นโยบายติดเครื่องปรับอากาศหรือแอร์ในห้องเรียนอนุบาล กำลังสะท้อนถึงอะไร คุณคิดว่ามันคือการแก้ปัญหาช่วงที่ฝุ่น PM2.5 ลอยฟุ้งอยู่ในอากาศ, ความทัดเทียมที่เด็กทุกคนไม่ว่าจะเรียนโรงเรียนสังกัดใดก็ควรจะได้รับ หรือจะเป็นเพียงความฟุ่มเฟือยที่สร้างความรักสบายให้เด็ก
THE STANDARD ชวนคุยกับ ศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ผู้ที่เดินหน้าผลักดันโครงการห้องเรียนปลอดฝุ่นโดยการติดแอร์ให้ทุกห้องเรียนอนุบาล ซึ่งจะมาเปิดใจครั้งแรก ทั้งในมุมมองของผู้บริหาร ผู้พัฒนานโยบาย และคุณพ่อที่มีลูกในช่วงวัยอนุบาล
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- รองผู้ว่าฯ กทม. พร้อมนำโครงการห้องเรียนปลอดฝุ่นกลับไปทบทวน ก่อนเดินหน้ายื่นสภา กทม. อีกครั้ง
- กทม. ชวน ‘สอยดาวสอยดอก’ สวน 15 นาที ริมคลองรอบกรุง เปิดพื้นที่กิจกรรมสร้างสรรค์ที่ปากคลองตลาด
เมื่อฝุ่นคลุมเมือง กทม. มีมาตรการดูแลกลุ่มเปราะบางอย่างไร
ไม่มีช่วงเวลาไหนที่เหมาะจะพูดเรื่องฝุ่นเท่ากับช่วงเวลานี้ที่เป็นฤดูฝุ่น (เดือนตุลาคม-ธันวาคม) THE STANDARD มีโอกาสพูดคุยกับ ศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ที่มีหน้างานรับผิดชอบเรื่องการศึกษาและคุณภาพชีวิตโดยตรง
ศานนท์ได้อธิบายถึงมาตรการที่โรงเรียนในสังกัด กทม. ใช้ ณ ปัจจุบันนี้ว่า “สำหรับในโรงเรียนเรามีมาตรการอย่างแรกคือเรื่องของการสร้างความตระหนักรู้ เพราะต้องยอมรับว่ายังมีเด็กๆ อีกหลายคนที่ยังไม่เข้าใจเรื่องฝุ่นละออง PM2.5 ดีพอ และยังไม่รู้ว่าภัยเหล่านี้เป็นอันตรายต่อตัวพวกเขามากขนาดไหน
“สิ่งที่สำนักสิ่งแวดล้อม กทม. ทำและพัฒนามาอย่างต่อเนื่องคือแอปพลิเคชันรายงานคุณภาพอากาศ ส่วนนี้เราจะให้เด็กๆ ได้ทดลองอ่านและแจ้งเตือนกับเพื่อนๆ มีกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ในโรงเรียนด้วยการติดธงตามคุณภาพอากาศ เช่น วันที่มีฝุ่นมากจะใช้ธงสีแดง วันที่มีฝุ่นน้อยใช้ธงสีฟ้า ติดอยู่คู่กับเสาธงชาติ
“เพราะฉะนั้นเด็กๆ จะรู้ว่าวันที่ธงสีแดงพวกเขาจะไม่ได้มาวิ่งเล่นกลางแจ้งหรือทำกิจกรรมนอกห้องเรียน แต่วันไหนที่อากาศดีจะสามารถวิ่งเล่นได้ตามปกติ นอกจากนี้ กทม. ยังร่วมมือกับหลายเครือข่าย นำเรื่องฝุ่นสอดแทรกเข้าไปในหลักสูตรการเรียน โดยมุ่งให้เด็กรู้จักภัยของฝุ่นที่มีทุกปี เมื่อเด็กได้เรียนและเข้าใจ พวกเขาก็จะสามารถนำความรู้กลับไปใช้ที่บ้านได้ เขาสามารถบอกผู้ปกครองได้ว่าวันนี้จะต้องเตรียมหน้ากากอนามัย วันนี้จะต้องทำตัวอย่างไร”
ศานนท์กล่าวต่อว่า ในอีกทางหนึ่ง กทม. ได้เริ่มทำห้องเรียนปลอดฝุ่นแบบ DIY ปีที่ผ่านมาได้ทดสอบ 3 โรงเรียน หลักการคือพยายามทำห้องเรียนให้เป็นแบบปิด Positive-Pressure ไล่ลมออกเพื่อให้ห้องป้องกันฝุ่น ซึ่งเมื่อวัดค่าฝุ่นแล้วปรากฏว่าห้องดังกล่าวพอจะช่วยป้องกันฝุ่นได้ประมาณหนึ่ง แต่ข้อเสียคือในห้องอากาศจะร้อนและเป็นอุปสรรคในการอยู่ของนักเรียนและครู
อีกหนึ่งวิธีที่ กทม. ทดลองและเป็นสิ่งที่ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครเน้นย้ำคือ การติดสปริงเกอร์ (เครื่องพ่นละอองน้ำ) ไว้ตามอาคารเรียน วันไหนที่มีค่าฝุ่นสูงก็จะเปิดสปริงเกอร์เพื่อพ่นละอองน้ำมาดักฝุ่น ซึ่งผลที่ได้พบว่า ตรงจุดม่านน้ำค่าฝุ่นลดลง แต่สุดท้ายเมื่อพ้นระยะที่มีม่านน้ำค่าฝุ่นก็จะยังสูงอยู่ดี เท่ากับว่าแผนนี้ไม่ได้ช่วยเรื่องฝุ่นในระยะยาว
อีกหนึ่งมาตรการที่ขณะนี้สามารถสังเกตได้เลยว่าทุกโรงเรียนทำแล้วจริงคือ การปลูกต้นไม้ประเภทฟอกอากาศไว้ตามระเบียงอาคารเรียน แต่ถ้าท้ายที่สุดวันที่ค่าฝุ่นสูงและเสี่ยงเป็นอันตรายต่อกลุ่มเปราะบาง ทาง กทม. ได้ให้อำนาจผู้อำนวยการโรงเรียนสั่งหยุดการเรียนการสอนได้เพื่อความปลอดภัย และให้จัดชั่วโมงเรียนทดแทนเวลาที่หยุดไป
ศานนท์ระบุว่า มาตรการเหล่านี้เป็นมาตรการที่แต่ละโรงเรียนสามารถทำได้ด้วยตัวเอง เพื่อดูแลให้น้องๆ นักเรียนให้มีสุขภาวะที่ดีที่สุด
ทำวันนี้ให้ (เกือบ) ดีที่สุด เมื่อเรื่องฝุ่นไม่ใช่เพียงปัญหาระดับเมือง แต่คือปัญหาระดับประเทศ
เมื่อถามว่าวันนี้ กทม. คิดว่ามาตรการที่มีดีที่สุดแล้วหรือยัง?
“ถ้าตอบตรงๆ ผมคิดว่ายังไม่ดีพอ มันเป็นมาตรการเชิงรับมากกว่ามาตรการเชิงรุก” ศานนท์ตอบกลับทันที
ศานนท์กล่าวว่า หากจะพูดถึงมาตรการเชิงรุกเรื่องฝุ่น PM2.5 ตนคิดว่าเป็นเรื่องยาก เพราะปัญหานี้ไม่ได้เป็นปัญหาที่เกิดเฉพาะในพื้นที่กรุงเทพมหานครเท่านั้น แต่สาเหตุหนึ่งที่เกิดฝุ่นคือการเผาไหม้จากนอกพื้นที่หรือแม้แต่นอกประเทศ แต่ถึงแม้จะเป็นเรื่องยากก็เป็นเรื่องที่ต้องแก้ และเรื่องนี้จะเป็นภารกิจที่ กทม. ต้องทำต่อเนื่องไปอีกระยะยาว
“สิ่งที่ผมกับทางทีมผู้บริหารตั้งใจจะทำให้ได้คือ อยากสร้างห้องเรียนทุกห้องให้ทัดเทียมกับโรงเรียนไม่ว่าจะเป็นเอกชนหรือโรงเรียน สพฐ.” ศานนท์กล่าว
“ทุกวันนี้เราไปโรงเรียนไหนก็ตาม ทุกห้องเรียนแทบจะติดแอร์กันหมด ทุกห้องเหล่านั้นเรามองว่ามีสภาพที่เหมาะกับการเรียนรู้มากๆ เราเองที่เข้าไปยังรู้สึกว่ามีสมาธิ มีใจที่จดจ่อ ส่วนตัวมองว่าการติดตั้งเครื่องปรับอากาศหรือแอร์ในวันนี้ไม่ได้เป็นแค่เรื่องการสร้างความปลอดภัยจากฝุ่นเพียงอย่างเดียว แต่เป็นเรื่องของสมาธิเด็กด้วย
“หากยกตัวอย่าง ถ้าเรานั่งในห้องร้อนๆ เราจะมีสมาธิในการทำอะไรบ้าง การที่ต้องเรียนแน่นอนว่าเป็นเรื่องที่ลำบาก แต่ถ้าเด็กได้นั่งในห้องแอร์ สภาพแวดล้อมที่เหมาะสม ตัวเด็กเองก็จะมีสมาธิ มีปฏิกิริยาตอบโต้กับสิ่งที่เขาจดจ่อ ฉะนั้นมันเป็นเรื่องพื้นฐานมากๆ ที่เราควรจะทำ ควรจะมอบให้กับเด็กทุกคน”
ศานนท์กล่าวต่อว่า อีกเรื่องที่เราไม่ควรมองข้ามคือ เรื่องของเครื่องกรองอากาศหรือเครื่องฟอกอากาศ ปัจจุบันเทคโนโลยีในการกรองอากาศไปไกลมากแล้ว มันสามารถสร้างความปลอดภัยให้กับพื้นที่ที่มีการติดตั้งได้ในระดับหนึ่ง ฉะนั้นในทุกห้องเรียนก็ควรจะมีเครื่องฟอกอากาศนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในห้องของกลุ่มเปราะบาง อย่างเช่น กลุ่มเด็กอนุบาล
แต่ในที่นี้เราก็ไม่ได้หลงลืมเรื่องของการสร้างความตระหนักรู้ เราควรจะเอาเรื่องฝุ่นเข้าไปอยู่ในชีวิตประจำวัน เอาเข้าไปอยู่ในหลักสูตรให้เด็กได้เรียนรู้ว่าเขาควรจะดูแลตัวเองอย่างไร
“บางทีเราไปเรียนเรื่องสงครามโลก ไปเรียนเรื่องที่ไกลๆ ถามว่าต้องเรียนไหม แน่นอนว่ายังต้องเรียน แต่เรื่องที่ใกล้ตัวอย่างเรื่องฝุ่น ภัยพิบัติน้ำท่วม ที่เราเจอทุกวัน เราก็อยากเอามาไว้ในหลักสูตร เพื่อที่จะทำอย่างไรก็ได้ให้เด็กเรียนรู้ที่จะเผชิญกับภัยพิบัติในเมืองมากขึ้น” ศานนท์กล่าว
ถ้าเราร้อน…เด็กก็ร้อนเหมือนกัน ถอดบทเรียนจากการเยี่ยมเยียนห้องเรียนอนุบาล
ศานนท์เล่าว่า ที่ผ่านมาตนเองจะชอบลงพื้นที่ตามโรงเรียนเพื่อสำรวจความเป็นอยู่ของเด็กๆ มีวันหนึ่งที่ได้ไปโรงเรียนอนุบาลช่วงพักกลางวัน เป็นช่วงเวลาที่เด็กกำลังนอน สิ่งที่เห็นคือ ในห้องมีพัดลมติดเพดานประมาณ 4-5ตัว และที่พื้นมีพัดลมแบบตั้งอีก 5-6 ตัว เราเองยังรู้สึกว่าแค่ฟังเสียงก็คงนอนไม่ไหวแล้ว
“มันเป็นสภาวะที่ผมมีลูก ผมก็ไม่อยากให้ลูกมาอยู่ในโรงเรียนที่อยู่ในสภาวะแวดล้อมแบบนี้ เราเลยมีความคิดว่าน่าจะทำให้โรงเรียนของเราน่าอยู่ได้มากกว่านี้ อย่างน้อยตัวเราเองต้องภูมิใจในโรงเรียนของเราก่อนว่านี่คือสถานที่ที่เราเองก็อยากส่งลูกมาเข้าเรียน” ศานนท์กล่าว
สิ่งนี้คือหัวใจของการพัฒนานโยบายต่างๆ เราต้องตั้งต้นจากการสร้างความภูมิใจในสถานที่ของเรา ตัวเราเองในฐานะผู้บริหารของ กทม. เรามีโจทย์ที่สำคัญคือ ต้องลบความคิดที่ว่าโรงเรียน กทม. เป็นโรงเรียนสำหรับคนจน สำหรับคนที่มีเงินน้อย มีรายได้น้อย เราเองต้องมองข้ามกำแพงนี้และพยายามพัฒนาศักยภาพ ลักษณะทางกายภาพ ให้ทัดเทียมกับโรงเรียนอื่นๆ ไม่แพ้โรงเรียนเอกชนหรือโรงเรียนใด
“สิ่งเหล่านี้คือเงื่อนไขสำคัญที่จะลดความเหลื่อมล้ำในอนาคตด้วย เพราะผู้ว่าฯ กทม. พูดไว้เลยว่า การศึกษาคือเครื่องมือเดียวและเป็นเครื่องมือสำคัญในการลดความเหลื่อมล้ำในอนาคต ถ้าเรายังไม่สามารถทำให้เด็กเข้าถึงการศึกษาที่ดีได้ เราไม่ต้องคาดหวังเลยว่าเด็กโตไปจะเป็นแบบไหน” ศานนท์กล่าว
เมื่อถามย้ำว่า การติดแอร์เป็นเรื่องที่เหมาะสมแล้วหรือไม่ ทำไมมีบางคนกลับมองว่าทำให้เด็กรู้สึกรักสบาย ฟุ่มเฟือยเกินไป
ศานนท์กล่าวว่า ถ้าเรามองย้อนกลับไปเมื่อ 10 ปีที่แล้ว ข้อท้วงติงนี้อาจจะเป็นสิ่งที่หลายคนคิด แต่มาวันนี้ส่วนตัวคิดว่าแอร์เป็นอะไรที่ค่อนข้างธรรมดา และทุกวันนี้แอร์ก็มีเทคโนโลยีที่ช่วยประหยัดไฟ ไม่ได้สร้างทรัพยากรที่เป็นต้นทุนมาก
“ถ้าเราดูสภาพห้องเรียนที่เด็กอยู่ตั้งแต่ 8 โมงเช้า จนถึงบ่าย 3-4 โมง เราจะเห็นว่าเด็กใช้เวลาในห้องมาก บางทีมากกว่าอยู่ที่บ้านตัวเองด้วยซ้ำ
“การที่มีแอร์มันสามารถช่วยแบ่งเบาภาระผู้ปกครอง ทำให้เด็กได้รับการดูแลที่ดี ช่วยทำให้เขามีชีวิตประจำวันที่ดี มีสุขอนามัยที่ดีขึ้น มันทำให้การจัดการเรื่องของฝุ่นดีขึ้น ผมจึงเชื่อว่ามันเป็นปัจจัยพื้นฐานที่เราน่าจะต้องมีให้กับเด็กๆ โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบางและกลุ่มเด็กอนุบาล” ศานนท์กล่าว
ส่วนที่หลายคนกังวลตามมาว่า การติดแอร์จะเป็นการโยนภาระ เพิ่มค่าใช้จ่ายให้โรงเรียนหรือไม่ ก่อนอื่นเราอยากย้ำว่า การลงทุนในเด็กเป็นสิ่งที่สำคัญมากๆ กทม. มีงบประมาณที่ได้รับการจัดสรรจากกระทรวงศึกษาธิการอยู่แล้ว ถ้าคำนวณจากที่กระทรวงฯ ให้ทุกปีเป็น 100% แยกออกมาเป็น 40% ที่แบ่งไปใช้ในค่าสาธารณูปโภค โดยเฉพาะค่าไฟ
ศานนท์อธิบายต่อว่า ปัจจุบันภาพรวมโรงเรียนสังกัด กทม. ใช้ค่าสาธารณูปโภคไปเพียง 27% เท่ากับว่ายังเหลืองบส่วนนี้อีกประมาณ 13% จากการคำนวณ หากเราติดแอร์ที่ห้องเรียนอนุบาลค่าไฟก็ไม่ได้เป็นภาระ อีกทั้งตามปกติ กทม. จะมีเงินอุดหนุนเสริมเข้าไปในส่วนโรงเรียนอยู่แล้ว ถ้าอนาคตมีการติดแอร์ ต่อให้ค่าไฟเกิน 13% กทม. ก็ยินดีที่จะเติมเข้าไปในส่วนที่ขาด
ช่วงที่เราเฝ้าระวังให้ปลอดฝุ่นเป็นเวลาแค่ไม่กี่เดือน แต่สิ่งที่เราจะได้รับกลับมาจากการมีแอร์ในห้องเรียนคือเรื่องสมาธิของการเรียนรู้และการพักผ่อนของเด็กอนุบาล ตนยังเชื่อมั่นว่าการติดแอร์เป็นปัจจัยพื้นฐานที่ กทม. ควรจะทำ
ห้องเรียนปลอดฝุ่น นโยบายที่ถูกดับฝัน กำลังรอวันสอบซ่อม
ย้อนกลับไปเมื่อช่วงต้นเดือนกันยายน 2566 ในที่ประชุมสภากรุงเทพมหานครได้มีมติตัดงบประมาณในส่วนของการติดเครื่องปรับอากาศในห้องเรียนจากนโยบายห้องเรียนปลอดฝุ่น โดยให้คงเหลือไว้ในส่วนของการจัดซื้อเครื่องฟอกอากาศเท่านั้น
การตัดนโยบายในครั้งนั้นนำมาซึ่งเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่าเหมาะสมหรือไม่ที่ตัดงบในส่วนนี้ แต่ด้วยเหตุผลของทางสภาที่มองว่าแผนการจัดสรรยังไม่เหมาะสมและอาจมีทางเลือกอื่นที่ดีกว่าการติดแอร์ ขอให้ทางผู้บริหารที่นำเสนอนโยบายได้กลับไปทบทวนและยื่นเข้าสู่ที่ประชุมเพื่อพิจารณาของบประมาณใหม่
ศานนท์ซึ่งเป็นผู้ยื่นของบประมาณจากนโยบายดังกล่าว ได้น้อมรับข้อคิดเห็นและยืนยันว่าจะพัฒนาปรับปรุงนโยบายดังกล่าว และกลับมายื่นให้สภา กทม. อนุมัติอีกในอนาคต
ศานนท์กล่าวยืนยันว่า ส่วนตัวคิดว่าเป็นโครงการที่จำเป็น จึงเป็นเหตุผลที่ทำโครงการนี้ต่อ แต่ที่ผ่านมาคงมีเหตุผลที่จะต้องกลับไปคิดอย่างถี่ถ้วนอย่างที่สภา กทม. ชี้แจง
ปีนี้ทางสภา กทม. อนุมัติเครื่องฟอกอากาศมาแล้ว ส่วนเรื่องการติดแอร์ เมื่อยังไม่ผ่านการพิจารณาและฤดูฝุ่นเริ่มแล้ว ทาง กทม. เองจึงต้องวางแผนรับมือโดยให้โรงเรียนลองจัดสรรสิ่งที่ทำได้และสิ่งที่มี เช่น การโยกย้ายแอร์จากห้องพักครูมาที่ห้องอนุบาล หรือการหาหน่วยงานอื่นเข้ามาสนับสนุน
อีกหนึ่งทางออกในวันที่ค่าฝุ่นอยู่ในระดับวิกฤต ทุกโรงเรียนจะมีห้องประชุมซึ่งมีแอร์ พื้นที่นั้นเราจัดว่าเป็นพื้นที่ปลอดฝุ่น หากจำเป็นก็อพยพเด็กอนุบาลไปอยู่ที่ห้องนั้นก่อนเพื่อให้ปลอดภัย
ตนเชื่อว่า กทม. ยังสามารถบริหารจัดการกับเรื่องฝุ่นได้ดี แม้นโยบายห้องเรียนปลอดฝุ่นจะยังไม่สำเร็จแบบเต็มรูปแบบ แต่เชื่อว่าปีหน้านโยบายนี้จะกลับเข้าไปให้สภา กทม. ได้พิจารณาอีกครั้ง ตนจะเอาข้อเสนอแนะจากสมาชิกทุกท่านมาปรับปรุง และจะพยายามพัฒนาโดยยึดหลักประโยชน์ของเด็กให้ได้มากที่สุด