World Justice Project (WJP) ได้เผยแพร่การจัดอันดับดัชนีชี้วัดหลักนิติธรรมในประเทศและดินแดนถึง 142 แห่งทั่วโลก เมื่อช่วงปลายปี 2023 โดยสอบถามความเห็นของประชาชนกว่า 1.49 แสนครัวเรือน รวมถึงผู้เชี่ยวชาญและผู้ประกอบอาชีพทางกฎหมายอีก 3,400 คน ในมิติต่างๆ ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับหลักนิติธรรมในประเทศหรือดินแดนนั้นๆ พบว่าประเทศแถบสแกนดิเนเวียอย่างเดนมาร์ก นอร์เวย์ ฟินแลนด์ และสวีเดน เป็นประเทศที่มีดัชนีชี้วัดหลักนิติธรรมสูงที่สุดในการจัดอันดับครั้งล่าสุดนี้
อันดับ 1 ในย่านอาเซียนคือสิงคโปร์ (อันดับ 17) ตามมาด้วยมาเลเซีย (อันดับ 55) อินโดนีเซีย (อันดับ 66) ส่วนไทยอยู่อันดับที่ 82 มีดัชนีชี้วัดหลักนิติธรรมอยู่ที่ 0.49 ซึ่งลดลงจากปี 2022 ที่มีดัชนีอยู่ที่ 0.50 และมีดัชนีต่ำกว่าค่าเฉลี่ยโลก ซึ่งอยู่ที่ 0.55 อีกด้วย ขณะที่เมียนมาและกัมพูชาคือ 2 ประเทศที่มีดัชนีชี้วัดหลักนิติธรรมรั้งท้ายในย่านอาเซียน (ไม่นับรวม สปป.ลาวและบรูไนที่ไม่ได้รับการจัดอันดับ)
รายงานการจัดอันดับนี้ประเมินดัชนีหลักนิติธรรมจากประสบการณ์และการรับรู้ของสาธารณชน รวมถึงผู้เชี่ยวชาญและผู้ประกอบวิชาชีพทางด้านกฎหมายใน 142 ประเทศและดินแดน โดยพิจารณาจาก 8 ปัจจัยชี้วัดสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นการจำกัดอำนาจรัฐอย่างเหมาะสม (Constraints on Government Powers), การปราศจากคอร์รัปชัน (Absence of Corruption), รัฐบาลที่โปร่งใส (Open Government), สิทธิขั้นพื้นฐาน (Fundamental Rights), ความสงบเรียบร้อยและความมั่นคง (Order and Security), การบังคับใช้กฎหมาย (Regulatory Enforcement) รวมถึงกระบวนการยุติธรรมทางแพ่ง (Civil Justice) และกระบวนการยุติธรรมทางอาญา (Criminal Justice) ซึ่งทั้งหมดเป็นปัจจัยที่จะช่วยสะท้อนความก้าวหน้าหรือถดถอยของหลักนิติธรรมในภาพใหญ่ในสายตาของ WJP ทั้งนี้ ยังมีปัจจัยย่อยอีก 44 ปัจจัยที่ใช้เป็นส่วนหนึ่งของแนวทางในการประเมินอันดับ
โดยดัชนีชี้วัดหลักนิติธรรมเหล่านี้จะมีส่วนช่วยทำให้ภาคส่วนต่างๆ ทราบว่าสถานะของหลักนิติธรรมของตนเองนั้นอยู่ตรงไหน มีปัจจัยด้านใดที่ยังคงต้องได้รับการแก้ไข เพื่อให้หลักนิติธรรมนั้นแข็งแรงจนกลายเป็นเสาหลัก พร้อมนำพาไปสู่สังคมที่มีความยุติธรรมมากยิ่งขึ้น
WJP Rule of Law Index 2023 สะท้อน ‘ภาวะถดถอย’ ของหลักนิติธรรมในประเทศส่วนใหญ่ทั่วโลกเป็นปีที่ 6 ติดต่อกัน ซึ่งประเทศส่วนใหญ่กำลังเผชิญความท้าทายหลายประการ โดยเฉพาะ ‘การจำกัดอำนาจรัฐอย่างเหมาะสม, การสนับสนุนสิทธิขั้นพื้นฐาน และความล่าช้าของกระบวนการยุติธรรม’
รายงานดัชนีชี้วัดหลักนิติธรรม 2023 เสนอแนะแนวทางที่จะยกระดับหลักนิติธรรมไทยให้เข้มแข็งยิ่งขึ้น ผ่านกลยุทธ์ที่มีแนวทางชัดเจน โดยมุ่งเน้นไปที่การมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในสังคม โดยเฉพาะภาคประชาชน เพื่อให้ผลลัพธ์ของหลักนิติธรรมที่เกิดขึ้นในสังคมเป็นรูปธรรมยิ่งขึ้นและสามารถวัดได้จริง รวมถึงผลักดันให้เกิดการมีส่วนร่วมอย่างมีคุณภาพ ผ่านการสื่อสารข้อมูลสำคัญในวงกว้าง นอกจากนี้ยังจะต้องมีการนำเอานวัตกรรมหรือเทคโนโลยีต่างๆ มาประยุกต์ใช้ เพื่อบรรเทาปัญหาในสังคม และพัฒนาเครื่องมือและกลไกที่ใช้ตรวจสอบผู้มีอำนาจ เพื่อป้องกันไม่ให้ใช้อำนาจในทางมิชอบ
โดยการที่สังคมของประเทศหรือดินแดนนั้นๆ จะเป็นสังคมที่มีหลักนิติธรรมก้าวหน้าหรือยั่งยืนหรือไม่ อาจต้องขึ้นอยู่กับทุกภาคส่วนในสังคมที่จะต้องร่วมกันผลักดันให้หลักนิติธรรมในสังคมของตนนั้นแข็งแรงและหนักแน่นต่อไป