×

รัสเซียกับแนวโน้มของสงครามในยูเครน ปี 2024

01.01.2024
  • LOADING...

สงครามในยูเครนย่างเข้าสู่ปีที่สองแล้ว และยังไม่มีทีท่าว่าจะยุติลงได้โดยง่ายๆ ในเร็ววันนี้ รัสเซียยังคงสามารถระดมทรัพยากรมา ‘ปฏิบัติการทางทหาร’ ในยูเครนได้ราวกับว่าไม่มีที่สิ้นสุด ดังที่ตัวผู้เขียนเองได้พบเห็นขบวนรถบรรทุกทหารวิ่งไปทางทิศใต้ตามถนนทางหลวงหมายเลข M4 มุ่งหน้าไปยังเมืองรอสตอฟออนดอน ฐานบัญชาการใหญ่ของกองทัพรัสเซียที่ปฏิบัติการทางทหารในยูเครน แต่ถึงกระนั้นสภาพสังคมและเศรษฐกิจในรัสเซียเองก็มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมาก อันเป็นผลกระทบจากการตัดสินใจเข้าไปปฏิบัติการทางทหารในประเทศเพื่อนบ้านอย่างยูเครนด้วยเช่นกัน โดยผู้เขียนพบเจอมาด้วยตนเอง (ในขณะที่กำลังผลิตบทความชิ้นนี้ ตัวผู้เขียนเองยังคงอยู่ในรัสเซีย) 

 

 

สิ่งแรกที่น่าตกใจคือ เงินเฟ้อเพิ่มสูงขึ้นหลายเท่าตัว สินค้าและบริการ รวมถึงค่าเดินทางต่างๆ มีราคาแพงขึ้นอย่างมาก เนื่องจากค่าเงินรูเบิลที่อ่อนค่าลง อันเป็นผลมาจากการที่ประเทศตะวันตกพากันคว่ำบาตรรัสเซีย จนค่าเงินเคยอ่อนค่าลงไปถึงจุดตกต่ำที่สุดที่ 200 รูเบิลต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐ (จากเดิมอยู่ที่ราว 60-70 รูเบิล) ก่อนที่จะค่อยๆ ปรับตัวมาอยู่ที่ประมาณ 90-100 รูเบิลต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐในปัจจุบัน แต่กระนั้น สินค้าและบริการที่ขึ้นราคาไปแล้วก็ไม่ได้ลดราคาตามค่าเงินที่แข็งค่าขึ้นในภายหลัง 

 

ต่อมาคือ ธุรกิจต่างชาติหลายเจ้าถอนตัวออกไปจากรัสเซีย เช่น McDonald’s, Starbucks, Uniqlo, H&M,  ZARA และ PRADA บางเจ้าปิดทำการไปเลยหรือไม่ก็แปลงโฉมใหม่ เช่น McDonald’s เปลี่ยนเป็น Vkusno & Tochka ขณะที่ Starbucks เปลี่ยนเป็น Stars Coffee

 

ไม่เพียงแค่นั้นกิจการที่ให้บริการด้านเทคโนโลยีต่างๆ รวมถึงเครื่องจักรอุตสาหกรรมบางเจ้าก็ถอนตัวออกไปเช่นกันและตัดขาดขั้นตอนการบำรุงรักษา โดยต้องยอมรับว่าในช่วงที่โดนคว่ำบาตรรอบนี้ ในระยะแรกผู้ประกอบการก็ชะงักไปพักหนึ่งเช่นกัน แต่แล้วก็พลิกวิกฤตให้เป็นโอกาส หลายบริษัทท้องถิ่นในรัสเซียเริ่มคิดค้นวิจัยเอง และในที่สุดก็ผลิตออกมาใช้ได้ด้วยตนเอง (หรือเรียกว่า Reverse Engineering) ยิ่งไปกว่านั้นพื้นที่ของบริษัทต่างชาติที่เคยครองตลาดและมาจากไปแบบนี้ก็เปิดโอกาสให้วิสาหกิจภายในประเทศเข้ามาครองพื้นที่แทนและค่อยๆ สร้างตำแหน่งงานใหม่ๆ ให้คนรัสเซียด้วยกันเอง โรงงานอุตสาหกรรมบางแห่งต้องนำเข้าแรงงานจากกลุ่มประเทศสหภาพโซเวียตเก่าอย่างอุซเบกิสถานเข้ามาเติมเต็มกำลังการผลิต

 

ในประเด็นระหว่างประเทศก็เผ็ดร้อนไม่แพ้กัน เกิดการประท้วงใหญ่เพื่อล้มเลิกผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีอเล็กซานเดอร์ วูชิช (Alexander Vuchich) ของเซอร์เบีย โดยเรียกการประท้วงครั้งนี้ว่าเป็น ‘การปฏิวัติสีส้ม’ แบบเดียวกันกับที่เคยเกิดขึ้นในยูเครนมาก่อน เพราะเริ่มมีกระแสจากกลุ่มพันธมิตรประเทศตะวันตก รวมถึงมีบัญชีผู้ใช้งานสื่อสังคมออนไลน์ของคนดังที่โปร NATO และกลุ่มประเทศตะวันตกต่างออกมาแสดงความเห็นสนับสนุนฝ่ายค้านเซอร์เบียไปในทิศทางเดียวกันว่า ต้องโค่นล้มรัฐบาลวูชิชที่เพิ่งได้รับเลือกตั้งกลับมาอีกสมัย สังเกตว่าในการประท้วงมีวาทกรรมต่อต้านรัสเซียด้วย นักวิชาการเศรษฐศาสตร์ฝ่ายที่โปร NATO มากอย่าง กึนเธอร์ เฟลิงเงอร์ (Gunther Fehlinger) ถึงกับใช้ถ้อยคำว่า “ให้ปลดปล่อยเซอร์เบียออกจากรัสเซียที่ยึดครองมา 20 ปี” จึงไม่สามารถปฏิเสธได้อย่างเต็มปากว่า รัฐบาลตะวันตกไม่มีส่วนรู้เห็นกับเหตุจลาจลในครั้งนี้

 

อันที่จริงแล้ว เซอร์เบียคืออดีตกลุ่มประเทศยูโกสลาเวียเก่าที่ล่มสลายไป เซอร์เบียที่เคยเป็นแกนหลักยูโกสลาเวียพื้นที่หดเล็กลงและกลายเป็นประเทศไม่มีทางออกทางทะเล ทำให้ที่ผ่านมาเซอร์เบียต้องค้าขายและเป็นมิตรกับยุโรป แต่ในขณะเดียวกันก็ทิ้งรัสเซียไม่ได้ เพราะรัสเซียกับเซอร์เบียมีภูมิหลังประวัติศาสตร์ที่เป็นมิตรกันอย่างเหนียวแน่น หากมองย้อนกลับไปในศตวรรษที่ 18 ที่รัสเซียพยายามหนุนขบวนการชาตินิยมเซอร์เบียให้ปลดแอกออกจากจักรวรรดิออตโตมัน รวมไปถึงกรณีอื่นๆ ที่รัสเซียไม่ทอดทิ้งเซอร์เบีย ชาวเซอร์เบียจึงมีความผูกพันกับรัสเซียในฐานะพี่น้องชาวสลาฟด้วยกัน และที่ผ่านมาประธานาธิบดีวูชิชก็พยายามบาลานซ์นโยบายที่เป็นมิตรกับทั้งรัสเซียและยุโรป แต่ขณะนี้ลมดูเหมือนจะเปลี่ยนทิศ เพราะอเล็กซานเดอร์ วูชิชเพิ่งเข้าพบทูตรัสเซียและขอให้รัสเซียเข้ามาช่วยควบคุมสถานการณ์ความไม่สงบที่กำลังเกิดขึ้น และดูเหมือนว่ากำลังจะควบคุมได้ด้วย เพราะเอาเข้าจริงทางการเซอร์เบียก็ออกมาประกาศว่า ได้รับแจ้งจากหน่วยข่าวกรองของประเทศพันธมิตรเกี่ยวกับความพยายามโค่นล้มรัฐบาล

 

สถานการณ์ในลักษณะนี้เคยเกิดขึ้นมาแล้วในกรณีการก่อจลาจลในคาซัคสถานเมื่อช่วงต้นปี 2022 หากทุกคนยังจำกันได้ และก็สามารถสงบลงได้ภายในระยะเวลาราว 1 สัปดาห์

 

จริงๆ ไม่มีอะไรในกอไผ่ เหตุผลง่ายๆ คือประเทศตะวันตกต้องการเปลี่ยนประเทศที่เป็นมิตรกับรัสเซียให้กลายเป็นศัตรูกับรัสเซียให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ซึ่งทำสำเร็จมาแล้วกับยูเครนในกรณีปฏิวัติสีส้ม

 

ส่วนประเทศยุโรปอื่นๆ หากยังจำกันได้ผู้เขียนเคยกล่าวไว้แล้วตั้งแต่ช่วงต้นของความขัดแย้งว่า ยุโรปในฐานะผู้บริโภคหลักด้านพลังงานจากรัสเซียและมีลักษณะที่ยังคงต้องพึ่งพาสิ่งนี้จากรัสเซียอยู่ ประเทศเหล่านี้ไม่สามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคดังกล่าวและหันมาใช้พลังงานทางเลือกอื่นๆ ได้เพียงชั่วข้ามคืน แม้ยุโรปโดยรวมอาจคว่ำบาตรรัสเซีย แต่คงไม่สามารถทำได้ตลอดไป 

 

โดยเราจะสังเกตได้ว่า กลุ่มประเทศสหภาพยุโรปบางประเทศเริ่มมีท่าทีที่อ่อนลงต่อรัสเซีย โดยเฉพาะฮังการีที่มีท่าทีไม่ต่อต้านรัสเซียและมีจุดยืนว่า ไม่ว่าอย่างไรฮังการีก็ยังคงต้องพึ่งพาก๊าซธรรมชาติและน้ำมันจากรัสเซียมาตั้งแต่ต้น ขณะที่สโลวาเกียก็เป็นอีกประเทศที่ออกมาประกาศว่า การให้การสนับสนุนยูเครนและการคว่ำบาตรการนำเข้าพลังงานจากรัสเซียจะไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาที่กำลังเกิดขึ้นในยูเครน

 

ขณะที่สหรัฐอเมริกา ผู้เป็นโต้โผใหญ่ในเรื่องนี้ก็เริ่มมีปัญหาด้านการเมืองเช่นกัน ในช่วงขณะนี้ที่ประธานาธิบดีโจ ไบเดน เริ่มใกล้หมดวาระ คะแนนนิยมในตัวเขากำลังตกต่ำลงอย่างหนัก ด้านฝ่ายบริหารยังคงไม่สามารถโน้มน้าวหาข้อสรุปกับฝ่ายนิติบัญญัติให้อนุมัติแพ็กเกจส่งมอบความช่วยเหลือมูลค่า 5.4 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐได้ พลเมืองชาวอเมริกันคงจะตั้งคำถามและส่งเสียงบอกผู้แทนของตนว่า ภาษีของพวกเขาจะเอาไปใช้เพื่อคนอื่นทำไม ในแง่หนึ่งก็คงจะมองว่าที่ผ่านมาปีกว่าก็ช่วยไปเยอะมากแล้ว แต่ยูเครนก็ยังหยุดรัสเซียไม่ได้ ก็ไม่รู้ว่าจะต้องจ่ายอะไรแพงๆ แบบนี้ไปอีกนานเท่าไร

 

 

ด้านสถานการณ์การสู้รบในแนวหน้าของสงครามรัสเซีย-ยูเครน หากมองย้อนกลับไปในช่วงปลายปีที่แล้ว ทางฝ่ายรัสเซียยังคงโดนฝ่ายยูเครนกดดันอย่างหนักที่คาร์คิฟจนต้องถอนกำลังไป ในขณะเดียวกันยูเครนก็ได้ใจและเติมกำลังหนุนเข้ามา ฝ่ายรัสเซียเองจึงใช้ทหารวากเนอร์เข้ามาจัดการในสมรภูมิดังกล่าว ซึ่งวากเนอร์ได้นักโทษอาสามาเติมกำลัง โดยที่นักโทษเหล่านี้แลกเปลี่ยนด้วยเงื่อนไขเพียงข้อเดียวคือ รบครบ 6 เดือนได้อภัยโทษทันที บวกกับวากเนอร์ต้องการสร้างชื่อให้เป็นที่ประจักษ์จึงมีความจำเป็นต้องใช้ยุทโธปกรณ์มากกว่าที่กระทรวงกลาโหมรัสเซียจัดให้ จนนำไปสู่ความขัดแย้งกับกระทรวงกลาโหม และเกิดเป็นกรณีกบฏวากเนอร์ในที่สุด 

 

อย่างไรก็ตาม หลักๆ แล้วรัสเซียใช้ยุทธศาสตร์ ‘กับดักเครื่องบดเนื้อ’ โดยเลือกพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่งที่เป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญแล้วทำเป็นว่าระดมกำลังพลเข้ายึดพื้นที่และตามวิสัยของสื่อ เมื่อรัสเซียมุ่งไปทางใดก็จะตีข่าวใหญ่ เช่น การรบที่เมืองบัคมุต (Bakhmut) กลายเป็นจุดสปอตไลต์ ในขณะที่ฝ่ายยูเครนมีแนวทางการรบแบบ ‘ทีวีโชว์’ คือพยายามเป็นจุดสนใจของสื่อให้ได้มากที่สุด เพื่อแสดงแสนยานุภาพของตนให้ได้มากที่สุด ในอีกแง่หนึ่งก็เพื่อพิสูจน์เหล่าประเทศตะวันตกว่า กองทัพยูเครนนั้นมีความสามารถยันกับรัสเซียได้ เพื่อรับความช่วยเหลือจากตะวันตก แต่ข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นคือ รัสเซียหลอกล่อให้ยูเครนมาติดกับ เอานักโทษรัสเซียมาแลกกับทหารยูเครน เพื่อตัดทอนกำลังไปเรื่อยๆ และแล้วในภายหลังรัสเซียก็สามารถยึดบัคมุตได้อยู่ดี 

 

หลังจากบัคมุต รัสเซียได้มุ่งหน้าไปชาซีฟ ยาร์ (Chasiv Yar) ที่เป็นเมืองป้อมปราการสำคัญในการเดินทัพไปยังอีกจุดยุทธศาสตร์สำคัญของแคว้นโดเนตสก์คือโคสเทียทีนิฟกา (Kostyatynivka) จุดนี้เป็นสปอตไลต์อีกจุดที่ยูเครนระดมพลมาต่อต้านอย่างหนัก จนถึงขณะนี้รัสเซียก็ยังไม่สามารถยึดจุดยุทธศาสตร์นี้ได้ ในขณะที่กองทัพรัสเซียสามารถยึดเมืองมารินกา (Marinka) ได้สำเร็จ ซึ่งเมืองนี้จะช่วยให้รัสเซียมีความได้เปรียบในการส่งกำลังบำรุงไปยังแนวรบซาปอริซเซียได้สะดวกขึ้น 

 

กระแสข่าวรายงานว่า สปอตไลต์ที่น่าสนใจคือแนวรบด้านซาปอริซเซีย ซึ่งเป็นแนวรบที่ยูเครนเตรียมการรุกต่อไปยังไครเมีย โดยกำลังพลที่เข้าร่วมในครั้งนี้ก็เป็นผู้ที่ถูกฝึกจาก NATO ด้วย รวมถึงมียานเกราะดาวเด่นอย่างรถถัง Leopard 2 และ Challenger 2 เข้าร่วมด้วย ขณะที่รัสเซียก็กำลังจัดตั้งแนวรับหลายชั้นรออยู่ภายในเส้น Surovikin Line ขุดสนามเพลาะทำทุ่งกับระเบิด ทั้งยูเครนและพี่ใหญ่ตะวันตกต่างหมายมั่นปั้นมือว่าจุดนี้จะเป็นจุดเปลี่ยนของสงครามครั้งใหญ่ 

 

ก็ต้องดูกันต่อไปว่ารัสเซียจะเริ่มรุกอย่างจริงจังเมื่อไร เนื่องจากอีกปัจจัยที่สำคัญคือสภาพอากาศ ตราบใดที่ยังไม่พ้นสภาพ ‘รัสปูติตซา’ หรือ ‘สภาพที่หิมะละลายเละเป็นโคลน’ ก็จะยังเป็นอุปสรรคต่อการเคลื่อนกำลังต่อทุกฝ่าย

 

 

แต่ก็ไม่แน่ว่าอาจมีเซอร์ไพรส์อะไรแฟนคลับอีกหรือไม่ เพราะในวันที่ 15-17 มีนาคม 2024 จะมีการเลือกตั้งประธานาธิบดีรัสเซีย เป็นธรรมดาที่ประธานาธิบดีปูตินอาจต้องมีผลสำเร็จที่เป็นรูปธรรมบางอย่างมาโชว์ประชาชน เพื่อสร้างความชอบธรรมให้ตนเองได้รับเลือกเป็นผู้นำรัสเซียต่ออีกสมัย นอกจากการให้สัมภาษณ์สื่อเมื่อ 2 สัปดาห์ที่แล้วที่ประธานาธิบดีปูตินตอบคำถามสื่อก็สามารถโชว์ผลงานและให้คำมั่นได้แบบไม่ตายไมค์ว่า ที่ผ่านมาอัตราว่างงานเหลือเพียง 2.9% ต่ำสุดในประวัติศาสตร์รัสเซีย ขณะที่ GDP คาดว่าจะเติบโตขึ้น 3.5% จะมีการปรับค่าแรงขั้นต่ำเป็น 18% เริ่มทันทีในวันที่ 1 มกราคม 2024 โดยค่าจ้างจริงทั่วประเทศจะเพิ่มขึ้น 8% พร้อมทั้งรับประกันว่าความมั่นคงทางอาหารของประเทศแข็งแกร่งพอเพียงต่อความต้องการคนในประเทศแน่นอน รวมถึงรับประกันว่ารัสเซียจะพัฒนาอย่างยั่งยืน เพราะเดินมาถึงระดับกลางของแผนแล้ว

 

ปีนี้แคมเปญเลือกตั้งรัสเซียมาในลักษณะใช้อักษร V เป็นสโลแกนซึ่งส่วนตัว ผู้เขียนเองมองว่าสะท้อนถึงคำว่า Victory ในภาษาอังกฤษที่อาจมีความหมายเชื่อมโยงกับชัยชนะในทุกมิติหรือไม่ รวมไปถึงสถานการณ์การรบในยูเครน ซึ่งน่าสนใจและน่าติดตามเป็นอย่างยิ่ง

 

หรือเรื่องนี้อาจจะลงเอยแบบที่เพื่อนของผู้เขียนได้ให้ความเห็นเชิงขำขันไว้ว่า “สงครามอาจจบลงในไม่ช้า เพราะต่างฝ่ายต่างหมดเงินแล้วทั้งคู่ และอาจนำไปสู่เงื่อนไขบางอย่างในการที่ทั้งสองฝ่ายจะยุติการสู้รบลงไป”

 

ต้องติดตามต่อไปหลังปีหน้าฟ้าใหม่ในปี 2024

 

แฟ้มภาพ: Aynur Mammadov / Shutterstock 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X