×

ศานนท์เผย กทม. เปลี่ยนวัฒนธรรมภายในใหม่ ทำการเมืองในปัจจุบันให้เยาวชนเข้ามามีส่วนร่วม

โดย THE STANDARD TEAM
06.08.2022
  • LOADING...
ศานนท์ หวังสร้างบุญ

วันนี้ (6 สิงหาคม) ศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (รองผู้ว่าฯ ​กทม.) ร่วมปาฐกถาพิเศษ เรื่อง ‘เยาวชนร่วมสมัยกับการมีส่วนร่วมทางการเมือง’ และร่วมเสวนา ‘สื่อ vs. ข่าวปลอม เยาวชนกับการมีส่วนร่วมทางการเมือง’ ที่หอประชุมศรีบูรพา (หอประชุมเล็ก) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์

 

ศานนท์กล่าวว่า วันนี้ถือว่าเป็นวันสำคัญของเยาวชน เป็นงานที่ควรส่งเสริมให้มีการพูดเรื่องนี้มากขึ้นในสังคม กรุงเทพมหานคร (กทม.) เป็นพื้นที่ที่มีผู้คนหลากหลาย มหาวิทยาลัยก็เป็นพื้นที่หนึ่งที่เปิดเสรีสำหรับเยาวชน รวมถึงในพื้นที่ กทม. ก็มีพื้นที่ที่เป็นโรงเรียนสังกัด กทม. อีก 437 แห่ง มีห้องสมุดเพื่อการเรียนรู้ 34 แห่ง พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น และศูนย์สร้างสุขทุกวัยอีกเป็นจำนวนมาก ซึ่งทุกพื้นที่ไม่ได้เป็นเพียงพื้นที่สำหรับการเรียนหรือการศึกษาเท่านั้น รวมทั้งตามที่ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม. ได้พูดเสมอว่า การศึกษาไม่สำคัญเท่ากับการเรียนรู้ ในอนาคตทุกคนจึงควรมีทักษะในเรื่องของการเรียนรู้ทุกที่ทุกเวลา

 

และเชื่อว่าการเรียนรู้ในทุกวันนี้เกิดขึ้นนอกห้องเรียนมากกว่าในห้องเรียน ซึ่งการเรียนรู้จะเกิดขึ้นต่อเมื่อเราเปิดรับความหลากหลาย ไม่จำกัดว่าใครเป็นผู้ให้หรือผู้รับความรู้เท่านั้น การเปิดกว้างทางการเมืองก็เป็นเรื่องสำคัญเช่นเดียวกัน ที่ กทม. ได้เล็งเห็นและเปิดกว้างมากขึ้น ส่วนตัวคิดว่าทุกคนสามารถเป็นผู้เรียนรู้ได้ ในเรื่องของแพลตฟอร์ม TikTok ก็ทำให้เห็นว่าผู้ใหญ่ก็ยังเป็นเยาวชนสำหรับโลกดิจิทัลเช่นกัน ผู้ว่าฯ กทม. จึงได้ให้ความสำคัญกับการเรียนรู้ ความหลากหลาย และการมีส่วนร่วม โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องการเมืองมากขึ้น

 

จากนั้นศานนท์ได้ร่วมเสวนา ‘สื่อ vs. ข่าวปลอม เยาวชนกับการมีส่วนร่วมทางการเมือง’ โดยมีผู้ร่วมเสวนา ประกอบด้วย มนต์ศักดิ์ ชัยวีระเดช อาจารย์ประจำคณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, ฐปณีย์ เอียดศรีไชย จาก The Reporters และ ธนกร วงษ์ปัญญา จาก THE STANDARD

 

“ความหมายของการมีส่วนร่วมทางการเมืองอาจจะเป็นเพียงส่วนหนึ่ง ภาพใหญ่คือการมีส่วนร่วมทางสังคม บางครั้งการเมืองในปัจจุบันอาจจะตามไม่ทันเนื่องจากสื่อและสังคมไปกว้างกว่านั้น การเมืองอาจหมายถึงวัฒนธรรมการรับฟังซึ่งกันและกัน อย่าง กทม. เองเราก็เปลี่ยนวัฒนธรรมภายในเพื่อให้เกิดการมีส่วนร่วมทางสังคมที่กว้างขึ้น อย่างเช่นการเปิด Traffy Fondue ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นเล็กๆ ที่ กทม. จะรับฟังเสียงจากประชาชน การเปิดพื้นที่ให้ชุมนุมโดยหน่วยงานภาครัฐอำนวยความสะดวก และการเปิดเผยข้อมูล Open Bangkok ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญของการมีส่วนร่วมในอนาคต ให้เยาวชนได้รับรู้ข้อมูลของภาครัฐ สิ่งสำคัญไม่ใช่การทำให้เยาวชนมามีส่วนร่วมกับการเมือง แต่เป็นการทำให้การเมืองปัจจุบันเปิดให้เยาวชนเข้ามามีส่วนร่วมมากกว่า เนื่องจากในทุกวันนี้เยาวชนพร้อมที่จะพูด พร้อมที่จะรับฟังอยู่แล้ว ที่แพลตฟอร์มต่างๆ เกิดขึ้นก็เพราะประชาชนอยากมีที่ระบาย ในขณะที่ภาครัฐไม่ได้เปิด ภาครัฐควรคิดว่าจะทำอย่างไรที่จะเปิดให้เยาวชนได้เข้ามามีส่วนร่วมมากกว่า” ศานนท์กล่าว

 

ทั้งนี้ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติร่วมกับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และเครือข่ายสถาบันการศึกษา 24 สถาบันทั่วประเทศ จัดกิจกรรมสร้างแนวร่วมเยาวชนร่วมสมัยกับการมีส่วนร่วมทางการเมืองรู้เท่าทันข่าวปลอม ภายใต้โครงการการเมืองเยาวชนร่วมสมัยกับการสร้างเครือข่ายการมีส่วนร่วมทางการเมืองรู้เท่าทันข่าวปลอม ซึ่งสำนักงานการวิจัยแห่งชาติได้ให้ทุนสนับสนุน เนื่องจากเล็งเห็นพลังสำคัญของเยาวชนที่แสดงออกมา ภาคีเครือข่ายจึงได้ร่วมกันค้นหาความหมายต่างๆ ที่เยาวชนได้แสดงออกมา

 

รวมถึงพลังของโซเชียลมีเดียที่ทำให้ต้องมีการบริหารจัดการข้อมูลข่าวปลอม และปรากฏการณ์ของแพลตฟอร์ม TikTok โดยภายใต้โครงการดังกล่าว ซึ่งเป็นโครงการวิจัยเชิงปฏิบัติการ มีเป้าหมายที่จะสร้างความเข้าใจแก่เยาวชนในการมีส่วนร่วมทางการเมือง เพื่อสร้างเครือข่ายเยาวชนที่เข้าร่วมโครงการวิจัยให้เป็นนักวิจัยร่วมในการสร้างสื่อรู้เท่าทันข่าวปลอมการเมืองในแต่ละภูมิภาคของตน รวมทั้งเพื่อเตรียมพร้อมในการรู้เท่าทันข่าวปลอมในอนาคต และเป็นการร่วมกันสร้างสรรค์สื่อเพื่อสังคมไทย

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising