×

โลกระอุ หลายประเทศลุกประณาม ‘ปูติน’ บุกยูเครน สหรัฐฯ กร้าวเพิ่มมาตรการคว่ำบาตร เล็งโดดเดี่ยวรัสเซีย

25.02.2022
  • LOADING...
ปูติน

เรียกเสียงประณามจากบรรดาผู้นำในหลายประเทศทั่วโลกแทบจะทันที หลังจากที่กองทัพรัสเซียภายใต้การสั่งการจากประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน บุกโจมตียูเครนทั้งทางบก ทางทะเล และทางอากาศเมื่อวานนี้ (24 กุมภาพันธ์) ส่งผลให้เกิดการสู้รบปะทะกันของทหารรัสเซียกับยูเครน โดยมีรายงานการสูญเสียกำลังพลของทั้งสองฝ่าย นับเป็นการรุกรานและสู้รบรุนแรงครั้งใหญ่ที่สุดในยุโรปนับตั้งแต่สงครามโลกครั้งนี้ 2

 

เหตุโจมตีที่ผู้นำรัสเซียกล่าวต่อบรรดานักธุรกิจในรัสเซียว่า จำเป็นต้องใช้ปฏิบัติการทางทหารต่อยูเครนอย่างไม่มีทางเลือก เพราะที่ผ่านมาได้พยายามเปลี่ยนแปลงสถานการณ์ความมั่นคงภายในภูมิภาคหลายครั้งแต่ไม่ประสบผลสำเร็จ ขณะที่ ดมิทรี เพสคอฟ โฆษกทำเนียบเครมลิน กล่าวว่า การบุกครั้งนี้มีเป้าหมายเพื่อปกป้องผลประโยชน์และสวัสดิภาพของรัสเซีย ซึ่งหมายรวมถึงพื้นที่ที่ได้รับการคุ้มครองจากรัสเซียด้วย

 

อย่างไรก็ตาม ความเคลื่อนไหวของรัสเซียในครั้งนี้ก็เรียกเสียงประณามจากบรรดาผู้นำประเทศต่างๆ ทั่วโลก อีกทั้งยังเตรียมพิจารณาหาทางเพิ่มมาตรการคว่ำบาตรลงโทษเพิ่มเติมต่อรัสเซีย

 

ทั้งนี้นายกรัฐมนตรีโอลาฟ โชลซ์ แห่งเยอรมนี กล่าวต่อต้านการโจมตียูเครน และย้ำว่าเยอรมนีจะยืนเคียงข้างยูเครน เพื่อแสดงให้เห็นว่าการตัดสินใจของประธานาธิบดีปูตินเป็นความผิดพลาดครั้งใหญ่

 

ด้านนายกรัฐมนตรีบอริส จอห์นสัน ของอังกฤษ เปิดเผยว่าได้มีการต่อสายตรงหารือกับประธานาธิบดีโวโลดีเมียร์ เซเลนสกี ของยูเครน โดยให้คำมั่นว่าชาติตะวันตกจะไม่นิ่งเฉย และอังกฤษจะอยู่เคียงข้างยูเครน

 

ส่วนประธานาธิบดีเอ็มมานูเอล มาครง ของฝรั่งเศส กล่าวว่า ฝรั่งเศสพร้อมจะตอบโต้ต่อพฤติกรรมก่อสงครามของรัสเซียอย่างเข้มแข็ง และเป็นหนึ่งเดียวกันกับชาติพันธมิตร

 

ขณะที่ประธานาธิบดีคลอส ไอโอฮานนิส แห่งโรมาเนีย ลุกขึ้นประณามการโจมตียูเครนของรัสเซีย โดยระบุว่ารัสเซียได้ละเมิดกฎหมาย ด้วยการใช้กำลังทหารโจมตีใส่ประเทศที่มีอธิปไตยและเป็นอิสระ

 

ด้านประเทศที่ถือได้ว่ามีท่าทีที่เป็นมิตรต่อรัสเซีย และเคยเป็นปากเป็นเสียงให้กับรัสเซียในสหภาพยุโรป (EU) อย่างสาธารณรัฐเช็ก ประธานาธิบดีมิลอส เซมาน กล่าวแสดงความผิดหวังต่อการตัดสินใจของรัสเซีย และยอมรับความผิดพลาดที่เคยสนับสนุนรัสเซีย พร้อมเรียกร้องให้ดำเนินการใช้มาตรการลงโทษที่รุนแรงยิ่งขึ้น เพื่อโดดเดี่ยวรัสเซียจากประชาคมโลก

 

ส่วนประธานาธิบดีเรเจป ไตยิป แอร์โดอัน แห่งตุรกี ประเทศที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับทางรัสเซียและยูเครน ก็ลุกขึ้นต่อว่ารัสเซียเช่นกัน โดยเห็นว่ารัสเซียได้ทำลายเสถียรภาพและความมั่นคงของยุโรป ก่อนวิงวอนให้รัสเซียกับยูเครนแก้ปัญหาอย่างสันติ

 

ด้านนายกรัฐมนตรียาอีร์ ลาปิด แห่งอิสราเอล ระบุว่า การกระทำของรัสเซียถือเป็นการละเมิดระเบียบโลกอย่างรุนแรง และในฐานะประเทศที่เคยได้รับผลกระทบร้ายแรงจากสงคราม อิสราเอลยืนยันว่าสงครามไม่ใช่แนวทางแก้ปัญหาความขัดแย้งแต่อย่างใด

 

อันโตนิโอ กูเตอร์เรส เลขาธิการแห่งสหประชาชาติ (UN) ออกโรงขอให้ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน แห่งรัสเซีย ถอนกำลังทหารกลับรัสเซีย และเตือนว่าปัจจุบันนี้โลกบอบช้ำมากพออยู่แล้วจากวิกฤตการระบาดของโควิด การเกิดสงครามจะทำลายโอกาสในการฟื้นฟูโลก

 

สำหรับนายกรัฐมนตรีมาริโอ ดรากี แห่งอิตาลี ได้ให้คำมั่นว่า อิตาลีกับสมาชิก NATO จะทำทุกอย่างเพื่อปกป้องอธิปไตยของยูเครน รวมทั้งความมั่นคงของยุโรปและระเบียบโลกภายใต้กฎเกณฑ์และคุณค่าร่วมกัน โดยแถลงการณ์ของ NATO เปิดเผยว่า ทาง NATO จะเพิ่มกำลังทหารในประเทศฝั่งยุโรปตะวันออกเท่าที่จำเป็น เพื่อป้องกันการรุกรานของรัสเซีย โดยทางกลุ่มได้เริ่มใช้แผนป้องกันสำหรับสมาชิกประเทศต่างๆ แล้ว เพื่อให้ผู้บัญชาการกองกำลัง NATO มีอำนาจสั่งการเพื่อรับมือสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงได้ทันที

 

นอกจากการประณามแล้ว ชาติพันธมิตรตะวันตกยังเห็นชอบและสนับสนุนให้ดำเนินมาตรการคว่ำบาตรรัสเซีย เพื่อร่วมกดดันให้รัสเซียยุติการใช้กำลังทหารกับทางยูเครน โดยประธานาธิบดีโจ ไบเดนของสหรัฐฯ ประกาศกร้าวว่าจะใช้มาตรการลงโทษชุดใหม่ต่อรัสเซีย ซึ่งครั้งนี้จะมีเป้าหมายในการจำกัดการดำเนินธุรกิจของรัสเซียกับประเทศต่างๆ ทั่วโลก หลังจากที่รัสเซียบุกโจมตีอย่างเต็มรูปแบบใส่ยูเครน

 

ผู้นำสหรัฐฯ ย้ำว่า มาตรการลงโทษชุดใหม่จะทำขึ้นเพื่อให้ส่งผลกระทบในระยะยาวต่อรัสเซีย แต่จะส่งผลน้อยที่สุดต่อสหรัฐฯ และชาติพันธมิตร ทำให้รัสเซียถูกโดดเดี่ยวจากเศรษฐกิจโลกมากขึ้น โดยก่อนหน้านี้สหรัฐฯ ได้ประกาศคว่ำบาตร จำกัดการทำธุรกรรมของรัสเซียผ่านสกุลเงินดอลลาร์ ยูโร ปอนด์ และเยน และคว่ำบาตรธนาคารขนาดใหญ่ 4 แห่งของรัสเซีย พร้อมกันนี้สหรัฐฯ ยังมีนัดประชุมหารือรอบพิเศษกับสมาชิก NATO ในวันนี้ (25 กุมภาพันธ์) เพื่อหามาตรการลงโทษเพิ่มเติม ก่อนยืนยันว่าสหรัฐฯ จะไม่เข้าสู่สงครามกับรัสเซีย ยกเว้นในกรณีที่รัสเซียรุกรานประเทศสมาชิกองค์การ NATO ซึ่งสหรัฐฯ มีพันธะที่ต้องช่วยปกป้องภายใต้มาตราที่ 5 ของสนธิสัญญานาโต้

 

ประธานาธิบดีไบเดนกล่าวว่า ขณะนี้ถือเป็นช่วงเวลาที่อันตรายของยุโรป และท่าทีแข็งกร้าวของผู้นำรัสเซียในครั้งนี้ส่งผลร้ายต่อรัสเซียเอง

 

ขณะที่สถานกาณ์ภายในกรุงเคียฟ เมืองหลวงของยูเครน ผ่านค่ำคืนไปอย่างเงียบเชียบ โดยประชาชนส่วนใหญ่ต่างอพยพออกจากบ้านเรือน เพื่อลี้ภัยไปยังสถานีรถไฟใต้ดินที่เปิดให้บริการเพื่อเป็นที่หลบภัยโดยเฉพาะ ขณะที่ทางการยูเครนประกาศเคอร์ฟิวตั้งแต่เวลา 22.00-07.00 น. (ตามเวลาท้องถิ่น)

 

นักวิเคราะห์ส่วนหนึ่งออกโรงเตือนให้ยุโรปและสหรัฐฯ เตรียมพร้อมรับคลื่นอพยพชาวยูเครน

 

นอกจากนี้มีรายงานจากบริษัทวิเคราะห์ข้อมูล Elliptic ที่พบว่า ในช่วง 12 ชั่วโมงนับตั้งแต่ที่รัสเซียบุกโจมตียูเครน มีการบริจาค Bitcoin มูลค่าเกือบ 4 แสนดอลลาร์ ให้กับองค์กรการกุศล Come Back Alive ซึ่งให้ความช่วยเหลือสนับสนุนกองทัพยูเครนโดยเฉพาะ

 

อย่างไรก็ตาม ขณะที่หลายประเทศทั่วโลกลุกขึ้นประณามการกระทำของรัสเซีย ประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจอันดับ 2 ของโลกอย่างจีนกลับสงวนท่าทีและแสดงความเห็นอย่างระมัดวัง โดยพยายามหลีกเลี่ยงการใช้คำพูดที่ระบุว่า รัสเซียโจมตียูเครน

 

ทั้งนี้ หัวชุนหยิง โฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีน กล่าวในระหว่างแถลงข่าวประจำวันเมื่อวานนี้ (24 กุมภาพันธ์) ว่า จีนกำลังจับตามองสถานการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างใกล้ชิด และขอให้ทุกฝ่ายใช้ความอดกลั้นเพื่อป้องกันไม่ให้สถานการณ์ลุกลามออกไปจนเกินควบคุม โดยจีนหวังว่าทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องจะไม่ปิดประตูแห่งสันติภาพ และเข้าร่วมการเจรจาเพื่อไม่ให้เหตุการณ์รุนแรงยิ่งขึ้น

 

โดยหัวชุนหยิงได้แสดงความเห็นเกี่ยวกับการโต้ตอบของสหรัฐฯ ว่าไม่ช่วยอะไร นอกจากเป็นการราดน้ำมันลงบนกองไฟให้ลุกโหมมากกว่าเดิม

 

ผู้เชี่ยวชาญส่วนหนึ่งมองว่าท่าทีของจีนในครั้งนี้ไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจ เพราะสอดคล้องกับจุดยืนเดิมของจีนที่ยืนกรานมาโดยตลอดว่าจะไม่แทรกแซงและก้าวก่ายกิจการภายในของประเทศใดๆ และเป็นการยืนยันจุดยืนเดิมที่มีต่อสถานการณ์ในยูเครน กระนั้นก็เป็นเรื่องที่น่าแปลกใจด้วยที่จีนยังคงสงวนท่าทีกับทางรัสเซีย ในฐานะที่จีนได้ชื่อว่าเป็นพันธมิตรที่ใกล้ชิดกับรัสเซียมากที่สุดในเวลานี้ โดยอย่างน้อยก็น่าจะเป็นการให้คำมั่นว่าจะเดินหน้าตามข้อตกลงซื้อก๊าซธรรมชาติจากรัสเซีย

 

อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้มีสัญญาณว่าจีนจะเป็นตัวแปรสำคัญในการช่วยผ่อนคลายแรงกดดันทางเศรษฐกิจที่มีต่อรัสเซีย รวมถึงการสั่งซื้อข้าวสาลีจากรัสเซียเพิ่มขึ้น

 

เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ จีนและรัสเซียประกาศข้อตกลงซื้อขายข้าวสาลีและข้าวบาร์เลย์จากรัสเซีย ในขณะที่รัสเซียกำลังส่งทหารไปประจำการบริเวณพรมแดนภาคตะวันออกของยูเครน

 

โฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีนยังได้พยายามเลี่ยงการตอบคำถามว่า การโจมตีของรัสเซียต่อยูเครนนั้นถือเป็น ‘การบุกรุก’ หรือไม่ ซึ่งเจ้าตัวระบุว่า ประเด็นเรื่องยูเครนและรัสเซียนั้นมีความละเอียดอ่อนและซับซ้อนในเชิงประวัติศาสตร์ ซึ่งอาจไม่ได้เหมือนกับที่ทุกคนเห็น

 

ด้าน หยางจิน นักวิเคราะห์แห่ง Institute of Russian, Eastern European, and Central Asian Studies กล่าวว่า การที่ประธานาธิบดีปูตินตัดสินใจส่งทหารเข้าไปในยูเครนนั้นคือการตอบโต้ของรัสเซียต่อแรงกดดันของชาติตะวันตกที่มีมายาวนาน เพื่อแสดงให้เห็นว่ารัสเซียไม่สามารถทนได้อีกต่อไปต่อการปฏิบัติต่อประชาชนที่พูดภาษารัสเซียในยูเครน

 

ด้าน ถงจ้าว นักวิเคราะห์อาวุโสในโครงการนโยบายนิวเคลียร์ของ Carnegie Endowment for International Peace ในกรุงปักกิ่งระบุว่า จีนค่อนข้างเข้าใจและรู้สึกเห็นใจให้กับทางฝ่ายรัสเซียที่รู้สึกถูกคุกคาม โดยจีนมองว่าการพยายามขยายอิทธิพลของ NATO ในภูมิภาค บีบให้รัสเซียต้องลุกขึ้นมาปกป้องผลประโยชน์ของตนเอง ดังนั้นในมุมมองของจีน รัสเซียถูกบังคับให้ต้องทำในสิ่งที่ทำอยู่ทุกวันนี้ แต่แม้ว่าจีนจะเข้าใจและเห็นใจ แต่ในเชิงบริบทของการเมืองระหว่างประเทศ จีนไม่สามารถแสดงความเห็นสนับสนุนพฤติกรรมของรัสเซียอย่างเปิดเผยได้

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising