×

ไขทุกข้อสงสัย ถ้วยอนามัยคืออะไร ใช้อย่างไร เลือกอย่างไร?

13.05.2022
  • LOADING...
ถ้วยอนามัย

ทุกวันนี้ค่าครองชีพในชีวิตประจำวันมีแต่จะพุ่งสูงขึ้น ไม่ว่าจะเป็นค่าไฟ ค่าน้ำมัน และค่าครองชีพอื่นๆ ที่จำเป็นต้องจ่ายออกไปทุกๆ เดือน หากโฟกัสมาที่ค่าใช้จ่ายส่วนตัวของผู้หญิง เช่น การซื้อผ้าอนามัยในแต่ละเดือนของหญิงที่มีประจำเดือน นับเป็นอีกปัจจัยจำเป็นที่เลี่ยงไม่ได้ และราคาของผ้าอนามัยก็มีหลากหลายราคา ไม่ว่าจะเป็นแบบใช้ภายนอก (Sanitary Pad) หรือผ้าอนามัยแบบสอด (Tampon) ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่ใช้แล้วทิ้ง ผ้าอนามัยก็ไม่ต่างจากการเป็นส่วนหนึ่งของขยะที่เกิดขึ้นในโลก ทำให้ช่วงนี้เริ่มมีกระแสของการใช้ถ้วยอนามัย (Menstrual Cup) แทนการใช้ผ้าอนามัยในผู้หญิงที่มีประจำเดือน ซึ่งได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ แต่ก็ยังมีหลายคนที่ไม่รู้จัก ไม่กล้าใช้ หรืออยากรู้จักถ้วยอนามัยให้มากขึ้นกว่านี้ เผื่ออยากเปลี่ยนมาเป็นทางเลือกใหม่ในการประหยัดค่าผ้าอนามัย และช่วยลดขยะในโลกไปในตัว พญ.ชัญวลี ศรีสุโข จึงมาไขทุกข้อสงสัยเกี่ยวกับถ้วยอนามัยให้ได้เข้าใจแจ่มแจ้งดังนี้ 

 

ถ้วยอนามัย

 

ถ้วยอนามัย (Menstrual Cup) คืออะไร?

แต่เดิมผลิตภัณฑ์รองรับประจำเดือนในผู้หญิงที่มีประจำเดือน มักนิยมใช้ผ้าอนามัย โดยมีทั้งผ้าอนามัยแบบธรรมดา (Sanitary Pad) และผ้าอนามัยแบบสอด (Tampon) ซึ่งแบบหลังได้รับความนิยมน้อยกว่า และการเกิดขึ้นของถ้วยอนามัยนั้น จากข้อมูลพบว่า เริ่มมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1987 ที่มีการผลิตถ้วยอนามัยในทางการค้าให้เป็นทางเลือกของการจัดการกับวันมามากและมาน้อยของเดือนสำหรับผู้หญิง ซึ่งจะใช้สอดใส่เข้าไปรองรับเลือดประจำเดือนในช่องคลอด และมีการพัฒนาต่อยอดเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน  

 

ถ้วยอนามัยรองรับประจำเดือนได้ขนาดไหน? 

โดยปกติแล้ว ถ้วยอนามัยจะรองรับเลือดของประจำเดือนได้ครั้งละ 10-38 ซีซี เนื่องจากประจำเดือนผู้หญิงรอบหนึ่งมาไม่เกิน 80 ซีซี ต่อ 3-5 วัน ในวันหนึ่งๆ แนะนำให้เปลี่ยนถ้วยอนามัยทุก 4-12 ชั่วโมงก็เพียงพอ

 

ชนิดของถ้วยอนามัยในท้องตลาด

  1. ชนิดสอดใส่เข้าช่องคลอด มีลักษณะเหมือนระฆัง สอดใส่ช่องคลอดไม่ต้องลึกมาก 
  2. ชนิดครอบปากมดลูก มีลักษณะเหมือนถ้วย สอดใส่ลึก ชิดปากมดลูก

 

ทุกชนิดเนื้อสัมผัสเรียบนิ่ม โดยขนาดของถ้วยอนามัย จะมี 3 ขนาด ทั้ง S, M และ L ซึ่งการใช้งานของขนาดต่างๆ มีดังนี้

 

  • ขนาด S ใช้กับวัยรุ่นอายุน้อยกว่า 18 ปี ยังไม่เคยมีลูก
  • ขนาด M ใช้กับหญิงที่อายุ 18-30 ปี ยังไม่เคยคลอดลูกผ่านช่องคลอด ช่องคลอดไม่กว้าง
  • ขนาด L ใช้กับหญิงอายุมากกว่า 30 ปี เคยผ่านการคลอดลูกตามธรรมชาติ หรือประจำเดือนมามาก

 

วัสดุที่ใช้ทำถ้วยอนามัยทำจากอะไร? 

ถ้วยอนามัยมักจะทำด้วยซิลิโคนหรือยางนิ่ม (Rubber, Latex, Thermoplastic Elastomer) มีความยืดหยุ่นสูง แข็งแรงทนทาน ใช้แล้วนำมาล้างใช้ใหม่ได้ อาจใช้ซ้ำได้นานถึง 10 ปี จึงได้รับการขนานนามอีกชื่อว่าเป็น ผ้าอนามัยซักได้

 

ถ้วยอนามัย

 

ประโยชน์ของถ้วยอนามัย

  1. ราคาถูก เมื่อเทียบกับอายุการใช้งาน เพราะนำมาล้างด้วยน้ำและสบู่ใช้ใหม่ได้ ราคาประมาณ 200-1,000 บาทเศษ แล้วแต่ชนิดของวัสดุและยี่ห้อ มีการคำนวณการคุ้มทุน พบว่าราคาผ้าอนามัยใน 1 ปี มักจะสูงกว่าหรือพอๆ กับถ้วยอนามัย 1 ถ้วย ขณะที่ถ้วยอนามัยใช้ได้นานถึง 10 ปี
  2. ลดขยะผ้าอนามัย ลดโลกร้อนในการกำจัดขยะติดเชื้อ
  3. ปลอดภัย ไม่เพิ่มการติดเชื้อ ไม่มีอันตรายต่อสุขภาพ ยกเว้นแพ้วัสดุที่ผลิต
  4. สามารถทำกิจกรรมต่างๆ เช่น ออกกำลังกาย ว่ายน้ำ โยคะ โดยไม่เปื้อนซึม
  5. เหมาะสำหรับคนที่ต้องการตวงปริมาณของประจำเดือนในแต่ละรอบว่ามามากหรือน้อย เกี่ยวข้องกับอาการซีดหรือไม่
  6. ลดความอับชื้นที่อวัยวะเพศ ลดการอักเสบติดเชื้อจากการใส่ผ้าอนามัยเป็นเวลานาน
  7. ลดกลิ่นของประจำเดือน เพราะกักเก็บเลือดไว้ในถ้วย ไม่ออกมาปนเปื้อนกับผ้าอนามัยและความเปียกชื้น

 

ถ้วยอนามัย

 

ข้อควรระวังของการใช้ถ้วยอนามัย

  1. การใช้ถ้วยอนามัย ควรทราบกายวิภาคของช่องคลอดและปากมดลูก เพื่อจะได้ใส่ได้ถูกต้อง ในคนที่มีช่องคลอด ปากมดลูก และมดลูกผิดปกติ อาจไม่เหมาะต่อการใช้ 
  2. ต้องทราบเทคนิคการใส่ เช่น งอถ้วยอนามัย เบ่งเล็กน้อยก่อนใส่ ระวังการบาดเจ็บในการใส่ครั้งแรก งานวิจัยพบว่า การคงใช้มีร้อยละ 80 โดยผู้เลิกใช้มักเลิกใช้ภายในสามเดือนแรกเพราะรู้สึกใส่ยาก แต่หากใส่จนชำนาญจะชิน รู้สึกสบายกว่าการใช้ผ้าอนามัย การคงใช้จะสูงขึ้น
  3. ไม่ควรใช้ในผู้ที่สวมห่วงอนามัย อาจทำให้ห่วงเลื่อนหลุดได้ 
  4. ต้องทราบเทคนิคการเอาออก เช่น จับตัวถ้วย บีบถ้วย เบ่งเล็กน้อย ขยับถ้วยออกมา ไม่ดึงก้านถ้วยโดยตรงเพราะจะเลอะเทอะได้ งานวิจัยพบว่า ผู้ใช้ส่วนใหญ่เอาออกตอนนั่งชักโครก มิฉะนั้นเลือดประจำเดือนจะเปรอะเปื้อน ต้องเตรียมอุปกรณ์ เช่น น้ำสะอาดสำหรับล้าง หรือบางคนใช้ทิชชูเปียกฆ่าเชื้อทำความสะอาดหลังเอาออก 
  5. อาจเอาออกยาก ในบางรายเอาออกไม่ได้ ต้องรอให้มีประจำเดือนจำนวนมาก ถ้วยจึงเลื่อนลงมาต่ำ เอาออกง่ายขึ้น
  6. การสอดใส่ถ้วยอนามัยเข้าไปในช่องคลอดอาจยังไม่เป็นที่ยอมรับในบางวัฒนธรรม เนื่องจากความกลัว (ที่ไม่เป็นจริงตามหลักการทางวิทยาศาสตร์) ว่าจะเกิดการอักเสบติดเชื้อ เยื่อพรหมจรรย์ฉีกขาด และช่องคลอดกว้างขึ้น

 

การเลือกซื้อถ้วยอนามัย

  1. เลือกขนาด S, M หรือ L ให้เหมาะสมกับตัวเอง 
  2. เลือกราคา ไม่ควรเลือกราคาต่ำสุด เพราะราคามักขึ้นอยู่กับวัสดุที่ใช้ ซิลิโคนเกรดการแพทย์มักจะราคาสูง
  3. เลือกก้าน มีชนิดก้านกลมตรง แบน ห่วงวงกลม ที่สะดวกสำหรับผู้ใช้เวลาเอาออก

 

สิ่งที่ต้องพิจารณาเพิ่มเติมเป็นพิเศษเกี่ยวกับการใช้งานถ้วยอนามัย

  1. หากต้องการทำความสะอาดพิเศษ สามารถล้างและต้มน้ำเดือดนาน 15 นาทีได้ โดยทั่วไป การล้างด้วยน้ำและสบู่ถือว่าเพียงพอ
  2. การใช้ถ้วยอนามัย ต้องสะดวกในการเข้าห้องน้ำ เพราะอาจจะต้องเปลี่ยนวันละ 2-3 ครั้ง
  3. ต้องทำความสะอาดสม่ำเสมอ เพราะอาจจะเกิดคราบประจำเดือนที่ถ้วย ทำให้ไม่น่าดู
  4. ต้องมีเวลา ไม่รีบร้อนใส่และถอด มิฉะนั้นอาจจะเกิดการถลอก บาดเจ็บ หรือเปรอะเปื้อนเลือดประจำเดือนได้
  5. หากมีเพศสัมพันธ์ ต้องถอดออก มิฉะนั้นถ้วยอาจแตก เกิดการถลอก หรือบาดเจ็บอวัยวะเพศของทั้งสองฝ่าย
  6. การเปรอะเปื้อนของประจำเดือน ส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับการเลือกขนาดไม่เหมาะสม ใส่เอียงตะแคงไม่ตรงช่องคลอด ประจำเดือนมามาก หรือใส่นานไปจนเลือดประจำเดือนล้น

 

สรุปความเห็นทางการแพทย์เกี่ยวกับการใช้ถ้วยอนามัย 

ถ้วยอนามัยเป็นผลิตภัณฑ์รองรับประจำเดือนทางเลือก ผู้ใช้เป็นผู้ตัดสินใจเลือกซื้อตามความพอใจ ต้องเข้าใจวิธีใช้จึงจะเกิดประโยชน์ ถ้วยอนามัยไม่ใช่ผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ เป็นสินค้าวางจำหน่าย คำแนะนำทางการแพทย์จึงเหมือนสินค้าทั่วไป คือควรเลือกซื้อชนิดที่มีคุณภาพและปลอดภัย 

 

ภาพ: Shutterstock 

อ้างอิง:

  • Beksinska M, Smit J, Greener R. ‘It gets easier with practice’. A randomised cross-over trial comparing the menstrual cup to tampons or sanitary pads in a low resource setting. Eur J Contracept Reprod Health Care. 2016;21(suppl 1):138.
  • Oster E, Thornton R. Determinants of technology adoption: peer effects in menstrual cup up-take. J Eur Econ Assoc. 2012;10:1263–1293.  
  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising