็จะเลือกพรรคเพื่อไทย ดังนั้นขึ้นอยู่กับว่าเรามีข้อเสนออะไร มีชุดนโยบายอะไรที่ทำให้เขาต้องเห็นด้วยกับเรา ต้องเลือกเรา เราก็แข่งขันกันในส่วนนี้ เราก็ทำสิ่งนี้ให้เห็น

 

ปัจจุบันคนเสื้อแดงในพรรคเราเยอะนะ จริงๆ ตั้งแต่อนาคตใหม่มาก้าวไกล เรามี 2 กลุ่มหลักๆ คือ

 

  1. คนเสื้อแดงที่ยืนยันในเรื่องหลักประชาธิปไตยในยุคนั้น ไปชุมนุมด้วยหลักคิดเรื่องประชาธิปไตยเป็นหลัก มาอยู่กับเราส่วนหนึ่ง 
  2. เสื้อเหลืองที่ไม่ชอบพรรคการเมืองที่มีเจ้าของ เป็นพรรคของคนนั้นคนนี้ ธุรกิจการเมือง คนเสื้อเหลืองที่มีแนวคิดแบบนี้ก็มาพรรคเราเยอะ รวมถึง กปปส. ก็มี คือหลักๆ คนเหล่านี้อยากเห็นการเมืองที่สะอาด ไม่มีคอร์รัปชัน ซึ่งพรรคเราเองก็อยากเห็นแบบนั้น 

 

เพียงแต่ว่าน้ำหนักในการให้ความสำคัญแต่ละเรื่อง แต่ละประเด็น เราอาจจะเน้นประเด็นเรื่องการปรับเปลี่ยนโครงสร้าง แก้กติกาให้เป็นธรรม และไม่เห็นด้วยกับคอร์รัปชันเช่นกัน 

 

ผมคิดว่าคนเสื้อเหลืองกับ กปปส. ที่เขาไม่เห็นด้วยกับการเมืองคอร์รัปชัน การเมืองสกปรก วันนี้เขาเริ่มปรับความคิดเห็นว่าแค่นั้นไม่พอ เพราะต้องปรับเปลี่ยนกติกาด้วย 

 

การเมืองที่สกปรกส่วนหนึ่งเกิดจากกติกาที่มีปัญหา ผมคิดว่าแนวโน้มที่คนเหล่านี้มาร่วมกับพรรคเราจึงเป็นไปได้อยู่แล้ว 

 

 

พรรคประชาชนมีการรวมคนที่หลากหลาย แล้วรับได้หรือไม่ที่ ครม. ปัจจุบัน (ครม. แพทองธาร) รวมขั้วต่างๆ จนกระทั่งหน้าตารัฐบาลออกมาแบบนี้

 

ศรายุทธิ์: เรื่อง ครม. รวมหลายขั้ว กับเรื่องการรวมคนอย่างหลากหลายของพรรคเรา มีความแตกต่างกัน คือเวลาเราบอกว่าเรารวบรวมคน สิ่งที่เรามีคือเป้าหมาย เรามีภาพสังคมที่เราอยากให้เป็น ภาพประเทศไทยที่เราอยากสร้างขึ้น เรารวบรวมคนทุกคนให้เห็นด้วย ถ้าเห็นด้วยกับเราก็มากับเรา เราเปิดทางให้หมด ไม่ว่าอดีตจะเป็น กปปส. หรือเสื้อเหลือง ก็ไม่เป็นไร 

 

ถ้าเห็นด้วยว่าประเทศไทยอำนาจสูงสุดเป็นของประชาชน เป็นประชาธิปไตย เห็นด้วยกับระบบเศรษฐกิจไทยที่เป็นระบบเศรษฐกิจแบบเปิด เติบโต มีความก้าวหน้า มีเทคโนโลยี มีการจัดการที่เป็นธรรม คุณอยากเห็นประเทศไทยที่ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดี มีเสรีภาพ มีศักดิ์ศรีความเท่าเทียมกันไหม ถ้าเห็นด้วยมาช่วยกันทำ เข้ามาพรรคนี้เลย 

 

หน้าที่ของพรรคคือ ทำให้สังคมแบบนี้เกิดขึ้นในประเทศไทย ถ้าคุณเห็นด้วยเรารวมด้วยหมด นี่คือความเป็นเราที่เรารวบรวมทุกคน คือความหมายแบบนี้

 

ขณะที่รัฐบาลปัจจุบัน (รัฐบาลแพทองธาร) เขาต้องการสร้างประเทศไทยให้เป็นแบบไหน 

 

มีรัฐมนตรีบางคนบอกว่าบ้านเมืองต้องมาก่อน 

 

ศรายุทธิ์: คือคำพูดเนี่ยใครๆ ก็พูดได้ คำพูดที่ทำให้ฟังดูดีใครก็พูดได้ แต่ถามว่าเขากล้าไหมที่จะแก้ไขอะไรบางอย่างที่ทำให้เกิดประชาธิปไตย รัฐธรรมนูญต้องถูกแก้ไข กติกาที่ทำให้องค์กรอิสระเข้ามา เขาคิดเรื่องเหล่านี้อย่างไร 

 

 

เหตุผลเรื่องเสถียรภาพของรัฐบาลในการตั้ง ครม. รวมหลายขั้ว 

 

ศรายุทธิ์: ผมคิดว่าเป็นแค่คำพูดที่ทำให้ดูดี แต่แน่นอนว่าเขาพยายามรวมทุกฝ่าย เพราะทุกคนรู้แล้วว่าคู่แข่งของเขาคือเรา พรรคประชาชน การที่เขาพยายามรวบรวมทุกฝ่ายเพื่อที่จะสกัดเรา อันนี้ผมคิดว่าเป็นอะไรที่เรามองเห็นได้ ถ้าไม่มีพรรคประชาชนเขาอาจไม่จำเป็นต้องรวม ไม่จำเป็นเลย 

 

เรื่องต่อมา แม้แต่พวกเขาเองก็มีกลุ่มก๊วน อย่างเช่น พลังประชารัฐและประชาธิปัตย์ ในมุมของผมมองว่า สไตล์ทักษิณพยายามทำให้ทุกคนมาอยู่ภายใต้เขา สยบยอมต่อเขา ถ้ากลุ่มไหนแข็งขืนก็เอาออกไป แล้วเอาคนใหม่เข้ามา สุดท้ายเขาก็รวบรวมคนมาให้ทำในสิ่งที่เขาอยากทำ นั่นคือภาพใหญ่ แต่ในรายละเอียดแน่นอนความที่มีอุดมการณ์ต่างกัน บางเรื่องพวกเขาอาจจะมีปัญหาอยู่แล้ว

 

พรรคต่างๆ ตอนนี้ชุดความคิดเขาคืออะไร เขาต้องการอะไร ทั้งพลังประชารัฐและรวมไทยสร้างชาติต้องการประเทศแบบไหน ขณะที่พรรคประชาชนตอนนี้เราพูดได้ และเราสามารถอธิบายได้ด้วยว่านโยบายนี้จะไปสู่สิ่งนั้นได้อย่างไร นี่คือสิ่งที่เราอธิบาย 

 

นโยบายเรามีชุดนโยบายเยอะแยะเพื่อให้ภาพสังคมที่เราอยากเห็นปรากฏ ทำให้สังคมที่เราอยากสร้างเกิดขึ้น แต่พรรคอื่นจะไม่มีสไตล์แบบนี้ ดังนั้นเขาก็รวบรวมกัน สุดท้ายผมก็ไม่รู้ว่าโครงสร้างใหญ่ๆ ของประเทศ รัฐธรรมนูญจะถูกแก้ไขอย่างไร เรามองไม่เห็นเลยว่าเมื่อเขารวมกันแล้วเขาจะปรับปรุงกติกาประเทศอย่างไร กองทัพจะเปลี่ยนไปไหม สิ่งต่างๆ ที่เรามองว่าเป็นปัญหาจะเปลี่ยนไปไหม 

 

อย่างพรรคเพื่อไทยก่อนการเลือกตั้งคนพูดเรื่องการปฏิรูปกองทัพ แต่พอเป็นรัฐบาลแล้วกองทัพจะเปลี่ยนไปอย่างไร เราก็มองไม่เห็น 

 

 

หลังจากนี้ไม่มี 250 สว. จากสมัย พล.อ. ประยุทธ์ แล้ว ถ้าพรรคประชาชนเป็นผู้จัดตั้งรัฐบาลเอง เวลาต้องรวมเสียงโหวตจะมั่นใจได้อย่างไรว่าพรรคประชาชนจะไม่รวมเสียงหลายขั้วอย่างพรรคเพื่อไทย 

 

ศรายุทธิ์: ระบบรัฐสภา การรวมคนไม่ได้เป็นปัญหา ถ้าเขาจะรวมเพื่อเสถียรภาพรัฐบาลเข้มแข็ง ระบบก็เป็นแบบนั้น แต่สิ่งที่สำคัญคือ สิ่งที่ทำ 

 

ผมมั่นใจว่าพรรคประชาชน ถ้าเราเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลในอนาคต เราจะมีเป้าหมายว่าเราจะทำอะไรบ้างที่จะยึดโยงความคิดของพรรค เช่น ประเทศไทยภายใต้การนำของพรรคเราจะผลักดันการแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือแก้ไขกฎหมายต่างๆ ที่เป็นอุปสรรคขัดขวางประชาธิปไตย 

 

รัฐบาลภายใต้การนำของพรรคประชาชนจะแก้ไขกฎหมายเกี่ยวกับธุรกิจต่างๆ ลดการผูกขาดและเอื้อให้เกิดการแข่งขันมากขึ้น มีกฎหมายที่จะทำให้การจ้างงานมีความมั่นคง คือเราจะมีอะไรแบบนี้ 

 

การรวมเสียงจำเป็นต้องรวมอยู่แล้ว แต่เมื่อรวมแล้วจะผลักดันอะไรที่เกิดการเปลี่ยนแปลงจริงๆ ที่ประชาชนจับต้องได้อย่างที่เราประกาศไว้ เราประกาศอะไรไปเราต้องทำให้ได้ นั่นหมายความว่าคนที่มาร่วมกับเราต้องรู้ว่าเราจะผลักดันสิ่งนี้ ซึ่งเขาก็ต้องเอาด้วยเขาจึงจะมาร่วมกับเราได้ ถ้าเขาไม่เอาด้วยเขาก็มาร่วมกับเราไม่ได้ 

 

แน่นอน เราอาจจะทำไม่ได้ทั้งหมด ถ้าเราต้องอาศัยเสียงพรรคอื่นมาร่วมหลายพรรค เราอาจจะทำได้บางส่วน เราก็ต้องมาจัดลำดับความสำคัญว่า สิ่งที่ต้องการให้ทุกพรรคสนับสนุนมีอะไรบ้าง เรื่องไหนที่พรรคอื่นยังไม่เห็นด้วยก็ไม่เป็นไร เราก็ทำของเราไป ผลักดันการแก้กฎหมายในรัฐสภา ค่อยๆ ทำแม้จะยังไม่ผ่าน แต่ถ้าเรื่องไหนทุกคนเห็นด้วย ทุกคนก็จำเป็นต้องช่วยให้ผ่าน ภาพจะเป็นแบบนี้ถ้าเราเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล 

 

เตรียมตรวจสอบรัฐบาลในสิ่งที่พูดไว้ 

 

ศรายุทธิ์: จะรอดูว่ารัฐบาลชุดนี้ ครม. ชุดนี้ จะผลักดันอะไร จะทำอะไร เพื่อให้เกิดประโยชน์แก่ประชาชน และดูว่าสิ่งที่เขาพูดไว้ก่อนการเลือกตั้ง เขาได้ทำอย่างที่เขาพูดไหม ผมคิดว่าเราจะไปตรวจสอบตรงนั้นเป็นหลัก ตรวจสอบว่าสิ่งที่เขาเคยพูดว่าอยากทำโน่น ทำนี่ เมื่อวันที่เขามีอำนาจ เขาทำได้แค่ไหน

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising