×

‘รัสเซีย’ รับมาตรการคว่ำบาตรและกำหนดเพดานราคาซื้อน้ำมันของกลุ่ม G7 สั่นคลอนเศรษฐกิจ ทำขาดดุลเพิ่ม

28.12.2022
  • LOADING...

สถานีโทรทัศน์ CNBC รายงานว่า แอนตัน สิลูอานอฟ รัฐมนตรีคลังรัสเซีย ได้ออกมายอมรับกับกลุ่มผู้สื่อข่าวว่า มาตรการการจำกัดราคาน้ำมันที่กำหนดโดยกลุ่มประเทศเศรษฐกิจชั้นนำ 7 ประเทศ หรือ G7 รวมถึงสหภาพยุโรป (EU) และออสเตรเลีย กำลังบีบรายได้จากการส่งออกของรัสเซีย และอาจผลักดันให้การขาดดุลงบประมาณของรัสเซียสูงกว่าที่คาดไว้ 2% ในปีหน้า

 

ก่อนหน้านี้สำนักข่าว RIA ของรัสเซียอ้างคำพูดของรองนายกรัฐมนตรี อเล็กซานเดอร์ โนวัก เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมาว่า การจำกัดราคาการส่งออกน้ำมันดิบและน้ำมันกลั่นของรัสเซียอาจบีบให้รัสเซียต้องลดกำลังการผลิตลงระหว่าง 5-7% ในปีหน้า แต่เชื่อว่ารัสเซียจะสามารถจัดหาเงินทุนในส่วนที่ขาดแคลนผ่านการออกพันธบัตรในประเทศและกองทุนต่างๆ ได้


ข่าวที่เกี่ยวข้อง


ด้าน นิโคลัส ฟารร์ นักเศรษฐศาสตร์ของ Capital Economics มองว่า ยังเร็วเกินไปที่จะประเมินผลกระทบของเพดานราคาน้ำมันของกลุ่ม G7 และการห้ามนำเข้าน้ำมันดิบของรัสเซียของ EU ซึ่งมีผลบังคับใช้ในวันที่ 5 ธันวาคม แต่โดยรวมจนถึงขณะนี้มีสัญญาณเริ่มต้นบ่งชี้ว่าเศรษฐกิจของรัสเซียเริ่มได้รับแรงกดดันจากมาตรการดังกล่าวแล้ว สะท้อนจากข้อมูลการส่งออกน้ำมันของรัสเซียที่เริ่มลดลงนับตั้งแต่มีมาตรการคว่ำบาตร และส่วนต่างระหว่างราคาน้ำมันดิบ Brent กับราคาน้ำมัน Urals เพิ่มขึ้นเป็นระดับสูงสุดในรอบ 6 เดือนที่ผ่านมาในสัปดาห์ที่แล้ว

 

ฟารร์มองว่าการส่งออกน้ำมันที่ลดลงนี้จะส่งผลต่อรายได้ด้านพลังงานของรัสเซีย บวกกับราคาพลังงานโลกที่ลดลงในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา โดยราคาน้ำมันดิบ Brent มาตรฐานระหว่างประเทศลดลงจากจุดสูงสุดที่ประมาณ 98 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลในเดือนตุลาคม เป็นประมาณ 77 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลเมื่อต้นเดือนธันวาคม ขณะที่ราคาในวันอังคาร (27 ธันวาคม) ราคาน้ำมันดิบฟื้นตัวขึ้นมาอยู่ที่ประมาณ 84.50 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล

 

นอกจากนี้ แนวโน้มรายได้ที่ลดลงยังฉุดให้ค่าเงินรูเบิลของรัสเซียร่วงลงเกือบ 10% เมื่อเทียบกับดอลลาร์เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว กลายเป็นสกุลเงินกลุ่มประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ (Emerging Market) ที่มีประสิทธิภาพแย่ที่สุดหลังจากต่อสู้กับความคาดหวังมาเกือบทั้งปี

 

ฟารร์กล่าวว่า ผลที่ตามมาที่สำคัญของเงินรูเบิลที่อ่อนค่า จะเป็นแรงกดดันต่ออัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้นเนื่องจากต้นทุนการนำเข้าที่สูงขึ้น โดยล่าสุดทางธนาคารกลางรัสเซีย (CBR) ได้ยุติการปรับลดอัตราดอกเบี้ยในเดือนตุลาคม และคงนโยบายการเงินไว้ตามเดิมในเดือนธันวาคม พร้อมเตือนเรื่องความเสี่ยงเกี่ยวกับภาวะเงินเฟ้อ

 

นอกจากนี้ หากค่าเงินรูเบิลยังคงร่วงลงในปี 2023 ฟารร์คาดว่า CBR อาจถูกบังคับให้พิจารณาการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกครั้งเพื่อควบคุมอัตราเงินเฟ้อ และ Capital Economics เชื่อว่าความยืดหยุ่นต่อการคว่ำบาตรของชาติตะวันตกที่ลดลงนี้จะกลายเป็นประเด็นสำคัญที่ต้องจับตามองในปี 2023

 

‘ปูติน’ แบนขายน้ำมันให้ชาติที่อิงเพดานราคา G7

ขณะเดียวกันมีรายงานว่า ทางประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูตินแห่งรัสเซียได้ลงนามในกฤษฎีกาห้ามการจัดส่งน้ำมันและผลิตภัณฑ์น้ำมันให้แก่ชาติที่เข้าร่วมในการกำหนดเพดานราคาน้ำมันรัสเซีย

 

คำสั่งดังกล่าวจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ – 1 กรกฎาคม 2023 โดยรัสเซียจะห้ามส่งออกน้ำมันดิบต่อชาติดังกล่าวตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2023 ส่วนผลิตภัณฑ์น้ำมันจะมีการกำหนดเวลาหลังจากนั้น

 

ทั้งนี้ กลุ่มประเทศ G7, EU และออสเตรเลีย บรรลุข้อตกลงในการกำหนดเพดานราคาน้ำมันรัสเซียที่ระดับ 60 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลตั้งแต่วันที่ 5 ธันวาคม โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อทำให้รัสเซียมีรายได้ลดลงจากการจำหน่ายน้ำมันที่จะนำไปสนับสนุนการทำสงครามในยูเครน

 

การกำหนดเพดานราคาน้ำมันดังกล่าวถือเป็นมาตรการลงโทษต่อการที่รัสเซียส่งกำลังทหารบุกโจมตียูเครนในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2022 ซึ่งการประกาศใช้ดังกล่าวจะทำให้สถาบันการเงิน บริษัทเดินเรือ บริษัทประกันวินาศภัย และบริษัทประกันภัย ไม่สามารถให้บริการใดๆ ที่เกี่ยวข้องกับการขนส่งคาร์โกน้ำมันรัสเซียที่มีราคาสูงกว่าเพดานที่ G7 และพันธมิตรกำหนดไว้

 

แอนตัน สิลูอานอฟ รัฐมนตรีคลังรัสเซีย ประเมินว่าการขาดดุลงบประมาณของรัสเซียอาจขยายขึ้นกว่า 2% ของ GDP เดิมที่ตั้งเป้าไว้ในปี 2023 เนื่องจากราคาน้ำมันบีบรายได้จากการส่งออกของรัสเซีย ซึ่งเป็นอุปสรรคทางการคลังเพิ่มเติมสำหรับรัฐบาลกรุงมอสโก เนื่องจากรัสเซียใช้จ่ายอย่างหนักในการรณรงค์ทางทหารในยูเครน

 

ขณะที่นักวิเคราะห์บางคนกล่าวว่า เพดานดังกล่าวจะส่งผลกระทบเล็กน้อยต่อรายได้จากน้ำมันของรัสเซีย เนื่องจากราคาน้ำมันของรัสเซียได้ตกลงไปใกล้เคียงกับราคาดังกล่าวแล้ว แต่ก็จะเป็นปัจจัยที่กดดันความสามารถของรัสเซียในการทำกำไรในอนาคต

 

ทั้งนี้ รัสเซียถือเป็นผู้ส่งออกน้ำมันรายใหญ่อันดับ 2 ของโลก รองจากซาอุดีอาระเบีย และการหยุดชะงักของการขายที่เกิดขึ้นจริงจะส่งผลกระทบอย่างมากต่อการจัดหาพลังงานทั่วโลก

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X