ถึงบริษัทในเอเชียจะทำธุรกิจในทั้ง 2 ประเทศน้อยกว่าบริษัทในยุโรป แต่การที่ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ของรัสเซีย ได้เริ่มการโจมตีทางทหารต่อยูเครน ก็อาจส่งผลกระทบต่อธุรกิจในภูมิภาคได้
ราคาน้ำมันที่พุ่งสูงขึ้นจะส่งผลกระทบทั้งภาคธุรกิจและผู้บริโภค ขณะที่ภาวะเงินเฟ้อและความตึงเครียดทางการเมืองคุกคามความเชื่อมั่นในการลงทุน และความต้องการเดินทางในช่วงที่บริษัทต่างๆ เริ่มฟื้นตัวจากวิกฤตโควิด Nikkei Asia จึงได้ 5 เรื่องที่จะส่งผลกระทบทางธุรกิจต่อเอเชียได้
1. น้ำมันและก๊าซ: สร้างผลกระทบในวงกว้าง
“ผลกระทบ (ของการรุกรานของรัสเซีย) ในทันทีคือราคาน้ำมัน ดังนั้นบริษัทต่างๆ ที่ใช้น้ำมันเป็นปัจจัยการผลิตจะรู้สึกถึงผลกระทบที่กำลังจะเกิดขึ้น” จัสติน ถัง หัวหน้าฝ่ายวิจัยในเอเชียของ United First Partners ในสิงคโปร์กล่าว
ราคาน้ำมันพุ่งสูงขึ้น โดยราคาน้ำมันดิบล่วงหน้าแตะ 100 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลเป็นครั้งแรกในรอบกว่า 7 ปีในวันพฤหัสบดี (24 กุมภาพันธ์) เนื่องจากความกังวลเรื่องอุปทานจากรัสเซีย ซึ่งเป็นผู้ส่งออกน้ำมันรายใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลกรองจากซาอุดีอาระเบีย
ด้านนักยุทธศาสตร์จาก DailyFX ของสิงคโปร์ชี้ให้เห็นว่า ผลกระทบของราคาน้ำมันดิบและก๊าซที่สูงขึ้นจะไปไกลกว่าบริษัทต่างๆ ที่ใช้น้ำมัน ซึ่งอาจส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อทั่วโลกสูงขึ้น และกระตุ้นให้ธนาคารกลางกระชับนโยบายการเงินให้เร็วขึ้น อันจะส่งผลต่อสินทรัพย์เสี่ยง โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาคเทคโนโลยีที่อ่อนไหวต่ออัตราดอกเบี้ย
ในทางกลับกันธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับพลังงานบางส่วนในเอเชียกลับอยู่ในภาวะสวนกระแส เมื่อวานนี้ (24 กุมภาพันธ์) ราคาหุ้นของบริษัทน้ำมันและก๊าซของชาวอินโดนีเซีย Medco Energi Internasional พุ่งขึ้น 13%, บริษัทอุปกรณ์และบริการน้ำมันและก๊าซ Elnusa เพิ่มขึ้น 12% และผู้ค้าและผู้จัดจำหน่ายปิโตรเลียม AKR Corporindo เพิ่มขึ้น 6% ส่วน ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม ของไทยก็เพิ่ม 3.5%
2. คมนาคมและท่องเที่ยว: ความกังวลด้านความปลอดภัยเพิ่มขึ้นเหนือน่านฟ้ายูเครน-รัสเซีย
ความกังวลเกี่ยวกับน่านฟ้าเหนือเขตขัดแย้งได้ส่งผลกระทบต่อสายการบินในเอเชียแล้ว Japan Airlines ได้ยกเลิกเที่ยวบินหนึ่งจากโตเกียวไปยังมอสโก ในขณะที่โฆษกกล่าวว่าบริษัทไม่สามารถระบุได้ว่าเครื่องบินจะสามารถทำงานได้อย่างปลอดภัยหรือไม่เนื่องจากการรุกรานของรัสเซีย เที่ยวบินจากมอสโกไปโตเกียวในวันศุกร์ (25 กุมภาพันธ์) ก็ถูกยกเลิกเช่นกัน
ผู้ให้บริการข้อมูลความเสี่ยง Safe Airspace ได้ยกระดับความเสี่ยงของน่านฟ้ายูเครนเป็น ‘ห้ามบิน’ เนื่องจากความตึงเครียดเพิ่มขึ้นในพื้นที่ โดยไม่คำนึงถึงการเคลื่อนไหวของกองกำลังรัสเซียในยูเครน ระดับความตึงเครียดและความไม่แน่นอนในยูเครนตอนนี้รุนแรงมาก สิ่งนี้ก่อให้เกิดความเสี่ยงอย่างมากต่อการบินพลเรือน
ข้อมูลจาก Flightradar24 เว็บไซต์ติดตามเที่ยวบิน เผยถึงเส้นทางการบินที่ดูเหมือนจะหลีกเลี่ยงการบินผ่านยูเครน ขณะที่สายการบินในยุโรปหลายรายได้ยกเลิกเที่ยวบินไปยูเครนในช่วง 2-3 วันที่ผ่านมาเช่นกัน
ขณะเดียวกันความตึงเคลียดส่งผลถึงราคาหุ้นของสายการบินเช่นกัน Singapore Airlines และ Japan Airlines ร่วงลง 6% ในวันพฤหัสบดี
ผลกระทบอาจเกี่ยวเนื่องไปถึงการท่องเที่ยวในประเทศต่างๆ ที่กำลังจะฟื้นตัวจากการเปิดรับนักท่องเที่ยว โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศไทยเป็นสถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยมสำหรับชาวรัสเซีย จากข้อมูลของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา นักท่องเที่ยว 133,903 คนเดินทางมาประเทศไทยในเดือนมกราคม ในจำนวนนี้มี 23,760 คนมาจากรัสเซีย
3. ไอที: ความกังวลที่จะส่งผลถึงบริษัทใหญ่ๆ
ยูเครนกลายเป็นศูนย์กลางเทคโนโลยีที่กำลังเติบโตในยุโรปตะวันออก บริษัทต่างชาติหลายแห่งมีฐานหรือหุ้นส่วนอยู่ที่นั่น โดยใช้ประโยชน์จากแรงงานที่มีการศึกษาแต่ต้นทุนต่ำของประเทศ แต่ขณะนี้บริษัทเหล่านั้นเผชิญกับความกังวลที่เพิ่มขึ้นเกี่ยวกับสถานการณ์ในท้องถิ่น
กลุ่มบริษัทญี่ปุ่น Hitachi มีพนักงานประมาณ 7,200 คน โดยหลังจากสถานการณ์ที่ทวีความรุนแรงขึ้นใน Hitachi ได้จัดทำแผนการอพยพสำหรับพนักงานเหล่านั้น
ส่วนกลุ่มอีคอมเมิร์ซของญี่ปุ่น Rakuten ได้ทำธุรกิจในยูเครนผ่าน Viber ซึ่งเป็นแอปส่งข้อความ โดยมีพนักงานราว 125 คน ซึ่งบริษัทได้ย้ำถึงแผนความต่อเนื่องทางธุรกิจในยูเครน และระถึงถึงการเฝ้าติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดต่อไป
4. ธัญพืช: อีกหนึ่งความกังวลสำหรับผู้ผลิตอาหารในเอเชีย
ยูเครนเป็นผู้ส่งออกข้าวสาลี ข้าวโพด และธัญพืชอื่นๆ รายใหญ่ แม้ว่าผลิตภัณฑ์เหล่านั้นจะมุ่งไปยังประเทศต่างๆ ในยุโรปเป็นหลัก แต่การหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทานอาจส่งผลให้ราคาธัญพืชสูงขึ้น กระทบต่อธุรกิจและผู้บริโภคในเอเชีย
“การหยุดชะงักของการส่งออกธัญพืชออกจากภูมิภาคทะเลดำอันเนื่องมาจากการดำเนินการทางทหารหรือการคว่ำบาตร อาจส่งผลกระทบสำคัญต่อราคาอาหารและอัตราเงินเฟ้อของเชื้อเพลิง” Vasu Menon ผู้อำนวยการบริหารฝ่ายกลยุทธ์การลงทุนของธนาคาร Oversea-Chinese Banking ของสิงคโปร์กล่าว “ยูเครน รัสเซีย คาซัคสถาน และโรมาเนีย ขนส่งธัญพืชจากท่าเรือในทะเลดำ”
ดัชนีราคาอาหารที่รวบรวมโดยองค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ อยู่ที่ 135.7 ในเดือนมกราคม เทียบกับ 113.5 ในปีก่อนหน้า ในช่วงหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา บริษัทอาหารในเอเชียหลายแห่งได้ประกาศขึ้นราคาผลิตภัณฑ์ โดยระบุว่าเป็นเรื่องยากที่จะแบกรับต้นทุนวัตถุดิบ การขนส่ง และบรรจุภัณฑ์ที่เพิ่มขึ้น ซึ่งสถานการณ์ในยูเครนอาจส่งผลให้แรงกดดันมีมากขึ้น
5. โลหะและก๊าซหายาก: ผู้ผลิตชิปเตรียมรับราคาวัตถุดิบที่สูงขึ้น
นักวิจัยตลาด TrendForce ระบุว่า ยูเครนเป็นซัพพลายเออร์รายใหญ่ของก๊าซที่เป็นวัตถุดิบสำหรับสารกึ่งตัวนำ เช่น นีออน, อาร์กอน, คริปทอน และซีนอน ตัวอย่างเช่น ยูเครนมีกำลังการผลิตก๊าซนีออนเกือบ 70% ของโลก ซึ่งไม่สามารถส่งออกได้ อาจมีผลกระทบต่ออุตสาหกรรม
แม้จะไม่มีผลกระทบต่อการผลิตชิปในระยะสั้น เนื่องจากยังคงสามารถจัดหาได้จากภูมิภาคอื่นๆ แต่นักวิจัยกล่าวว่า “การลดลงของปริมาณก๊าซจะนำไปสู่ราคาที่สูงขึ้น ซึ่งอาจเพิ่มต้นทุนการผลิต”
บริษัทต่างๆ อย่าง SK hynix ผู้ผลิตชิปสัญชาติเกาหลีใต้กล่าวว่า พวกเขาพร้อมสำหรับปัญหาห่วงโซ่อุปทานที่อาจเกิดขึ้น โดย ‘ไม่จำเป็นต้องกังวล (เกี่ยวกับปริมาณก๊าซ) มากเกินไป เพราะเราได้เตรียมการล่วงหน้าสำหรับเรื่องนี้แล้ว” ประธานของ SK hynix กล่าวเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว
ความขัดแย้งอาจส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมชิปในด้านอื่นๆ เช่นกัน โดยญี่ปุ่นได้เผยถึงทิศทางจะกำหนดมาตรการคว่ำบาตรการส่งออกเซมิคอนดักเตอร์และผลิตภัณฑ์เอนกประสงค์อื่นๆ ไปยังรัสเซีย เพื่อตอบโต้การรุกรานของยูเครน การประกาศดังกล่าวมีขึ้นท่ามกลางการเคลื่อนไหวที่คล้ายคลึงกันโดยไต้หวัน และสหรัฐฯ ซึ่งเป็นประเทศผู้ผลิตชิปยักษ์ใหญ่
รัสเซียยังเป็นผู้ส่งออกก๊าซหายากรายใหญ่ โดยประเทศในเอเชียบางแห่ง เช่น ญี่ปุ่น ซึ่งเป็นประเทศที่ผลิตรถยนต์รายใหญ่ เป็นผู้นำเข้าแพลเลเดียมจากรัสเซียเป็นจำนวนมาก ถ้ามอสโกจำกัดการส่งออกก็อาจส่งผลกระทบต่อธุรกิจหากไม่สามารถจัดหาจากแหล่งอื่นๆ ได้ในทันที
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- มหาเศรษฐีชาวรัสเซียสูญเสีย ‘ความร่ำรวย’ 1.3 ล้านล้านบาท ใน 1 วันหลังการโจมตียูเครน
- โลกระอุ หลายประเทศลุกประณาม ‘ปูติน’ บุกยูเครน สหรัฐฯ กร้าวเพิ่มมาตรการคว่ำบาตร เล็งโดดเดี่ยวรัสเซีย
- ‘ปลัดพลังงาน’ ลั่นพร้อมรับมือวิกฤตยูเครน ย้ำไทยมีปริมาณน้ำมันสำรองเพียงพอกว่า 2 เดือน
- นักวิเคราะห์เตือน การตอบโต้รัสเซียยิ่งทำให้ราคาพลังงานพุ่งแรง น้ำมันใกล้แตะระดับสูงสุดรอบ 8 ปี
- นักเศรษฐศาสตร์ประเมินว่า ความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน อาจสร้างความสับสนในการกำหนดทิศทางดอกเบี้ยของ Fed
อ้างอิง:
ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH
Twitter: twitter.com/standard_wealth
Instagram: instagram.com/thestandardwealth
Official Line: https://lin.ee/xfPbXUP