×

‘ขอเพียงสัปดาห์ละ 1 มื้อ’ เจาะกลยุทธ์ ‘สลัดแฟคทอรี่’ หลัง CRG ดึงร่วมพอร์ต หวังเจาะตลาดอาหารสุขภาพ 8 หมื่นล้านบาท

04.03.2020
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

  • แม้จะมีร้านอาหารในมืออยู่แล้ว 15 แบรนด์ กับ 1,045 สาขาที่ขยายไปทั่วประเทศ แต่การมี Brand Portfolio ที่ครบครัน ถือเป็นเรื่องที่จำเป็นสำหรับ CRG ที่ต้องต่อสู้ในธุรกิจร้านอาหารที่รุนแรงขึ้นทุกวัน
  • โดยกลุ่มที่ CRG หมายตาไว้คือ ‘อาหารและเครื่องดื่มสุขภาพ’ ที่มีมูลค่ากว่า 88,731 ล้านบาท และยังเติบโตขึ้นทุกวันตามเทรนด์ผู้บริโภคที่หันมาสนใจสุขภาพมากขึ้น 
  • เป็นที่มาของการร่วมทุน ‘สลัดแฟคทอรี่’ ร้านสลัดอายุ 8 ปีที่มี 6 สาขา และสร้างยอดขายกว่า 167 ล้านบาท ซึ่งความสำเร็จนี้มาจากการแก้โจทย์ที่ทำให้ทุกคนหันมาสนใจผัก ผ่านเมนูที่มีกว่า 200 เมนู
  • เป้าหมายที่ ‘สลัดแฟคทอรี่’ อยากได้ คืออยากให้ลูกค้ามากินที่ร้านสัปดาห์ละมื้อ เพราะคู่แข่งที่สำคัญคืออาหารที่ทำในบ้าน
  • สำหรับปี 2563 วางแผนขยายอีก 4 สาขา และภายใน 5 ปีวางแผนขยายสาขาให้ครบ 50 สาขา และมียอดขายมากกว่า 1,000 ล้านบาท

การมี Brand Portfolio ที่ครบครัน ถือเป็นอาวุธชิ้นสำคัญของเชนร้านอาหาร (Food Chain Industry) ในการต่อสู้ท่ามกลางการแข่งขันที่รุนแรง มีร้านอาหารใหม่ๆ เกิดขึ้นมาทุกวัน ตลอดจนพฤติกรรมอันเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็วของผู้บริโภค

 

‘สุขภาพ’ เทรนด์อาหารที่ CRG ต้องเจาะ

สำหรับ CRG หรือ ‘เซ็นทรัล เรสตอรองส์ กรุ๊ป’ แม้จะมีแบรนด์ร้านอาหารที่หลากหลายอยู่ในมือ ทั้ง มิสเตอร์ โดนัท, เคเอฟซี, อานตี้ แอนส์, เปปเปอร์ ลันช์, ชาบูตง, โคล สโตน ครีมเมอรี่, เดอะ เทอเรส, โยชิโนยะ, โอโตยะ, เทนยะ, คัตสึยะ, อร่อยดี, สุกี้เฮ้าส์, ซอฟท์แอร์ และ เกาลูน

 

 

รวมกันทั้งหมด 15 แบรนด์ 1,045 สาขาที่ขยายไปทั่วประเทศ โดยปี 2562 เอกสารที่บริษัท โรงแรมเซ็นทรัลพลาซา จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของ CRG ระบุธุรกิจอาหารมีรายได้รวม 12,294.5 ล้านบาท เติบโต 2.4% และสามารถทำกำไรสุทธิ 650.9 ล้านบาท ลดลง 12.7%

 

และแม้จะมีร้านอาหารครบครันอยู่ในกลุ่มของร้านอาหารจานด่วน (Fast Food), ร้านอาหารไทย, ร้านอาหารญี่ปุ่น และเบเกอรี แต่หมวดหนึ่งที่ CRG ยังไม่มีอย่างจริงจังคือ ‘อาหารและเครื่องดื่มสุขภาพ’ ซึ่งปี 2562 ที่ผ่านมามีมูลค่า 88,731 ล้านบาท เติบโต 2.4% และยังมีโอกาสเติบโตได้อีก เพราะ ‘เทรนด์สุขภาพ’ เป็นเทรนด์ที่ผู้บริโภคกำลังหันมาให้ความสนใจอย่างจริงจัง

 

ถึงที่ผ่านมาการเติบโตใน Brand Portfolio ของ CRG จะเลือกใช้วิธีซื้อแบรนด์ธุรกิจ ซื้อลิขสิทธิ์แฟรนไชส์ หรือปั้นแบรนด์ใหม่ๆ เข้ามาเอง แต่สำหรับการเข้าสู่ร้านอาหารเพื่อสุขภาพ CRG กลับเลือกใช้วิธี ‘ร่วมทุน’ แทน 

 

โดยได้ตัดสินใจเข้าร่วมทุนใน ‘สลัดแฟคทอรี่’ ร้านสลัดเพื่อสุขภาพในสัดส่วน 51% ด้วยเงินลงทุนราว 140 ล้านบาท และก่อตั้ง บริษัท กรีน ฟู้ด แฟคทอรี่ จำกัด ซึ่งมีสถานะเป็นบริษัทย่อยใน CRG และให้ ‘ปิยะ ดั่นคุ้ม’ ผู้ต่อตั้งแบรนด์นั่งตำแหน่งแม่ทัพต่อไป

 

 

ทำไมต้องเป็น ‘สลัดแฟคทอรี่’

เหตุผลสำคัญที่ทำให้ CRG เลือกที่จะร่วมทุนกับ ‘สลัดแฟคทอรี่’ แทนที่จะซื้อทั้งหมด หรือ ปั้นแบรนด์ใหม่เข้ามา ปิยะพงศ์ จิตต์จำนงค์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโสฝ่ายการตลาด บริษัท เซ็นทรัล เรสตอรองส์ กรุ๊ป จำกัด อธิบายว่า CRG เลือกพาร์ตเนอร์เหมือนคนแต่งงาน เลือกคนที่จริงจัง และมีเป้าหมายธุรกิจ

 

“เราจะเลือกคนที่มีแพสชันในการทำร้านอาหาร เพราะเมื่อเทียบกับคนอื่นจะเป็นคนที่พร้อม เหมือนคนที่วิ่งเก่งอยู่แล้ว หารองเท้าดีๆ ให้ใส่ก็จะวิ่งไปได้อย่างสบายๆ และระยะยาว”

 

แต่เหตุผลที่ซ่อนอยู่ในนั้น คือการที่ ‘ร้านสลัด’ มีรายละเอียดปลีกย่อยที่ค่อนข้างเยอะ โดยเฉพาะการดีลกับบรรดาฟาร์มผักต่างๆ ซึ่งผักสลัด คือพืชผลทางการเกษตรที่ไม่สามารถคุมฟ้าคุมฝนได้เลย ดังนั้นเมื่อเกิดปัญหาจึงต้องการคนที่ใกล้ชิดในการดูแล

 

 

ความสำเร็จมาจาก ‘เมนู’ และ ‘การจัดจาน’

ปิยะ ดั่นคุ้ม ผู้ก่อตั้งแบรนด์สลัดแฟคทอรี่ ที่ CRG ให้รับหน้าที่แม่ทัพ ก็เป็นคนที่ดูแลแบรนด์ตั้งแต่แรก ล้มลุกคลุกคลานจนสามารถขยายออกไปได้ 7 สาขา (หลังร่วมทุนกับ CRG เปิดเพิ่มอีก 1 สาขา รวมเป็น 8 สาขา) กับระยะเวลา 8 ปีที่ผ่านมา และมีรายได้กว่า 167 ล้านบาท โดยแต่ละสาขามียอดขายเฉลี่ย 200-300 บาทต่อบิล มียอดขายเฉลี่ย 3 ล้านบาทต่อสาขาต่อเดือน

 

ก่อนจะมาทำร้านอาหาร ปิยะ มีประสบการณ์ทำร้านอาหารในอเมริกามาก่อน ตั้งแต่ซื้อวัตถุดิบ ทำอาหาร เสิร์ฟ ล้างจาน ตลอดจนทำบัญชี จึงมีความเข้าใจในการทำร้านอาหารเป็นอย่างดี

 

ปิยะ ดั่นคุ้ม กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท กรีน ฟู้ด แฟคทอรี่ จำกัด

 

“สิ่งที่ทำให้สลัดแฟคทอรี่ประสบความสำเร็จ คือการที่ตั้งโจทย์ว่า ไม่ใช่ทุกคนจะชื่นชอบการกินผัก ดังนั้นจึงต้องทำให้เมนูดูสนุก และมีความสุขกับการได้กินผักทุกวัน รวมถึงทำให้ทุกคนในครอบครัวมีความสุขกับมื้ออาหารร่วมกัน”

 

ทำให้เมนูในร้านมีกว่า 200 เมนู มีทั้งสลัดราคาเริ่มต้น 79 บาท และสเต๊กในราคาเริ่มต้น 200 บาท ไปถึง 500 บาท นอกจากนี้อีกสิ่งที่สำคัญ คือการจัดจานให้มีมูลค่ามากกว่าที่จ่าย

 

 

 

ขอเพียงสัปดาห์ละ 1 มื้อ

จริงๆ แล้วก่อนจะตัดสินใจร่วมทุนกับ CRG มีรายใหญ่เข้ามาจีบ 2-3 ราย แต่ที่เลือก CRG เป็นเพราะให้เกียรติตั้งแต่แรกที่คุย และชัดเจน โดยหลังจากที่เข้าร่วมทุนแล้ว CRG ได้เข้ามาปรับปรุงระบบภายในร้าน และช่วยวางแผนเรื่องการตลาด

 

สำหรับในปี 2563 วางแผนที่จะเปิดเพิ่มอีก 4 สาขา ใช้งบลงทุนสาขาละ 5-6 ล้าน โดยจะขยายบริเวณกรุงเทพฯ ชั้นนอกก่อน เนื่องจากปิยะดูแลร้านทุกสาขาด้วยตัวเอง การขับรถเข้ามาผจญรถติดในเมืองจึงยังไม่สะดวก ที่สำคัญค่าเช่าพื้นที่จะไม่สูงมาก ช่วยลดต้นทุน ทำให้ราคาอาหารไม่สูงเกินไป 

 

“ถ้าถามว่าคู่แข่งตรงๆ ของเราเป็นใคร น่าจะไม่มี แต่ที่เรามองเป็นคู่แข่งคือการทำอาหารในบ้าน สิ่งที่เราต้องการคือแบ่งมากินสลัดแฟคทอรี่เพียงสัปดาห์ละมื้อ จากทั้งหมด 21 มื้อก็พอแล้ว”

 

 

อย่างไรก็ตาม นอกเหนือจากการขยายสาขาแล้ว ‘เดลิเวอรี’ จะเป็นอีกหนึ่งช่องทางที่ให้ความสำคัญมากขึ้น โดยต้องการขยับสัดส่วนยอดขายจาก 10% เป็น 20-30% ในปีนี้ อีกทั้งยังวางแผนพัฒนาสินค้าพร้อมทาน (Ready to Eat) อีกด้วย

 

ทั้งนี้ ภายใน 5 ปี ‘สลัดแฟคทอรี่’ วางแผนขยายสาขาให้ครบ 50 สาขา และมียอดขายมากกว่า 1,000 ล้านบาท 

 

 

 

ที่มาภาพปก: Salad Factory Thailand / Facebook

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising