×

เพราะชีวิตต้องพิสูจน์ตัวเองในทุกสเตป ของ สายใย สระกวี สาวเก่งจาก Google Thailand

25.12.2017
  • LOADING...

ทุกวันนี้ปฏิเสธไม่ได้เลยว่านวัตกรรมจาก Google เข้ามามีบทบาท และทำให้ชีวิตประจำวันของเราดูง่ายขึ้นไปหมด THE STANDARD มีโอกาสได้พูดคุยกับคุณสายใย สระกวี Head of Communications and Public Affairs ของ Google Thailand จากคนที่ไม่รู้ว่าตัวเองชอบอะไร ใช้ชีวิตในแบบที่เธอเรียกว่าลูกเป็ด ก้าวมาสู่เส้นทางนี้ได้เธอต้องผ่านบทพิสูจน์อะไรบ้าง

 

จุดเริ่มต้นที่เริ่มรักการสื่อสาร

เราโตมาในครอบครัวที่พ่อแม่ทำงานสายที่เจอคนเยอะ มันก็จะมาในสายเลือดว่าเราต้องคุยกับคนทั่วไปค่อนข้างเยอะหน่อย เราไม่ได้รู้ว่าตัวเองชอบอย่างนี้ตั้งแต่แรก ซึ่งจริงๆ เราเป็นลูกเป็ดมากเลยนะ แต่การเป็นเป็ดมันโอเค แต่ต้องเป็นเป็ดที่อร่อย เป็ด Four Seasons ทุกคนจะกลัวการเป็นเป็ด แต่เราจะบอกว่างานเราเป็นเป็ดมาก เพราะ Google มีโปรดักต์เป็นสิบๆ อย่าง เราต้องรู้จักทุกอย่างแต่รู้อย่างละนิดอย่างละหน่อยเพื่อสื่อสารได้ เราคงรู้ไม่เท่าทีมที่ทำโปรดักต์นั้นๆ มองแบบนี้มันก็จะเป็นเป็ดแล้ว

 

 

ก่อนมาอยู่ Google ก็เคยเป็นนักเขียนของ Tech in Asia มาก่อน เรารู้สึกว่าการเป็นนักเขียนเป็นอีกสายงานที่ค่อนข้างเป็ด เรารู้ทุกอย่างอย่างละนิดอย่างละหน่อย รู้ว่าชอบเทคโนโลยีก็จะเขียนถึงเรื่องเทคโนโลยี แต่เราก็ไม่รู้เรื่องเท่าคนที่เราสัมภาษณ์ เราไปเรียนรู้จากเขา เราโตมาแบบนั้นเราไม่รู้ว่าเราชอบอะไรที่สุด แต่เรารู้ว่าเราชอบคุยชอบเขียนชอบสื่อสาร

 

เอาสิ่งที่ชอบไปใช้ให้เกิดอาชีพ

เราไม่ได้เรียนเก่ง ไม่ใช่เด็ก 4.00 เรา 2 กระท่อนกระแท่นเลยแหละ แล้วด้วยความที่เรียนอินเตอร์เลยไม่ได้เอ็นทรานซ์ คุณพ่อคุณแม่ก็เลยบอกช่วยไปเรียนมหาวิทยาลัยให้มันจบสักที ก็ไปเรียน Bachelor of Arts Program in Business English ที่ ABAC เลือกคณะที่บอร์ดมาก ไม่เฉพาะเจาะจง เพราะยังไม่รู้ชอบอะไร พอเรียนจบก็ไปอยู่จีนสองปี รู้ว่าตัวเองชอบพูดชอบสื่อสารเลยอยากได้อีกภาษา ภาษาอังกฤษเก่งแล้ว อันนี้คิดเอาเอง เลยขอเรียนภาษาจีน พอกลับมาก็บอกพ่อแม่ว่าอยากมีปริญญาโท เลยไปเรียนที่ NYU สาขา M.S. in Public relations and corporate communications ตอนนั้นเริ่มรู้แล้วว่าอยากเรียนการสื่อสารแต่ไม่ได้คิดว่าจะใช้พีอาร์เป็นอาชีพ และยังไม่ได้แตกฉานด้วยซ้ำว่าพีอาร์คืออะไร แต่รู้ว่าเราชอบสื่อสารมากกว่า คำว่าสื่อสารมันก็เลยค่อนข้างกว้าง คนจบการสื่อสารมาเป็นนักข่าวก็ได้ เป็นผู้ประกาศข่าว เป็นนักเขียน เป็นพีอาร์ เป็นมาร์เกตติ้งได้ แต่เราก็ไปเจาะเรียนพีอาร์มา

 

คนอื่นเค้าอาจจะมองพีอาร์เป็นงานดูแลภาพลักษณ์แต่งตัวสวยๆ แต่เราเป็นคนชอบ Crisis PR ตั้งแต่ตอนเรียน ตอนเรียนเรารู้สึกว่าพีอาร์ต้องทำ Crisis Management เยอะมาก มันน่าตื่นเต้นดี ต้องทำ ต้องตัดสินใจ รู้สึกว่ามันท้าทายดี อีกอย่างพื้นหลังคุณพ่อเป็นนักการเมือง แต่เราไม่ได้อยากเป็นนักการเมือง เราไม่มีหัวทางการเมือง เราไม่มีหัวทางด้านเศรษฐกิจอะไรทั้งสิ้น แต่เห็นมาตลอดว่าในวิถีการเมืองการสื่อสารมันสำคัญมาก ฝรั่งอาจเรียกว่า Propaganda เรารู้สึกว่าถ้าเราสื่อสารถูกคนจะเชื่อเรา คำพูดมันมีความหมายมาก เราเห็นมาเยอะ มันเลยชอบการสื่อสารไปเอง เลยตัดสินใจอยากเอาสิ่งที่เราชอบไปใช้ให้เกิดอาชีพ เลยเลือกไปเรียนพีอาร์

 

 

นิวยอร์กคือเมืองในฝัน

เราชอบเมืองด้วยความที่เราดูหนัง แล้วหนังฮอลลีวูดหลายๆ เรื่อง ฉากเมืองมันสวยมาก เราเป็นเด็กไทยคนหนึ่งที่ไม่เคยไปเหยียบอเมริกาเลย เราก็แบบเมืองนี้สวยจัง ภาษาสวยจัง รู้สึกอยากไปเมืองนี้ เราศึกษาว่าเมืองนี้มีมหาวิทยาลัยอะไร ที่มีการเรียนการสอนเฉพาะทางด้าน Communication ก็คือ NYU สมัครที่นี่ไปที่เดียวคือถ้าไม่ได้ก็ไม่ไป ถือว่าไม่มีความสามารถก็ไม่ต้องไป บอกตัวเองอยากไปอยู่เมืองนี้ก็คงต้องขยัน อยู่ดีๆ ก็ลุกขึ้นมาอ่านหนังสือ มีแรงจูงใจส่วนตัวมาก พ่อแม่ไม่กดดันเลย นี่เป็นสิ่งเดียวที่เราบอกเพื่อนทุกคนว่า แกจริงๆ พ่อแม่กดดันไปลูกอาจจะไม่ทำเลยก็ได้นะ คือทุกวันนี้ทำได้เพราะพ่อแม่ไม่กดดันจนเวอร์ แต่ไม่กดดันก็คือพ่อแม่ไม่ให้เงินนะ แล้วพ่อแม่เราก็ไม่ได้เก่งภาษาอังกฤษพอที่จะมาสอนเรา เพราะฉะนั้นเราต้องกระตือรือร้นเอง แต่เราว่าทุกอย่างมันอยู่ที่ใจ คุณอยากจะพิสูจน์ตัวเองขนาดไหน อีกพื้นฐานหนึ่งมันอยู่ที่อุปนิสัยเราเป็นคนขี้เอาชนะ เราเอ่ยวาจาไว้แล้วว่าจะไป ถ้าไปไม่ได้พ่อแม่คงไม่ได้เกลียดเราหรอก เราอยากเอาชนะ แต่ไม่ได้เอาชนะคนรอบข้าง เราเอาชนะตัวเอง

 

เมื่อเรียนจบ นี่คือชีวิตจริง

หลังเรียนจบเราทำเป็น PR Agency อยู่ที่นั่นแต่เป็นจูเนียร์มากคือช่วยทำพีอาร์ที่นั่นมันจะเป็นอะไรที่ค่อนข้างกดดัน ไม่ได้โดนเหยียดผิว แต่เรารู้อยู่ดีว่าเราเป็นพลเมืองชั้นสอง ต่อให้ภาษาอังกฤษเราเก่งขนาดไหนคนอเมริกันก็เก่งกว่าอยู่แล้วด้านภาษานะ เราต้องหาจุดแข็งของตัวเอง เรารู้สึกว่าเรามีความคิดสร้างสรรค์สูง คนไทยมีเรื่องนี้เก่ง คนทั่วโลกรู้ดี เราสามารถเอาไปเติมเต็มกับคนอื่นได้ จากที่เราทะนงว่าภาษาเราดี เราต้องพิสูจน์ตัวเองค่อนข้างเยอะ การที่เราเป็นแบบทุกวันนี้เพราะมันมีการพิสูจน์ตัวเอง ในทุกสเตปของชีวิต มันไม่มีอะไรที่ใส่พานมาให้จริงๆ จะโกรธมากถ้าทุกคนว่าเรามาจากครอบครัวที่มีเงิน เราไม่เคยได้อะไรง่ายๆ ใช้เส้นเลยนะ ยกตัวอย่าง อย่าง Google คุณไม่มีทางใช้เส้นได้ นิวยอร์กไปก็ไม่มีเส้น ทั้งหมดคือต้องรู้ว่าอยากได้อะไร แล้วพยายามเอง

 

 

บทพิสูจน์ตัวเอง

เราต้องพิสูจน์ตัวเองค่อนข้างเยอะนะ สัมภาษณ์อยู่นานมาก กับหลายคนมากๆ คือ Google เค้าจะไม่ได้ตัดสินจากคนคนเดียว แต่คือคนที่เราต้องทำงานด้วยซะส่วนใหญ่ คือเค้ามองหา 4 อย่างในการมาอยู่ Google ได้ อย่างแรกเค้าเรียก General Cognitive Ability ซึ่งไม่ใช่ IQ อย่างเดียว มันคือ EQ คือวิธีการแก้ปัญหาว่า เมื่อคุณเจอคำสั่งคุณจะทำอะไรต่อไปได้ อันที่ 2 คือต้องมีความรู้เรื่องงาน เกี่ยวกับสายงานตรงว่าคุณทำอะไรเป็น อันที่ 3 เราจะต้องมี Leadership คำว่า Leadership ใน Google มันไม่ใช่แค่การสั่งงาน มันคือการเป็นตัวอย่าง คุณทำยังไงก็ได้ให้สิ่งที่คุณทำมันไปโน้มน้าวคนอื่นได้ อย่างที่บอกเราคือพีอาร์คนเดียวเราจะทำยังไงให้มาร์เก็ตติ้งบอกว่าอีเวนต์นี้ฉันจะร่วม มันคือการโชว์ว่าคุณจะทำสิ่งนี้ร่วมกับคนอื่นได้แต่ไม่ใช่การสั่งลงไป ขั้นตอนสุดท้ายคือ Googleyness เป็นศัพท์ของ Google คือความเป็นทีมเวิร์ก ความสามารถบริหารชีวิตประจำวันได้ หรือการ push ตัวเองให้โตนอกเหนือจาก Comfort Zone ตัวเองยังไง มันจะมีขั้นตอนคัดกรอง ถึงได้สัมภาษณ์ยาวมาก

 

ความยากและความท้าทาย

คือโปรดักต์มันเยอะมาก ทำยังไงให้เรามีความรู้ในโปรดักต์นั้นทุกตัวพอที่จะพูดได้ ถ้าคุณถามเราเรื่อง Maps เราต้องตอบได้ ถามเราเรื่อง Street View เราต้องตอบได้ นั่นคือความท้าทายส่วนที่หนึ่ง แต่ด้วยความที่งานเรามันเกี่ยวข้องกับส่วนรวม ที่ยากสำหรับเราจริงๆ เลยก็คือ ทำยังไงให้คนทั่วไปเข้าใจเรา เพราะว่าแบรนด์เรามันใหญ่มาก ใช่ว่าคนทุกคนจะเข้าใจ Google Search คืออะไร ทำยังไงให้คนรู้ว่ามันมีอะไรมากกว่านั้น คือคนพูดถึงอยู่แล้วแหละ Google แต่มันถูกหรือผิด การเป็นที่สนใจ หรือมีคนใช้อยู่เยอะ อาจจะมีคนเข้าใจผิดเยอะตามไปด้วยในบางกรณี เราต้องไปแก้ไขตรงนั้น ข้อมูลมันเยอะด้วยแหละ เรายังรู้สึกท้าทายอยู่ มันสนุก

 

ก็ยังอยู่ Google มาไม่นาน อาจพูดได้ไม่เยอะเท่าคนอื่น แต่สิ่งที่โชว์ความเป็นออฟฟิศประเทศไทยได้แข็งแกร่งที่สุด คือตอนที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 เรารู้ว่าต่างประเทศตอนแรกๆ อาจไม่เข้าใจว่าทำไมเราต้องเปลี่ยนเป็นขาวดำ ทำไมเราต้องมีแมปในพระราชพิธี ทำไมเราต้องมีไลฟ์สตรีมยูทูบ มันเป็นการทำงานร่วมกันของทุกคนจริงๆ ที่มีความเป็นไทย โทรไปหาสำนักงานใหญ่ที่อเมริกา แต่มันดีตรงที่ต่อให้ Google เป็นบริษัทอเมริกัน แต่เขาพยายามเข้าใจ มีความสนใจในคัลเจอร์ เขาได้เห็นว่าคนไทยรักในหลวงขนาดไหน

 

 

สิ่งที่ยังสนุกอยู่คือการได้เรียนรู้

อย่างที่บอก ปัญหามันก็เปลี่ยนไปเรื่อยๆ ได้คุยกับคนแปลกหน้าไปเรื่อยๆ มีอะไรแปลกๆ ตลอด และด้วยความที่โชคดีว่า Google โปรดักต์มันเยอะ ได้คุยเรื่องโปรดักต์ใหม่ๆ นโยบายใหม่ๆ ไม่ใช่แค่โปรดักต์ใหม่ที่ยังไม่เปิดตัว แม้กระทั้งตัวที่ทุกคนรู้จักอย่าง Google Search เองก็มีการพัฒนาตลอด เพราะเราเป็นบริษัทนวัตกรรม สิ่งที่ยังสนุกของเราอยู่คือได้เรียนรู้ อยู่ๆ ฉันก็ต้องพูดภาษาวิศวะ มันสนุกตรงที่มันมีสิ่งใหม่ๆ มาตลอด แล้วมันก็จะสนุกตรงที่เวลาคนเขารู้สึกได้ประโยชน์จากของเราจริงๆ อย่างเช่นแบบที่พีกจริงๆ ของปีนี้ คือตอนที่มีเด็กหาพ่อไม่เจอหนีออกจากบ้านมา 15 ปี พิมพ์ไม่ได้แล้วเขาใช้ Google Voice Search พูดชื่อเขาจนไปเจอโพสต์ที่มูลนิธิกระจกเงาโพสต์ไว้ ว่าเขาคือเด็กหายที่มีคนตามหา เลยได้เจอพ่อเขาหลังจากหายกันไป 15 ปี มันจะมีเรื่องพวกนี้ที่คิดว่าบริษัทเราทำอะไรดีๆ เนอะ

 

ฝากไปถึงเด็กรุ่นใหม่

เรามองว่ามันต้องหาสิ่งที่ตัวเองอยากทำแล้วมันมีประโยชน์ต่อองค์กร ไม่ใช่แค่พูดว่าคุณอยากอยู่ที่นี่แล้วยังไง ภูมิใจจริงๆ เหรอ ถ้าคุณเข้าไปแล้วไม่ได้เอาอะไรเข้าไปให้องค์กรเค้าเลย อยากให้ลองทำอะไรหลายๆ อย่าง ไม่ได้บังคับว่าคุณจะต้องชอบอะไรสักอย่าง แต่มันเป็นไปไม่ได้หรอกที่คุณจะไม่ชอบทำอะไรเลยนอกจากกินกับนอน เราก็ชอบกินชอบนอนทุกคนรักสบาย แต่มันต้องมีบางอย่างที่เราทำได้ดีแล้วเราก็ชอบที่จะทำ แต่คุณจะไม่รู้เลยถ้าคุณอยู่กับที่ ถ้าคุณขี้เกียจ เราจะไม่มีวันรู้หรอกว่าเราชอบเขียนถ้าเราไม่เริ่มเขียน เราไม่รู้หรอกว่าเราชอบพูดถ้าเราไม่ได้เริ่มชวนให้ใครสักคนมานั่งฟังเรา คือคุณต้องลองผิดลองถูกเยอะมากถึงจะรู้ว่าคุณชอบอะไร ถ้าชอบหลายอย่างก็อย่างที่เราบอก การเป็นเป็ดมันโอเคนะ แต่อย่าเป็นเป็ดง่อยๆ ต้องเป็นเป็ดอร่อย!

ภาพประกอบ: dreaminem

FYI
  • สามารถติดตามวิดีโอย้อนหลังของ Speaker ท่านอื่นๆจากงาน Worst of the Best ได้ที่ www.facebook.com/worstofthebest
  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising