×

ส่องจุดยืนและแนวนโยบายของ ริชิ ซูนัค นายกรัฐมนตรีสหราชอาณาจักรคนใหม่

25.10.2022
  • LOADING...

ริชิ ซูนัค อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังสหราชอาณาจักร มีกำหนดเข้าเฝ้าพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 เพื่อรับการแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีสหราชอาณาจักรคนใหม่อย่างเป็นทางการในวันนี้ (25 ตุลาคม)

 

ก่อนหน้านี้ซูนัคเป็นผู้สมัคร 2 คนสุดท้ายในศึกชิงเก้าอี้ผู้นำพรรคคอนเซอร์เวทีฟ และนายกรัฐมนตรีสหราชอาณาจักรเมื่อช่วงเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา แต่ครั้งนั้นเขาพ่ายต่อ ลิซ ทรัสส์ ไปในที่สุด อย่างไรก็ตาม ทรัสส์อยู่ในตำแหน่งเพียง 45 วัน ท่ามกลางแรงกดดันถาโถมหลังดำเนินนโยบายเศรษฐกิจผิดพลาด ดังนั้นเวลาของผู้นำเชื้อสายบริติช-เอเชียคนแรกในประวัติศาสตร์การเมืองของสหราชอาณาจักรจึงมาถึง ซึ่งศึกชิงเก้าอี้ผู้นำพรรครัฐบาลครั้งนี้ มีเพียงซูนัคคนเดียวที่ลงชิงชัย เนื่องจากเป็นรายเดียวที่สามารถรวบรวมเสียงสนับสนุนจาก ส.ส. พรรคคอนเซอร์เวทีฟได้อย่างน้อย 100 คน


ข่าวที่เกี่ยวข้อง:


เราไปดูจุดยืนและแนวนโยบายของซูนัคที่เราอาจได้เห็นในช่วงที่เขานั่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรีสหราชอาณาจักร ซึ่งมีความท้าทายด้านเศรษฐกิจและสังคมรออยู่มากมาย

 

1. นโยบายด้านการจัดเก็บภาษี

 

ในการเลือกตั้งผู้นำพรรคคอนเซอร์เวทีฟครั้งก่อน เมื่อช่วงเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ซูนัคไม่เห็นด้วยกับแนวทางของลิส ทรัสส์ ที่จะปรับลดการจัดเก็บภาษีลง สิ่งนี้จะทำให้แผนการกู้ยืมเงินของรัฐบาลปรับตัวสูงขึ้นใสภาวะที่เผชิญหน้ากับวิกฤตเงินเฟ้ออย่างหนัก ซึ่งเขาได้เตือนทรัสส์อีกครั้ง หลังจากที่เธอผลักดันแผนกระตุ้นเศรษฐกิจอย่าง ‘งบประมาณแผ่นดินฉบับย่อ’ (Mini-Budget) ในช่วงปลายเดือนกันยายนที่ผ่านมา ส่งผลให้ค่าเงินปอนด์ผันผวน ตลาดเงินและพันธบัตรทรุดหนัก จนธนาคารกลางต้องเข้ามาแทรกแซง ซึ่งเป็นหนึ่งในเหตุผลสำคัญที่ทำให้ทรัสส์ได้รับแรงกดดันอย่างหนัก และประกาศลาออกจากตำแหน่งในท้ายที่สุด

 

แม้ว่าซูนัคเองอยากจะปรับลดการจัดเก็บภาษีในระยะยาว แต่เขากลับมองว่าการควบคุมอัตราเงินเฟ้อให้ได้ก่อน ควรเป็นสิ่งสำคัญอันดับแรกที่รัฐบาลจะต้องจัดการแก้ไข อีกทั้งยังประกาศสนับสนุนแผนขึ้นภาษีเงินได้นิติบุคคลจาก 19% เป็น 25% ในเดือนเมษายน 2023 อีกด้วย แต่อย่างไรก็ตามซูนัคเคยรับปากจะปรับลดภาษีเงินได้ลงก่อนสิ้นสุดการประชุมรัฐสภาครั้งต่อไป ซึ่งรวมถึงการลดหย่อนภาษีลง 1% ในเดือนเมษายน 2024 

 

2. ด้านพลังงานและส่ิงแวดล้อม

 

จากภาวะที่ค่าใช้จ่ายด้านพลังงานพุ่งสูงขึ้นอย่างมาก ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากสงครามรัสเซีย-ยูเครนนั้น ดังนั้นวิธีการที่ดีที่สุดที่จะปกป้องครัวเรือนและธุรกิจต่างๆ ซูนัคจึงตัดสินใจจะยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มของค่าใช้จ่ายด้านพลังงานภายในประเทศ ซึ่งเคยเป็นนโยบายที่เขาคัดค้านมาโดยตลอดในช่วงที่ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีคลัง โดยเขาจะระงับการเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม 5% จากค่าใช้จ่ายด้านพลังงานในครัวเรือนเป็นระยะเวลา 1 ปี สำหรับครัวเรือนที่มีค่าใช้จ่ายส่วนนี้สูงกว่า 3,000 ปอนด์ ทั้งยังจะจัดสรรงบประมาณช่วยเหลือบรรดากลุ่มเปราะบางในสังคมอีกด้วย

 

นอกจากนี้ซูนัคยังสนับสนุนการขยายโครงการพลังงานลมนอกชายฝั่ง คัดค้านโครงการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ในพื้นที่การเกษตรที่สร้างผลิตผลและรายได้ให้กับประเทศ โดยเขาจะเดินหน้าสนับสนุนการผลักดันเป้าหมายที่จะทำให้สหราชอาณาจักรเป็นประเทศที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2050

 

3. นโยบายด้านสาธารณสุข

 

ซูนัคจะปรับขึ้นเงินนำส่งกองทุนประกันสังคม 1.25 เพนนีต่อปอนด์ เพื่อสนับสนุนงานด้านสาธารณสุข แต่ในขณะเดียวกันก็ปรับระดับเงินได้ของผู้ที่ต้องเริ่มจ่ายเงินนำส่งนี้ในแต่ละปีให้สูงขึ้นตามไปด้วย อีกทั้งยังจะปฏิรูปการบริหารจัดการเพื่อแก้ไขปัญหารอคิวเข้ารับบริการด้านสาธารณสุขของสหราชอาณาจักรที่ยาวนานเกินไป ประชาชนควรเข้าถึงระบบสาธารณสุขขั้นพื้นฐานที่สะดวกและรวดเร็วยิ่งขึ้น 

 

นอกจากนี้ซูนัคยังประกาศจะเพิ่มจำนวนจุดบริการด้านสาธารณสุขที่สามารถตรวจและวินิจฉัยโรคภายนอกโรงพยาบาลได้ เพื่อตอบสนองต่อความต้องการของประชาชนที่เพิ่มมากขึ้น รวมถึงคาดว่าจะดำเนินมาตรการปรับเงินผู้ที่ไม่ไปตามนัดหมายของหมอ โดยไม่แจ้งล่วงหน้าราว 10 ปอนด์ต่อกรณี เพื่อเพิ่มอีกหนึ่งช่องทางในการหาเงินสนับสนุนระบบสาธารณสุขของประเทศ

 

4. นโยบายและจุดยืนด้านอื่นๆ

 

จุดยืนต่อสงครามรัสเซีย-ยูเครน

 

นโยบายสหราชอาณาจักรภายใต้การนำของซูนัคจะไม่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม โดยสหราชอาณาจักรจะสนับสนุนยูเครนต่อไป ทั้งยังจะเดินทางเยือนกรุงเคียฟ เพื่อแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ ดังเช่นที่ บอริส จอห์นสัน เคยทำมาอย่างต่อเนื่อง แต่ในส่วนของแผนปรับเพิ่มเงินสนับสนุนด้านความมั่นคงจาก 2% เป็น 3% ในสมัยรัฐบาลของลิซ ทรัสส์นั้นอาจมีการปรับเปลี่ยน โดยซูนัคชี้ว่าสิ่งนี้อาจไม่ได้อยู่ในแผนการของเขา

 

นโยบาย Brexit

 

เป็นอีกหนึ่งนโยบายสำคัญที่รอรัฐบาลชุดใหม่เข้าไปบริหารจัดการ โดยซูนัคระบุว่า เขาต้องการแก้ไขปัญหาด้านการค้ากับไอร์แลนด์เหนือ รวมถึงปฏิรูปกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับสหภาพยุโรปทั้งหมดที่ยังคงอยู่ในกฎหมายของสหราชอาณาจักร ก่อนที่การเลือกตั้งทั่วไปจะเปิดฉากขึ้น ซึ่งจากเดิมคาดว่าจะจัดขึ้นในช่วงต้นปี 2025

 

นโยบายผู้อพยพ-ผู้ลี้ภัย

 

สหราชอาณาจักรภายใต้การกุมบังเหียนของซูนัคจะยังคงเปิดรับผู้อพยพและลี้ภัยตามเพดานจำนวนที่ทางการกำหนดไว้ในแต่ละปี พร้อมทั้งจะปรับเกณฑ์และคุณสมบัติในการขอลี้ภัยให้กระชับยิ่งขึ้น รวมถึงเตรียมระงับความช่วยเหลือแก่บรรดาประเทศที่จะไม่เปิดรับผู้อพยพของตนกลับคืนประเทศ

 

โดยซูนัคถือเป็นนายกรัฐมนตรีที่มีเชื้อสายบริติช-เอเชีย คนแรกของสหราชอาณาจักร ทั้งยังเป็นนายกรัฐมนตรีที่อายุน้อยที่สุดในรอบเกือบ 200 ปีของประเทศนี้ และยังเป็นนายกรัฐมนตรีสหราชอาณาจักรคนที่ 3 ในรอบเกือบ 3 ปี นับตั้งแต่การเลือกตั้งทั่วไปในช่วงปลายปี 2019 ที่ผ่านมา ซึ่งมีความท้าทายมากมายรอเขาอยู่เบื้องหน้า ช่วงเวลานับจากนี้จึงไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบอย่างแน่นอน

 

แฟ้มภาพ: Jeff J Mitchell / Getty Images

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X