×

‘สนามหลวง’ ไม่ใช่โบราณสถานที่ตายแล้ว แต่มีหลายสถานะ และยังมีหน้าที่ทางสังคม

21.09.2020
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

6 mins. read
  • มิติของโบราณสถานนั้นมีความซับซ้อน เพราะมันไม่ได้มีเฉพาะซากโบราณสถานร้างหรือที่ที่คนไม่ใช้งานเท่านั้น ปกติแล้ว นักโบราณคดีได้แบ่งโบราณสถานออกเป็น 2 ประเภท คือ โบราณสถานที่ตายแล้ว (Dead Monument) หมายถึงโบราณสถานที่ไม่มีคนใช้งานอีก หรือเป็นโบราณสถานร้าง และโบราณสถานที่ยังมีชีวิต (Living Monument) หรือโบราณสถานที่ยังมีการใช้งานจนถึงปัจจุบัน 
  • ในกรณีของสนามหลวงนั้น หากพิจารณาตามตัวบทกฎหมายและหลักเกณฑ์หลายๆ อย่างก็ถือได้ว่า สนามหลวงเป็นโบราณสถาน ซึ่งนับเป็นเรื่องดีในแง่ของการอนุรักษ์ แต่ต้องเข้าใจว่าสถานะของสนามหลวงนั้นไม่ใช่โบราณสถานที่ตายแล้ว เพราะเป็นพื้นที่ที่มีการใช้งานนับจากอดีตถึงปัจจุบัน 

ข้ออ้างเรื่องการบุกรุกโบราณสถาน มักถูกใช้เสมอเมื่อมีการชุมนุมทางการเมือง ทั้งนี้ก็เพื่อกันไม่ให้คนเข้าไปใช้พื้นที่ หรือใช้เพิ่มกระทงความผิดทางกฎหมายกับผู้ชุมนุม ซึ่งไม่ใช่วิธีการแก้ปัญหาทางการเมืองที่ควรทำ เพราะไม่ได้ช่วยทำให้อะไรดีขึ้น แต่เรื่องนี้ก็เป็นเรื่องที่น่าถกเถียงกันถึงสถานะของความเป็นโบราณสถาน

 

หลายคนคงได้ยินว่า เมื่อวันที่ 19 กันยายนที่ผ่านมา พล.ต.ต. สมประสงค์ เย็นท้วม รอง ผบ.ตร.นครบาล ได้กล่าวว่า ‘สนามหลวง’ เป็นพื้นที่โบราณสถาน เพราะได้ประกาศขึ้นทะเบียนในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2520 หากเข้าไปใช้พื้นที่ อาจจะถือเป็นการกระทำผิดทางกฎหมาย 

 

 

ในทางเทคนิคก็เข้าใจได้ว่า สาเหตุใดที่นายตำรวจดังกล่าวต้องพูดเช่นนั้น แต่แน่นอนว่าคำพูดดังกล่าวก็ไม่มีประโยชน์อะไร และดูจะเป็นการกล่าวที่ไม่ได้มองสถานการณ์อะไรมากนัก ทำให้การยกข้ออ้างเรื่องการเป็นโบราณสถานของสนามหลวงมาใช้กับผู้ชุมนุมนั้นถูกมองเป็นเรื่องไม่สมเหตุสมผลไป 

 

 

ถึงเรื่องนี้จะอดอมยิ้มไม่ได้กับความซื่อดังกล่าว แต่ก็น่าสนใจว่า แล้วมุมมองของการนิยามความเป็นโบราณสถานของไทยนั้นเป็นเช่นไร ตาม พ.ร.บ. โบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พ.ศ. 2504 ได้นิยามว่า ‘โบราณสถาน หมายความว่า อสังหาริมทรัพย์ซึ่งโดยอายุหรือโดยลักษณะแห่งการก่อสร้าง หรือโดยหลักฐานเกี่ยวกับประวัติของอสังหาริมทรัพย์นั้นเป็นประโยชน์ในทางศิลปะ ประวัติศาสตร์ หรือโบราณคดี ทั้งนี้ ให้รวมถึงสถานที่ที่เป็นแหล่งโบราณคดี แหล่งประวัติศาสตร์ และอุทยานประวัติศาสตร์ด้วย’ ในมาตราอื่นเท่าที่อ่านแล้วสรุปได้ด้วยก็คือ เมื่อสถานที่ใดถูกนิยามว่าเป็นโบราณสถานและขึ้นทะเบียนแล้ว ในทางกฎหมายก็ห้ามผู้ใดปลูกสร้างอาคารตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมการก่อสร้างอาคาร ภายในเขตของโบราณสถาน อีกทั้งทำการซ่อมแซม แก้ไข เปลี่ยนแปลง ต่อเติม และทำลายด้วย 

 

การนิยามในแบบข้างต้นนั้นก็ดูจะเป็นไปเพื่อการอนุรักษ์ในแบบที่สนามหลวงจะต้องหยุดนิ่งเหมือนถูกแช่แข็งอยู่กับที่ คำถามสำคัญก็คือ สนามหลวงในสมัยปัจจุบันนั้นเหมือนกับในสมัยรัชกาลที่ 5 หรือไม่ สนามหลวงในสมัยรัชกาลที่ 5 นั้นเหมือนกับในสมัยรัชกาลที่ 1 หรือไม่ หรือไม่ต้องอะไรมาก นับจากปี 2520 ที่สนามหลวงกลายมาเป็นโบราณสถานนั้น มีสภาพเหมือนกับในปัจจุบันหรือไม่ ตอบง่ายๆ เลยว่า ไม่เหมือน ดังนั้น สนามหลวงจึงมีการเปลี่ยนแปลงเรื่อยมาทั้งในเชิงกายภาพและกิจกรรม เมื่อเป็นเช่นนั้นแล้วทำไมจึงจำเป็นต้องอนุรักษ์โบราณสถานกันด้วย 

 

ย้อนกลับไปที่รากของแนวคิดการอนุรักษ์จะพบว่า แนวคิดการสำรวจ อนุรักษ์ และประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถานอย่างเป็นระบบนั้นเกิดขึ้นในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 19 อันเป็นผลมาจากการที่เมืองต่างๆ ในยุโรป เช่น อังกฤษ เยอรมนี มีการพัฒนาบ้านเมือง การขยายพื้นที่เพาะปลูก และอุตสาหกรรมอย่างมโหฬาร จนส่งผลกระทบต่อโบราณสถาน มีการรื้อถอน ทำลาย หรือดัดแปลง ด้วยความห่วงใยดังกล่าวแสดงผ่านการสำรวจโบราณสถานของนักโบราณคดีอย่าง เจอราร์ด บอล์ดวิน (Gerard Baldwin) ซึ่งเขียนหนังสือเรื่อง The Care of Ancient Monuments ตีพิมพ์ในปี 1905 ซึ่งถือเป็นหนังสือสำคัญที่เป็นตัวแทนของแนวคิดในการอนุรักษ์ในยุคนั้น และสืบความคิดบางอย่างมาถึงปัจจุบัน

 

บอล์ดวินได้ให้ความหมายของคำว่า ‘Monument’ มีรากศัพท์มาจากภาษาละตินว่า ‘Moneo’ แปลว่า ‘I remind’ ขณะที่ภาษาเยอรมนีใช้คำว่า ‘Denkmal’ แปลว่า ‘to think’ ดังนั้น คำว่า ‘Monument’ จึงแปลว่า “สิ่งที่เตือนให้ระลึกถึงอดีต หรือสิ่งที่หายไป” (Baldwin 1905: 17-18)   

 

นอกจากนี้ บอล์ดวินยังได้อธิบายด้วยว่า สาเหตุที่เราจะต้องอนุรักษ์ (Preservation) โบราณสถานเอาไว้ เพราะโบราณสถานเป็นสิ่งมีคุณค่า เป็นส่วนหนึ่งของความงามทางภูมิทัศน์ ทำให้เข้าใจสังคม ภูมิปัญญา อีกทั้งยังช่วยสร้างความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของคนในชาติ และยังเป็นผลประโยชน์ต่อเศรษฐกิจอีกด้วย ด้วยคุณค่ามากมายดังกล่าว ด้านหนึ่งบอล์ดวินก็เรียกร้องให้มีหน่วยงานที่รับผิดชอบต่อโบราณสถานโดยเฉพาะ อีกด้านหนึ่งเขาก็มองว่า การอนุรักษ์โบราณสถานเป็นเรื่องความเห็นสาธารณะ (Public Opinion) และเกี่ยวโยงกับชาติด้วย แต่เขาก็ไม่ได้มองว่า คนในปัจจุบันจะไม่สามารถเข้าไปใช้โบราณสถานได้ หากแต่การใช้นั้นไม่ควรเข้าไปเปลี่ยนแปลงมันอย่างชนิดหน้ามือเป็นหลังมือ เพราะถ้าเข้าไปใช้ไม่ได้ก็จะมีโบราณสถานอีกมากมายที่ยังมีคนใช้งานกันอยู่ไม่สามารถเข้าไปใช้งานได้

 

นอกจากสาเหตุด้านการพัฒนาในยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมแล้ว อีกปัจจัยหนึ่งที่เป็นตัวผลักดันต่อแนวคิดด้านการอนุรักษ์ก็คือ ปัญหาของสงคราม ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้รัฐบาลต่างๆ ทั่วโลกต้องออกกฎหมายและอื่นๆ เพื่อปกป้องโบราณสถาน รวมถึงไทยด้วย โดยเฉพาะในปี ค.ศ. 1914 เมื่อเกิดสงครามโลกครั้งที่หนึ่งขึ้น ทำให้ประเทศต่างๆ ในยุโรปต้องออกกฎหมายปกป้องคุ้มครองโบราณสถานและโบราณวัตถุ เพราะถือว่าเป็นมรดกของชาติและมนุษยชาติด้วย ดังนั้น การประกาศให้สิ่งใดเป็นโบราณสถานนั้นจึงมีเป้าหมายเพื่อป้องกันการถูกทำลายล้างนั่นเอง 

 

มิติของโบราณสถานนั้นก็มีความซับซ้อน เพราะมันไม่ได้มีเฉพาะซากโบราณสถานร้างหรือที่ที่คนไม่ใช้งานเท่านั้น ปกติแล้ว นักโบราณคดีได้แบ่งโบราณสถานออกเป็น 2 ประเภท ประเภทแรกคือ โบราณสถานที่ตายแล้ว (Dead Monument) หมายถึงโบราณสถานที่ไม่มีคนใช้งานอีก หรือเป็นโบราณสถานร้าง โบราณสถานประเภทนี้ นักโบราณคดีจะพยายามอนุรักษ์ให้คงสภาพดั้งเดิมในครั้งหลังสุดเมื่อมีการถูกทิ้งร้างหรือไม่ใช้งาน เต็มที่ก็เสริมความมั่นคงเข้าไป 

 

 

ส่วนอีกประเภทคือ โบราณสถานที่ยังมีชีวิต (Living Monument) หรือโบราณสถานที่ยังมีการใช้งานจนถึงปัจจุบัน โบราณสถานอย่างหลังนี้ในแง่ของการใช้งานนั้นยังถือว่า ผู้ครอบครองหรือคนทั่วไปยังสามารถเข้าไปใช้งานได้ ประกอบกิจกรรมต่างๆ ได้ ตราบใดก็ตามที่ไม่เข้าไปเปลี่ยนแปลง ดัดแปลง หรือเสริมต่อจนทำให้โบราณสถานแห่งนั้นเปลี่ยนแปลงชนิดหน้ามือเป็นหลังมือ หรือเสียคุณค่าไป เมื่อเป็นเช่นนั้นจึงสามารถที่จะเข้าไปใช้งานพื้นที่ของโบราณสถานที่ยังมีชีวิตนั้นได้ ไม่ได้เป็นเรื่องที่มีความผิดใด ตราบใดก็ตามที่ไม่เป็นการทำลายโบราณสถานนั้น และโบราณสถานนั้นไม่ได้ถูกขึ้นทะเบียน  

 

ในกรณีของสนามหลวงนั้น แน่นอนถ้าพิจารณาตามตัวบทกฎหมายและหลักเกณฑ์หลายๆ อย่างก็ถือได้ว่า สนามหลวงเป็นโบราณสถาน ซึ่งก็นับเป็นเรื่องดีในแง่ของการอนุรักษ์ แต่ต้องเข้าใจว่าสถานะของสนามหลวงนั้นไม่ใช่โบราณสถานที่ตายแล้ว ซึ่งจำเป็นจะต้องรักษา (Preserve) ให้มีสภาพดั้งเดิมคงเดิมตลอดกาล (ในเชิงอุดมคติ) เพราะเป็นโบราณสถานที่ยังมีชีวิต หมายถึงเป็นพื้นที่ที่มีการใช้งานนับจากอดีตถึงปัจจุบัน เมื่อเป็นเช่นนั้นเราจึงควรแบ่งความเป็นโบราณสถานของสนามหลวงนี้ออกเป็น 2 ส่วนคือ ส่วนที่เป็นกายภาพ และส่วนที่เป็นกิจกรรม 

 

ส่วนที่เป็นกายภาพนั้นจะเห็นได้ว่าสนามหลวงไม่ได้เป็นโบราณสถานแบบที่เราเข้าใจกันทั่วไป เพราะไม่มีสิ่งก่อสร้างที่ก่อด้วยอิฐหรือไม้ หากแต่เป็นลานโล่ง มีหญ้าขึ้น มีการปรับพื้นที่มาโดยตลอด แผ่นปูพื้นที่ก็เปลี่ยนแปลงมาหลายยุคหลายสมัย พื้นปัจจุบันนี้ก็ไม่ใช่ของดั้งเดิมแต่อย่างใด สภาพดั้งเดิมของความเป็นโบราณสถานของสนามหลวงจึงไม่ได้อยู่ที่ความดั้งเดิม หากแต่อยู่ที่รูปร่างของตัวสนามหลวงเองเท่านั้น ถ้าหากไม่มีใครไปทำลายเปลี่ยนแปลงสนามหลวงแล้ว ก็ไม่มีความกังวลใดที่จะต้องไปพูดถึงเรื่องการบุกรุกโบราณสถาน เพราะที่กฎหมายต้องกล่าวถึงเรื่องการบุกรุกก็เพื่อป้องกันการทำลายเท่านั้น

 

เมื่อพิจารณาในส่วนของกิจกรรมแล้ว จะเห็นได้ว่าสนามหลวงนั้นมีการเปลี่ยนแปลงไปตลอด ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่ประกอบพระราชพิธี เป็นทุ่งพระเมรุ ต่อมาเมื่อเปลี่ยนแปลงการปกครอง สนามหลวงก็ได้กลายเป็นพื้นที่พักผ่อน ใช้ปราศรัยทางการเมือง เป็นตลาดนัด ที่อยู่ของคนไร้บ้าน คนเล่นว่าว และอื่นๆ ซึ่งพลวัตเช่นนี้เองที่ทำให้สนามหลวงนี้มีคุณค่า แตกต่างจากโบราณสถานอีกหลายๆ แห่ง เพราะมันเป็นไปเพื่อตอบสนองความต้องการของสังคม การหวงห้ามไม่ให้ใช้พื้นที่จึงเท่ากับเป็นการทำลายคุณค่าของโบราณสถานแห่งนี้ และยังทำให้นิยามแบบ Monument นั้นหายไปอีกด้วย 

 

มีนักกิจกรรมทางการเมืองบางท่านได้เสนอให้รัฐบาลเพิกถอนการขึ้นทะเบียนโบราณสถานของสนามหลวง ซึ่งก็เป็นแนวคิดหนึ่งที่พยายามเปลี่ยนพื้นที่แห่งนี้ให้เป็นประโยชน์ต่อประชาชน มากกว่าการเป็นพื้นที่หวงห้ามแบบที่ผ่านมา ด้านหนึ่งผมนั้นเห็นด้วย เพราะการประกาศยกเลิกการเป็นโบราณสถานก็อาจช่วยแก้ปัญหาทางกฎหมายเพื่อเพิ่มกระทงให้กับผู้ชุมนุมได้ แต่ผมคิดว่า สิ่งสำคัญอาจจะอยู่ที่การให้เจ้าหน้าที่ของรัฐเข้าใจสถานะของโบราณสถานที่ไม่ได้มีความหมายเพียงแค่แบบเดียวหรือตายตัว แต่เรื่องนี้ก็เป็นเรื่องยากในเมื่อเจ้าหน้าที่พวกนี้ต้องสวมหัวโขนแห่งอำนาจ ดังนั้น สิ่งที่ตำรวจประกาศให้สนามหลวงมีสถานะเป็นโบราณสถานจึงเป็นนิยามที่แคบเกินไป 

 

ในเมื่อประชาชนทุกคนในทางทฤษฎีเป็นเจ้าของร่วมกัน การฝังหมุดของผู้ชุมนุมล่าสุดที่สนามหลวงนั้น ไม่ได้ก่อให้เกิดความเสียหายอย่างใหญ่หลวง ไม่ได้ก่อให้เกิดทัศนียภาพที่สูญเสียไปเมื่อมองด้วยสายตาแบบปกติ อีกทั้งไม่ได้ทำให้เสื่อมคุณค่า เพราะพื้นที่ฝังเข้าไปนั้นก็เป็นของใหม่ที่ทำขึ้นเมื่อไม่นานมานี้ ทั้งหมดนี้จึงย่อมไม่ควรตีความว่าเป็นความผิดทางกฎหมาย หรือตาม พ.ร.บ. โบราณสถานฯ เพราะรากดั้งเดิมของตัวกฎหมายนั้นเกิดขึ้นมาเพื่อป้องกันการทำลายจนก่อให้เกิดความเสียหายอย่างหนัก 

 

หากเอาผิดก็เป็นการตีความเพื่อสร้างความผิดให้กับประชาชน และมันควรตั้งคำถามกลับด้วยซ้ำว่าที่ผ่านมานั้น การไม่ให้ประชาชนเข้าไปใช้พื้นที่ได้นั้นเป็นการทำให้โบราณสถานแห่งนี้เสื่อมค่าจากหน้าที่และความหมายของมันหรือไม่ต่างหากครับ เพราะสนามหลวงไม่ใช่โบราณสถานที่ตายแล้ว และยังมีที่มาจากภาษีของราษฎรเช่นกัน จึงไม่ควรถูกผูกขาดการใช้งาน กระทั่งการอ้างสถานะของสนามหลวงในฐานะโบราณสถานเพื่อขับไล่ใครก็ตาม

 

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising