วันนี้ (10 ก.ค.) ที่กรมขนส่งทางบก กรุงเทพฯ จัดงานแถลงข่าว ‘สัมมนาวิชาการระดับชาติ เรื่อง ความปลอดภัยทางถนน ครั้งที่ 14 เดิน ขี่ ขับ ไป-กลับปลอดภัย’ ซึ่งสนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ และกองทุนเพื่อความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนน กรมการขนส่งทางบก
โดย ชยพล ธิติศักดิ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เลขานุการศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน เป็นประธานในงานแถลงข่าวครั้งนี้ เผยว่า สถานการณ์ผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนของประเทศไทยปี 2554-2560 พบผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนกว่า 52,690 คน หรือคิดเป็นร้อยละ 79.18 เป็นกลุ่มผู้ใช้รถใช้ถนนที่มีความเปราะบาง ได้แก่ ผู้ใช้รถจักรยานยนต์ คนเดินเท้า และผู้ใช้รถจักรยาน โดยผู้ใช้รถจักรยานยนต์เสียชีวิตมากที่สุดร้อยละ 88.55 คนเดินเท้าร้อยละ 10.20 และผู้ใช้รถจักรยานร้อยละ 1.25 ตามลำดับ
ซึ่งสถานการณ์ดังกล่าวนำมาซึ่งความสูญเสียต่อชีวิตและทรัพย์สินเป็นจำนวนมหาศาล โดยหนึ่งในการดำเนินการป้องกันและแก้ไขอุบัติเหตุทางถนนของรัฐบาล มีเป้าหมายลดอัตราเสียชีวิตตามแนวคิด ‘ทศวรรษแห่งการปฏิบัติการเพื่อความปลอดภัยทางถนน’ พ.ศ. 2554-2563 และเพื่อให้บรรลุเป้าหมายดังกล่าว จึงจำเป็นต้องเร่งรัดและจัดการให้มีการดำเนินการตามแนวทาง 5 เสาหลัก อันได้แก่ การสร้างกลไกการบริหารจัดการด้านการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนอย่างมีประสิทธิภาพ การสร้างความปลอดภัยด้านโครงสร้างถนนและสภาพแวดล้อมริมทาง การส่งเสริมให้เกิดการใช้ยานพาหนะที่ปลอดภัย การสร้างวินัยจราจรให้กับผู้ใช้รถใช้ถนน และการช่วยเหลือรักษาผู้ประสบอุบัติเหตุทางถนน
ทางด้าน นายแพทย์ธนะพงษ์ จินวงษ์ ผู้จัดการศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน กล่าวว่า งานสัมมนาครั้งนี้เป็นเวทีนำเสนอข้อมูลสถานการณ์ องค์ความรู้ นโยบายด้านความปลอดภัยทางถนน ทั้งในระดับประเทศและระดับสากล โดยมีโจทย์สำคัญคือกลุ่มผู้ใช้รถใช้ถนนที่เปราะบาง โดยปรากฏเป็นข่าวดังหลายครั้งเช่น กรณีนักเรียนสาววัย 15 ปี ถูกรถจักรยานยนต์ฝ่าไฟแดงชนขณะข้ามทางม้าลายเมื่อวันที่ 22 มกราคม 2562 ที่ผ่านมา หรือล่าสุดกรณีนักศึกษาจบใหม่ถูกรถจักรยานยนต์ชนขณะข้ามทางม้าลายบริเวณแยกกรมโยธาและผังเมือง กรกฎาคม 2562 และเป็นเหตุให้เสียชีวิตในเวลาต่อมา
โดยทั้งสองกรณีสะท้อนให้เห็นถึงเงื่อนไขความเสี่ยงสำหรับคนเดินเท้าที่แม้จะข้ามถนนบนทางม้าลาย แต่หากผู้ขับขี่ขาดวินัยจราจร เพราะอาจส่งผลให้เกิดอุบัติเหตุได้ตลอดเวลาเช่นกัน ดังนั้นในงานนี้จะเปิดโอกาสให้ภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วนที่ปฏิบัติงานป้องกันและแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุทางถนน ได้ร่วมกันสร้างระบบความปลอดภัยที่ได้รับการพิสูจน์ว่า สามารถลดจำนวนผู้เสียชีวิตบนถนนได้อย่างยั่งยืนในประเทศที่พัฒนาแล้ว
ขณะเดียวกัน พชรพรรษ์ ประจวบลาภ เลขาธิการสถาบันยุวทัศน์แห่งประเทศไทย ได้เผยผลสำรวจบางส่วนจากกลุ่มตัวอย่างเด็กและเยาวชนช่วงอายุ 16-25 ปี ทั่วประเทศกว่า 1,200 คน พบว่า ร้อยละ 97.5 ของเด็กและเยาวชนรับรู้ถึงผลกระทบของการไม่สวมหมวกนิรภัย แต่ไม่ตระหนักและไม่คิดว่ามีความจำเป็นต้องสวม โดยตัวเลขของการสวมหมวกนิรภัยเป็นประจำมีเพียงร้อยละ 27.2 และมีเหตุผลในการไม่สวมหมวกนิรภัยคือ ‘เดินทางระยะใกล้’ ถึงร้อยละ 75.6 ‘ไม่สะดวกสบายในการใช้งาน’ ร้อยละ 19.5 ทั้งนี้ร้อยละ 5 เชื่อว่าอุบัติเหตุจะไม่เกิดขึ้นกับตัวเราเอง
นอกจากนี้ยังพบด้วยว่าเด็กและเยาวชนกว่าร้อยละ 26.2 เคยเกิดอุบัติเหตุจากการขับรถจักรยานยนต์ และได้รับบาดเจ็บสาหัสถึงร้อยละ 5.4 โดยได้รับบาดเจ็บหรือได้รับบาดเจ็บเล็กน้อยถึงร้อยละ 47.1 ทางสถาบันฯ จึงมีความคาดหวังว่าผลจากการจัดสัมมนาในครั้งนี้จะเกิดเป็นเครื่องมือหรือกลไกใหม่ๆ ในการส่งเสริมให้กลุ่มเด็กและเยาวชนเห็นความสำคัญของการสวมหมวกนิรภัยป้องกันชีวิตตนเองให้มากยิ่งขึ้น
อย่างไรก็ตาม งานสัมมนาวิชาการระดับชาติเรื่องความปลอดภัยทางถนนครั้งที่ 14 ‘เดิน ขี่ ขับ ไป-กลับปลอดภัย’ จะจัดขึ้นในระหว่างวันที่ 7-8 สิงหาคม 2562 ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทคบางนา โดยมีภาคีเครือข่ายภาครัฐและเอกชนกว่า 30 องค์กรตอบรับเข้าร่วมการจัดงานสัมมนาในครั้งนี้ด้วย หากท่านใดสนใจและข้อมูลเพิ่มเติม สามารถติดตามรายละเอียดได้ทาง www.roadsafetythai.org
พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า