×

เทศกาล ‘อาหารจากแผ่นดิน’ เรื่องราวจากยอดดอยสู่ใจกลางกรุง

31.10.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

4 Mins. Read
  • จากทุ่งฝิ่นที่ปลูกกันอย่างแพร่หลาย แต่หลังจากที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมราษฎรที่บ้านปู่หมื่น จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อ พ.ศ. 2513 และพระราชทานชาต้นแรกให้ชาวบ้านปลูกจนเป็นที่ยอมรับ ปัจจุบันชากลายเป็นพืชหลักชนิดหนึ่งของโครงการหลวงที่ช่วยให้เกษตรกรบนยอดดอยมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น
  • นอกจากจะพระราชทานพันธุ์พืชต่างๆ แล้ว ในหลวงรัชกาลที่ 9 ยังได้นำสัตว์เลี้ยงพันธุ์ดีทั้งกระบือ สุกร ไก่ และแกะ พระราชทานให้ชาวบ้านหลายหมู่บ้านด้วยกัน จากนั้นทรงสนับสนุนให้มีการทดลองวิจัยด้านพันธุ์สัตว์เพื่อหาพันธุ์ที่เหมาะสมต่อการเลี้ยงบนที่สูงเรื่อยมาจนได้สัตว์สายพันธุ์ที่เหมาะสม ได้แก่ ไก่ชี้ฟ้า ไก่ฟ้าหลวง และไก่แม่ฮ่องสอน พันธุ์หมูพื้นเมืองและลูกผสม การเลี้ยงไก่ฟ้า กระต่าย แพะนม ควายนม และไก่เบรส ฯลฯ
  • ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอันมากล้น ศูนย์การค้าสยามพารากอนจึงได้ร่วมกับมูลนิธิโครงการหลวง น้อมนำเรื่องราว ‘อาหารจากแผ่นดิน’ เป็นธีมหลักในการจัดงาน ‘Royal Project Market @Siam Paragon’ ในระหว่างวันที่ 23-30 พฤศจิกายนนี้ โดยภายในงานจะมีผลผลิตต่างๆ ของโครงการหลวงให้ได้เลือกช้อปและชิมกันอย่างจุใจ

     จากจุดเริ่มต้นด้วยพระราชหฤทัยอันมุ่งมั่นในการแก้ไขปัญหาการปลูกฝิ่นและตัดไม้ทำลายป่าบนยอดเขา เพื่อช่วยให้พสกนิกรบนพื้นที่สูงมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์เพื่อเริ่มต้นงานทดลองวิจัยเพื่อคัดสรรพืชพันธุ์ที่ดีและเหมาะสมต่อการทำเกษตรบนที่สูง จนเกิดเป็นจุดเริ่มต้นของโครงการหลวงซึ่งมีชื่อเรียกในระยะแรกว่า ‘โครงการหลวงพระบรมราชานุเคราะห์ชาวเขา’ เมื่อ พ.ศ. 2512 และต่อมาได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จดทะเบียนเป็น ‘มูลนิธิโครงการหลวง’ เพื่อให้เป็นองค์กรสาธารณประโยชน์ที่ถาวรมั่นคง ช่วยสร้างอาชีพและรายได้ให้แก่เกษตรกรบนที่สูงอย่างยั่งยืนสืบเนื่องเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน

     กว่าจะเกิดเป็นอาชีพและรายได้ที่สร้างความยั่งยืนให้แก่เกษตรกรบนยอดดอย พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ทรงทุ่มเทพระวรกายเพื่อทรงงานอย่างหนัก ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพืชผักผลไม้เมืองหนาวและปศุสัตว์หลากชนิดที่มูลนิธิโครงการหลวงทดลองวิจัยจนได้สายพันธุ์ที่ดีที่สุดและเหมาะสมกับสภาพพื้นที่สูง เหล่านี้จึงกลายเป็นพืชผลมากมายที่หล่อเลี้ยงชีวิตของราษฎรให้เติบโตอย่างมั่นคง เปรียบได้กับ ‘อาหารจากแผ่นดิน’ ที่พสกนิกรชาวไทยต่างได้รับพระมหากรุณาธิคุณอันมากล้นจนเติบโตอย่างสมบูรณ์โดยถ้วนทั่ว

     ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอันมากล้นที่มีต่อพสกนิกรชาวไทยอย่างหาที่สุดมิได้ ศูนย์การค้าสยามพารากอนจึงได้ร่วมกับ มูลนิธิโครงการหลวง น้อมนำเรื่องราว ‘อาหารจากแผ่นดิน’ เป็นธีมหลักในการจัดงาน Royal Project Market @Siam Paragon’ ในระหว่างวันที่ 23-30 พฤศจิกายนนี้ ภายในงานจะมีผลผลิตต่างๆ ของโครงการหลวงให้ได้เลือกช้อปและชิมกันอย่างจุใจ โดยมีเรื่องราวไฮไลต์ดังต่อไปนี้

 

 

     1. ชา จากทุ่งฝิ่นที่ปลูกกันอย่างแพร่หลาย แต่หลังจากที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมราษฎรที่บ้านปู่หมื่น จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อ พ.ศ. 2513 และได้พระราชทานชาต้นแรกให้ชาวบ้านปลูกจนเป็นที่ยอมรับ ปัจจุบันชากลายเป็นพืชหลักชนิดหนึ่งของโครงการหลวงที่ช่วยให้เกษตรกรบนยอดดอยมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ตื่อ แซ่ลี เกษตรกรชาวเขาเผ่าม้งเล่าว่า

     “ตั้งแต่ในหลวงรับสั่งให้ปลูกชา ชีวิตดีขึ้นมาก ปลูกชาดีกว่าปลูกฝิ่นเยอะ เพราะฝิ่นผิดกฎหมาย ต้องแอบๆ ซ่อนๆ ปีหนึ่งก็เก็บขายได้เพียงครั้งเดียว แต่ถ้าเราขยันก็สามารถเก็บชาขายได้ปีละ 4-5 ครั้ง พวกเราชาวเขาดีใจมากที่พระองค์พระราชทานสิ่งดีๆ ให้”

 

 

      2. กาแฟ เมื่อ พ.ศ. 2517 แม้ถนนหนทางจะยังคงเป็นดินลูกรัง รถไม่สามารถเข้าถึง การจะเดินทางไปยังบ้านหนองหล่ม อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ จะต้องเดินเท้าถึง 7 กิโลเมตร แต่ในหลวงรัชกาลที่ 9 ก็ไม่ทรงย่อท้อ พระองค์เสด็จพระดำเนินด้วยพระบาทเพื่อไปทอดพระเนตรต้นกาแฟแห่งแรงบันดาลใจด้วยพระราชหฤทัยที่มุ่งมั่น เพราะทรงอยากให้ชาวบ้านเห็นว่ากาแฟนั้นมีความสำคัญ แม้แต่พระเจ้าแผ่นดินยังต้องเดินเข้าไปดู ในการเสด็จพระราชดำเนินครั้งนั้น พะโย่ ตาโร ผู้ใหญ่บ้านในสมัยนั้นได้เข้าเฝ้าฯ และนำเมล็ดกาแฟขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย โดยได้เล่าว่า “เมื่อรู้ว่าพระเจ้าแผ่นดินจะเสด็จฯ มา ชาวบ้านตื่นเต้นดีใจกันมาก แม้จะต้องลำบากทรงพระดำเนินตามไหล่เขาสูงชัน แต่ก็เสด็จฯ มา เมื่อทอดพระเนตรเห็นต้นกาแฟ พระองค์มีรับสั่งว่ากาแฟปลูกที่นี่ได้ ให้ช่วยกันส่งเสริม แต่ต้องใส่ปุ๋ยและนำหญ้ามาใส่ที่โคนต้นด้วย และยังได้พระราชทานเมล็ดกาแฟที่เราทูลเกล้าฯ ถวายพระองค์คืนกลับมาเพื่อให้ไปแจกจ่ายกับคนอื่นๆ และนำไปปลูกต่อไป” นอกจากชีวิตของชาวบ้านหนองหล่มจะมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ปัจจุบันกาแฟพันธุ์อาราบิก้าของโครงการหลวงก็เป็นกาแฟที่ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายไปทั่วโลก

 

 

      3. สตรอว์เบอร์รี่ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานสตรอว์เบอร์รี่พันธุ์พระราชทานหลากหลายสายพันธุ์ ซึ่งพันธุ์ที่ได้รับความนิยมมากที่สุดคือสตรอว์เบอร์รี่พันธุ์พระราชทาน 80 ซึ่งวิจัยสำเร็จใน พ.ศ. 2550 และเป็นปีที่ทรงเจริญพระชนมพรรษา 80 พรรษาพอดี จุดเด่นของสตรอว์เบอร์รี่พันธุ์พระราชทาน 80 นั้นมีรสชาติหวานกรอบ มีกลิ่นหอม สามารถต้านทานโรคและแมลงได้ดี และเป็นผลไม้ที่ช่วยให้อาชีพการปลูกฝิ่นและการทำไร่เลื่อนลอยหายไปจากยอดดอยของเมืองไทยในที่สุด

 

 

     4. มะเดื่อฝรั่ง หรือ ฟิก (Fig) ผลไม้จากต่างประเทศอีกชนิดหนึ่งที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร โปรดเสวย และเป็นผลไม้ที่พระราชทานให้ชาวเขาปลูกแทนฝิ่น เริ่มโครงการจากศูนย์ขยายพันธุ์พืชปางดะใน พ.ศ. 2530 โดย หม่อมเจ้าภีศเดช รัชนี เคยประทานสัมภาษณ์ไว้ว่า “พระเจ้าอยู่หัวจะโปรดเก็บลูกมะเดื่อฝรั่งหรือลูกฟิกผลที่สุกแล้วมาเสวย พระองค์ทรงมีรับสั่งว่าทานแล้วดีต่อสุขภาพ”

 

 

      5. ปศุสัตว์ นอกจากจะพระราชทานพืชพันธุ์ต่างๆ แล้ว ในหลวงรัชกาลที่ 9 ยังได้นำสัตว์เลี้ยงพันธุ์ดีทั้งกระบือ สุกร ไก่ และแกะพระราชทานให้ชาวบ้านหลายหมู่บ้านด้วยกัน จากนั้นทรงสนับสนุนให้มีการทดลองวิจัยด้านพันธุ์สัตว์เพื่อหาพันธุ์ที่เหมาะสมต่อการเลี้ยงบนที่สูงเรื่อยมาจนได้สัตว์สายพันธุ์ที่เหมาะสม ได้แก่ ไก่ชี้ฟ้า ไก่ฟ้าหลวง และไก่แม่ฮ่องสอน พันธุ์หมูพื้นเมืองและลูกผสม การเลี้ยงไก่ฟ้า กระต่าย แพะนม ควายนม และไก่เบรส ซึ่งเป็นสายพันธุ์จากประเทศฝรั่งเศสที่ไม่อนุญาตให้เลี้ยงนอกประเทศ แต่ด้วยพระบารมีของในหลวงรัชกาลที่ 9 จึงทำให้สมาคมเลี้ยงไก่เบรสแห่งฝรั่งเศสยินดีที่จะส่งลูกเจี๊ยบมาให้มูลนิธิโครงการหลวงจนสามารถเลี้ยงและเพาะพันธุ์ไก่เบรสได้เอง

 

 

      6. รูบาร์บ (Rhubarb) หม่อมเจ้าภีศเดช รัชนี ทรงเล่าถึงพระราชอารมณ์ขันของในหลวงรัชกาลที่ 9 เกี่ยวกับชื่อที่เหมาะสมของผักชนิดหนึ่งซึ่งโครงการหลวงนำเข้ามาวิจัยและทดลองปลูกที่สถานีเกษตรหลวงอ่างขาง นั่นคือ ‘รูบาร์บ’ ผักเชื้อสายยุโรปก้านสีแดงม่วง รสเปรี้ยวอร่อย นิยมนำมาทำพายหรือแยม เนื่องจากชื่อรูบาร์บ เมื่อคิดตามคำอ่านในภาษาไทยแล้วรู้สึกไม่เป็นมงคล อาจทำให้ดูไม่ชวนรับประทาน หม่อมเจ้าภีศเดชจึงกราบบังคมทูลถามว่าจะเรียกรูบาร์บว่าอย่างไรดี ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงมีรับสั่งอย่างมีพระราชอารมณ์ขันทันทีว่า ‘โฮล ซิน’ (Hole Sin)”

 

     เตรียมพบกับเรื่องราวอันทรงคุณค่าของ ‘อาหารจากแผ่นดิน’ ที่เปี่ยมไปด้วยพระมหากรุณาธิคุณอันเปี่ยมล้นของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ที่ทรงมีต่อพสกนิกรชาวไทยอย่างมากมายได้ในงาน Royal Project Market @Siam Paragon และร่วมอุดหนุนผลิตภัณฑ์จากโครงการหลวงที่ส่งตรงจากยอดดอยมาจำหน่ายในรูปแบบตลาดนัดร่วมสมัยได้ระหว่างวันที่ 23-30 พฤศจิกายนนี้ ที่ชั้น M และลานพาร์ค พารากอน ศูนย์การค้าสยามพารากอน

 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X