×

คุยกับ ‘เฮียฮ้อ’ ทำธุรกิจสไตล์ RS วันนี้ เร็วอย่างเดียวไม่พอ ต้องมาพร้อมกลยุทธ์และพันธมิตร

25.12.2019
  • LOADING...
RS Surachai Chetchotisak

HIGHLIGHTS

5 Mins. Read
  • ย่างเข้าสู่ปีที่ 4 ของการทำธุรกิจพาณิชย์หลายช่องทาง หรือ Multi-platform Commerce (MPC) สิ่งที่เฮียฮ้อบอกว่าต้องทำคือ การขยายแนวราบนำจุดแข็งที่ RS มีไปจับมือกับพันธมิตรรายอื่นๆ เช่น การจับมือกับกลุ่ม BTS ซึ่งจะทำให้สามารถเข้าถึงกลุ่มลูกค้าได้มากขึ้น
  • เฮียฮ้อยังบอกอีกว่า การทำธุรกิจในวันนี้เทียบไม่ได้กับยุคที่ผ่านมา ครั้งหนึ่งเคยมีคนบอกว่าธุรกิจต้องเร็วกว่าเดิม แต่วันนี้เร็วอย่างเดียวไม่พอ ต้องมีกลยุทธ์ด้วย ถ้าไม่มีกลยุทธ์ วิ่งเร็วอย่างไรก็เหนื่อยฟรี วิ่งไม่ถึงผู้บริโภคสักที
  • ถึง MPC จะกลายมาเป็นเสาหลักของ RS ไปแล้ว เฮียฮ้อก็ยังไม่ทิ้งธุรกิจดั้งเดิมไป ทั้งช่อง 8 ที่ต้องปรับอยู่เรื่อยๆ เพื่อรับมือกับการแข่งขัน ธุรกิจวิทยุที่ยังไปต่อได้ ตลอดจนเพลงซึ่งหลังจากปรับโมเดลธุรกิจแล้วยังเติบโตได้ดีและมีกำไร
  • เฮียฮ้อกระซิบบอกเราว่า ต้นปีหน้าเตรียมเจอคอนเสิร์ตรวมตัว Kamikaze ทั้งค่ายแน่นอน

หากจะถามว่าในปี 2562 บริษัทไหนที่มีความเคลื่อนไหวในการทำธุรกิจมากที่สุด เราว่าต้องมีชื่อของ RS ติดอยู่ด้วยแน่ๆ เพราะตั้งแต่ต้นปี RS ได้เปลี่ยนหมวดจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ จากหมวดธุรกิจสื่อและสิ่งพิมพ์ (Media & Publishing) ไปยังหมวดธุรกิจพาณิชย์ (Commerce) ซึ่งมีน่านน้ำที่กว้างกว่าด้วยมูลค่าตลาด 2.5 ล้านล้านบาท

 

นี่ยังไม่นับการจับมือกับพันธ์มิตรรายอื่นๆ ตลอดจนการขายหุ้นให้กลุ่ม BTS จนนำมาสู่การพูดคุยระหว่าง THE STANDARD กับ เฮียฮ้อ-สุรชัย เชษฐโชติศักดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อาร์เอส จำกัด (มหาชน)

 

ธุรกิจ MPC ต้องขยายแนวราบ

เฮียฮ้อบอกกับเราว่า นี่ถือเป็นอีกหนึ่งปีสำคัญของ RS เพราะเดินทางเข้าสู่เฟสที่ 2 ของธุรกิจพาณิชย์หลายช่องทาง หรือ Multi-platform Commerce (MPC) ซึ่งนับวันกำลังเจริญเติบโตมากขึ้นเรื่อยๆ เห็นได้จากรายได้ในไตรมาส 3 ธุรกิจ MPC มีสัดส่วน 49.9% เกือบครึ่งหนึ่งของรายได้ทั้งหมดแล้ว

 

กว่า 4 ปีของธุรกิจ MPC ถึงเวลาที่ต้องขยายแนวราบ ด้วยการนำจุดแข็งที่ RS มีไปจับมือกับพันธมิตรรายอื่นๆ โดยจุดแข็งที่มีในวันนี้คือการเป็นเจ้าของสื่อ ที่มีทั้งสื่อทีวีดิจิทัลช่อง 8 สื่อวิทยุอย่าง Cool Fahrenheit ความเชี่ยวชาญเรื่องงานครีเอทีฟ การตลาด รวมถึงการผลิตรายการต่างๆ การผลิตคอนเทนต์ การทำธุรกิจศิลปิน เหล่านี้ก่อให้เกิดเป็น Eco System

 

อีกทั้ง RS มีลูกค้าของตัวเองจากผู้ชมที่ติดตามสื่อในช่องทางต่างๆ ซึ่งสามารถแปลงจากผู้ชม ผู้ฟัง แฟนคลับ ให้มาเป็นลูกค้าได้ ปัจจุบันมีลูกค้าที่เป็น Database มากกว่า 1.3 ล้านคน และเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทุกวัน ขณะที่ฐานแฟนเพลง ฐานผู้ฟังวิทยุ คนดูทีวี รวมแล้วก็ประมาณ 20 ล้านคน มีแยกย่อยก็จะพบว่า ช่อง 8 มีฐานผู้ชม 70% อยู่ในหัวเมืองและต่างจังหวัด ส่วนคนฟังวิทยุ Cool Fahrenheit 80% เป็นคนกรุงเทพฯ

 

RS Surachai Chetchotisak

 

“ด้วยฐานลูกค้าและ Eco System ที่มี จึงมองว่าถึงเวลาหาพันธมิตรที่ช่วย RS ออกไปหาลูกค้าที่กว้างและแตกต่างจากที่เรามีทั่วประเทศ”

 

ที่มาดีล RS ขายหุ้นให้ BTS

นี่เองจึงเป็นที่มาของหนึ่งในดีลสะเทือนวงการ เมื่อ RS ตัดสินใจขายหุ้น 7% ให้กับ บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ BTS มูลค่า 1,000 ล้านบาท เฮียฮ้อบอกว่า ดีลนี้ RS เป็นฝ่ายเดินเข้าไปคุยก่อน ใช้เวลาคุยกันประมาณ 3 ครั้งก็ลงตัว

 

“เรามองว่าธุรกิจยุคใหม่บนความเชื่อเรา ถ้าจะให้แข็งแรงต้องจับมือกันเดิน ถึงจะวิน-วิน ชนะตลาด และประสบความสำเร็จในธุรกิจได้เร็ว เราคิดประมาณนี้” 

 

สาเหตุที่ต้องเป็น BTS เพราะเมื่อรวมกันจะมีฐานลูกค้าขนาดใหญ่ทันที ด้วย BTS ให้บริการผู้โดยสารถึงเกือบ 1 ล้านคนต่อวัน จำนวนผู้โดยสารมีแนวโน้มเติบโตขึ้นเรื่อยๆ นอกจากนี้ยังมี VGI อยู่ในเครือ ซึ่งมี 3 แพลตฟอร์มหลัก ได้แก่ ธุรกิจสื่อโฆษณานอกบ้านที่มีมูลค่าสื่อกว่า 1.2 หมื่นล้านบาท, ธุรกิจบริการชำระเงินผ่านแรบบิทกรุ๊ป มีผู้ใช้กว่า 18 ล้านคน และธุรกิจโลจิสติกส์ที่เข้าถึงผู้บริโภคโดยตรงได้กว่า 1.2 ล้านคนต่อวันผ่าน Kerry Express

 

พอมาจับมือรวมกัน Eco System ที่มีจะใหญ่ขึ้นทันที หน้าที่ต่อไปของ RS คือการบริการ Eco System ขนาดใหญ่นี้ และเนื่องจากมีสื่ออยู่ในมือ มีแพลตฟอร์มที่เข้าถึงลูกค้า เราจึงต้องบริหารจัดการให้เหมาะสม ถูกต้อง ใช้การวิเคราะห์ Database ให้เป็นประโยชน์ แล้วก็หาสินค้า หาบริการดีๆ ที่เหมาะสมกับลูกค้ามานำเสนอ ก็จะได้ภาพที่ชัดขึ้น ซึ่งทิศทางใหม่ๆ ระหว่างความร่วมมือทั้งสององค์กรจะออกมาชัดเจนในต้นปีหน้า 

 

“RS วันนี้เราไม่ได้ทำแค่สุขภาพและความงามอย่างเดียว จริงอยู่นี่อาจจะเป็นพอร์ตใหญ่ของเรา แต่พอเราจับมือกับ BTS ผมมองว่ามีลูกค้าอะไรบ้าง ลูกค้ากลุ่มนั้นชอบอะไร ยกตัวอย่างบางกลุ่มชอบเที่ยว ก็อาจจะทำทัวร์มาขาย หรือจะต่อยอดไปบริการทางการเงินหรืออาหารก็ย่อมได้ ซึ่งต่อไปเราต้องการแผนธุรกิจที่ลึกขึ้น กว้างขึ้น และใหญ่ขึ้น”

 

RS Surachai Chetchotisak

 

หา ‘โรงงานการผลิตสินค้า’ ต่อจิ๊กซอว์ให้หลากหลาย

อย่างไรก็ตาม การหาเพื่อนให้กับธุรกิจ MPC ยังไม่จบแค่นั้น RS ต้องการการต่อจิ๊กซอว์ให้หลากหลายมิติมากขึ้น อย่างการจับมือกับ BTS คือต่อในมุมของขยายฐานลูกค้า สื่อ ประสิทธิภาพในการเปิดน่านน้ำให้กว้างขึ้น เข้าถึงลูกค้าได้กว้างขึ้น อันนั้นมุมหนึ่ง แต่สิ่งที่กำลังคุยต่อในมุมของการหาพาร์ตเนอร์อีกมิติหนึ่งคือการหา ‘โรงงานการผลิตสินค้า’ เช่น พวกอาหารเสริมหรือเครื่องสำอางที่มีคุณภาพ ซึ่งจะทำให้ RS มีสินค้ามาจำหน่าย

 

การหาโรงงานที่ว่านี้ไม่ได้ต้องการโรงงานขนาดใหญ่ แต่เป็นโรงงานขนาดกลางที่มีคุณภาพ ได้รับการยอมรับ และเป็นผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านจริงๆ หากเป็นไปได้ RS อาจเข้าไปถือหุ้นเพื่อสามารถจัดการเรื่องต่างๆ ได้ เช่น เรื่องของต้นทุน แต่คงไม่เข้าไปบริหารจัดการเอง เพราะไม่ได้เชี่ยวชาญในเรื่องนี้ โรงงานผลิตอาหารเสริมและเครื่องสำอางเป็นเรื่องเฉพาะด้านจริงๆ ไม่ใช่ว่าใครก็ทำได้

 

“การทำธุรกิจในวันนี้เทียบไม่ได้กับยุคที่ผ่านมา ครั้งหนึ่งเคยมีคนบอกว่าธุรกิจต้องเร็วกว่าเดิม แต่วันนี้เร็วอย่างเดียวไม่พอ ต้องมีกลยุทธ์ด้วย ถ้าไม่มีกลยุทธ์ วิ่งเร็วอย่างไรก็เหนื่อยฟรี วิ่งไม่ถึงผู้บริโภคสักที

 

“การมีเป้าหมายที่ชัดเจน การรู้จักลูกค้า ยิ่งรู้ลึกเท่าไรก็ทำให้ระยะการทำงานสั้นลงเท่านั้น ยิ่งเร็วก็ยิ่งสั้นไปใหญ่ ลูกค้าเดี๋ยวนี้ตัดสินใจแป๊บเดียว ซื้อหรือไม่ซื้อ Customer Journey ก็เปลี่ยนไปแล้วเดี๋ยวนี้

 

“มองในมุมดีก็ดี ถ้าเข้าใจแล้ววิ่งตามพฤติกรรมผู้บริโภคได้ ก็ทำให้คนทำธุรกิจวัดผลได้เร็ว แก้ไขได้เร็ว มองในมุมยากมันก็ยาก ต้องปรับตัวพอสมควร องค์กรก็ต้องปรับตัวเยอะ” 

 

‘ธุรกิจทีวี’ ยังต้องเผชิญความท้าทาย

 

RS Surachai Chetchotisak

 

เมื่อธุรกิจ MPC มีทิศทางที่ชัด แล้วธุรกิจอื่นๆ RS วางแผนไว้อย่างไร เฮียฮ้อบอกว่า ถ้ามองเฉพาะสื่อทีวีช่อง 8 ก็ยังให้ความสำคัญกับช่อง 8 ในฐานะสื่อหลักของประเทศ ต้องมีเป้าหมายเป็นทีวีอยู่ในกลุ่มผู้นำ การสร้างเรตติ้ง การมีกลยุทธ์การตลาดเพื่อจะสร้างยอดขายเข้าถึงผู้ชมก็ยังเป็นเรื่องสำคัญ แล้วก็เชื่อว่ายังทำได้อยู่

 

“การหายไปของทีวีดิจิทัล 7 ช่องไม่ได้มีนัยกับช่องที่เหลืออยู่อีก 15 ช่อง เฮียฮ้อก็ยังเชื่อว่ายังเผชิญกับการแข่งขันที่รุนแรง เจอความท้าทายของการทำธุรกิจสื่อ เพราะอย่าลืมว่าตอนนี้ธุรกิจทีวีไม่ได้แข่งขันกันแค่ 15 ช่อง ยังเผชิญ Disruption จากสื่อใหม่อื่นๆ

 

“การดำเนินธุรกิจทีวีจากนี้ไปก็ยังคงเป็นเรื่องที่ไม่ง่าย มีความท้าทายรออยู่ ต้องทำด้วยความรอบคอบ เรตติ้งเป็นเรื่องสำคัญ แต่การบริหารจัดการเลือกต้นทุนที่เหมาะสมกับผลประกอบการเป็นเรื่องสำคัญกว่า ธุรกิจต้องมีกำไร นี่คือหัวใจ”

 

“ช่อง 8 วันนี้เองมีการปรับโครงสร้างบริหารภายใน คอนเทนต์ มาร์เก็ตติ้ง เซล แยกกันไม่ได้แล้ว เวลาไปทำงานกับลูกค้าหรือผู้ซื้อโฆษณา ก็จะสามารถตอบโจทย์ได้ครบทุกมิติ”

 

ไม่กังวล ‘งบโฆษณาวิทยุ’ ลดลง

ด้าน ‘ธุรกิจวิทยุ’ ไม่ค่อยมีอะไรเปลี่ยนแปลง อย่าง Cool Fahrenheit เป็นผู้นำทางวิทยุมาเกือบ 10 กว่าปี อีกทั้งเป็นเบอร์ 1 แบบห่างกับคู่แข่งมาก โดยในมุมของวิทยุค่อนข้างมีความแข็งแรงมาก สิ่งที่วิทยุเราปรับก็คือ ปรับให้อยู่กับสภาพแวดล้อมของอุตสาหกรรมสื่ออย่างไรมากกว่า เพราะคนฟังมีการเปลี่ยนแปลง คนฟังยังฟังวิทยุอยู่แต่เปลี่ยนการรับฟัง แล้วก็เปลี่ยนไลฟ์สไตล์ไปฟังจาก Device อื่นมากขึ้น คนฟังไม่เคยน้อยลงเลย มากขึ้นตลอด 

 

RS Surachai Chetchotisak

ตอนนี้เรามีลูกค้าที่ฟังผ่านแอปฯ COOLISM กับเครื่องคอมพิวเตอร์ ครึ่งๆ ประมาณ 3 ล้านกว่าคนต่อเดือน ต่อวันก็ไม่ได้น้อย ยุคดิจิทัลทำให้วิทยุ 1 เครื่องสามารถเข้าถึงคนฟังได้ไม่มีข้อจำกัด ถ้าลองมองในอดีต ถ้าฟังด้วยวิทยุ ระบบการส่ง คนฟังวิทยุได้แค่ในกรุงเทพฯ เลยเขตกรุงเทพฯ ไปก็ฟังไม่ได้แล้ว แต่พอเป็นยุคดิจิทัล คนฟัง Cool Fahrenheit มาจากต่างประเทศ เชียงใหม่ ขอนแก่น ภาคใต้ ฯลฯ ได้หมด ทำให้ฐานเราใหญ่ขึ้น นี่คือเหตุผลว่าทำไมคนฟังวิทยุของเราถึงเยอะ 

 

เมื่อถามว่ากังวลไหมกับเม็ดเงินโฆษณาวิทยุที่มีทิศทางน้อยลงเรื่อยๆ เฮียฮ้อตอบว่า ในมุมของคนฟังไม่ได้ห่วง เพราะมีฐานขนาดใหญ่ สิ่งที่ต้องทำคือปรับเปลี่ยนไปตามไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภค ต้องทำให้คนเข้าถึงได้มากกว่าเดิม

 

ส่วนเรื่องของเม็ดเงินโฆษณาถือเป็นเทรนด์ ซึ่งถ้าเราพูดถึงสื่อวิทยุก็ไม่ต่างกับสื่อทีวี เผชิญความท้าทายกับสื่อใหม่ๆ พอสมควร ด้วยคอนเทนต์ Cool Fahrenheit เองที่แข็งแรงมาก 

 

สองคือด้วยความที่ Cool Fahrenheit เป็นคลื่นอันดับ 1 แล้วก็เป็นตัวเลือกแรกของคนใช้เงินโฆษณามาตลอด 10 กว่าปี ก็ถือว่ายังไปได้ดี ภาพของทีวี ภาพของวิทยุ ภาพสื่อของ RS ก็จะประมาณนี้ ก็ยังเป็นธุรกิจหลัก แต่อาจจะไม่ใช่ธุรกิจใหญ่ที่สุดของเรา 

 

‘เพลง’ ก็ต้องรักษาไว้

ด้าน ‘เพลง’ ยังเป็นธุรกิจที่ RS ต้องรักษาไว้ เพลงวันนี้เราเชื่อว่าเป็นบริษัทเดียวที่มีการปรับตัวท่ีรวดเร็วและคล่องตัว เพลง RS ก็ยังกำไรดีมาก ปัจจุบันเพลงมีรายได้ประมาณ 250 ล้านบาทต่อปี และมี Business Model ที่แตกต่างกว่าคนอื่น เราใช้คำว่าเป็น Music Marketing เป็นธุรกิจเพลงของศิลปิน

 

RS เป็นเหมือน Marketing Arms ให้ทุกคนลงทุนเอง เราเป็นเหมือน Adviser ในการลงทุน ทำให้ศิลปินลงทุนแล้วไม่ขาดทุน พอศิลปินลงทุนเองแล้ว เราจัดการให้ วางแผนให้ คิดให้ แล้วการลงทุนนั้นทำกำไร โมเดลนี้มันก็เกิดได้ RS ใช้โมเดลนี้อยู่คนเดียวในประเทศ ยืนยันว่าเพลงก็ยังเป็นธุรกิจหลัก ปัจจุบันมีศิลปินอยู่ในมือประมาณ 30 คน

 

“ด้วยรูปแบบการหารายได้มันเปลี่ยนไปแล้ว คุณจะไปหวังมียอดขาย 2-3 พันล้านแบบ 10-20 ปีก่อนมันเป็นไปไม่ได้ วันนี้ 250 ล้านบาทก็กำไรดี อาจจะกำไรดีกว่าตอนที่เราเคยทำได้ 1-2 พันล้านด้วย เพราะต้นทุนเราน้อยลงส่วนหนึ่ง ปีหน้าธุรกิจเพลง RS จะกลับมาคึกคักใหม่ด้วยกลยุทธ์ใหม่ แต่ยังบอกไม่ได้ ปีหน้าได้เห็นแน่”

 

RS Surachai Chetchotisak

 

ขณะเดียวกันเฮียฮ้อได้เปรยๆ ว่า ปีหน้ามีคิวจะทำคอนเสิร์ต 2-3 ครั้งด้วยกัน โดยต้นปีจะมี Kamikaze ทั้งค่าย หลังจากนั้นก็จะมีรียูเนียนศิลปินเดิมยุค 90 ของ RS ทั้งหมดกลับมา นี่ถือเป็นคอนเสิร์ตใหญ่เท่าที่วางไว้

 

นอกจากนี้เฮียฮ้อบอกกับเราอีกว่า เตรียมจะรีแบรนด์ RS ครั้งใหญ่ เพื่อให้คนมองมองเข้ามาแล้วรู้ว่า RS ไม่ได้มีเพียงธุรกิจเพลง ทีวีเท่านั้น แต่ธุรกิจ MPC คือเส้นเลือดใหญ่ของ RS ซึ่งจะมาพร้อมกับการย้ายสำนักงานใหญ่ไปยังทำเลใหม่

 

RS Surachai Chetchotisak

สำนักงานใหญ่แห่งใหม่ของ RS 

 

THE STANDARD ทิ้งท้ายการสัมภาษณ์ด้วยคำถามที่ว่า อะไรคือความท้าทายที่สุดสำหรับ RS เฮียฮ้อบอกกับเราว่า 

 

“เรื่องสำคัญใน 1-2 ปีนี้คือเรื่องการสร้างองค์กร มีสองมิติที่กำลังทำและให้ความสำคัญมากของปีนี้ ในมิติของธุรกิจก็ค่อนข้างชัดแล้วว่ากำลังพยายามสร้างเครือข่าย สร้างพาร์ตเนอร์ เพื่อการเติบโต ความแข็งแรงของธุรกิจ และให้ RS มีความมั่นคงในระยะยาว เป็นการกระจายความเสี่ยงของธุรกิจ RS ไม่ให้พึ่งพาธุรกิจใดธุรกิจหนึ่งมากเกินไป ในขณะเดียวกันเป็นการทำให้ RS พร้อมเผชิญ Disturb ในอนาคตซึ่งเราไม่รู้จะเกิดอะไรขึ้น นั่นคือการวางโครงสร้างของธุรกิจ

 

“ในขณะเดียวกันองค์กรก็ต้องสนับสนุน เดินไปคู่กัน เพราะธุรกิจมันเดินได้ด้วยคนในองค์กร สิ่งที่เราปรับ จัดการเรื่องการปรับโครงสร้างการทำงานใหม่ จริงๆ มีการปรับโครงสร้างอยู่ตลอดเวลา สร้างวัฒนธรรมให้ชัดเจนยิ่งขึ้น และสื่อสารไปถึงทุกๆ ส่วน ทุกๆ คนใน RS โดยต้องการให้ RS เป็นที่รวมของคนทำงานที่สนุก มีความสุข และท้าทาย” 

 

ทั้งหมดนี้ก็เพื่อนำพาให้ฐานรายได้ของ RS เติบโตสู่เป้าหมาย 1 หมื่นล้านบาทในปี 2565 ตามแผนที่วางไว้

 

อ้างอิงรูปภาพ: Rs Corporate

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X