×

เปิดตัว ‘รวมไทย ยูไนเต็ด’ วินท์ สุธีรชัย ร่วมก่อตั้ง หลังลาออกก้าวไกล ชูแนวคิด ‘รัฐบาลไม่ใช่นาย รัฐบาลคือประชาชน’

โดย THE STANDARD TEAM
07.10.2021
  • LOADING...
RuamThaiUnited

วันนี้ (7 ตุลาคม) มีการจัดงานผ่านออนไลน์ เพื่อเปิดตัวกลุ่ม ‘รวมไทย ยูไนเต็ด’ โดยระบุว่ากลุ่มที่ตั้งขึ้นเป็นการรวมตัวกันของประชาชนมืออาชีพในหลากหลายสาขาที่อยากเห็นประเทศไทยเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น โดยผู้ร่วมอุดมการณ์ในการก่อตั้ง 4 คน ซึ่งต้องการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว ด้วยการสร้างเส้นทางใหม่ให้ประเทศไทย ภายใต้พันธกิจในการบริหารงานด้วยหลักสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพของพลเมืองในประเทศไทย โดยยึดมั่นในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ภายใต้แนวคิดที่ว่า ‘รัฐบาลไม่ได้ปกครอง รัฐบาลบริหาร, รัฐบาลไม่ใช่นาย รัฐบาลคือประชาชน’

 

วรนัยน์ วาณิชกะ นักการเมืองรุ่นใหม่ หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่มรวมไทย ยูไนเต็ด กล่าวว่า รวมไทย ยูไนเต็ด คือการรวมตัวกันของกลุ่มคนที่อยากขับเคลื่อนประเทศไทยให้พัฒนาและก้าวไปข้างหน้า ประชาชนจะต้องมีคุณภาพชีวิตที่ดี มีความมั่นคงทางการเงิน เข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพ และได้รับสิทธิเสรีภาพอย่างเท่าเทียม คนไทยทุกคนต้องสามารถเข้าถึงโอกาสทางเศรษฐกิจอย่างถ้วนหน้า ไม่ใช่จำกัดอยู่เฉพาะคนในเมืองที่คิดเป็นสัดส่วนเพียง 1% ของคนไทยทั้งประเทศ อีกทั้งการที่เราจะก้าวเข้าสู่ยุคดิจิทัล เราต้องการผู้นำซึ่งมีคุณสมบัติในการนำพาประเทศให้พัฒนาไปอย่างสร้างสรรค์ อย่าง Digital Government เพราะปัจจัยที่กำหนดว่าประเทศชาติจะก้าวไปข้างหน้า หยุดอยู่กับที่ หรือถอยหลังนั้น ขึ้นอยู่กับวิสัยทัศน์ของผู้นำเป็นสำคัญ หากผู้นำเป็นอย่างไรประเทศก็เป็นอย่างนั้น

 

“รวมไทย ยูไนเต็ด เสนอตัวเป็นทางเลือกใหม่ให้แก่ประชาชน รวมไทย ยูไนเต็ด คือประชาชนทุกคนที่มีอุดมการณ์มุ่งหมายเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว ผ่านการสร้างระบบเศรษฐกิจที่ยั่งยืน เปิดเสรีด้านการศึกษา ไม่ตีกรอบความคิด และเคารพในสิทธิมนุษยชน ด้วยความตั้งใจบริหารอย่างมืออาชีพ มีธรรมาภิบาล และปราศจากทุจริตคอร์รัปชัน ภายใต้วิสัยทัศน์ในการจุดประกายธรรมาภิบาล สร้างเส้นทางใหม่ให้กับประเทศไทย” วรนัยน์กล่าว

 

ด้าน วินท์ สุธีรชัย อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่มรวมไทย ยูไนเต็ด กล่าวว่า เวลาเป็นสิ่งที่มีค่าเสมอ และเราเสียเวลาไม่ได้อีกแล้ว กว่า 30 ปีที่ประเทศไทยติดอยู่กับคำว่าประเทศที่กำลังพัฒนา นั่นทำให้เราเสียเวลามามากพอแล้ว ฉะนั้นตนมีความตั้งใจอย่างยิ่งที่จะเปลี่ยนประเทศไทยให้เป็นประเทศที่พัฒนาแล้วให้ได้ ภายใต้แนวทางในระยะเร่งด่วนและระยะยาว

 

แนวทางเร่งด่วนที่สามารถทำได้เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการรายย่อย (SMEs) คือ การปรับโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจ เพื่อให้สามารถเข้าถึงระบบการชำระเงินแบบเครดิตได้ เพราะในปัจจุบัน ผู้ประกอบการรายย่อยเข้าถึงระบบสินเชื่อหรือเครดิตในการสร้างสายป่านการผลิตได้ยาก เพราะประเด็นด้านการรับรองความน่าเชื่อถือ และระบบโครงสร้างในการชำระหนี้ที่ไม่เอื้ออำนวย ทั้งกับผู้ให้สินเชื่อและผู้รับสิบเชื่อ ส่งผลให้ผู้ประกอบการรายย่อยขาดเงินหมุน และขาดสภาพคล่องทางการเงิน หากแก้จุดนี้ เราก็จะมีโครงสร้างเชิงระบบที่ได้ประสิทธิภาพ และสิ่งที่สามารถทำได้ต่อมาคือ การ ‘Boost Credit หรือการอัดฉีดเครดิต’ ให้แก่ผู้ประกอบการรายย่อย โดยให้ Credit Term หรือการขยายระยะเวลาการชำระค่าสินค้าออกไปให้นานยิ่งขึ้น เพื่อเป็นกลไกการแก้ไขปัญหาสภาพคล่องทางการเงินให้แก่ภาคธุรกิจ โดยฉพาะอย่างยิ่งผู้ประกอบการรายย่อยซึ่งไม่มีเงินทุนสำรองมากพอได้อีกเปราะหนึ่ง อย่างไรก็ตาม กิจการที่จะได้รับการสนับสนุนเช่นนี้จะต้องเป็นกิจการผลิตสินค้าจำเป็น ไม่ใช่สินค้าฟุ่มเฟือย

 

“แนวทางในระยะยาวที่สามารถทำได้คือ การสนับสนุนกลยุทธ์การควบรวมกิจการแนวดิ่ง (Vertical Integration) นั่นคือการรวมตัวกันของผู้ผลิตที่มีกิจการคล้ายคลึงกัน หรือสอดคล้องกัน เพื่อส่งเสริมศักยภาพหลัก (Core Competencies) ที่โดดเด่นร่วมกันของธุรกิจประเภทนั้น พูดง่ายๆ คือการวางแผน บริหารจัดการด้านการผลิตอย่างครบวงจร เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการแข่งขันให้มากขึ้น สำหรับประเทศไทยแล้วธุรกิจที่ควรจะต้องส่งเสริมให้มีการควบรวมในแนวดิ่งอย่างเร่งด่วน ก็คือธุรกิจที่เกี่ยวกับโครงสร้างพื้นฐานเพื่อการพัฒนาประเทศ เช่น ธุรกิจที่เกี่ยวกับระบบขนส่ง ระบบสื่อสาร หรือระบบสาธารณสุข เหล่านี้เป็นสิ่งที่ประเทศไทยจะต้องสร้างฐานการผลิตที่แข็งแกร่งของตัวเองขึ้นมา ถ้าหากเราลดการพึ่งพิงการลงทุนจากต่างชาติ และส่งเสริมภาคอุตสาหกรรมโครงสร้างพื้นฐานของเราเอง (Competitive Infrastructure) ก็จะทำให้ประเทศไทยหลุดจากกับดักประเทศที่กำลังพัฒนา ก้าวสู่ความเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วทัดเทียมกับอนารยะประเทศอื่นๆ” วินท์กล่าว

 

วินท์กล่าวต่อไปว่า หากลองพิจารณาตัวเลขอัตราการขยายตัวของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศของธุรกิจผลิตสินค้าอุตสาหกรรม โดยสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ปรากฏว่ามีการขยายตัวสูงในทุกกลุ่มอุตสาหกรรม นั่นคือมีอัตราการขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 16.8 ในไตรมาสที่ 2 ของปี 2564 จากที่ขยายตัวร้อยละ 1.0 ในไตรมาสก่อน ทั้งสินค้าอุตสาหกรรมเบา อุตสาหกรรมวัตถุดิบ และอุตสาหกรรมสินค้าทุนและเทคโนโลยี ที่มีการขยายตัวถึงร้อยละ 39.8 และเมื่อเปรียบเทียบธุรกิจผลิตสินค้าอุตสาหกรรม กับธุรกิจภาคอื่นๆ ที่ได้รับการสนับสนุนอยู่แล้ว เช่น ภาคเกษตร ทำให้เห็นได้ว่าตัวเลขอัตราการขยายตัวของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศแตกต่างกันมาก โดยภาคเกษตรมีการขยายตัวเพียงร้อยละ 2.0 ในไตรมาสที่ 2 ของปี 2564 เช่นเดียวกันกับภาคการท่องเที่ยว ด้านสาขาที่พักแรมและบริการด้านอาหาร ที่ขยายตัวเพียงร้อยละ 13.2 จากการลดลงร้อยละ 35.5 ในไตรมาสก่อน จึงอาจกล่าวได้ว่าธุรกิจที่มีเสถียรภาพมากที่สุดสำหรับประเทศไทย ณ ขณะนี้ ก็คือธุรกิจในหมวดการผลิตสินค้าอุตสาหกรรม ซึ่งยังไม่ได้รับการสนับสนุนเท่าที่ควร ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า ที่นอกจากจะสอดรับกับอุตสาหกรรมยานยนต์ของโลกแล้ว หากพิจารณาจากสถิติการจดทะเบียนยานยนต์ไฟฟ้าจะเห็นว่ามีโอกาสขยายตัวเพิ่มขึ้น แม้จะอยู่ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิดก็ตาม และถ้าหากประเทศไทยสามารถจับจองพื้นที่การผลิตแบตเตอรี่ ซึ่งมีมูลค่าตลาดรวมอยู่ที่ 40-60% หรือ 90 ล้านล้านบาทได้ ตามหลักการควบรวมกิจการแนวดิ่งโดยสมบูรณ์ ก็จะเป็นการผลักดันให้ไทยหลุดพ้นกับดักประเทศกำลังพัฒนา ก้าวเข้าสู่สถานะประเทศที่พัฒนาแล้ว โดยมีความเจริญด้านอุตสาหกรรมเป็นพื้นฐาน ไม่แพ้ประเทศที่เจริญแล้วอื่นๆ จากทุกมุมโลก

 

ขณะที่ เซเรน่า-ณิชนัจทน์ สุดลาภา นักกิจกรรมคนข้ามเพศ ในฐานะผู้ร่วมก่อตั้ง กล่าวว่า ความเท่าเทียมไม่ได้มีผลแค่มิติทางสังคม แต่รวมถึงเศรษฐกิจของประเทศ สภาพเศรษฐกิจที่เราเผชิญอยู่ในขณะนี้ไม่ได้เอื้อสำหรับทุกคน แต่มันเอื้อให้เฉพาะกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ซึ่งเศรษฐกิจที่ดีควรเป็น ‘เศรษฐกิจเพื่อความยั่งยืน’ ที่เอื้อประโยชน์ต่อพวกเราทุกคนจริงๆ ไม่ว่าคุณจะตัวเล็กแค่ไหน ทุนเท่าไร เพศอะไร เราต้องมีระบบเศรษฐกิจที่รองรับการเติบโตให้กับคนไทยทุกคนจริงๆ เพื่อให้เราหลุดกับดักจากประเทศกำลังพัฒนา ไปสู่ประเทศที่พัฒนาแล้วได้ ทั้งนี้ โดยอาศัยนโยบายแบบบูรณาการทั้งด้านสิ่งแวดล้อม สังคม ความเท่าเทียม รวมถึงความโปร่งใสและตรวจสอบได้ด้วย หรือที่เรียกว่า ESG Economy (Environmental, Social and Governance Economy)

 

ในมิติด้านสิ่งแวดล้อม เราต้องสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่สนับสนุนธุรกิจในประเทศให้มีศักยภาพในการแข่งขันของตัวเองเทียบเท่าระดับโลก บนกติกาด้านสิ่งแวดล้อมใหม่ๆ ที่กำลังจะถูกสร้างขึ้นมาเรื่อยๆ จาก Paris Agreement ซึ่งถ้าเราไม่ทำอะไรเลยในมิตินี้ ประเทศเราที่พึ่งพาการส่งออกถึง 70% จะได้รับผลกระทบอย่างร้ายแรงแน่นอน อย่าลืมว่ามหาอำนาจซึ่งเป็นตลาดส่งออกหลักของเรา ทั้งจีน อเมริกา และยุโรป ต่างก็ให้ความสำคัญและพร้อมที่จะขึ้นภาษีสำหรับสินค้าจากประเทศที่ปฏิบัติตามเงื่อนไขด้านสิ่งแวดล้อม

 

ในมิติด้านสังคมและความเท่าเทียม เนื่องจากประเทศเรามีประชากรชายหญิงประมาณครึ่งต่อครึ่ง แต่ในตลาดแรงงานจะมีผู้หญิงอยู่แค่ 40% และถ้าพิจารณาจากตำแหน่งงาน จะเห็นได้ว่าในระดับหัวหน้าหรือผู้บริหาร ประกอบด้วยผู้หญิงเพียงแค่ 10-30% ยิ่งไปกว่านั้น ในงานลักษณะเดียวกัน อาศัยประสบการณ์การทำงานที่เหมือนกันทุกด้าน มีข้อแตกต่างเพียงอย่างเดียวแค่เพศหญิงได้ค่าจ้างโดยเฉลี่ยน้อยกว่าผู้ชาย 20%  นี่คือความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้นในประเทศนี้ โดยยังไม่ได้แตะถึงกลุ่ม LGBTQ และคนพิการเลยด้วยซ้ำ

 

“ที่น่าตกใจมากคือ จากข้อมูลของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ คนพิการไทยมีอัตราการจ้างงานอยู่ที่แค่เพียง 24% ของคนพิการทั้งหมดที่เข้าเกณฑ์ตลาดแรงงานเท่านั้น และปัญหาด้านความเท่าเทียมอีกข้อที่หนักไม่แพ้กันก็คือกลุ่มสตรีข้ามเพศเกือบ 80% จะถูกปฏิเสธทันทีในการสมัครงาน หากลองมองให้ดีแล้วจะเห็นว่าแท้ที่จริงคนที่สูญเสียคือสังคมและองค์กรนั้นๆ รวมถึงระบบเศรษฐกิจของประเทศไทยด้วย ทั้งนี้ สืบเนื่องจากงานวิจัยทั่วโลกที่กล่าวถึงการเพิ่มความหลากหลายในองค์กร ว่าเป็นวิธีการสำคัญในการช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการตัดสินใจขององค์กรนั้นๆ อย่างมีนัยสำคัญ เรา ‘รวมไทย ยูไนเต็ด’ เชื่อว่า หากทุกคนได้รับความเท่าเทียมกันในทุกมิติ ทั้งทางด้านเศรษฐกิจและสังคม ก็จะสามารถยกระดับคุณภาพชีวิต ตลอดจนเพิ่มโอกาสให้คนไทยได้เข้าถึงความเจริญในทุกด้านของประเทศ ซึ่งนับว่าสอดคล้องกับเป้าหมายอื่นๆ ในระดับนานาชาติอีกด้วย” ณิชนัจทน์กล่าว

 

ส่วน อภิรัต ศิรินาวิน หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งอีกคนกล่าวว่า ประชาชนชาวไทยทุกคนรู้ดีว่ารัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสำคัญสูงสุดอันละเมิดมิได้ แต่รัฐธรรมนูญ 2560 ฉบับปัจจุบันกลับถูกออกแบบมาเพื่อจำกัดสิทธิ และทำลายระบบพรรคการเมืองให้ต้องอยู่อย่างยากลำบาก อีกทั้งยังเป็นการลิดรอนสิทธิของประชาชน ไม่ให้ได้สิทธิตามระบบประชาธิปไตยอย่างแท้จริง จึงถึงเวลาแล้วที่สิ่งเหล่านี้จะต้องถูกเปลี่ยนแปลง

 

ส่วนพันธกิจกลุ่มรวมไทย ยูไนเต็ด ที่เปิดเผยต่อสาธารณชนมีทั้งหมด 10 ข้อคือ 

 

  1. บริหารด้วยความเป็นมืออาชีพ ไม่ใช่ระบบอุปถัมถ์ โดยคำนึงถึง ‘ความสำเร็จ’ ที่มาจากความสามารถเป็นที่ตั้ง

 

  1. บริหารงานด้วยความเสมอภาค ด้วยการบังคับใช้กฎหมายที่เท่าเทียมกันในทุกเพศสภาพ เชื้อชาติ ศาสนา สถานะทางสังคม และผู้ด้อยโอกาส ไม่เอื้อต่ออภิสิทธิ์ชน

 

  1. การยึดมั่นในหลักธรรมาภิบาลที่เป็นธรรม ต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชัน มีความโปร่งใสที่ประชาชนสามารถตรวจสอบได้

 

  1. ลดอำนาจรัฐบาลกลาง เพิ่มอำนาจท้องถิ่น โดยการกระจายอํานาจและความเจริญ ที่กระจุกอยู่ที่กรุงเทพฯ ไปสู่ทั่วประเทศ เน้นการให้ประชาชนมีส่วนร่วมด้วยการส่งเสริมเอกลักษณ์ของแต่ละจังหวัดและภูมิปัญญาท้องถิ่น

 

  1. ปฏิรูปเนื้อหาการศึกษาให้รองรับทักษะแห่งอนาคต และเชื่อมระบบการศึกษากับโลกทำงานจริง สร้างภาวะผู้นำให้ประชาชน มิใช่การปลูกฝังแบบท่องจำหรือเป็นผู้ตาม ผ่านการเรียนรู้และต่อยอดด้วยการคิดนอกกรอบอย่างไม่มีที่สิ้นสุด

 

  1. ส่งเสริมเศรษฐกิจให้มีการเติบโตแบบทั่วถึงสำหรับทุกคน ลดความเหลื่อมล้ำด้วยสวัสดิการพื้นฐาน ที่ประชาชนทุกคนสามารถเข้าถึงได้ทั้งเด็กและผู้สูงวัย เพื่อสร้างความมั่นคงของชีวิต

 

  1. ส่งเสริมให้มีการพัฒนาเทคโนโลยี นวัตกรรม และงานวิจัย เพื่อสร้างเศรษฐกิจแห่งอนาคต และยกระดับความสามารถและศักยภาพของของประชาชน

 

  1. ส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ต่อยอดธุรกิจไทยให้สามารถยกระดับสู่เวทีโลก และพัฒนายุทธศาสตร์ ‘Soft Power’ ของประเทศ

 

  1. ส่งเสริมสิ่งแวดล้อมที่คำนึงถึงทั้งวิกฤตสภาพอากาศ และปัญหามลพิษท้องถิ่น ผลักดันนโยบาย ‘2 เด้ง’ ที่ปกป้องสิ่งแวดล้อมและพัฒนาเศรษฐกิจไปพร้อมกัน และอนุรักษ์ระบบนิเวศที่สมบูรณ์ไว้สำหรับลูกหลานในอนาคต

 

  1. ผลักดันประเทศไทย ด้วยการส่งเสริมบุคคลที่มีความสามารถ ก้าวเข้าสู่บนเวทีภูมิภาคและเวทีโลก ในเรื่องสันติภาพ สิทธิมนุษยชน สิ่งแวดล้อม และโอกาสทางเศรษฐกิจ
  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising