×

‘ปูติน’ เล็งยึดทรัพย์บริษัทต่างชาติที่คว่ำบาตรถอนตัวหนี สั่งหาแนวทางออกกฎหมายเทกโอเวอร์

11.03.2022
  • LOADING...
Vladimir Putin

ทั่วโลกยังไม่ทันถอนหายใจได้อย่างโล่งอก หลังมีสัญญาณว่าสงครามยูเครนจะคลี่คลายไปในทางบวก แต่สถานการณ์กลับส่อเค้าทวีความตึงเครียดรุนแรงมากยิ่งขึ้น เมื่อตัวแทนจากสองชาติไม่สามารถบรรลุข้อตกลงยุติความขัดแย้งในสงครามครั้งนี้ได้ ส่งผลให้บรรดาบริษัทต่างชาติที่เข้าไปดำเนินการอยู่ในรัสเซียแห่ถอนตัวหรือตัดสินใจระงับกิจกรรมทางธุรกิจของบริษัท โดยมีเป้าหมายเพื่อตอบโต้กรณีที่รัฐบาลรัสเซียยังคงเดินหน้าส่งกองทัพรุกรานยูเครน

 

เพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นข้างต้น งานนี้ ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ของรัสเซีย จึงประกาศกร้าวเตรียมสั่งยึดทรัพย์สินของบริษัทต่างชาติที่ประกาศถอนตัวหรือพักการดำเนินการในรัสเซีย พร้อมสนับสนุนแผนการ ‘บริหารจัดการจากภายนอก’ (External Management) ซึ่งจะเป็นแนวทางด้านกฎหมายที่จะช่วยให้รัฐบาลสามารถเข้าเทกโอเวอร์บริษัทต่างชาติเหล่านี้ได้

 

ผู้นำรัสเซียกล่าวระหว่างการประชุมกับคณะรัฐบาลเมื่อวันพฤหัสบดี (10 มีนาคม) ว่า รัสเซียจำเป็นต้องดำเนินการขั้นเด็ดขาดกับบรรดาบริษัทต่างชาติที่ตั้งใจพักหรือปิดกิจการ โดยรัฐบาลเตรียมจะบังคับใช้แนวทางการบริหารจัดการจากภายนอกเพื่อเข้ายึดกิจการเหล่านี้ ก่อนส่งผ่านไปให้กับกลุ่มบริษัทเอกชนที่มีความพร้อมทำงานในรัสเซีย พร้อมย้ำว่ารัสเซียจะหาวิธีการที่ถูกต้องตามกฎหมายเพื่อเข้าเทกโอเวอร์บริษัทเหล่านี้

 

ท่าทีของประธานาธิบดีปูตินในครั้งนี้ เป็นการแสดงให้กลุ่มผู้สนับสนุนรัฐบาลรัสเซียเชื่อมั่นว่าไม่มีอะไรที่รัฐบาลแก้ไขไม่ได้ โดยยอมรับว่าแม้รัสเซียจะเริ่มได้รับผลกระทบจากมาตรการคว่ำบาตรบ้างแล้ว แต่รัสเซียก็จะสามารถก้าวผ่านไปได้เหมือนเช่นการคว่ำบาตรในหลายๆ ครั้งก่อนหน้านี้ และในท้ายที่สุด รัสเซียจะสามารถฟื้นตัวกลับมาแข็งแกร่งมากขึ้น เป็นอิสระมากขึ้น พึ่งพาตนเองได้มากขึ้น และมีอธิปไตยที่มากขึ้น

 

พร้อมกันนี้ ผู้นำรัสเซียยังใช้โอกาสนี้ยืนยันความชอบธรรมในการใช้ปฏิบัติการพิเศษทางทหารต่อยูเครน เพราะรัสเซียจะไม่ยอมนำอธิปไตยของประเทศไปแลกกับผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจในรัสเซีย ก่อนเตือนว่า มาตรการคว่ำบาตรที่บังคับใช้กับรัสเซียจะส่งผลกระทบย้อนกลับไปทำลายหรือสร้างความเสียหายต่อชาติตะวันตก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การส่งผลให้ราคาพลังงานและอาหารปรับตัวแพงขึ้นอยู่ในเวลานี้

 

ประธานาธิบดีปูตินกล่าวว่า ที่ผ่านมา รัสเซียปฏิบัติตามพันธสัญญามาโดยตลอด ดังนั้นปัญหาราคาพลังงานและอาหารแพงจึงไม่ใช่ความผิดของรัสเซีย แต่เป็นผลจากการคำนวณที่ผิดพลาดของชาติตะวันตก ดังนั้นอย่ากล่าวโทษรัสเซีย

 

ขณะเดียวกัน ทางสถานีโทรทัศน์ CNN ของสหรัฐฯ ได้รายงานอ้างอิงผลการสำรวจเบื้องต้นของธนาคารเพื่อการชำระบัญชีระหว่างประเทศ หรือ Bank of International Settlements (BIS) ที่ออกมาประเมินว่า บรรดาธนาคารระหว่างประเทศถือครองหนี้บริษัทและหน่วยงานของรัสเซียคิดเป็นมูลค่ามากกว่า 121,000 ล้านดอลลาร์ โดยในจำนวนนี้ธนาคารในยุโรปนับได้ว่าถือครองหนี้ในรัสเซียมากที่สุดคือกว่า 84,000 ล้านดอลลาร์ ซึ่งฝรั่งเศส อิตาลี และออสเตรียมีสัดส่วนถือครองหนี้ในรัสเซียมากที่สุด ตามด้วยบรรดาธนาคารในสหรัฐฯ ที่ถือครองหนี้ในรัสเซียมากกว่า 14,700 ล้านดอลลาร์

 

ดิมิทรี เปสคอฟ โฆษกรัฐบาลรัสเซีย กล่าวว่า สถานการณ์ทางเศรษฐกิจของรัสเซียในห้วงเวลานี้เป็นสิ่งที่ ‘ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน’ พร้อมกล่าวโทษว่าเพราะชาติตะวันตกที่เป็นคนก่อสงครามทางเศรษฐกิจ ดังนั้นรัสเซียจึงไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากใช้มาตรตอบโต้การคว่ำบาตรอย่างเท่าเทียมเพื่อรักษาผลประโยชน์ของรัสเซีย ซึ่งหมายรวมถึงการที่รัฐบาลจะยึดทรัพย์สินของบริษัท ธนาคาร และสถาบันการเงินต่างชาติมาเป็นของรัฐ หรือโอนให้เป็นของกลางต่อไปได้

 

ก่อนหน้านี้ Fitch Ratings บริษัทการจัดอันดับเครดิตชั้นนำ ได้ออกมาเตือนว่า คุณภาพสินทรัพย์ของธนาคารยุโรปตะวันตกขนาดใหญ่จะถูกกดดันจากผลกระทบจากการรุกรานยูเครนของรัสเซีย และการปฏิบัติงานของธนาคารก็ต้องเผชิญกับความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นเช่นกัน เมื่อธนาคารเหล่านี้เดินหน้าปฏิบัติตามมาตรการคว่ำบาตรของพันธมิตรชาติตะวันตกอย่างไม่ลดละ

 

ปัจจุบัน มีสถาบันการเงินหลายแห่งออกมาประกาศระงับการให้บริการในรัสเซียเป็นการชั่วคราว ไม่ว่าจะเป็น Societe Generale และ BNP Paribas ของฝรั่งเศส, UniCredit ของอิตาลี, Credit Suisse, Deutsche Bank, Citibank และล่าสุดคือ Goldman Sachs

 

อย่างไรก็ตาม ทางธนาคารกลางยุโรป (ECB) ได้ออกแถลงการณ์แสดงความเห็นเกี่ยวกับความเสี่ยงในภาคธนาคารของยุโรป โดยระบุชัดว่า ระบบการเงินของยุโรปมีสภาพคล่องที่เพียงพอ และมีสัญญาณกดดันที่ค่อนข้างจำกัด

 

อ้างอิง: 

 


 

ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH


Twitter: twitter.com/standard_wealth
Instagram: instagram.com/thestandardwealth
Official Line: https://lin.ee/xfPbXUP

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising