×

Food Delivery ของ Robinhood ยังไม่ปิด! ใครคือเจ้าชายขี่ม้าขาวที่จะมาช่วย? จะเป็น CP, ThaiBev หรือทุนจีน?

30.07.2024
  • LOADING...
Robinhood

จากที่เคยแจ้งปิดให้บริการอย่างเป็นทางการในวันที่ 31 กรกฎาคม 2567 เวลา 20.00 น. เป็นต้นไป แต่จู่ๆ เช้าวันนี้ (30 กรกฎาคม) SCBX ก็สร้างเซอร์ไพรส์ครั้งใหญ่ด้วยการแจ้งเลื่อนการยุติการให้บริการ Food Delivery บนแอปพลิเคชัน Robinhood จนกว่าจะแจ้งให้ทราบต่อไป

 

ในขณะที่ยังคงยุติการให้บริการส่วนอื่น ได้แก่ Travel, Ride, Mart และ Express ตามกำหนดเดิมคือในวันที่ 31 กรกฎาคม 2567

 


 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

 


 

แน่นอนว่าคำถามที่ตามมาคือทำไม Food Delivery ถึงยังเดินหน้าต่อ และคำตอบก็อยู่ในแถลงการณ์ที่ SCBX ประกาศออกมานั่นคือ “เนื่องจากบริษัทอยู่ในระหว่างการพิจารณาข้อเสนอเข้าซื้อกิจการทั้งหมดจากผู้ที่สนใจ ซึ่งมีจำนวนมากกว่าที่คาดไว้”

 

กลายเป็นคำถามข้อโตๆ ที่ตามมาอีกว่า ใครคือผู้ที่จะเข้าซื้อธุรกิจ Food Delivery ของ Robinhoodที่ถือเป็นอีกหนึ่งบทเรียนราคาแพงในตลาด Food Delivery ไทยที่การแข่งขันดุเดือด และการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมผู้บริโภคหลังโควิดกลายเป็นอุปสรรคสำคัญที่ผู้เล่นรายเล็กไม่อาจต้านทานได้

 

เส้นทางที่ผ่านมาของ Robinhoodไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ เพราะบริษัทต้องเผชิญกับภาวะขาดทุนต่อเนื่อง โดยในปี 2563 ขาดทุน 87 ล้านบาท, ปี 2564 ขาดทุน 1.3 พันล้านบาท, ปี 2565 ขาดทุน 1.9 พันล้านบาท และปี 2566 ขาดทุน 2.1 พันล้านบาท รวมแล้ว 5 พันกว่าล้านบาท 

 

จริงอยู่ที่ตลาด Food Delivery ยังมีโอกาสเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2563 มูลค่าตลาดอยู่ที่ 5 หมื่นล้านบาท และเพิ่มขึ้นเป็น 8.7 หมื่นล้านบาทในปี 2566 ขณะที่รายใหญ่ในตลาดไม่ว่าจะเป็น GrabFood และ LINE MAN ต่างก็ประสานเสียงว่า ตลาดจะเติบโตต่อไปแม้จะไม่หวือหวาเท่าเดิม นั่นเพราะพฤติกรรมของลูกค้าบางส่วนคุ้นชินกับการสั่งอาหารมากินที่บ้านแล้ว 

 

หลายคนอาจมองว่า GrabFood ที่ครองส่วนแบ่งการตลาด 47% และ LINE MAN 36% อาจเป็นผู้เข้าซื้อ แต่ฝ่ายประชาสัมพันธ์ของ LINE MAN ยืนยันกับ THE STANDARD WEALTH ว่า บริษัทไม่ได้มีแผนเข้าซื้อ

 

สอดคล้องกับที่ ภาวุธ พงษ์วิทยภานุ ผู้บุกเบิกอีคอมเมิร์ซและธุรกิจดิจิทัลไทย ซึ่งปัจจุบันนั่งตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เพย์ โซลูชั่น จำกัด ให้สัมภาษณ์กับ THE STANDARD WEALTH ว่า ทั้งสองแบรนด์น่าจะไม่ใช่ผู้เข้าซื้อRobinhood

 

“ตัว Robinhoodเล็กกว่าทั้งสองรายมาก ดังนั้นการเข้าซื้อจึงไม่ได้ส่งผลอย่างมีนัยสำคัญต่อธุรกิจของทั้งคู่ ยกเว้นแต่ว่าจะต้องการร้านค้าที่ไม่มีในแพลตฟอร์มของทั้งคู่ แต่ก็ไม่น่าจะใช่เหตุจูงใจหลักที่จะเข้าซื้อ”

 

ดังนั้น ผู้ที่เข้าซื้อน่าจะเป็นผู้เล่นในอุตสาหกรรมอื่นๆ ที่อยากขยายธุรกิจและกระโดดเข้าสู่น่านน้ำใหม่ เมื่อ THE STANDARD WEALTH ถามว่า มีโอกาสไหมที่จะไม่ใช่แค่กลุ่มทุนไทย แต่เป็นกลุ่มทุนจีนที่อยากเข้ามาทำธุรกิจ ภาวุธประเมินว่า “อาจเป็นไปได้”

 

โดยมูลค่าในการขายนั้น เบื้องต้นอาจอยู่ที่ราว 3-5 พันล้านบาท ซึ่งเป็นตัวเลขที่ขาดทุน แต่เมื่อถึงเวลาตกลงจริงๆ แล้วอาจลดลงมาเหลือ 1-2 พันล้านบาทได้ ขึ้นอยู่กับการเจรจา แต่อย่างน้อยนี่ก็ “เป็นผลดีต่อ ​Robinhoodเพราะถ้าปิดเฉยๆ ยังมีค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่ตามมา เช่น การเลย์ออฟพนักงานหรืออื่นๆ แต่ถ้าขายอย่างน้อยก็ได้เงินเข้ามาชดเชยในสิ่งที่เสียไปบ้าง”

 

ด้านแหล่งข่าวระดับสูงในตลาดทุนเปิดเผยกับ THE STANDARD WEALTH ว่า กรณีที่บริษัท เอสซีบี เอกซ์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCBX ในฐานะบริษัทแม่ ประกาศเลื่อนการยุติการให้บริการของแอปพลิเคชัน Robinhoodออกไปจากกำหนดเดิมนั้น เนื่องจากอยู่ระหว่างเจรจากับผู้สนใจซื้อ เพราะการขายกิจการออกจะส่งผลให้บริษัทได้รับเงินกลับมาจากการขาย ซึ่งเป็นผลดีกับบริษัทมากกว่าการยุติการให้บริการหรือปิดกิจการ เพราะจะมีการบันทึกค่าใช้จ่ายที่ค่อนข้างสูง ซึ่งไม่เป็นผลดีกับงบการเงินของบริษัท

 

ทั้งนี้ คาดว่าในฝั่งผู้ซื้อในดีลนี้ไม่ใช่ผู้เล่นรายเดิมที่ดำเนินธุรกิจ Food Delivery อยู่แล้ว ทั้งของ LINE MAN และ GrabFood เนื่องจากมีแพลตฟอร์มที่ใช้งานใกล้เคียงกัน และยังมีความทับซ้อนของกลุ่มลูกค้าที่ใช้บริการด้วย 

 

ดังนั้น คาดว่าผู้มีศักยภาพที่สามารถลงทุนในดีล Robinhoodจะต้องเป็นบริษัทที่มีขนาดใหญ่คือ กลุ่มซีพี หรือไทยเบฟเวอเรจ เพราะมีฐานะทางการเงินที่แข็งแกร่ง พร้อมมาแบกรับผลการขาดทุนของ Robinhoodที่ค่อนข้างสูงถึงระดับประมาณ 1-2 พันล้านบาทต่อปี อีกทั้งสามารถนำแพลตฟอร์มของ Robinhoodมาสร้าง Synergy ให้กับธุรกิจได้ในระยะยาว

 

ขณะที่รายงานข่าวจากบริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ OR ในเบื้องต้น ขณะนี้การลงทุนในธุรกิจ Food Delivery ยังไม่อยู่ในแผนธุรกิจของบริษัท

 

การพลิกผันของ Robinhoodจากแพลตฟอร์มที่ใกล้ปิดตัวสู่ดีลลับที่อาจเปลี่ยนโฉมหน้าตลาด Food Delivery ไทย สะท้อนให้เห็นถึงความผันผวนและโอกาสที่ซ่อนอยู่ในการแข่งขันที่ดุเดือดนี้ 

 

คำถามที่ยังคงไร้คำตอบคือ ใครคือผู้เล่นปริศนาที่จะเข้ามาสานต่อ Robinhoodและกลยุทธ์ใดที่จะพลิกเกมให้ Robinhoodกลับมาผงาดอีกครั้ง หรือดีลนี้จะเป็นเพียงการต่อลมหายใจ ก่อนที่จะจมหายไปในมหาสมุทรแดงเดือดของ Food Delivery

 

อนาคตของ Robinhoodยังคงเป็นปริศนาที่ชวนติดตาม และอาจเป็นบทเรียนสำคัญสำหรับผู้ประกอบการและนักลงทุนในการทำธุรกิจยุคดิจิทัล ที่ความสำเร็จไม่ได้ขึ้นอยู่กับแค่ไอเดียที่ดี แต่ยังต้องอาศัยกลยุทธ์ที่เฉียบคมและความสามารถในการปรับตัวในตลาดที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X