วานนี้ (5 สิงหาคม) ดร.โรเชล วาเลนสกี ผู้อำนวยการศูนย์ป้องกันและควบคุมโรคสหรัฐฯ (CDC) ระบุว่า ผู้ที่ฉีดวัคซีนโควิดครบโดสแล้ว ยังสามารถติดโควิดและแพร่กระจายเชื้อได้ หลังมีรายงานการศึกษาพบว่า เชื้อเดลตาเพิ่มจำนวนไวรัสในปริมาณที่ใกล้เคียงกันในผู้ที่ได้รับวัคซีนแล้วและยังไม่ได้เข้ารับวัคซีน หากพวกเขาได้รับการติดเชื้อ อีกทั้งยังบ่งชี้ว่า ผู้ที่ได้รับวัคซีนที่ติดเชื้อรุนแรง อาจมีแนวโน้มที่จะแพร่เชื้อไวรัสเช่นเดียวกับผู้ที่ยังไม่ได้รับวัคซีน
“วัคซีนของเรายังทำงานได้อย่างดีเยี่ยม ยังคงจัดการเชื้อเดลตาได้เป็นอย่างดี จัดการกับการติดเชื้อรุนแรงและความเสี่ยงในการเสียชีวิต วัคซีนป้องกันสิ่งเหล่านี้ได้ แต่มีบางอย่างที่วัคซีนทำไม่ได้อีกต่อไปคือ การป้องกันการแพร่กระจายเชื้อ”
นั่นเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้ CDC สหรัฐฯ ตัดสินใจเปลี่ยนคำแนะนำในการปฏิบัติตัวในช่วงที่โควิดยังคงแพร่ระบาดอย่างหนักเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยแนะให้ทุกคนสวมหน้ากากอนามัยหากอยู่ภายในสถานที่ปิด แม้จะเข้ารับวัคซีนแล้วก็ตาม
“หากคุณกำลังจะกลับบ้านไปหาคนที่ยังไม่ได้รับการฉีดวัคซีน ไปหาคนที่ยังไม่สามารถฉีดวัคซีนได้ คนที่อาจมีภูมิคุ้มกันบกพร่องหรืออ่อนแอเล็กน้อย ผู้ที่มีโรคอาการป่วยหลายโรคซึ่งทำให้พวกเขามีความเสี่ยงสูง ฉันแนะนำให้คุณสวมหน้ากากอนามัยขณะอยู่ในพื้นที่สาธารณะที่เป็นสถานที่ปิด”
ความรุนแรงของเชื้อเดลตาจะส่งผลให้จำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มสูงขึ้นอีกครั้งในสหรัฐฯ หากพลเมืองอเมริกันยังไม่เข้ารับวัคซีนและไม่สวมหน้ากากอนามัยอาจจะยิ่งทำให้ยอดผู้ติดเชื้อสูงลิ่วหลายแสนรายต่อวัน ไม่ต่างจากการแพร่ระบาดในช่วงฤดูหนาว
ทางด้าน เบร็ตต์ จีร์วาร์ อดีตผู้ช่วยรัฐมนตรีสาธารณสุข ภายใต้รัฐบาลของอดีตประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ระบุว่า “เชื้อไวรัสกลายพันธ์ุตัวใหม่ใกล้เข้ามาแล้ว ถ้าพวกเราทั้งหมดยังไม่ได้เข้ารับการฉีดวัคซีน
“ผมอยากจะขอร้องให้พลเมืองอเมริกันเข้าใจว่า วิธีที่เราจะชนะไวรัสได้ เราต้องเพิ่มระดับภูมิคุ้มกันของทุกคน”
CDC ระบุว่า ล่าสุดสหรัฐอเมริกาเดินหน้าฉีดวัคซีนไปแล้ว 348.96 ล้านโดส มากสุดเป็นอันดับที่ 3 ในเชิงปริมาณ รองจากจีนและอินเดีย พลเมือง 193,199,353 ราย หรือคิดเป็น 58.2% เข้ารับวัคซีนแล้วอย่างน้อย 1 โดส ขณะที่ 49.9% ของพลเมืองอเมริกันทั่วประเทศ เข้ารับวัคซีนครบโดสแล้ว โดยขณะนี้ทางการสหรัฐฯ เตรียมพิจารณาแนวทางและความจำเป็นในการฉีดวัคซีนเข็ม 3 (Booster Shot) ในช่วงราวต้นเดือนกันยายนนี้
บทความที่เกี่ยวข้อง:
- สำรวจแนวทางการใช้วัคซีน mRNA เป็น ‘วัคซีนเข็มที่ 3’ ในประเทศที่ใช้วัคซีน Sinovac
- สำรวจ ‘วัคซีนเข็มกระตุ้น’ หรือ ‘วัคซีนเข็มที่ 3’ ที่น่าสนใจในประชาคมโลก
- เปรียบเทียบประสิทธิภาพล่าสุด วัคซีน Sinovac vs. Pfizer-BioNTech ในชิลี
- โควิด-19 กลายพันธ์ุสายพันธ์ุต่างๆ มีชื่อเรียกใหม่ว่าอย่างไร
- สำรวจราคาวัคซีนต้านโควิด-19 ในประชาคมโลก โดสละเท่าไร
- ผลข้างเคียงวัคซีนต้านโควิด-19 ในประชาคมโลก อาการเป็นอย่างไรบ้าง
- เช็กประสิทธิภาพวัคซีนต้านโควิด-19 ล่าสุด
ภาพ: Stefani Reynolds-Pool / Getty Images
อ้างอิง: