บมจ.ศักดิ์สยามลิสซิ่ง หรือ SAK ร่วมทุนหวังรุกธุรกิจ ‘โซลาร์รูฟท็อป’ ประกาศจัดตั้ง ‘บริษัท ศักดิ์สยาม ทีซี เอ็นเนอร์ยี่’ ต่อยอดธุรกิจเช่าซื้อพร้อมสินเชื่อสำหรับที่อยู่อาศัย ตั้งเป้าปีนี้ปล่อยสินเชื่อได้ 1 พันล้านบาท ส่วนแผน 3 ปีเพิ่มเป็น 4 หมื่นล้านบาท
ศิวพงศ์ บุญสาลี กรรมการผู้จัดการ บมจ.ศักดิ์สยามลิสซิ่ง (SAK) เปิดเผยว่า คณะกรรมการบริษัท (บอร์ด) มีมติอนุมัติให้บริษัทร่วมลงทุน และจัดตั้งบริษัทร่วมลงทุนกับบริษัท ทีซี รีนิวอะเบิ้ล เอ็นเนอร์ยี่ (TC Energy) ซึ่งเป็นบริษัทชั้นนำในการออกแบบติดตั้งระบบพลังงานไฟฟ้าแสงอาทิตย์ (โซลาร์เซลล์) รวมถึงจำหน่ายอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้อง
ทั้งนี้ บริษัทร่วมทุนจะใช้ชื่อ บริษัท ศักดิ์สยาม ทีซี เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด ทุนจดทะเบียน 50 ล้านบาท SAK ถือหุ้น 35% และ ทีซี รีนิวอะเบิ้ล เอ็นเนอร์ยี่ ถือหุ้น 65% โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อประกอบธุรกิจจำหน่ายผลิตภัณฑ์โซลาร์เซลล์ และเพื่อศึกษาหาแนวทางโอกาสทางธุรกิจเพื่อขยายการลงทุนในธุรกิจเกี่ยวข้องกับโซลาร์เซลล์ร่วมกัน โดยเฉพาะโครงการการติดตั้งโซลาร์เซลล์บนหลังคา (Solar Rooftop) อีกทั้งการร่วมลงทุนดังกล่าวของบริษัทเป็นส่วนหนึ่งในนโยบายการขยายไปสู่ธุรกิจสินเชื่อเพื่อสังคม
บริษัทร่วมทุนใหม่จะจัดตั้งภายในเดือนมกราคมนี้ และเริ่มดำเนินธุรกิจได้ภายในไตรมาส 1/66 โดยบริษัทมีแผนจะทำตลาดและให้บริการสินเชื่อโซลาร์รูฟท็อปให้กับลูกค้าผ่านสาขาของบริษัทที่มีมากกว่า 1,029 สาขา ครอบคลุมทั่วประเทศ ทั้งภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
โดยปี 2566 มีเป้าหมายจะขายชุด Solar Rooftop ผ่านบริษัทร่วมทุนได้ประมาณ 5,000 ชุด ราคาเฉลี่ยประมาณ 2 แสนบาทต่อชุด คิดเป็นวงเงินสินเชื่อรวมประมาณ 1 พันล้านบาท พร้อมทั้งตั้งเป้าหมายภายใน 3 ปีจะปล่อยสินเชื่อ Solar Rooftop เพิ่มเป็นราว 4 หมื่นล้านบาท โดยขยายไปติดตั้ง Solar Rooftop กับผู้ใช้ไฟฟ้าภาคครัวเรือนจำนวน 2 แสนมิเตอร์ทั่วประเทศ หรือคิดเป็น 2% ของจำนวนมิเตอร์ผู้ใช้ไฟฟ้า ที่มีทั่วประเทศรวมประมาณ 22 ล้านมิเตอร์
ด้านเรณู วิลาศรี รองกรรมการผู้จัดการ บมจ.ศักดิ์สยามลิสซิ่ง กล่าวว่า การขยายเข้าไปร่วมทุนในธุรกิจ Solar Rooftop ถือเป็นกลุ่มธุรกิจใหม่ที่มีการสร้างประโยชน์ร่วม (Synergy) อีกทั้งสามารถต่อยอดให้กับธุรกิจเดิมคือธุรกิจลิสซิ่งด้วย เพราะเป็นโอกาสที่บริษัทจะสามารถปล่อยสินเชื่อสำหรับการติดตั้ง Solar Rooftop ซึ่งถือเป็นสินเชื่อประเภทใหม่ของบริษัท คือสินเชื่อที่ใช้ซื้อสินค้าแบบผ่อนชำระ ซึ่งมีโอกาสเติบโตสูง
ทั้งนี้ เป้าหมายปล่อยสินเชื่อ Solar Rooftop ในปีนี้ที่ 1 พันล้านบาท ยังไม่ได้ถูกนำไปรวมกับเป้าหมายสินเชื่อใหม่ในปีนี้ที่บริษัทตั้งเป้าหมายจะปล่อยที่ประมาณ 2.5-3.5 พันล้านบาท เติบโตขึ้นจากปีก่อนประมาณ 20-25% ซึ่งหลักๆ จะมาจากการปล่อยสินเชื่อจำนำทะเบียนรถ โดยหลังจากเริ่มดำเนินธุรกิจปล่อยสินเชื่อ Solar Rooftop หลังเห็นแนวโน้มธุรกิจนี้ที่ชัดเจนมากขึ้น คาดว่าภายในช่วงไตรมาส 1/66 หรือไตรมาส 2/66 บริษัทจะมีการทบทวนปรับเพิ่มเป้าหมายปล่อยสินเชื่อใหม่ในปีนี้เพิ่มขึ้นด้วย
ขณะที่ภูฤทธิ์ เล้าเจริญ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ บริษัท ทีซี รีนิวอะเบิ้ล เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด กล่าวว่า สำหรับการติดตั้งระบบโซลาร์รูฟท็อปจะช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายค่าไฟฟ้าต่อเดือนตั้งแต่ 2,000-7,000 บาท อีกทั้งยังมีทีมงานให้บริการดูแลรักษาตัวแผงโซลาร์เซลล์ และคอยตรวจสอบประสิทธิภาพการทำงานของระบบตลอดการใช้งาน โดยมีทีมวิศวกรคอยตรวจสอบการทำงานของระบบ เพื่อให้การผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์มีประสิทธิภาพและคุ้มค่าในระยะยาว
นอกจากนี้ยังมีจุดเด่นของของแผงโซลาร์รูฟท็อปสำหรับที่อยู่อาศัย ช่วยลูกค้าประหยัดค่าใช้จ่ายไฟฟ้าโดยเฉลี่ยได้ไม่ต่ำกว่า 70% ต่อรอบบิล และหากผลิตพลังงานไฟฟ้าที่ได้จากแผงโซลาร์เซลล์เกินความต้องการใช้งานไฟฟ้าเวลากลางวัน เจ้าของมิเตอร์ยังสามารถขายคืนไฟฟ้าส่วนเกินให้กับภาครัฐได้ด้วย
ทั้งนี้ ภาพรวมตลาดการติดตั้งระบบโซลาร์รูฟท็อปเป็นธุรกิจที่มีศักยภาพและเติบโตสูง เนื่องจากสอดรับนโยบายภาครัฐที่มุ่งส่งเสริมภาคธุรกิจและภายในครัวเรือนใช้พลังงานสะอาด โดยอ้างอิงจากศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีทีบี หรือ ttb analytics คาดการณ์ว่าตลาดโซลาร์รูฟท็อปในประเทศเติบโตอย่างก้าวกระโดดเฉลี่ยปีละ 22% หรือแตะระดับ 6.7 หมื่นล้านบาทในปี 2568
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- ‘Tesla’ ประกาศหั่นราคาขายในตลาดจีน 9% กูรูหวั่นจุดชนวนสงครามราคารถยนต์ไฟฟ้า
- ยุโรปปูพรมแดงต้อนรับ BYD เข้าตั้งฐานการผลิต ฟากแบรนด์ผลิตรถยนต์เจ้าถิ่นอาจอยู่เฉยไม่ได้อีกต่อไป
- สตาร์ทอัพ ‘รถยนต์ไฟฟ้าจีน’ เนื้อหอม โกยเงินลงทุนจาก Venture Capital ไปกว่า 6 พันล้านดอลลาร์