นักธุรกิจที่ร่ำรวยที่สุดของรัสเซียได้เตือนเครมลินไม่ให้ยึดทรัพย์สินของบริษัทต่างๆ ที่ยุติการดำเนินธุรกิจจากการรุกรานยูเครน โดยกล่าวว่าขั้นตอนดังกล่าวจะทำให้ประเทศกลับคืนสู่สภาพเดิมซึ่งย้อนกลับไปเมื่อ 100 ปีที่แล้ว
CNN Business รายงานว่า วลาดิเมียร์ โปทานิน ประธานบริษัทโลหะยักษ์ใหญ่ Norilsk Nickel กล่าวว่า รัสเซียอาจเสี่ยงที่จะหวนคืนสู่วันอันวุ่นวายของการปฏิวัติในปี 1917 หากบริษัทตะวันตกและนักลงทุนถูกยึดทรัพย์สิน เขาเรียกร้องให้รัฐบาลรัสเซียดำเนินการอย่างระมัดระวังเกี่ยวกับแนวทางดังกล่าว
“ประการแรก เราจะย้อนเวลากลับไป 100 ปีจนถึงปี 1917 และผลที่ตามมาของขั้นตอนดังกล่าวคือความไม่ไว้วางใจของนักลงทุนทั่วโลกที่มีต่อรัสเซีย
“ประการที่สอง การตัดสินใจของหลายๆ บริษัทที่จะระงับการดำเนินงานในรัสเซียนั้น ผมคิดว่าค่อนข้างมีอารมณ์ร่วม และอาจถูกมองว่าเป็นผลมาจากแรงกดดันอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อนต่อพวกเขาจากความคิดเห็นของสาธารณชนในต่างประเทศ ดังนั้นเป็นไปได้มากว่าพวกเขาจะกลับมา และโดยส่วนตัวแล้วฉันจะเก็บโอกาสดังกล่าวไว้สำหรับพวกเขา” เขากล่าวเสริม
โปทานินเป็นมหาเศรษฐีที่ร่ำรวยที่สุดของรัสเซีย ด้วยสินทรัพย์ 2.25 หมื่นล้านดอลลาร์ หรือราว 7.5 แสนล้านบาท จากรายงานของ Bloomberg แม้ว่าเขาจะสูญเสียทรัพย์สินประมาณ 1 ใน 4 ในปีนี้ เนื่องจากหุ้นใน Norilsk Nickel ตกต่ำ โดยสูญเสียมาร์เก็ตแคปไปประมาณ 90% ในการซื้อขายในลอนดอนก่อนที่จะถูกระงับในเดือนนี้
Norilsk Nickel เป็นผู้ผลิตแพลเลเดียมและนิกเกิลคุณภาพสูงรายใหญ่ที่สุดของโลก รวมถึงผู้ผลิตแพลทินัมและทองแดงรายใหญ่ บริษัทและผลิตภัณฑ์หลักของบริษัทได้รอดพ้นจากการลงโทษคว่ำบาตรของประเทศตะวันตกที่กระทบต่อเศรษฐกิจรัสเซีย
บริษัทอเมริกัน ยุโรป และญี่ปุ่นหลายสิบแห่งได้ละทิ้งกิจการร่วมค้า โรงงาน ร้านค้า สำนักงาน และทรัพย์สินอื่นๆ ในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา เพื่อตอบโต้การรุกรานยูเครนของรัสเซีย
ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ได้ประกาศกร้าวเตรียมสั่งยึดทรัพย์สินของบริษัทต่างชาติที่ประกาศถอนตัวหรือพักการดำเนินการในรัสเซีย พร้อมสนับสนุนแผนการ ‘บริหารจัดการจากภายนอก’ (External Management) ซึ่งจะเป็นแนวทางด้านกฎหมายที่จะช่วยให้รัฐบาลสามารถเข้าเทกโอเวอร์บริษัทต่างชาติเหล่านี้ได้
“รัสเซียจำเป็นต้องดำเนินการขั้นเด็ดขาดกับบรรดาบริษัทต่างชาติที่ตั้งใจพักหรือปิดกิจการ” ผู้นำรัสเซียกล่าวระหว่างการประชุมกับคณะรัฐบาลเมื่อวันพฤหัสบดี (10 มีนาคม)
โดยรัฐบาลเตรียมจะบังคับใช้แนวทางการบริหารจัดการจากภายนอก เพื่อเข้ายึดกิจการเหล่านี้ ก่อนส่งผ่านไปให้กับกลุ่มบริษัทเอกชนที่มีความพร้อมทำงานในรัสเซีย พร้อมย้ำว่ารัสเซียจะหาวิธีการที่ถูกต้องตามกฎหมายเพื่อเข้าเทกโอเวอร์บริษัทเหล่านี้
รายงานในหนังสือพิมพ์ Izvestiya ของรัสเซียระบุว่า องค์กรเพื่อสิทธิผู้บริโภคของรัสเซียได้จัดทำรายชื่อบริษัทที่ตัดสินใจยุติกิจการดังกล่าว ซึ่งได้ส่งไปยังรัฐบาลรัสเซียและสำนักงานอัยการสูงสุดเรียบร้อยแล้ว ซึ่งรายชื่อดังกล่าวประกอบด้วยบริษัท 59 แห่ง รวมถึง Volkswagen, Apple, IKEA, Microsoft, IBM, Shell, McDonald’s, Porsche, Toyota และ H&M เป็นต้น โดยรายงานระบุว่ารายชื่อสามารถเพิ่มขึ้นได้อีกเรื่อยๆ
โปทานินกล่าวว่าไม่สมควรอย่างยิ่งที่จะพูดคุยเกี่ยวกับการให้ทรัพย์สินของตะวันตกเป็นของรัฐ โดย “ฉันเข้าใจว่าในแง่ของข้อจำกัดทางเศรษฐกิจที่มีต่อรัสเซีย อาจมีความปรารถนาตอบโต้อย่างเท่าเทียม” เขาเขียน “แต่ในตัวอย่างของประเทศตะวันตก เราเห็นว่าเศรษฐกิจของประเทศเหล่านี้ได้รับผลกระทบจากการคว่ำบาตรรัสเซีย เราต้องฉลาดขึ้นและหลีกเลี่ยงสถานการณ์ที่การคว่ำบาตรอาจย้อนกลับมาโจมตีตัวเอง”
นอกจากนี้เขายังเรียกร้องให้รัสเซียผ่อนปรนข้อจำกัดเกี่ยวกับสกุลเงินต่างประเทศ เพื่อให้สามารถจ่ายดอกเบี้ยสำหรับพันธบัตรต่างประเทศและเงินกู้ได้ มิฉะนั้นอาจมีความเสี่ยงที่ประเทศจะผิดนัดชำระหนี้ภายนอกทั้งหมด ซึ่งเขาประเมินไว้ที่ประมาณ 4.8 แสนล้านดอลลาร์
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- ตาต่อตา ฟันต่อฟัน! ตัวอย่างแบรนด์ที่เสี่ยงถูก ‘ปูติน’ ยึดทรัพย์สิน หลังคว่ำบาตรธุรกิจในรัสเซีย
- ‘ปูติน’ เล็งยึดทรัพย์บริษัทต่างชาติที่คว่ำบาตรถอนตัวหนี สั่งหาแนวทางออกกฎหมายเทกโอเวอร์
- แบรนด์ระดับโลกอะไรบ้างที่ ‘เดินหน้า’ ทำธุรกิจต่อใน ‘รัสเซีย’ ท่ามกลางกระแสการคว่ำบาตร
- ตั้งแต่ Apple ไปจนถึง Nike แบรนด์ยักษ์ใหญ่ของโลกต่างถอยห่าง ‘รัสเซีย’ สะท้อนภาพความโดดเดี่ยวที่กำลังชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ
ภาพ: aulius Peleckis/Getty Images
อ้างอิง: